นวัตกรรมการบริหาร


นวัตกรรมใหม่ๆ ทางการบริหารจะช่วยผู้นำได้อย่างไร
นวัตกรรมใหม่ๆ ทางการบริหารจะช่วยผู้นำได้อย่างไร

   เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ถ้าใครอบรมหลักสูตรผู้บริหารก็คงจะจำคำว่า POSCORB ได้ (Planning, Organization, Staffing, Coordinating, Reporting, Budgeting) แต่ในปัจจุบันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก หลักทั้ง 6 เรื่องคงไม่เพียงพอในยุคนี้ จึงมีเรื่องใหม่ๆ และเครื่องมือใหม่ๆ ให้ผู้บริหารสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้

 

ยุคแรกก็คือ การจัดการเชิงกลยุทธ์ เช่น มี SWOT ช่วยให้เกิดการวางวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์องค์กร มี Balance score card ช่วยให้เกิดการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติโดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนและสมดุลทั้งด้านประสิทธิภาพ ประสิทธิผล กระบวนการทำงานและนวัตกรรมการพัฒนา หรือการใช้ Strategy map เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นการใช้กระบวนทัศน์เชิงระบบในการบริหารเชิงกลยุทธ์นั่นเอง

 

   ปัจจุบันผู้บริหารก็จะคุ้นเคยกับอีกเรื่องหนึ่งคือการจัดการความรู้ เพื่อให้องค์กรตัดสินใจ และทำงานบนพื้นฐานความรู้ ขณะเดียวกันก็สร้างความรู้จากการทำงานควบคู่กันไป ซึ่งเรื่องหลังนี้จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในองค์กรที่ต้องการให้สมาชิกในองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการนำประสบการณ์ความสำเร็จของแต่ละคนมาปรับปรุงคุณภาพการทำงาน ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความเข้มแข็งของทีมงานไปด้วย เพราะการจัดการความรู้จากการทำงานนี้ต้องอาศัยเครื่องมือที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของทีม อย่างเช่นการใช้เรื่องเล่าเร้าพลังมาจัดการความรู้ และนำไปสู่การปรับปรุงการทำงาน หรือแม้กระทั่งปรับปรุงระบบ เช่น ปรับปรุงวิธีปฏิบัติในแต่ละกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น

 

การจัดการคุณภาพเป็นนวัตกรรมการบริหารที่สำคัญ

 

   หนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญของผู้นำการเปลี่ยนแปลงก็คือการจัดการคุณภาพ ชื่อก็บอกความสำคัญอยู่แล้วว่าในวงการศึกษา คือ การทำให้นักเรียนมีคุณภาพ ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายต้องการนั้นต้องมีการจัดการโดยเฉพาะ เริ่มตั้งแต่การสร้างวงจรคุณภาพนั้นมาในทุกระบบงาน หรือวาง PDCA ที่คุ้นเคยกัน น่าเสียดายที่ความเข้าใจจุดตั้งต้นของวงจรนี้คือ P ว่าเป็นการวางแผนทำให้กระบวนการที่ตามมาทั้งหมดคลาดเคลื่อนไป ที่จริงความหมายของ P ในการจัดการคุณภาพนั้น ต้องการให้ทุกระบบมีการวางวัตถุประสงค์และกระบวนการทำงานที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์หรือคุณภาพตามความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงน่าจะแปลว่าการวางระบบมากกว่า เพราะเมื่อวางระบบได้ดี มีวิธีปฏิบัติในกระบวนการที่สนับสนุนให้ทุกคนในระบบทำตรงกัน (D) ก็จะทำให้ทุกคนทำงานโดยมีคุณภาพใกล้เคียงกัน หรือมีการผลิตซ้ำคุณภาพ ส่วนการประเมินทบทวนระบบ (C หรือ S) และการปรับปรุงระบบ (A) ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อทำไปหลายๆ รอบ ระบบเหล่านั้นก็จะมั่นคงเป็นวัฒนธรรมขององค์กร แม้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ระบบก็ยังดำเนินดำเนินไปได้อย่างมีคุณภาพ แต่ถ้าเราเน้นแค่วางแผน ทำตามแผน ฯลฯ ในกิจกรรมต่างๆ ก็ไม่ทำให้ระบบงานที่จะมีกระบวนการและวิธีปฏิบัติอย่างชัดเจน และประกันว่ามีคุณภาพเกิดขึ้นได้ กิจกรรมต่างๆ ก็ยังคงคิดและดำเนินการอย่างแยกส่วนอยู่นั่นเอง

 

การจัดการคุณภาพทั้งองค์กรนั้นก็เป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการที่นำทั้งการจัดการเชิงกลยุทธ์ การจัดการความรู้และการจัดการคุณภาพ มาดำเนินการไปด้วยกันทั้งองค์กร ซึ่งทำให้เกิดความสำเร็จอย่างมากมายทั้งในองค์กรธุรกิจ รวมทั้งองค์กรสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล จึงน่าจะเป็นสิ่งที่วงการศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้

 

   สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ (สวร.) เป็นมูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ได้พัฒนานวัตกรรมการจัดการคุณภาพที่เชื่อมโยงกับการจัดการเชิงกลยุทธ์ และการจัดการความรู้ นวัตกรรมที่ได้วิจัยจนกระทั่งนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ก็คือ นวัตกรรมการพัฒนาคุณภาพภายในสถานศึกษาหรือการประกันคุณภาพที่มักรู้จักในชื่อ ToPSTAR ซึ่งมุ่งให้เกิดการจัดการคุณภาพใน 10 ระบบที่สัมพันธ์กันของสถานศึกษาและนวัตกรรมการเทียบระดับ หรือ Benchmarking ซึ่งมุ่งหมายให้เกิดการก้าวกระโดดของการพัฒนาคุณภาพโดยอาศัยการศึกษาความสำเร็จของผู้อื่น การดำเนินงานในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดบทเรียนมากมายที่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังและแลกเปลี่ยนระหว่างนักการศึกษา ผู้บริหาร ครูและผู้ปกครองที่สนใจในการศึกษา
หมายเลขบันทึก: 239399เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2009 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท