บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ


บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ.

บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ
สวากขาโต ภะคะวา ธัมโม
สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ.

บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสสะ ยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย
อัญชะลีกะระนีโย อะนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสาติ.
คำแปล บทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ
บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ
อิติปิ โส ภะคะวา ( เพราะเหตุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น )
อะระหัง ( เป็นผู้ไกลจากกิเลส ) สัมมาสัมพุทโธ ( เป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง )
วิชชาจะระณะสัมปันโน ( เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ )
สุคะโต ( เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี ) โลกะวิทู ( เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง )
อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ ( เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า )
สัตถาเทวะมนุสสานัง ( เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย )
พุทโธ ( เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม ) ภะคะวาติ. ( เป็นผู้มีความเจริญจำแกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้ )

บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ
สวากขาโต ภะคะวา ธัมโม ( พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว )
สันทิฏฐิโก ( เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง )
อะกาลิโก ( เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล )
เอหิปัสสิโก ( เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด )
โอปะนะยิโก ( เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว )
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ.
( เป็นสิ่งที่ผู้รู้ พึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนี้ ฯ )
บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ( สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว )
อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ( สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว )
ญายะปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ( สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว )
สามีจิปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ( สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว )
ยะทิทัง ( ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ )
จัตตาริ ปุริสสะ ยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา ( คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ )
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ( นั่นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า )
อาหุเนยโย ( เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา )
ปาหุเนยโย ( เป็นผู้ควรแก่สักการะที่จัดไว้ต้อนรับ )
ทักขิเนยโย ( เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน )
อัญชะลีกะระนีโย ( เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี )
อะนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสาติ.
( เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้ )

 

คำสำคัญ (Tags): #อิติปิโส
หมายเลขบันทึก: 239394เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2009 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2014 13:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

พุทธศาสตร์ศึกษาโดยวิธีอุปมาอุปมัย เรื่อง

"วิธีทำบุญให้ได้ผลที่สุด"

(ตอนที่ ๔ การภาวนา)

พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์

การบำเพ็ญบุญกิริยาที่สำคัญอีกประการหนึ่งนอกเหนือไปจาก "ทานมัย" และ "สีลมัย" คือ "ภาวนามัย" ซึ่งได้แก่ การทำบุญด้วยการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมาธิภาวนา

การภาวนา หมายถึง วิธีการทำให้จิตเกิดความสงบ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยฝึกพัฒนาจิตให้งอกงามด้วยคุณธรรม และหรือ ปัญญา ตามหลักพระพุทธศาสนามี ๒ อย่าง คือ

๑. จิตตภาวนา ได้แก่ การภาวนาเพื่อฝึกพัฒนาจิตให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม

๒. ปัญญาภาวนา ได้แก่ การภาวนาเพื่อฝึกพัฒนาจิตให้เจริญงอกงามด้วยปัญญา

การภาวนาดังกล่าวข้างต้น จะทำให้ผู้ภาวนาเป็นผู้ที่มีสติ ตื่นตัว รู้สึกตัว เข้าใจในสภาวธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันในโลกและชีวิต มีความปิติ เบิกบาน สงบสุข และผ่องใส ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า "พุทโธ" คือ "ผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบาน" นั่นเอง

ท่านอาจารย์ลี ธม.มธโร ได้กล่าวอุปมาเกี่ยวกับการภาวนาไว้ว่า

".....เปรียบเหมือนกับเราตั้งใจปลูกต้นไม้ไว้ต้นหนึ่ง ต่อมาเมื่อเราบำเพ็ญทาน ก็เปรียบเหมือนเราหาปุ๋ยไปใส่ไว้ที่โคนต้นไม้นั้น รักษาศีลก็เท่ากับเราระวังเก็บตัวบุ้งตัวหนอนที่มันคอยจะกัดกินดอกกินใบ และทำอันตรายแก่ต้นไม้นั้น ส่วนภาวนาก็เท่ากับเราไปตักน้ำเย็นๆ ที่ใสสะอาดมารดที่โคนต้น ไม่ช้าต้นไม้ของเรานั้นก็จะต้องเจริญงอกงามขึ้นทุกทีๆ จนเกิดดอกออกผลให้เราได้กินอิ่มหนำสำราญสมความตั้งใจ ถ้าเป็นไม้ดอกมันก็มีสีสดงดงาม กลีบใหญ่ มีกลิ่นหอมชื่นใจ ถ้าเป็นไม้ผลก็จะต้องดกมีพันธุ์ใหญ่และรสหวาน...."

วิธีการภาวนา ตามหลักพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๒ วิธี คือ

วิธีที่ ๑ สมถภาวนา ได้แก่ การภาวนาเพื่อให้จิตใจสงบไม่มีอาการดิ้นรน ไม่กระสับกระส่ายเข้าสู่ภวังค์บังเกิดเป็นสมาธิที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ เพียงอย่างเดียว วิธีนี้เรียกว่า สมถภาวนา หรือ สมถกัมมัฏฐาน

วิธีที่ ๒ วิปัสสนาภาวนา ได้แก่ การภาวนาเพื่อให้จิตที่เกิดดับอยู่ทุกระยะผูกติดพิจารณาอยู่ในเรื่องเดียวอารมณ์เดียว แล้วเฝ้าประคองอารมณ์นั้นไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ที่เรียกว่า มนสิการ จนกระทั่งเกิดปัญญา วิธีนี้เรียกว่า ปัญญาภาวนา หรือ วิปัสสนากัมมัฏฐาน

วิธีการภาวนาเพื่อให้เกิดสมาธิจิตสงบนิ่ง หรือ เกิดปัญญา นั้น ท่านเจ้าคุณ พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ได้กรุณาอธิบายไว้ว่า ผู้ปฏิบัติจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ นั่งขัดสมาธิ นั่งห้อยขา นั่งเก้าอี้ ยืน เดิน(เดินจงกรม) หรือนอนก็ได้ ท่านห้ามอยู่อย่างเดียวคือ การทำสมาธิในระหว่างขับรถ เพราะจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ การภาวนาก็เช่นกัน จะภาวนาว่า "พุทโธ พุทโธ..." หรือ "สัมมา อรหัง สัมมา อรหัง...." หรือ "ยุบหนอ พองหนอ......." หรือ "ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ....." อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ท่านได้อธิบายว่า การภาวนาเป็นเพียงอุบายที่จะล่อให้จิตเกาะติดอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงสิ่งเดียวเพียงอารมณ์เดียวเพื่อนำเข้าไปสู่การเป็นสมาธิเท่านั้น

การสวดมนต์ ไม่ว่า จะเป็นบทสวดมนต์ "อิติปิโส ภควา...." ซึ่งเป็นบทสวดมนต์ที่พุทธศาสนิกชนทุกท่านรู้จักดีเพราะต้องสวดบทนี้กันมาตั้งแต่เริ่มเรียนหนังสือ หรือจะเป็นบทสวดพระคาถา "ชินปัญชร" ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) รวมทั้งการสวดพระคาถาของพระเกจิอาจารย์ต่างๆ นับได้ว่า เป็นวิธีการภาวนาอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า บริกรรมภาวนา โดยการกำหนดใจให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือ ที่เรียกว่า "พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ" การภาวนาในลักษณะนี้เป็นการภาวนาที่ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ จัดเป็นขั้นตอนหนึ่งในการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน ในช่วงเวลาที่วิถีจิตอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ คือ จวนเจียนจะเข้าสู่ภวังค์ ก่อนที่จะบังเกิดเป็นอัปปนาสมาธิ นั้น ปัญจทวาร หรือ ทวารทั้งห้า ที่จะรับรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส กำลังจะปิดสนิท คงเหลือแต่มโนทวาร คือ จิต เพียงอย่างเดียว ที่จะยังเสาะส่ายหาอารมณ์ ที่เรียกว่า มโนทวาราวัชชนจิต และหวังเสวยอารมณ์อยู่เพียงอย่างเดียว ที่เรียกว่า ชวนจิต จึงเป็นเหตุให้ผู้ที่กำลังภาวนานั้นได้เห็นนิมิตต่างๆ ในลักษณะที่เรียกว่า บริกรรมนิมิต ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้ง อุคคหนิมิต หรือ นิมิตที่ติดแน่นฝังใจอย่างชัดเจน และ ปฏิภาคนิมิต หรือ นิมิตที่ติดแน่นฝังใจอย่างชัดเจน สามารถขยาย นิมิตให้ใหญ่ให้เล็กตามปรารถนา

นิมิตนั้นจะปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติไม่เหมือนกัน บ้างก็รู้สึกเหมือนปุยนุ่น บ้างเหมือนปุยฝ้าย บ้างว่าเหมือนสายลม บางท่านปรากฏเหมือนดวงดาว หรือเหมือนเม็ดมณีบ้าง ไข่มุกบ้าง สายสังวาลบ้าง พวงดอกไม้บ้าง ดอกบัวบ้าง พระเกจิอาจารย์บ้าง สุดแต่สัญญา หรือความจำฝังใจของผู้ปฏิบัติแต่ละท่าน

ภาวะจิตที่มีสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิ แล้ว เรียกว่า ฌาณ ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ระดับใหญ่ๆ คือ รูปฌาณ และ อรูปฌาณ แต่ละระดับยังแบ่งออกเป็นระดับย่อยๆ อีก ๔ ระดับ ได้แก่ ปฐมฌาณ (ฌาณขั้นที่ ๑) ทุติยฌาณ (ฌาณขั้นที่ ๒) ตติยฌาณ (ฌาณขั้นที่ ๓) และ จตุตถ-ฌาณ (ฌาณขั้นที่ ๔) รวมกันเป็น ๘ อย่าง เรียกว่า ฌาณ ๘ หรือ สมาบัติ ๘ บางทีเรียกรวมกันว่า ฌาณสมาบัติ ๘

ผู้ใดก็ตามได้บำเพ็ญภาวนาจนกระทั่งภาวะของจิตสงบ บังเกิดเป็น อัปปนาสมาธิ หรือได้บรรลุฌาณสมาบัติ ๘ ถือได้ว่า ท่านผู้นั้นได้ประกอบกุศลกรรมถึงขั้น ครุกกรรม ซึ่งเป็นกุศลกรรมหนักที่ส่งผลรุนแรงที่สุด และส่งผลหรือวิบากให้ก่อนกรรมอื่นๆ หากยังมิได้บรรลุถึงขั้นดังกล่าว แต่ได้ถือปฏิบัติอยู่เป็นประจำ อย่างต่อเนื่อง ก็ถือได้ว่า ท่านผู้นั้นได้ประกอบกุศลกรรมขั้น อาจิณณกรรม ซึ่งเป็นกุศลกรรมหนักรองลงมา และจะส่งผลให้เห็นเมื่อผู้นั้นไม่มีครุกกรรม

การภาวนาจนกระทั่งจิตสงบแน่วแน่บังเกิดเป็นสมาธิได้ถึงขั้นเป็นฌาณสมาบัติขั้นต่างๆ นี้ จะทำให้จิตดื่มด่ำอยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้น จนมีความพร้อมอยู่ในตัว สามารถโน้มน้าวนำไปใช้ไปปฏิบัติในสิ่งที่พึงประสงค์ได้ง่าย และได้ผลที่สุด ในช่วงขณะนี้ บรรดาเจตสิกที่เป็นอกุศลทั้งหลายที่คอยกระตุ้นบีบคั้นบังคับให้จิตมีอาการเดือดพล่าน กระวนกระวาย ฟุ้งซ่าน อยู่เสมอ จะถูกควบคุมให้สงบนิ่งอยู่ในเขตจำกัด จึงอุปมาได้เสมือนกับน้ำที่อยู่ในภาชนะเป็นคนโทแก้วใส ขณะที่จิตยังอยู่ในภาวะปกติ ยังมิได้เข้าสู่ภาวะการเป็นสมาธิด้วยการภาวนา จิตจะต้องรับอารมณ์ต่างๆ ผ่านเข้ามาทางทวารทั้งห้า หรือ ปัญจทวาร คือ ตา ลิ้น จมูก หู และ สัมผัส รวมทั้งที่ผ่านเข้ามาทางมโนทวาร ซึ่งเป็นผลจากการเกิด ดับของจิต เฝ้าคิดไปในเรื่องราวต่างๆ ผงธุลีสิ่งสกปรกต่างๆซึ่งเจือปนอยู่ในน้ำนั้นจะทำให้ฟุ้งกระจายจนปรากฏให้เห็นว่า น้ำนั้นขุ่นมัว แต่ในทางตรงข้าม เมื่อได้มีการภาวนา จนจิตสงบนิ่ง บังเกิดเป็นสมาธิขึ้น ผงธุลีสิ่งสกปรกต่างๆ เหล่านี้ย่อมจะถูกทำให้ตกตะกอนลงไปสู่ก้นคนโทจนหมดสิ้น จึงช่วยทำให้เรามองเห็นว่า น้ำนั้นใสสะอาด สามารถมองผ่านไปเห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังน้ำนั้นได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ผลการปฏิบัติที่ทำให้จิตเข้าสู่ภาวะสงบ เป็นสมาธิ สามารถระงับยับยั้งดับกิเลสต่างๆ ได้ ถึงขั้นเป็น อัปปนาสมาธิ หรือได้บรรลุฌาณสมาบัติ นี้ ยังถือว่า เป็น การสงบชั่วคราว หรือหลุดพ้นได้เฉพาะในขณะที่จิตบังเกิดเป็นสมาธิเท่านั้น เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ปฏิบัติก็ยังต้องกลับมาเผชิญกับปัญหาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นปัญหาชีวิตประจำวันอีกเช่นเดิม การหลุดพ้นในลักษณะนี้ จึงเป็นทางปฏิบัติที่ทำให้เกิดการหลุดพ้นในทางโลก ที่เรียกว่า โลกีย์วิโมกข์ เท่านั้น

ในคัมภีร์พระอรรถกถาได้แสดงข้ออุปมาเกี่ยวกับการปฏิบัติสมถภาวนา หรือ สมถกัมมัฏฐาน ไว้ว่า เป็นการนำเอากำลังสมาธิมาข่ม ระงับกิเลสไว้ เสมือนกับเอาก้อนหินวางทับหญ้าไว้ หญ้าจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ แต่เมื่อใด จิตถอนออกจากสมาธิ ก็เท่ากับยกก้อนหินออก หญ้าที่ถูกทับไว้ย่อมจะเจริญงอกงามขึ้นใหม่ได้

การบำเพ็ญสมถภาวนาจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ หรือ ได้ฌาณสมาบัติ ๘ นี้ ได้มีการศึกษา และปฏิบัติกันมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธกาล ก่อนที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ พระองค์ท่านได้ทรงศึกษาจากพระดาบสอาจารย์ที่เก่งที่สุดในขณะนั้น จนสามารถบำเพ็ญสมถ ภาวนา หรือ สมถกัมมัฏฐาน จนได้ถึงขั้นเป็นอัปปนาสมาธิ หรือได้บรรลุฌาณสมาบัติ ๘ ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดมาแล้ว แต่ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า วิธีการปฏิบัติเช่นนี้ มีขอบเขตจำกัดที่จะทำให้เกิดการหลุดพ้นในทางโลกเท่านั้น มิใช่เป็นทางปฏิบัติที่จะสามารถดับทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานได้อย่างแท้จริง และการที่จะสืบสวนค้นหาว่า ทุกข์คืออะไร มีต้นเหตุ (สมุทัย) มาอย่างไร และจะมีวิธีการดับทุกข์ (นิโรธ) ได้อย่างไร ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของพระพุทธองค์ในการที่เสด็จออกผนวชนั้น จะสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีปัญญาที่ถูกต้อง ปัญญานี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้มีการถือปฏิบัติตามแนวทาง หรือ มรรค ๘ ประการ ซึ่งได้แก่ ความเห็นชอบ ความเห็นที่ถูกต้องตรงกับเหตุผลแห่งสภาวธรรม ตามความเป็นจริง หรือ สัมมาทิฏฐิ ความดำริชอบ คือ ดำริที่จะละความโกรธ ความพยาบาท ปองร้าย ดำริที่จะไม่เบียดเบียนสัตว์ให้เดือดร้อน เพื่อให้เกิดแต่ความเมตตาปรานี หรือ สัมมาสังกัปปะ การกล่าววาจาชอบ ไม่กล่าววาจาอันเป็นวจีทุจริต ๔ คือ พูดปดหลอกลวง ส่อเสียด ยุยง หยาบคาย เพ้อเจ้อไร้สาระ หรือ สัมมาวาจา การการกระทำที่ชอบ เว้นจากกายทุจริต หรือ สัมมากัมมันตะ การเลี้ยงชีพชอบ มีความเป็นอยู่ชอบ หรือ สัมมาอาชีวะ การมีความเพียรถือปฏิบัติไปในทางที่ถูกต้อง หรือ สัมมาวายามะ การมีสติระลึกรู้เท่าทันจิต เฝ้ากระตุ้นเตือนให้จิตใฝ่คิดระลึกอยู่ในเรื่องที่ถูกต้อง เป็นกุศลกรรม หรือ สัมมาสติ และ การควบคุมจิตมิให้เกิดการฟุ้งซ่าน ให้จิตเฝ้าเกาะผูกติดสนิทแนบแน่นในอารมณ์ที่ถูกต้องอันเป็นบุญกุศลจนบังเกิดเป็นสมาธิ หรือ สัมมาสมาธิ ขึ้น และโดยการปฏิบัติปัญญาภาวนา จนเกิดเป็นวิปัสสนาสมาธิ ซึ่งจัดอยู่ในระดับเดียวกับอุปจารสมาธิขึ้นเท่านั้น พระพุทธองค์จึงได้ทรงเปลี่ยนจากการปฏิบัติสมถภาวนา หรือ สมถกัมมัฏฐาน ไปปฏิบัติปัญญาภาวนา หรือ วิปัสสนากัมมัฏฐาน แทน จึงทรงประสบความสำเร็จ ทรงสามารถหลุดพ้นได้ทั้งด้วยฌาณสมาบัติ และด้วยพระปัญญา

สรุปสาระสำคัญของธรรมะที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมด สามารถนำมากล่าวในเชิงอุปมาอุปมัยได้ดังนี้

๑. การที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติสมถสมาธิถึงขั้นสูงสุด สามารถระงับดับกิเลสได้โดยสิ้นเชิงนั้น เป็นเหตุให้พระองค์ท่านทรงไว้ซึ่งพระวิสุทธิคุณ คือ บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง จึงอุปมาได้กับ น้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ซึ่งสงบนิ่งอยู่ในคนโทแก้ว ในน้ำนั้นปราศจากผงธุลีสิ่งสกปรกต่างๆ มาเจือปน หรือ หลงเหลือตกเป็นตะกอนแม้แต่น้อยนิดก็ไม่มี ถึงแม้ว่า จะนำเอาคนโทนั้นมาเขย่าสั่นคลอนอย่างไรก็ตาม น้ำที่บรรจุอยู่ก็ยังใสสะอาด มิได้ขุ่นมัวแต่อย่างใด

๒. การที่พระพุทธองค์ได้ทรงเจริญพระปัญญา ทรงตรัสรู้ในแก่นแท้ที่สุดของความจริง หรือ ปรมัตถสัจจะ ของสภาวะธรรมต่างๆ ที่ได้อุบัติบังเกิดขึ้นทั้งในมนุษย์โลก พรหมโลก เทวโลก อบายภูมิ และนรกภูมิ รวมทั้งในเอกภพสากลจักรวาล ได้อย่างลึกซึ้งนั้น จึงอุปมัยได้กับ ความใสสะอาดบริสุทธิ์ของน้ำที่บรรจุอยู่ในคนโทนั้น จะช่วยเกื้อกูล เป็นปัจจัยเสริมให้สามารถเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ด้านหลังของน้ำได้อย่างชัดเจนแจ่มใส ทะลุปรุโปร่งนั่นเอง

๓. การบริกรรมภาวนาโดยวิธีสวดมนต์ หรือ ท่องพระคาถาบทหนึ่งบทใดก็ตาม หากผู้ที่สวดนั้นมิได้สวดแบบท่องจำ ที่เรียกว่า แบบนกแก้วนกขุนทอง ความขลังย่อมจะเกิดขึ้นได้เมื่อจิตสงบบังเกิดเป็นสมาธิขึ้น ถึงแม้ว่า จะยังไม่ถึงขั้นเป็นอัปปนาสมาธิก็ตาม แต่ได้ถือปฏิบัติอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่องในลักษณะอาจิณณกรรม ผู้ปฏิบัติจึงได้รับอานิสงส์อย่างแรง และรวดเร็วรองลงมาจากครุกกรรม หากไม่มี อุปฆาตกกรรม (กรรมของฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาตัดรอนกรรมต่างๆ ที่มีกำลังน้อยกว่าเพื่อมิให้ส่งผล และเพื่อเปิดช่องให้เกิดผลเฉพาะของตนก่อน) มาตัดรอนเสียก่อน

*********************

เอกสารอ้างอิง ๑. หนังสือ "พุทธธรรม", พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุต.โต)

๒. นิตยสารรายเดือน "ธรรมจักษุ" ของมหามกุฏราชวิทยาลัย

เรียบเรียง ณ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๑

มรรคแห่งการภาวนา โพธิปักขิยธรรม 37

อวกาศสีขาว

. . . . . ห ล า ย ค น ที่เข้ามาสนใจธรรมะ ไม่ว่าจะโดยเหตุใดก็ตาม ต้องเรียนรู้เรื่องอริสัจสี่ คือ ทุกข์-เหตุแห่งทุกข์-ความดับทุกข์-และหนทางของการดับทุกข์

ผู้เห็นทุกข์ในทุกข์ที่เป็นอยู่ ย่อมแสวงหนทางดับทุกข์ ทางดับทุกข์นั้นอาจมีกรรมฐานหรือการปฏิบัติให้เลือกตามจริต เพื่อให้เข้าถึงอริยมรรคอย่างถ่องแท้ ซึ่งมีทั้งสมถะวิปัสสนากรรมฐาน คือฝึกสมาธิเพื่อยกเข้าสู่ภูมิวิปัสสนา หรือวิปัสสนากรรมฐานเพื่อเจริญอินทรีย์ห้าพละห้าและอริยมรรคไปพร้อมกันทั้งหมด

วิปัสสนาหรือการภาวนา ที่นิยมเรียกว่าการเจริญสติภาวนาโดยสติปัฏฐานสี่ กาย-เวทนา-จิต-ธรรม คือ การตามรู้รูปนามตามความเป็นจริง การรู้เรื่องภายในนี้ จึงจะเข้าใจการทำงานของกายและจิต ว่าแท้จริงเป็นอย่างไร มีเหตุปัจจัยสืบเนื่องกันอย่างงไร ทุกข์ที่เกิดจากขันธ์ห้าที่เวียนว่ายในสังสารสามารถสิ้นสุดลงโดยอริยมรรคได้อย่างไร

เหตุเพราะร่างกายมนุษย์เรามีแค่กายกับจิต แม้จะใช้ฐานสี่เป็นที่เกาะของสติ แต่สิ่งที่ต้องเรียนรู้ก็คือเรื่องจิตนี่เอง ถึงร่างกายจะมีส่วนที่ทำงานโดยอัตโนมัติก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็ทำงานโดยจิต ล้วนมีผลมาจากจิต เมื่อแยกการทำงานของรูปกับนามได้ ก็สามารถทราบกลไกการทำงานของจิตได้ ว่ากายนี้ประดุจซากศพที่ทำงานอยู่ได้ก็เพราะมีจิตครอง แม้นนักปฏิบัตจะเห็นว่ากาย(รูปขันธ์)นี้ไม่ใช่เรา แต่การจะทราบว่าจิตสังขาร(นามขันธ์สี่ เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ) นี้ไม่ใช่เรา ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคุ้นเคยกับ อารมณ์-ความจำ-ความนึกคิด-ความรู้สึก อันเป็นนามธรรมที่เป็นเหตุแห่งตัวตนเป็นเราเป็นเขามาตลอด

ถึงกระนั้นเมื่อมีปัญญาทราบว่าจิตสังขารไม่ใช่เรา เป็นเหตุแห่งทุกข์ที่ปรุงแต่งสร้างภพชาติเพราะมีธรรมชาติความคิดนึกของอัตตาจึงก่อให้เกิดอาสวะกิเลส นักปฏิบัติที่เพียรปฏิบัติจึงพยายามจะปฏิบัติการภาวนาให้ถูกวิธี เพื่อจะเข้าใจการทำงานของจิตโดยไม่ให้หลงทิศหลงทาง เพราะหากเป็นดังนั้น นอกจากไม่ทำให้สิ้นทุกข์ ยังเพิ่มทุกข์ใหม่ๆ เข้ามาเสริมอัตตาให้มากขึ้นไปอีก โดยการตามรู้รูปและนามด้วยการเจริญสติ เพื่อให้เห็นการทำงานของจิตตามจริงว่ามีธรรมชาติแท้อย่างไร

แต่ก็มักมีคนสงสัยว่า ตามที่ตนเจริญสติภาวนาอยู่นั้นถูกทางหรือผิดทางอย่างไร แล้วการภาวนาที่ถูกทางเป็นอย่างไร เพราะบางคนยิ่งภาวนายิ่งเห็นตนคล้ายคนวิกลจริต บ้างก็หลงลำพองกับธรรมจนรู้สึกคนรอบข้างนั้นสู้ตนไม่ได้ บ้างก็รู้สึกตนมีความสุขกับการภาวนาโดยการทึกทักเอา พอเจอสถานการณ์บางอย่าง ก็จะไม่สามารถโกหกตนได้อีก เพราะทุกข์นี้รุมเร้า จนกว่าจะยอมเผชิญกับมันอย่างจริงจัง ไม่เสแสร้งหลอกตัวเอง ขนาดตกเป็นทาสกิเลสไปถึงไหนต่อไหนแต่ยังเข้าใจว่าตนมีสติ เป็นหุ่นเชิดของกิเลสลำพองตัวว่าเป็นผู้สูงไปโดยไม่เห็นเท่าทัน ไม่รู้ตัวว่าหลุดจากความไม่มีอคติตัวตนหรือใจที่เป็นกลางไปเสียแล้ว

การภาวนา หรือเจริญสติตามหลักสติปัฏฐานสี่ ให้เห็นรูปนามตามจริงนั้น ยากหรือง่ายอย่างไร จะทราบได้อย่างไร ว่าการเจริญสติตามรู้รูปนามหรือเห็นกายเห็นความคิดนั้นปฏิบัติถูกหรือผิดหลัก

หากจะตอบง่ายๆ เข้าใจกันได้ง่ายๆ การภาวนาให้ถูกหลัก ก็คือ ภาวนาแล้วสามารถทำให้เกิดความรู้แจ้งได้หรือบรรลุธรรมได้นั่นเอง การภาวนาอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ต้องเลือกสถานที่ เวลา แต่จงมีสติอยู่กับตัวให้ต่อเนื่องได้มากที่สุด เมื่อสติสัมปชัญญะบริบูรณ์เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เสมือนการเก็บกักน้ำในโอ่ง หากเก็บแล้วรั่วมากก็ไม่มีวันเต็ม หากเก็บได้มากกว่าที่รั่วมันก็เต็มได้

หรือหากตอบตามขั้นตอนธรรมอันเกิดขึ้นกับผู้เจริญสติปัฏฐานสี่อย่างถูกวิธี ก็คือ การเกิดธรรมตามหลักโพธิปักขิยธรรม 37 ธรรมที่เป็นมรรคของการภาวนา คือธรรมอันเป็นฝ่ายในทางให้เกิดความรู้แจ้ง

โพธิปักขิยธรรม 37 มรรคแห่งการภาวนา

ด้วยธรรม 37 ประการนี้ ในพระวินัยปิฎกได้แสดงไว้โดยจำกัดความว่าเป็นมรรคของการภาวนา คือการหมั่นเจริญในทางที่ทำให้หลุดจากอาสวะกิเลส ทำให้เกิดความรู้แจ้งในโลกุตตรธรรม โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประกอบด้วย สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘

ถ้าหากเกิดมีความสงสัยว่า การภาวนาที่เจริญมานั้นถูกทางไหมหนอ ง่ายๆ เลย คนที่ภาวนาถูกทางตามหลักสติปัฏฐานสี่แล้ว สัมมัปปธานสี่ ต้องเกิดตามทันทีทุกขณะการภาวนา คือรู้ว่าจิตนี้มีอกุศลมีกุศลอย่างไรแล้ว กิเลสต้องหมั่นละและกุศลต้องหมั่นกระทำ ศีลห้าจึงตั้งมั่นอยู่ได้ และถ้ามีอิทธิบาทสี่พร้อมด้วย อินทรีย์ห้าพละห้าย่อมมีกำลัง เรียกว่ากระทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์ รอแต่ให้อริยมรรคเจริญพร้อมสมังคีได้ทุกที่ทุกเวลา ..การเจริญสติปัฏฐานก็คือการเจริญอริยมรรคนั่นเอง หากกำหนดสติได้ต่อเนื่องได้มากเท่าใด อริยมรรคก็พร้อมสมังคีได้มากเท่านั้น

การภาวนาหากทำไม่ถูกหลัก แทนที่จะลดละกิเลสอัตตา กลับเพิ่มกิเลสอัตตาขึ้นมา ต้องมีความเข้าใจว่าการตามดูจิต คือรู้จิตที่มี ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มีสติรู้พร้อมในจิต หากยังไม่สามารถหยุดความคิดแต่ก็สามารถหยุดวาจาที่ไม่ควร หากยังไม่สามารถหยุดวาจาก็สามารถหยุดการกระทำที่ไม่ควร ไม่ใช่การตามรู้เฉยๆ แล้วปล่อยให้มันออกมาเป็นวาจาและการกระทำที่ไม่ควร รู้แบบนั้นไม่เรียกว่ารู้ตัวรู้สติ ไม่ถูกหลักภาวนา ดีไม่ดีคิดว่าตนรู้ธรรมมากจนเทียวสั่งสอนคนอื่นในสิ่งที่ตนทำไม่ได้ แบบนี้นับว่ายังไม่เป็นไรนัก แต่หากถ้าขนาดหนักก็สอนธรรมผิด จนก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อส่วนรวมได้

โพธิปักขิยธรรม 37 ธรรมอันเป็นฝ่ายแห่งการตรัสรู้ คือ

สติปัฏฐาน 4 กาย เวทนา จิต ธรรม

สัมมัปปธาน 4 สังวร ปะหาน ภาวนา อนุรักษ์

อิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

อินทรีย์ 5 สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา (เป็นใหญ่)

พละ 5 สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา (มีพลัง)

โพชฌงค์ 7 สติ ธรรมวิจัย วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา

อริยมรรคมีองค์ 8 สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ

สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

สติปัฏฐาน 4

คือการกำหนดฐานที่ตั้งของสติ พิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามจริง ตามธรรมชาติที่มันเป็นอยู่จริง ด้วยการตามรู้อาการต่างๆ ที่แสดง โดยไม่เข้าไปคิดปรุงจนหลุดจากสภาวะเดิมของมัน

1.พิจาราณากาย (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน) มีสติรู้เห็นตามจริงว่าเป็นแต่เพียงร่างกาย เมื่อไม่เข้าไปยึดความเป็นเราเขา สัตว์บุคคลตัวตนก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น กำหนดลมหายใจหรืออานาปานสติ กำหนดรู้ทันอิริยาบถหรือการเคลื่อนไหว หรือพิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุ พิจารณาซากศพในระยะเวลาต่างๆ ให้เห็นสภาพร่างกายว่ามีความเน่าเปื่อยผุพังไปอย่างไร (นวสีวถิกา)

2.พิจารณาเวทนา (เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน) มีสติรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ

3.พิจารณาจิต (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) มีสติรู้ชัดจิตของตนว่ามีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่าน หรือ เป็นสมาธิ ฯลฯ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ

4.พิจาณาธรรม (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน) คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลายอาทิ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ12 ธาตุ18 โพชฌงค์ 7 อริยสัจจ์ 4 ว่าเป็นอย่างไร เกิดขึ้น เจริญขึ้น และดับไปได้อย่างไร ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ

สัมมัปปธาน 4

1.สังวรปธาน เพียรระวังหรือเพียรปิดกั้น ในบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น

2.ปหานปธาน เพียรละ หรือเพียรกำจัด ในบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

3.ภาวนาปธาน เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด ในกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น

4.อนุรักขนาปธาน เพียรรักษา ในกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และให้เจริญยิ่งขึ้นไป

อิทธิบาท 4

1.ฉันทะ ความพอใจใฝ่ใจจะทำสิ่งนั้น ต้องการหรือปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป

2.วิริยะ ความขยันหมั่นเพียรในสิ่งนั้นด้วยความมุ่งมั่น เอาธุระ ไม่ย่อท้อกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น

3.จิตตะ การดำเนินไปด้วยความตั้งมั่นในสิ่งที่ทำ ไม่ฟุ้งซ่าน ตั้งจิตอุทิศตัวอุทิศใจให้แก่สิ่งที่ทำ

4.วิมังสา ความแยบคายไตร่ตรอง ใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุผล และตรวจสอบในสิ่งที่ทำนั้นว่าหนักหรือเบาเกินไป มีการวัดผล ปรับปรุงแก้ไข

อินทรีย์ 5 พละ 5

1.ศรัทธา 2.วิริยะ 3.สติ 4.สมาธิ 5.ปัญญา

ส่วนที่เรียกว่า อินทรีย์ เพราะความหมายว่าทำให้แก่กล้า เป็นใหญ่ในการกระทำหน้าที่แต่ละอย่างของตน คือ สัทธินทรีย์หรืออินทรีย์คือศรัทธา วิริยินทรีย์หรืออินทรีย์คือวิริยะ สตินทรีย์ หรืออินทรีย์คือสติ สมาธินทรีย์หรืออินทรีย์คือสมาธิ ปัญญินทรีย์หรืออินทรีย์คือปัญญา

ส่วนที่หมายถึงพละ เพราะหมายถึงว่าเป็นพลัง ทำให้เกิดความมั่นคง คือ สัทธาพละ วิริยะพละ สติพละ สมาธิพละ และ ปัญญาพละ

โพชฌงค์ 7

1.สติสัมโพชฌงค์ ความระลึกได้ รู้พร้อมอยู่

2.ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ ความสอดส่องค้นธรรมพิจารณาโดยแยบคาย

3.วิริยะสัมโพชฌงค์ ความเพียรพยายามไม่ท้อถอย

4.ปิติสัมโพชฌงค์ ความอิ่มเอมใจ พอใจ

5.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบนิ่งเย็นผ่อนคลายกายใจ

6.สมาธิสัมโพชฌงค์ ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วแน่ในอารมณ์

7.อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ความมีใจเป็นกลางปล่อยวางเพราะเห็นตามเป็นจริง

อริมรรคมีองค์ 8 (มัชฌิมาปฏิปทา)

หนทางอันจะนำไปสู่ความดับทุกข์ (ทุกฺข-นิโรธคามินีปฎิปทา-อริยสจฺจ) เรียกว่า "ทางสายกลาง (มชฺฌิมา ปฏิปทา) เพราะงดเว้นจากข้อปฏิบัติที่สุดโต่ง 2 ประการ นั่นคืออริยมรรคมีองค์แปด(อริยอฏฐคิกมคฺค) โดยข้อปฎิบัติขวาสุดอย่างแรก ได้แก่ การแสวงหาความสุขด้วยกามสุข อันเป็นของต่ำเป็นของธรรมดา เป็นทางของสามัญชน ข้อปฎิบัติซ้ายสุดอีกอย่างหนึ่ง คือการแสวงหาความสุขด้วยการทรมานตนเองด้วยการบำเพ็ญทุกกรกิริยาในรูปแบบต่างๆ อันเป็นการทรมานร่างกาย เป็นโทษและไม่เกิดผลดี

อริยมรรค ฝ่ายปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ฝ่ายศีล คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ฝ่ายสมาธิคือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

1.สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ แจ้งในสัจธรรมต่างๆ ตามจริง มีโยนิโสมนสิการ เป็นประดุจหางเสือของอริยมรรค หากมีการพิจารณาเห็นชอบในธรรมทั้งหลายได้ลึกซึ้งมากเท่าใด อริยมรรคที่เหลือก็ยิ่งเป็นสัมมามากเท่านั้น

2 สัมมาสังกัปปะ คิดชอบ คิดในเรื่องกุศล คือ 1.ความตรึกปลอดจากกาม 2.ความตรึกปลอดจากพยาบาท ประกอบด้วยจิตเมตตา ไม่ขัดเคืองเพ่งโทษ 3.ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียนด้วยกรุณาไม่คิดร้ายประทุษร้าย

3.สัมมาวาจา วาจาชอบ มีวจีสุจริต 4 คือ 1.ไม่พูดเท็จ 2.ไม่พูดส่อเสียด 3.ไม่พูดหยาบ 4. ไม่พูดเพ้อเจ้อ

4.สัมมากัมมันตะ การงานชอบ มีกายสุจริต 3 คือ 1.ไม่ฆ่าสัตว์ 2.ไม่ลักทรัพย์ 3.ไม่ประพฤติผิดในกาม

5.สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ ประกอบอาชีพสุจริตไม่เป็นมิจฉาอาชีพ (ค้าขายไม่ชอบธรรม 5 อย่าง) 1.ค้าขายเครื่องประหาร 2.ค้าขายมนุษย์ 3.ค้าขายสัตว์สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร 4.ค้าขายน้ำเมา 5.ค้าขายยาพิษ

6.สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในสัมมัปปธานสี่ รวมไปถึงมีอิทธิบาทสี่

7.สัมมาสติ สติชอบ สามารถเจริญสติปัฏฐานสี่ได้

8.สัมมาสมาธิ สมาธิชอบ จิตตั้งมั่นเข้าถึงฌานได้โดยไม่หลงทาง สามารถเจริญปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน

ภาวนาสูตร

http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=2593&Z=2628&pagebreak=0

[๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นเจริญภาวนา แม้จะพึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า

" โอหนอ ขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น " ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นข้อนั้นเพราะเหตุไร กล่าวได้ว่า เพราะไม่ได้เจริญ เพราะไม่ได้เจริญอะไร เพราะไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘

เปรียบเหมือนแม่ไก่มีไข่อยู่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้น แม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี แม่ไก่นั้น แม้จะเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่าโอหนอ ขอให้ลูกของเราพึงใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดี ก็จริง แต่ลูกไก่เหล่านั้นไม่สามารถที่จะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะแม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี ฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลายเมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนา แม้จะไม่พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ข้อนั้นเพราะเหตุไร พึงกล่าวได้ว่า เพราะเจริญ เพราะเจริญอะไร เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เปรียบเหมือนแม่ไก่มีไข่อยู่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้นแม่ไก่กกดี ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ฟักดี แม้แม่ไก่นั้น แม้จะไม่ปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอให้ลูกของเราพึงใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดี ก็จริง แต่ลูกไก่เหล่านั้นก็สามารถใช้เท้าหรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะไข่เหล่านั้นแม่ไก่กกดี ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ฟักดี ฉะนั้น ฯ

เปรียบเหมือนรอยนิ้วมือ รอยนิ้วหัวแม่มือที่ด้ามมีด ย่อมปรากฏแก่นายช่างไม้หรือลูกมือนายช่างไม้ แต่เขาไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้เมื่อวานสึกไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสึกไปเท่านี้ ที่จริง เมื่อด้ามมีดสึกไปเขาก็รู้ว่าสึกไปนั่นเทียว ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้ อาสวะของเราสิ้นไปเท่านี้ เมื่อวานสิ้นไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสิ้นไปเท่านี้ แต่ที่จริง เมื่ออาสวะสิ้นไป ภิกษุนั้นก็รู้ว่าสิ้นไปนั่นเทียว ฯ

เปรียบเหมือนเรือเดินสมุทรที่เขาผูกหวาย ขันชะเนาะแล้วแล่นไปในน้ำตลอด ๖ เดือน ถึงฤดูหนาว เข็นขึ้นบก เครื่องผูกประจำเรือตาก ลมและแดดไว้ เครื่องผูกเหล่านั้นถูกฝนชะ ย่อมชำรุดเสียหาย เป็นของเปื่อยไปโดยไม่ยาก ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ สังโยชน์ย่อมสงบระงับไปโดยไม่ยาก ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ

(จบสูตรที่ ๗)

สวัสดีครับ

P

P

 

  • ขอทุกท่านจงเจริญในธรรมครับ

 

เคยฟังจากบรรยาธรรมของท่านพุทธทาส เรื่อง "ธรรมะในฐานะวิทยาศาสตร์" ท่านได้ให้ข้อพิจารณาที่น่าสนใจจากบทสวดพระธรรมคุณ ผมลองสรุปเองว่า

  • เมื่อเราต้องการจะแก้ปัญหาใดนั้น เราต้องน้อมรับก่อนว่านี้คือปัญหาที่ต้องแก้ไข/หรือเป็นความรู้ที่ควรแก่การศึกษาให้เข้าใจ (เอหิปัสสิโก)
  • จากนั้นก็ทำการทดลองและดูผลที่เกิดขึ้น และเมื่อเห็นว่าผลจากการกระทำหรือความรู้นั้นเป็นอย่างเดิม (อะกาลิโก)
  • ผลที่เกิดขึ้นจากการทดลองหรือการแก้ปัญหานั้นเป็นเรื่องที่เฉพาะผู้ที่ทำการทดลองนั้นจะได้รู้ (สันทิฎฐิโก)
  • เมื่อเราทำกี่ครั้งมันก็จริงอย่างนั้น เราก็สามารถเชื่อมั่นในความรู้นั้นหรือเชื่อในวิธีการแก้ปัญหานั้นจนอาจทำให้เราน้อมเข้าสู่ตัวเราไม่ว่าเป็นความคิดหรือความประพฤติ (โอปะนะยิโก)
  • เราอาจถ่ายทอดความรู้ที่ได้นี้ได้แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่รู้หรือความรู้นั้นแม้เรื่องเดียวกัน ก็อาจอธิบายได้ไม่เหมือนกัน (ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ)
  • เมื่อเราได้เข้าใจว่าความรู้ทั้งหลายต้องมีที่มาจากการที่เราต้องเป็นผู้เห็นเองแล้วนั้น ก็ให้เชื่อมั่นในความรู้(ที่ดี)นั้น (สวากขาโต) 

ท่าน ว.วชิระเมธี ได้เคยกล่าวเกี่ยวกับคำว่า ศึกษา ว่า มาจากสองคำคือ สะ (ตัวเอง) กับ อิกขะ (เห็น)... แปลว่า เห็นเอง .... หรือเห็นด้วยตัวเอง

จึงทำให้รู้ศึกแปลกเสมอที่ได้ยินคำว่า ศึกษาด้วยตนเอง.....เพราะ การศึกษา ก็คือ การทำให้เห็นด้วยตัวเองอยู่แล้ว......นี่นา...

สวัสดีครับ

  P 6. อ.แฟรงค์

 

  • ก่อนอื่นต้องขออภัยที่มาตอบช้า เพราะนาน ๆ จะได้ตามอ่านบันทึกเก่า ๆ ของตนเองครับ ทำให้พึ่งมาเห็นข้อคิดเห็นนี้ครับ
  • ผมหันหน้ามาศึกษาธรรมะครั้งแรก ก็เพราะหนังสือ "คู่มือมนุษย์"ของท่านพุทธทาส จะเรียกว่าท่านเป็นผู้จุดประกายธรรมให้ก็ว่าได้ครับ
  • บันทึกนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ อันเกิดจากการเดินบนเส้นทางธรรม กล่าวคือ กัลยาณมิตรท่านหนึ่งที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงทางธรรมที่ให้คำชี้แนะด้านปริยัติธรรมกับผมมากว่า 2 ปีนั้น หลังจากคุยกันล่าสุดท่านได้แนะนำให้ศึกษาธรรมะจากหนังสือ "สวดมนต์แปล" และคุณแม่ (พระอรหันต์สำหรับลูก) ท่านพึ่งแนะนำให้ผมสวดบทสวดนี้ตอนที่ผมป่วยหนัก...สวดตอนกลางคืน พอตอนเช้าอาการป่วยก็ดีขึ้นทันตาเห็นเลยครับ
  • ขอบคุณที่เชื่อมโยงให้เห็นองค์ความรู้ธรรมะกับวิทยาศาสตร์ครับ

 

สวัสดีครับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

สวัสดีค่ะ

 มีความเลื่อมใสในการสวดมนต์ค่ะ เชื่อว่าจะได้รับสิ่งดีๆ...

สวัสดีครับ ท่าน

P 8. เบดูอิน

 

  • ติดตามอ่านงานเขียนท่านเป็นประจำนะครับ ได้ทั้งความรู้ ศาสนาสัมพันธ์ ประวัิติศาสตร์ และการเมือง
  • ไม่แน่ว่า มือน้อย ๆ ของเรา อาจจะสร้างความสงบสุขให้กับบ้านกับเมืองก็เป็นได้นะครับ
  • ขอบคุณที่แวะมาครับ

 

สวัสดีครับ พี่

P 9. แดง

 

  • ดีใจ ที่เจอคนคอเดียวกันครับ แต่ผมเป็นนักสวดมือใหม่ (สวดได้บทเดียว คือ อิติปิโส..)
  • จริง ๆ แล้วคนที่จุดประกายอีกแรงหนึ่งที่ทำให้ผมหันมาศึกษาบทสวด คือ  ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญเสริม วิทยชำนาญกุล ตอนที่ท่านมาบรรยายการเรียนและทำงานอย่างไรจึงจะมีความสุข...ท่านพูดประมาณว่า สิ่งที่สมองมนุษย์รู้จักนั้นเทียบได้กับบ่อน้ำเล็ก ๆ บ่อหนึ่ง แต่สิ่งที่มีในบทสวดนั้นเปรียบเสมือนมหาสมุทร...และด้วยความดิบ ด้วยความไม่รู้ ผมถึงกับอึ้ง! งง! เพราะท่านเป็นศาสตราจารย์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยครับ 
  • ปฐมบทการศึกษาบทสวดมนต์แปล จึงเริ่มต้นขึ้นทีละเล็กละน้อยครับ แรก ๆ ก็เข้าไปศึกษาแก่นธรรมที่ซ่อนอยู่ในบทสวดมนต์แปลครับ

อยากได้เป็นคำถามคำตอบด้วยค่ะ

ช่วยหน่อยนะคะ ขอบคุณมากคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท