ฌาคส์ รองสิแยร์ กับ การเมืองและสังคมประชาธิปไตย ๒


ความ เท่ากัน นั้นจึงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมการเมืองประชาธิปไตย แต่อันที่จริงแล้วการที่สมาชิกในสังคมการเมืองถูกทำให้เท่ากันนี้ หากมองในมุมหนึ่งนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นประเด็นหลักของสังคมการเมืองประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น ดูจากคำว่า ประชาธิปไตย ในภาษาอังกฤษ(Democracy)นั้นมีรากมาจากภาษากรีกโบราณคือ δημοκρατια (Demokratia ; ดีโมคราทีอา) มาจากการสนธิระหว่าง δήμος(démos ; เดมอส  = people/mob) และ κρατος(kratos ; คราทอส  = power/rule) ดังนั้นความหมายอย่างพื้นฐานที่สุดโดยรากศัพท์แล้ว ประชาธิปไตย คือ ประชาชนปกครอง แม้ในเอเธนส์จะไม่ใช่นครรัฐแรกที่มีการปกครองแบบนี้ แต่ประชาธิปไตยของเอเธนส์ได้กลายเป็นความคิดทางการเมืองที่สำคัญสูงสุดในแง่ของ การพัฒนาทางความคิดที่เอาประชาชนมาปกครอง เนื่องด้วยเป็นครั้งแรกที่รวมเอา คนจน ไว้ในกระบวนการตัดสินใจแบบทางตรงในกิจการสาธารณะของนคร การเกิดขึ้นของ ประชาธิปไตยในเอเธนส์ จึงเป็นเรื่องของความตระหนักรู้ในการมี พลัง(kratos)” ของ ผู้คน(démos) เห็นได้จากความพยายามที่จะสร้างสถาบันหรือองค์กรทางการเมืองบางอย่าง ที่สมาชิกในสังคมการเมืองได้ลดความพยายามในการผูกขาดอำนาจและการตัดสินใจสาธารณะโดยคนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มคนจำนวนน้อย ที่กล่าวว่าผู้คน(démos)สำคัญเพราะแต่เดิมผู้คน(démos)ไม่ได้สำคัญมากนัก เห็นได้จากในภาษากรีกโบราณนั้นจะเรียกประชาชนว่า λαός(laόs ; ลาโอส = the singular) หรือ λαοί(laoí ; ลาโอย = the plural) ซึ่งมีความหมายว่าเป็น คน เท่านั้น ในจุดเริ่มแรกสังคมการเมืองประชาธิปไตยจึงเป็นสังคมการเมืองที่วางฐานบนความคิดที่นำเอาส่วนของสังคมที่ไม่เคยถูกพูดถึง/คิดถึงมารวมไว้ และสิ่งนี้สังคมประชาธิปไตยจึง น่าจะเป็น เป็นสังคมที่มี ความเป็นการเมือง ในความหมายของรองสิแยร์อยู่ตั้งแต่ต้น ทว่าหากพิจารณาดีๆแล้ว การที่ laoí กลายเป็น démos นั้น เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมเอเธนส์ที่จะปฏิเสธที่จะให้อำนาจผูกขากกับคนๆเดียว เช่นกษัตริย์/ผู้นำเผ่า(βασιλιύς – basiliús ; บาซิลิอุส) หรือกลุ่มเดียว เช่น เหล่านายกอง(στρατηγός – strategόs ; สะตราเทโกส) จึงดึงเอา démos ที่เป็น พวกมาก ในสังคมมาเป็นอำนาจในทางการปกครอง และสิ่งนี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกของสังคมการเมืองนั้นต้องเชื่อ/ถูกทำให้เชื่อว่า ทุกคนเท่าเทียมกันในพื้นที่สาธารณะ ความคิดเช่นนี้หากคิดในอีกทางหนึ่งนั้น démos ไม่ได้เท่าเทียมกันกับพวกชนชั้นสูง แต่กลับกันเป็นการ ถูกทำให้เท่า แบบ เทียม เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นสูงของสังคมเอเธนส์ กรณีเช่นนี้รองสิแยร์แม้มองว่าการที่ démos สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองของนคร แต่ démos ก็เป็นได้เพียง ภาพฝัน ของรูปแบบการปกครองที่ให้โอกาส คน จำนวนมากมารวมๆกันเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมือง และเพื่อพูดเพื่ออ้างอิงอำนาจ/ถูกนำไปอ้างอิงอำนาจที่ démos เช่นนี้การมีอยู่ของ démos จึงกล่าวสั้นๆได้ว่าเป็นการมีอยู่จากการที่ démos ต้อง แสดงบทบาททางการเมืองของตนออกมาจากโอกาสที่ตนได้รับเพื่อที่จะได้มีส่วนร่วมในสังคมการเมือง กรณีนี้พิจารณาต่อไปได้ว่าความเท่าเทียม(equality)นั้นเอาเข้าจริงอาจเป็นเพียงข้อกล่าวอ้างของตรรกะของการตรวจตรา/ตำรวจของสังคม เพราะสำหรับรองสิแยร์แล้วความเท่าเทียมนั้นหากเกิดด้วยการที่สมาชิกของสังคมการเมืองถูกกระทำให้เท่ากัน(passive actor)แล้วนั้น มันก็คือกระบวนการของการตรวจตรา/ตำรวจอย่างหนึ่งที่พร้อมที่จะเก็บกดปิดกั้นเสียงที่จะพูด/คิดในสิ่งที่แตกต่างออกไป ดังนั้นสิ่งที่รองสิแยร์เรียกว่า ความเท่าเทียมที่แท้จริง นั้นจึงเป็นความเท่าเทียมที่สังคมการเมืองพร้อมที่จะรับฟังทุกๆเสียงที่พูด/คิดของสมาชิกจากทุกๆภาคส่วนของสังคมการเมืองต่างหาก[1] ความเท่าเทียมของรองสิแยร์จึงไม่ใช่ความเท่าเทียมที่ถูกพูดถึง/คิดถึงในสถานะที่เป็นเป้าหมาย(destination) แต่เป็นความเท่าเทียมที่ถูกใช้ในการแบ่งส่วนต่างๆของสังคมออกระหว่างผู้ที่ เท่า และ ผู้ที่ไม่ได้นับรวมว่าเท่าหรือก็คือความเท่าเทียมเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการสร้างความไม่เท่าเทียมในสังคม[2]

มีต่อ http://gotoknow.org/blog/iammean/237903



[1] Jacques Rancière, ibid, p. 33 - 35. ตัวอย่างที่ดีคือการที่การเมืองของเอเธนส์นั้น เป็นลักษณะของการผูกสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวของนักการเมืองและชนชั้นสูงราวๆ 100 ครอบครัวที่แม้ลดบทบาทลงหลังยุคของคลีอิสเธเนส(Cleisthenes) แต่ครอบครัวเหล่านี้ก็พยายามสร้างระบบอุปถัมป์(the politics of largess)กับพวกคนจน และเกิดการสร้างกลุ่มทางการเมือง(the political club)เพื่อวางยุทธศาสตร์ในการอภิปรายในสภาโดยเฉพาะเรื่องเนรเทศ(ostracism) ซึ่งมติที่เกิดขึ้นก็จะมีผลต่อการสนับสนุนจากเพื่อนฝูง, ญาติพี่น้อง และพันธมิตรในสภา. [ไชยันต์ ไชยพร. Pre Modern. (กรุงเทพฯ : Way of Book, 2551), น. 66 – 109.] และระบบอุปถัมป์ดังกล่าวนี้ทำให้การซื้อเสียงไม่เป็นเรื่องที่ผิด เนื่องด้วยถือเป็นการตอบแทนให้กับคนจนที่ต้องสละเวลามาออกเสียงให้กับคนรวย(ที่เป็นผู้อุปถัมป์ของครอบครัวตน). [Anthony Arblaster, Democracy. (Buckingham · Philadelphia : Open University Press, 2002), p. 21.] กรณีเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า อำนาจ ที่มาจาก ความเท่าเทียมกันของสมาชิกในสังคมนั้นเอาเข้าจริงก็สามารถถูกใช้ให้เป็นไปเพื่อความต้องการของบางกลุ่มบางพวกได้เสมอ

[2] Solange Guénoun and James H. Kavanagh(interview), “Jacques Rancière : Literature, Politics, Aesthetics : Approaches to Democratic Disagreement, Substance 92, 2000, p. 3.

หมายเลขบันทึก: 237901เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2009 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท