Sex ของพระ ของชี และพระพุทธศาสนา


SEX เป็นของต้องห้าม แต่ถ้า SEX คือ ชีวิตและงานล่ะ ?

 http://learners.in.th/blog/botkvam/241769  เป็นของโมโนย พจน์

เมื่อวันที่ 17-18 สิงหาคม 2551 ผู้เขียนได้มีโอกาสพบแม่ชีศันสนีย์  เสถียรสุต ในงานปฏิบัติธรรมวันแม่   วัดไทย ในประเทศไอซ์แลนด์  คณะสงฆ์วัดไทยได้จัดขึ้นมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ ทางพุทธสมาคมและวัดไทยไอซ์แลนด์ได้เชิญแม่ชีศันสนีย์  เสถียรสุตมาเป็นประธานในการอบรม รูปแบบการอบรมเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในแบบของแม่ชี ส่งผลเป็นความประทับใจ มีมุมมองทางธรรมะเพื่อปรับใช้ในการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งก่อให้เกิดความเข้าใจต่อพระพุทธศาสนากันมากยิ่งขึ้น  

          มีหนึ่งกรณีที่น่าสนใจ คือการที่แม่ชีได้ยกภาระงานในการตั้งมหาวิทยาลัยให้ผู้หญิง “สาวิกาสิกขาลัย”  โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เรียนและจะมีความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา  หรืออาจเรียกง่าย  ๆ ว่าเป็นมหาวิทยาลัยผู้หญิง  ผู้เขียนไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยดังกล่าวจะเป็นการขับเคลื่อนด้วยเพศภาวะ เหมือนศูนย์สตรีศึกษาที่ปรากฏอยู่ในสถาบันการศึกษาทั่วไปหรือไม่ ?  กับยุคสมัย “สิทธิ์ทางเพศ” เฟื่องฟู  แต่ถ้าฟังจากที่พูดและจากการพูดคุยกับแม่ชีก็คงต้องบอกไปว่าน่าจะเป็นแนวของการส่งเสริมสตรีเพื่อการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา  ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีเมื่อมีการส่งเสริมให้สตรีเข้ามาเรียนรู้ และทำงานเพื่อพระพุทธศาสนากันมากขึ้น  ประหนึ่งเป็นการสร้างพื้นที่ทางศาสนาของกลุ่มสตรี หรืออาจข้ามไปถึงการทำงานของสตรีกับพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ซึ่งแนวทางของแม่ชีคงคล้ายทัศนะของ ธัมมนันทา ภิกษุณี ที่เคยกล่าวไว้ว่า การฟื้นคืนคุณค่าดั้งเดิมในเรื่องความยุติธรรม ศักดิ์ศรี ความเมตตากรุณา โดยการตระหนักและให้คุณค่าของผู้หญิง เราเห็นพ้องกันว่า ในตัวของศาสนาเอง จะต้องเปิดโอกาส ให้ผู้หญิงมีความรู้ ความเข้าใจในศาสนาอย่างถูกต้องมากขึ้น โดยพิจารณาในสถานภาพต่างๆ ในฐานะของนักเรียน ทุกวันนี้เราเข้าใจกันดีว่าการศึกษาสำหรับผู้หญิง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและโลกได้อย่างไร“

          พระพุทธศาสนามอง Sex อย่างไร ? ต้องอธิบายเสริมไว้นิดว่า Sex ในความหมายที่ต้องการสื่อ หมายถึง เพศ หรือเพศภาวะ (Gender) ดังนั้นในการที่จะมองก็คือในเมื่อพระพุทธศาสนาข้ามพ้นเรื่องเพศไป คือไม่ได้นำเพศภาวะมาเป็นตัวกีดกัน หรือเงื่อนไขในการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา  ในทัศนะผู้เขียนเองคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องดี ที่ชาวพุทธจะมีความหลากหลาย และทำงานเพื่อพระพุทธศาสนากันมากขึ้นไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่ม องค์กร หรือเพศใดเพศหนึ่ง ประหนึ่งเป็นการสร้างพื้นที่ให้เกิดความหลากหลาย และมีส่วนร่วมมากขึ้น

          การที่พระพุทธเจ้าส่งเสริม “สังฆะ” ที่ประกอบไปด้วย “ภิกษุ ภิกษุณี  สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งหมายถึงแม่ชีด้วย“  จัดเป็นสังฆะ ประเด็นน่าสนใจที่ว่า สังฆะนี้ประกอบไปด้วยคนคนกี่เพศถ้านับตามเพศทางสังคมก็มีเท่าที่ปรากฏ แล้วบทบาทของสังฆะกับการทำงานที่ข้ามพ้นเพศเคยเกิดขึ้นดังในครั้งพุทธกาล ดังกรณีที่พระอานนท์ได้ทูลถาม'พระพุทธเจ้าในคราวที่พระนางมหาปชาบดีโกตมีมาทูลขอบวช แต่พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอนุญาต จนพระน้านางต้องเสียใจกับความตั้งใจที่จะบวชในพระพุทธศาสนา  พระอานนท์จึงทูลถามว่า “สตรีบวชสามารถบรรลุธรรม และเข้าถึงเป้าหมายทางพระพุทธศาสนาได้หรือไม่”? พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ได้” (วิ.ภิกขุณี 7/402/315-316) ภิกษุณีจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังฆะ  และในปัจจุบันกำลังจะถูกส่งเสริมให้เพิ่มมากขึ้นตามภาระงานของแม่ชี  ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้จำกัดด้วย “เพศ”  ต่อการเป็นชาวพุทธ ปฏิบัติธรรม หรือการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาแต่ประการใด....!!!  

          ดังนั้นในเมื่อพระพุทธศาสนาไม่ได้จำกัดความเป็นเพศ การทำงานดังกรณีที่แม่ชีพยายามจัดตั้ง“สาวิกาสิกขาลัย”  ในความเข้าใจของผู้เขียน น่าจะเป็นการสร้างพื้นที่ต่อกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น ในการเรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึงพระพุทธศาสนาได้เพิ่มและมากขึ้น  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ติดตามหรืออาจสนับสนุนตามแต่โอกาส

          หากมองจากฐานคิดเดิม “เพศ” เป็นตัวกำหนดบทบบาทในการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา  การพูดตรงนี้ไม่ได้ต้องการตอกย้ำว่า “เพศ” เป็นเงื่อนไข แต่กำลังอธิบายให้เห็นว่าเพศคือเครื่องมืออีกประการหนึ่งในการทำงาน ถ้าเรามองว่าเป็นยุทธศาสตร์ ก็หมายความว่าในอนาคต พระพุทธศาสนาจะมีพลังขับเคลื่อน และซอนไซไปทุกกลุ่มมากขึ้นไม่เฉพาะกลุ่มหรือพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น หรือเพศชายเท่านั้น   อาจมองในอีกความหมายหนึ่งก็คือเป็นนิมิตหมายของการทำงานโดยมีเป้าหมายของพระพุทธศาสนาเป็นหลัก แม่ชีศันสนีย์  เสถียรสุต  อ.ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์ในภาพลักษณ์ของ ธรรมนันทาภิกษุณี  หรืออีกหลายท่านในภาพลักษณ์ของสตรีกับการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นการเคลื่อนเน้นการดำเนินชีวิตอย่างชาวพุทธ โดยข้ามพ้นความเป็นเพศโดยใช้เพศเป็นเครื่องนำ  และสามารถทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาได้ทั้งในภาพกว้างและลึกมากยิ่งขึ้น

          เพศฟังดูอาจเป็นเงื่อนไข ของสังคมดังกรณีฐานคิดสังคมเดิมกรณีสตรีกับพื้นที่ทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นสตรีกับการบรรลุธรรม สตรีกับการบวช   ที่แต่เดิมเมื่อพูดถึงจะกลายเป็นประเด็นทางสังคมในทันทีว่า “ศาสนากับเพศ” ได้หรือไม่ได้ มันเหมือนกับสังคมแยกส่วนไปอย่างนั้น  แต่ถ้ามองเจตนารมณ์ทางพระพุทธศาสนากับฐานคิด เชิงเพศ จะมองเห็นเค้าลางได้เป็นอยางดีว่า พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับ “สิทธิ์” ของความเป็นมนุษย์ในฐานะที่จะบรรลุธรรมได้  มิได้จำกัดด้วยคำว่า “เพศ” แต่อย่างใด จึงเป็นเรื่องน่าสนใจขึ้นมาทันทีว่า ในเมื่อข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ เราชาวพุทธจะทำอย่างไร  ?  เปิดโอกาส  ร่วม   สนับสนุน?

          หากหันกลับมามองแบบฐานคิดใหม่ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าโลกทัศน์เพศ ที่แต่เดิมอาจเป็นไปตามฐานคิดวัฒนธรรมเชิงสังคมเดิม แล้วในเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน   รูปแบบทางสังคมเปลี่ยน เราจะมีท่าทีตอบรับกลุ่มที่มีความหลากหลายเพศ รสนิยมในเรื่องเพศ  เพศรส หรืออื่นเพื่อเป็นการยืนยันพื้นที่ทางศาสนาต่อเขาเหล่านั้น ซึ่งไม่เฉพาะกลุ่มสตรีเพศ อาจหมายถึงกลุ่มรักร่วมเพศในแต่ละกลุ่มที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในวงกว้างอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าสตรีบวชกะเทยบวช  คำตอบสำหรับพื้นที่ทางศาสนาในความหมายก็คือเราจะมีพื้นที่สำหรับเขาเหล่านั้นอย่างไร คงไม่มีคำตอบให้คิดกันเอาเอง ?

          เหตุผลอันเป็นประเด็นของ “เพศ” ในทางสังคมยังเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงและกล่าวถึงกันต่อไปเรื่อย ๆ  แต่ผู้เขียนสนใจแต่เพียงว่าทำอย่างไรจะให้ “ธรรมะ” ของพุทธธรรมซอนไซไปในทุกแห่งที่มีคนทุกเพศอยู่สอดคล้องกับพุทธพจน์ที่ว่า “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนหมู่มาก” (วิ.มหา/.4/32/40) ถ้าธรรมะคือความสันติสุขภายใน ธรรมชาติแห่งธรรมเหล่านั้นคงซอนไซไปทุกที่ทุกแห่ง รวมทั้งทุกเพศวัย คงไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มใดอย่างไรเสียละกระมัง ?

หมายเลขบันทึก: 238229เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2009 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรื่องเดียวกันอยู่ที่มองมุมไหนจริง ๆ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท