วัฎจักรสุริยุปราคา


สุริยุปราคา

การเกิดสุริยุปราคาสามารถคำนวณล่วงหน้าและย้อนหลังได้ โดยอาศัยกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ และวิชากลศาสตร์ท้องฟ้า
            จากความสัมพันธ์ระหว่างเดือนประเภทต่างๆ นั้นพบว่าเดือนตามปกติ หรือ เดือนซินโหนดิค ซึ่งมี 29.53 วันนั้นมีความสำคัญเนื่องจากเป็นเดือนที่ใช้กำหนดข้างแรมข้างขึ้น เดือนสุริยุปราคาที่มี 27.21 วัน ก็มีความสำคัญเพราะใช้กำหนดตำเเหน่งที่ดวงจันทร์เข้าใกล้จุดโหนด และ เดือนอะโนมาลิสติก 27.55 วัน ก็ขาดไม่ได้เช่นกัน เพราะตำแหน่งใกล้ไกลของดวงจันทร์จากโลกในวงโคจร เป็นตัวกำหนดว่าจะเกิดสุริยุปราคาแบบเต็มดวงหรือวงแหวนจากความสัมพันธ์ของเดือนดังกล่าวจะพบว่า

  • 223 เดือนซินโหนดิค = 6585.32 วัน
  • 242 เดือนสุริยุปราคา = 6585.35 วัน
  • 239 เดือนอะโนมาลิสติก = 6585.53 วัน

            เราพบว่าตัวเลข 6585.32 วันมีค่าเท่ากับ 18 ปี กับ 11 1/3 วัน หมายความว่า ทุกๆ 18 ปีกับอีก 11 1/3 วัน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกจะโคจรกลับมาอยู่ในแนวตรงกันในตำแหน่งเดิมในอวกาศ และสุริยุปราคาที่เคยเกิด ขึ้นเมื่อ 18 ปีก่อน ก็จะย้อนกลับมาปรากฏอีกครั้ง เป็นสุริยุปราคาชุดเดียวกัน แต่ไม่ได้เกิดตำแหน่งเดิม แต่จะเลื่อนไปเกิดห่างจากบริเวณเดิมบนผิวโลกประมาณ 120 องศา เป็นเพราะว่าเศษเวลา 1/3 วันนั้น โลกเคลื่อนไป 120 องศาแล้วนั่นเอง

            วัฏจักรการเกิดสุริยุปราคาที่ถูกค้นพบนี้ ถูกเรียกว่า ซารอส และมีการตั้งชื่อให้ด้วยว่าเป็น ซารอสที่ 1 ซารอสที่ 2 ยกตัวอย่างเช่น ซารอสที่ 136 สุริยุปราดาเต็มดวงชุดนี้เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่เกิดนานที่สุดชุดหนึ่ง คือเกิดใน ค.ศ. 1919 , 1937 , 1955, 1973 และที่ลืมไม่ได้คือ ในปี 1991
            นักดาราศาสตร์เปรียบเทียบ ซารอส เหมือนเป็นอนุกรมหรือสายพันธุ์ฟังดูแล้วเหมือนสุริยุปราคามีชีวิต มีต้นสังกัด มีเกิดแก่ตายเหมือนมนุษย์เลยทีเดียว สุริยุปราคาซารอสหนึ่ง หรือสายพันธุ์หนึ่งจะมีอายุยืนไม่ต่ำกว่า 1200 ปี หากลองนำเอาตัวเลข 18 ปี กับอีก 11 1/3 วันไปหาร 1200 ก็จะได้ประมาณ 68 หมายความว่า สุริยุปราคาซารอสหนึ่งจะเวียนมาปรากฏให้เห็นไม่ต่ำกว่า 68 ครั้ง แล้วก็ตายไป แต่ก็มีซารอสใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ประมาณกันว่าทุกๆ 29 ปี ก็จะมีซารอสใหม่เกิดขึ้นมาเสริม ถ้ามองภาพรวมก็คือ จะมีซารอสเด็ก ซารอสหนุ่ม ซารอสแก่ สังกัดค่ายต่างๆ กันอยู่ปนเปกันไป
            เวลาที่สุริยุปราคาซารอสใหม่จะถือกำเนิดขึ้นนั้น จะเกิดขึ้นบริเวณขั้วโลกก่อนจะขั้วเหนือหรือขั้วใต้ก็ย่อมได้ เกิดครั้งแรกจะเกิดเป็นสุริยุปราคาบางส่วนพอเวียนมาในรอบ 18 ปี 11 1/3 วันต่อไปเรื่อยๆ ก็จะกลายจากสุริยุปราคาบางส่วนไปเป็นสุริยุปราคาวงแหวน และกลายเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง ค่อยๆ เกิดไล่จากขัวโลกด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งและเมื่อเวียนมาครบประมาณ 68 ครั้งหรือประมาณ 2000 ปีดังกล่าว ในช่วงรอบท้ายๆ จะกลับมาเป็นสุริยุปราคาบางส่วนอีก แล้วก็หลุดจากขั้วโลกไปเลย เช่น ถ้ามาเกิดที่ขั้วเหนือก็จะตายในขั้วใต้ ดูไปแล้ววัฏจักรสุริยุปราคาช่างเหมือนกับวัฎจักรของสรรพชีวิตในเอกภพนี้ไม่ผิดเพี้ยน

ที่มา  :  http://www.benchama.ac.th
หมายเลขบันทึก: 238859เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2009 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท