การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 3/2549 (3.1) ต่อ


โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกนาที เรายังต้องการความรู้อีกมากที่จะนำมาใช้จัดการเพื่อให้เราสามารถดำรงอยู่ได้ในสภาวการณ์เช่นนี้
            เมื่อวานนี้ผู้วิจัยจบการเล่าเรื่องการประชุมเครือข่ายฯสัญจร  ครั้งที่ 3/2549  เอาไว้ตรงคำถามของผู้เข้าร่วมประชุมที่ว่าเมื่อไหร่จะเริ่มดำเนินการในส่วนของการนำเงินในกองทุนกลางส่งกลับมาที่กลุ่มต่างๆ  เมื่อเงินในกองทุนสวัสดิการชุมชนไม่เพียงพอในการจ่ายสวัสดิการ  วันนี้เรามาอ่านกันต่อดีกว่าค่ะว่าเรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไร
            วาระที่ 3  เรื่องสืบเนื่อง  (ต่อ)
            อ.ธวัช  ได้ยกมือขออนุญาตแสดงความเห็นว่า  เท่าที่ผมทำงานมา 2 ปีกว่าๆ  เงิน 40% ในกองทุนสวัสดิการชุมชน (ซึ่งอยู่ที่กลุ่ม) ไม่เพียงพอที่จะนำมาจ่ายเป็นค่าสวัสดิการต่างๆให้กับสมาชิกได้  ผมต้องดึงเอาเงิน 30% ของกองทุนธุรกิจชุมชนมาช่วย   เมื่อพูดถึงตรงนี้ประธานได้กล่าวแทรกขึ้นมาว่าถูกต้องแล้วครับ  มันต้องเป็นอย่างนั้น  จากนั้น อ.ธวัช  ได้กล่าวต่อว่า  แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่กลุ่มต้องจ่ายค่าเฉลี่ยความเสียง  ผมก็ทยอยจ่ายมาทุกเดือน  แต่เมื่อถึงสิ้นเดือนธันวาคม  ปี 2548  เงินไม่พอ  ขนาดผมเอาเงิน 30% มาช่วยยังไม่พอเลยครับ   ผมถึงมาต่อรองกับเครือข่ายว่าตอนนั้นกลุ่มของผมมีคนตายอยู่ 3 ศพ (ศพละ 1 หมื่นบาท)  เงินที่อยู่ในกลุ่มไม่พอ ผมจึงมาบอกเครือข่ายว่าผมขอจ่ายแค่ 2 ศพก่อนได้ไหม  อีก 1 ศพ  ผมจะเอายังไม่จ่าย  ผมจะเอาเงินมารวบรวมกันแล้วมอบให้ศพต่างๆไป  เครือข่ายฯก็ไม่ยอม 
            ประธาน  ได้กล่าวขึ้นมาว่า  เอาล่ะ  ผมพอจะเข้าใจแล้ว  เรื่องนี้พูดกันมาตลอด  อ.ธวัชก็พยายามพูดแต่ในเรื่องเก่า  ผมขอบอกว่าแต่ก่อนเงินมันไม่เป็นระบบ  นึกอยากจ่ายก็จ่าย  นึกไม่อยากจ่ายก็ไม่จ่าย  แต่ตอนนี้เราจัดโครงสร้างคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อให้รับผิดชอบ  ทีนี้ผมจะบอกว่าคณะกรรมการก็หนักใจ  เงินไม่ไหลเข้ามาแล้วจะเอาเงินไปได้อย่างไร  ขอให้เข้าใจคณะกรรมการด้วยนะครับว่าเงินไม่ไหลเข้ามา  แล้วจะเอาเงินออกไปได้อย่างไร  ต้องทำให้มันเป็นระบบก่อน  อย่างคนที่มานั่งทำงาน  สมมติว่ามันมีตารางอยู่  ถ้ากลุ่มไหนทำตามตารางนี้  ทำตามระบบนี้  มันก็จะสามารถจัดการได้  ที่ผ่านมาบางทีก็จ่าย  บางทีก็ไม่จ่าย (หมายถึง  กลุ่มค่ะ)  พอเกิดมีคนตายขึ้นมาก็จ่ายไป  (หมายถึง  เครือข่ายฯ ค่ะ) พอเวลาเครือข่ายฯเรียกเก็บก็เรียกเก็บไม่ได้  มันก็เป็นปัญหา  ต้องไปเอาเงินกลางออกมา   เห็นไหมครับ  ตอนนี้ผมจึงบอกว่าให้หยุด ไม่ต้องเอาเงินตรงกลางออกมา  ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นหนี้  โดยที่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินคืนมาได้  เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจะไม่เข้าไปยุ่งกับเงินกลาง  เราต้องจัดการตรงนี้ให้ได้  ไม่อย่างนั้นจะเกิดภาระหนี้สินขึ้น  เพราะฉะนั้น  ผมจึงขอทำความเข้าใจด้วยนะครับว่าไม่ใช่ว่าไม่ให้  แต่ว่าต้องขอให้ทุกกลุ่มทำให้เป็นตามระบบให้เรียบร้อย  เรากำลังจัดการความรู้อยู่ว่าที่มันเกิดปัญหาทุกวันนี้  เงินไหลออกไป  แต่ไม่ไหลเข้ามา  ผมอยากถามว่าใครจะรับผิดชอบ  เงินล้านกว่าบาทที่จ่ายไปแล้วเป็นค่าสวัสดิการเรื่องศพ  ถ้ามันไม่ไหลเข้ามา  ใครจะรับผิดชอบ 
            เมื่อประธานกล่าวจบ  อ.ธวัช  ยกมือขออนุญาตว่า  เมื่อสักครู่นี้ผมพูดยังไม่ทันจบ  ทุกกลุ่มน่าจะรับฟังผม  แล้วเรามาช่วยกันแก้ไข  เมื่อมีปัญหาเราต้องแก้ไขช่วยกัน  อย่างที่ผมเรียนมาข้างต้นว่าเงินช็อต  ขนาดเอาเงินส่วนอื่นมาช่วยก็ยังไม่พอ  การที่ผมเสนอข้อเสนอต่างๆเข้ามาก็เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา  แต่เครือข่ายฯกลับไม่ฟังผมเลย  ไม่ช่วยกันแก้ไขปัญหา  บอกแต่ว่าเบิกไม่ได้  อย่างเมื่อกี้นี้ที่บอกว่าเงิน 30% กันเอาไว้เพื่อเอาไปทำธุรกิจชุมชน  มันจะเป็นไปได้อย่างไร  ในเมื่อเงิน 40% ที่จะต้องจ่ายสวัสดิการยังไม่พอ  ก็ต้องเอาเงินส่วนนี้ไปช่วย  ดังนั้น  เมื่อมีปัญหาอย่างนี้  เราต้องมาช่วยกันคิดว่าเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร 
            พี่นก  ยุพิน  ยกมือขอแสดงความคิดเห็นว่า  เมื่อเราไปที่ตราด  มันมีอะไรมากมายที่เราสามารถนำมาปรับเปลี่ยนในส่วนของเราได้หลายอย่าง
            เมื่อพูดถึงตรงนี้  อ.ธวัช  ได้บอกว่า  ข้อแรก  ระเบียบที่เครือข่ายฯตั้งขึ้นมาเพื่อเอามาใช้ในกลุ่มต่างๆ  เช่น  ออมมาแล้ว 6 เดือนถึงจะได้สวัสดิการ  รวมทั้งขั้นบันไดที่เครือข่ายตั้งเอาไว้ด้วยว่าเป็นสมาชิกมาครบเท่าไหร่  เมื่อตายจะได้เงินเท่าไหร่   อย่างเป็นสมาชิกครบ 1 ปี  ตายได้ 1 หมื่นบาท  มันก้าวกระโดดไปหรือเปล่า? เรามาคุยกันแล้วแก้ระเบียบดูไหม  ลดเพดานการจ่ายสวัสดิการ (ค่าศพ) ลงมา   ข้อสอง  การส่งเงินเฉลี่ยความเสียง  อย่างกลุ่มผมเงินไม่พอที่จะส่ง  เรามาคุยกันดีไหมว่าเราจะจัดการอย่างไร  เราจะยืมเงินออกมาจากกองทุนกลางได้อย่างไร  เงินในกลุ่มที่ไม่พอใช้เพราะอะไร 
            ประธาน  ได้ตัดบทพูดขึ้นมาว่า  เอาอย่างนี้นะครับอาจารย์  คือ  ตอนนี้กลุ่มเถิน  กับ  กลุ่มแม่พริก  ได้ขอทดลองออกไปบริการจัดการเงินเอง  ได้ทดลองทำอย่างที่อาจารย์พูดหรือยัง 
            อ.ธวัช  ตอบว่า  ได้เริ่มทดลองทำแล้วครับ 
            ประธาน  จึงกล่าวต่อไปว่า  คืออย่างนี้  ตอนนี้ทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ทดลองแยกกลุ่มออกไปบริหารจัดการเงินด้วยตนเอง  มันไม่ได้มารวมกับเครือข่ายฯแล้ว
            อ.ธวัช  จึงกล่าวตอบกลับมาว่า  ที่ผมพูดมานี้เป็นข้อเสนอที่ผมเสนอขึ้นมา  จะรับหรือไม่รับก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ 
            ประธาน กล่าวต่อว่า  ตอนนี้เครือข่ายฯจะพยายามจัดการ  ทีนี้ในส่วนของกลุ่มที่แยกตัวออกไป  ท่านก็ลองไปทดลองทำตามที่ท่านได้วางไว้  ถ้าทดลองทำแล้วสำเร็จจึงค่อยเอามาพูดกัน 
            อ.ธวัช  บอกว่า  เกณฑ์เมื่อกี้นี้มันไม่ได้ใช้กับกลุ่มผมนะครับ  แต่ที่ผมเสนอเครือข่ายฯก็เพราะว่าอยากจะให้คิดดูว่าจะลองปรับเปลี่ยนกันใหม่ดีไหม
            การสนทนาในเรื่องนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง  แต่ผู้วิจัยก็ขอจบการเล่าแต่เพียงเท่านี้ก่อนค่ะ  แต่ก่อนที่จะจบการเล่าในวันนี้  ผู้วิจัยขอแสดงความคิดเห็น (สักนิดหน่อย) เกี่ยวกับการสนทนาในช่วงนี้  (จริงๆแล้วไม่อยากจะแสดงความคิดเห็นเลย  เดี๋ยวจะหาว่าไม่เป็นกลาง  แต่ขอสักนิดหนึ่งก็แล้วกันนะคะ)  ผู้วิจัยมีความเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆที่เครือข่ายฯยอมรับความจริง  และคิดจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้เครือข่ายฯก้าวเดินไปได้  แต่จะดีกว่านั้นถ้าผู้บริหารรับฟังความเห็นของคนทำงานบ้าง  โดยเฉพาะคนทำงานในระดับกลุ่ม  เพราะ  เขาและเธอเหล่านั้น  คือ  คนที่คลุกคลีกับปรากฏการณ์  คลุกคลีกับปัญหา  ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและส่วนที่ต่างกัน  การที่มีกลุ่มขอทดลองแยกตัวออกไปบริหารจัดการตนเองนั้น  สำหรับผู้วิจัยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี  เปรียบเทียบง่ายๆ  เหมือนกับครอบครัวคนจีนที่มีลูกหลายคน  ใช้เงินของกงสีที่หามาร่วมกัน  ใครหาเงินได้ก็ต้องเอามาไว้ที่กงสี  กงสีก็เหมือนกับเครือข่ายฯ  ที่มีลูก (กลุ่ม) หลายคน  พ่อแม่ (ซึ่งก็คือ  ประธาน  และกรรมการบริหาร) มีหน้าที่ดูแล  อบรม  สั่งสอน  รวมทั้งแก้ปัญหาต่างๆ  ให้ลูก  ถ้ากงสีไหนที่ทุกคนพอใจจะอยู่อย่างนี้  เงินในกงสีเพียงพอที่จะให้ทุกคนใช้จ่าย  เขาก็จะอยู่ในกงสีอย่างนี้ไปเรื่อยๆ  แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง  อาจมีลูกคนหนึ่ง  หรือ  หลายคน  คิดจะแยกกิจการ  แยกตัวออกไป  ตั้งครอบครัวใหม่  สร้างฐานะด้วยตนเอง  พ่อ  แม่  ก็มีหน้าที่ในการให้การสนับสนุน  ดูแล  จุนเจือ  (ในช่วงแรกๆ  หรือ  บางช่วงที่เกิดวิกฤติ)  การแยกตัวออกไปของลูกๆ (บางคน) ไม่ได้ทำให้ครอบครัวเดิมแตกสลาย  ในทางตรงกันข้าม  เราจะพบเห็นอยู่เรื่อยๆว่าครอบครัวใหม่กลับมาช่วยครอบครัวเดิม  ครอบครัวใหม่ช่วยขยายเผ่าพงศ์วงศ์วาน  เมื่อมีเวลาหรือถึงเทศกาลต่างๆทุกคนก็จะมารวมตัวกัน  สอบถามสารทุกข์สุขดิบกัน  ช่วยเหลือกันตามสมควร  ตระกูลนั้นก็สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน  ในกรณีของเครือข่ายฯก็เช่นเดียวกัน  การที่มีกลุ่มขอทดลองแยกการบริหารจัดการนั้นน่าจะเป็นผลดีกับเครือข่ายฯมากกว่าผลเสีย  เพราะ  กลุ่มเหล่านั้นเขาก็ยังเป็นสมาชิกอยู่  ยังส่งเงิน (บางส่วน) มาที่เครือข่ายฯอยู่  ยังเข้าร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายฯตามปกติ  ผลที่ได้จากการบริหารจัดการแบบใหม่ก็อาจสามารถนำมาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเครือข่ายได้  ประธานเครือข่ายฯน่าจะเปิดใจ  และรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเหล่านี้ด้วย  ไม่ใช่ว่ามองว่าเขาแยกออกไปแล้ว  จะไม่รับฟังอะไรเขาเลย  ผู้วิจัยเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง  โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกนาที  เรายังต้องการความรู้อีกมากที่จะนำมาใช้จัดการเพื่อให้เราสามารถดำรงอยู่ได้ในสภาวการณ์เช่นนี้   
               
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23968เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2006 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท