ผสานพลังเบาหวาน เหนือ-อีสาน-ใต้ (๕)


มีความสุขที่เห็นทั้งทีมครบุรีและทีมพุทธชินราชมีความเข้มแข็ง แต่ละทีมต่างมีความถนัดของตนเอง

ตอนที่

๒๑ มกราคม ๒๕๕๒ ภาคบ่าย

เราเริ่มด้วยกิจกรรม “ผ่อนพักตระหนักรู้” ประมาณ ๓๐ นาที หมอฝนให้ผู้เข้าประชุมนอนลงแล้วผ่อนคลายส่วนต่างๆ ของร่างกายตามที่บอก เริ่มจากเท้า ผ่อนคลายแล้วปล่อยวาง มีเสียงเพลง จินตนาการถึงธรรมชาติ สายน้ำ ให้คิดถึงแต่เรื่องดีๆ ความสุขในวัยเด็ก ความรักของพ่อแม่ วัยเรียน ความรักของเพื่อน ของครู ทำให้มีเมล็ดพันธุ์ที่ดีงาม วัยทำงานได้รับความรักจากหัวหน้างานและได้แบ่งปันความรักที่ได้มาตั้งแต่วัยเด็กไปสู่คนอื่นๆ..........ตอนตื่นให้เริ่มจากการคืนความรู้สึกให้กับฝ่าเท้า............

ผู้เข้าประชุมลุกขึ้นมานั่งอยู่กับพื้นอยู่แล้ว เราจึงให้นั่งล้อมวงแบบง่ายๆ แบ่งกลุ่มๆ ละ ไม่เกิน ๑๐ คน คนที่อยู่ทีมเดียวกันหรือมาจากอำเภอเดียวกันให้แยกอยู่คนละกลุ่ม ให้ผลัดกันเล่าเรื่องความสำเร็จเล็กๆ ในการจัดค่ายเบาหวานที่ผ่านมา มีทีมที่ดิฉันเตรียมไว้เมื่อวานนี้และทีมพุทธชินราชทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” ประจำกลุ่ม ใช้เวลา ๑ ชม. แล้วให้แต่ละกลุ่ม vote ว่าเรื่องเล่าของใครที่น่าประทับใจให้เอามานำเสนอ (จบงานได้รู้จากอ้อใหญ่ว่ามีบางกลุ่มที่ไม่ยอมแยกทีม ทำให้มีเรื่องเล่าซ้ำๆ)

 

ล้อมวงเล่าเรื่อง

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูเป็นกันเอง หมอนิพัธเข้าไปฟังตามกลุ่มต่างๆ แล้วบอกว่า “บรรยากาศได้แล้ว...” เสียงดังขึ้นเรื่อยๆ และมีเสียงหัวเราะเป็นระยะ ครบเวลา ๑ ชม. มีอยู่ ๓ กลุ่มยังไม่ยอมเลิกคุย กลุ่มสุดท้ายต้องบอกให้เลิก เพราะใกล้จะ ๑๕ น. และกลุ่มต่างๆ พักรับประทานอาหารว่างเรียบร้อยกันแล้ว

ระหว่างที่กลุ่มต่างๆ กำลังแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่นั้น ดิฉันถือโอกาสสอนน้องกวาง น้องสาว และน้องนาง ลูกทีมของหมอฝนให้เขียนบล็อก หมอฝนทำงานดีๆ เยอะมากแต่ไม่มีเวลาเขียนบันทึกเอง ต่อไปนี้คงได้ติดตามอ่านบันทึกของชาวครบุรีเสียที (ที่นี่)

ช่วงสุดท้ายเราขออาสาสมัคร ๓ กลุ่มมานำเสนอเรื่องเล่าที่ประทับใจ แม้จะให้ vote กันมาก่อน แต่ก็พบว่าแต่ละกลุ่มมีเรื่องดีๆ ที่อยากนำเสนอหลายเรื่อง บางกลุ่มมีภาพมาโชว์ด้วย เช่น
- ให้ชาวค่ายออกไอเดียในการทำอาหารในค่าย ได้เป็นผัดกระเพราที่ใช้น้ำแทนน้ำมัน ไข่เจียวบนใบตอง กินกับข้าวที่เป็นผัก (จับฉ่าย) ก่อนเป็นอันดับแรกๆ ให้กินข้าวหลังสุด
- การสอนเรื่องแคลอรี่อาหารยากไป ชาวบ้านไม่รู้จัก snack เช่น เลย์ ก็เข้าไปดูเลยว่าในหมู่บ้านเขาชอบกินอะไรกัน ตัวหนังสือในฉลากอาหารเล็กมาก อ่านไม่เห็น ก็ถ่ายภาพแล้วขยายเป็นขนาด A4
- ให้ผู้ป่วยเป็นดารา ถ่ายคลิปสั้นๆ ให้ดูกันเอง
- การออกกำลังกายแบบใช้ยางยืด ต้องกว๊านซื้อยางวงกันจนหมดตลาด จึงเปลี่ยนมาใช้ขวดน้ำแทน ให้ยกน้ำหนักโดยใช้ท่าของยางยืด เมื่อใส่ทรายเข้าไปขวดน้ำจะมีน้ำหนักประมาณ ๑ กก.ใช้ได้ทั้งแขนและขา
- มีการจูงใจให้คนเข้าค่าย มอบกระเป๋ายาพาสุข มอบรางวัลคนต้นแบบ มีกิจกรรมปิดค่ายที่น่าประทับใจ
- รพ.บึงสามพันภาคภูมิใจที่ รพ.ไม่มีคลินิกเบาหวาน แต่ทำค่ายได้ เคยผ่านการอบรมที่ รพ.เทพธารินทร์และเข้าร่วมงานมหกรรม KM เบาหวานครั้งที่ ๒ ได้รับ CD “หมอฝอย” เอาวิธีออกกำลังกายของลุงหยาดที่ใช้รอกไปใช้ต่อ การทำงานร่วมมือกับทีม สอ. มีเกม “วงล้อประเมินสุขภาพ” ได้กลุ่มคนต้นแบบ คนเข้าค่ายสามารถลด BG ได้

ทุกกลุ่มดูกระตือรือร้นที่จะนำเสนอ ถ้ามีเวลามากกว่านี้คงได้ฟังเรื่องราวดีๆ อีกเยอะ

ปิดท้ายด้วย AAR ผู้เข้าประชุมทุกคนได้เขียนบอกเล่าตามความรู้สึกของตัวเองในหัวใจกระดาษที่แจกให้ มี ๗-๘ คนที่ได้ออกมาพูด ทุกคนต่างบอกว่าได้มากกว่าที่คาดหวัง บางคนสารภาพว่าจับฉลากมาประชุม แต่ก็ได้เรียนรู้สิ่งที่มีประโยชน์ บางคนสามารถเติมเต็มสิ่งที่อยากได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มย่อย ไม่มีอะไรที่คาดไว้แล้วยังไม่ได้หรือได้น้อย มีคนหนึ่งที่เสนอแนะว่าการประชุมครั้งต่อไปอยากให้ผู้เข้าประชุมมากับแบบสหสาขาวิชาชีพ

คุณเหมียวกล่าวปิดท้ายว่าปีที่แล้วเพชรบูรณ์ลุยเรื่องงานเบาหวาน ปีนี้จะเน้นที่กลุ่มเสี่ยง ขอบคุณทั้งทีมวิทยากรและผู้เข้าประชุม โดยเฉพาะผู้เข้าประชุมที่ยังอยู่กันจำนวนมากจนถึงเวลาปิดงาน

ดิฉันและทีมพุทธชินราชออกเดินทางจากเพชรบูรณ์กลับพิษณุโลกในเวลา ๑๖ น. ขอให้คุณโต้งจองโต๊ะที่ร้านสุพัตราไว้เป็นที่รับประทานอาหารเย็น การเดินทางผ่านเขาหลายลูกขึ้นๆ ลงๆ ทิวทัศน์สองข้างทางสวยงามดี ไม่มีการแวะที่ไหน พรรคพวกหลับกันไปบ้าง ใช้เวลาเดินทาง ๒ ชม.กำลังหลับกันได้ที่ก็ถึงพิษณุโลกแล้ว ความหิวทำให้สั่งอาหารกันเยอะแยะทั้งคาวและหวาน ของหวาน ๑ ถ้วยต้องแบ่งกันกิน ๒ คน ท้ายที่สุดต้องห่ออาหารที่สั่งแต่กินไม่ไหวกลับบ้าน

อ้อ (เล็ก) ซื้อขนมของร้านสุพัตราหลายอย่างทั้งเผือกกวน ถั่วกวน ดอกลำดวน จ่ามงกุฎ ทองเอก และโรตีเจ้าอร่อยที่อยู่ใกล้ๆ ให้ดิฉันหิ้วกลับกรุงเทพและนครศรีธรรมราช ที่สนามบินพิษณุโลกได้เจอ ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร ไปดักรอพบผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตตปัญญาศึกษา แถมเจอคุณไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำที่ไปกรุงเทพด้วยเที่ยวบินเดียวกันด้วย

การทำงาน ๒ วันนี้เป็นช่วงที่ดิฉันมีความสุข มีความสุขเพราะได้ทำงานกับทีมที่เรารักและผูกพัน มีความสุขที่เห็นทั้งทีมครบุรีและทีมพุทธชินราชมีความเข้มแข็ง แต่ละทีมต่างมีความถนัดของตนเอง ซึ่งสามารถเสริมและเติมเต็มให้กันและกันได้ งานเบาหวานที่ทั้ง ๒ ทีมทำอยู่ ณ วันนี้ก้าวหน้าไปไกลกว่าวันที่เราเริ่มเรียนรู้จากกันและกันเป็นอย่างมาก เห็นภาพวงจรการจัดการความรู้กำลังหมุนแบบไม่รู้จบ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 238025เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2009 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ก็ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน แต่ความรู้ความสามารถยังมีน้อยคะ ขอเรียนรู้ด้วยคนนะคะ

สนุกจังเลยครับ ไม่เหนื่อยเลย (อ่านอย่างเดียว ไม่ได้แจม ไงครับ)

การทำงานที่รัก ทำงานด้วยใจ มันเหมือนพักผ่อน มากกว่าการทำงาน นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท