ฌาคส์ รองสิแยร์ กับ การเมืองและสังคมประชาธิปไตย ๑


บางส่วนจากภาคนิพนธ์ของผมเอง

ฌาคส์ รองสิแยร์ กับ การเมืองและสังคมประชาธิปไตย

ฌาคส์ รองสิแยร์ (Jacques Rancière) เป็นนักคิดชาวฝรั่งเศสที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากที่สุดคนหนึ่งของช่วงหลังทศวรรษ 1990 ความคิดของรองสิแยร์ยากที่จะจะจัดกลุ่มว่าเป็นนักวิชาการสาขาใด แต่ที่น่าสนใจคือรองสิแยร์มองสิ่งที่เรียกว่า การเมือง ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากการมอง การเมือง ที่มีอยู่เดิมในวงวิชาการ โดยนำเอาความคิดแบบสุนทรียศาสตร์(aesthetics)มาใช้ในการมอง การเมือง ว่าคือการท้าทาย, ตั้งคำถามต่อระบบการรับรู้ของคนในสังคมพร้อมนำเสนอการรับรู้ชุดใหม่ให้กับสังคม ผ่านการนำเสนอผ่านมโนทัศน์/ความคิดรวบยอด(concept)ว่าด้วย การแบ่งแยกการรับรู้(the partition of the perceptible)”[1]

ในเรื่องเกี่ยวกับ ประชาธิปไตย นั้นหากกล่าวโดยสรุปแล้วฌาคส์ รองสิแยร์ไม่ได้มองว่าประชาธิปไตยคือระบบ หรือวิถีชีวิตทางสังคม แต่คือสถาบันทางการเมืองในตัวของมันเอง และเป็นการเมืองที่วางฐานอยู่บนตรรกะของการตรวจตรา(the police order) เพื่อให้เกิดการแบ่งแยกการรับรู้(the partition of the sensible) ซึ่งทำให้การเมือง(the politics)แบบประชาธิปไตยไม่มีความเป็นการเมือง(the political) รองสิแยร์ชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนนั้นเองคือเครื่องมือสำคัญที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกการรับรู้ โดยเชื่อว่าความรู้นั้นเหมาะสม และเป็นประโยชน์ การศึกษาคือศิลปะของการส่งผ่าน ขณะเดียวกันก็จำกัดความรู้อีกด้วย ภายใต้ความเชื่อที่ว่าความรู้นั้นสามารถทำให้สังคมก้าวหน้าต่อไป[2]

จะเห็นได้ว่ารองสิแยร์นั้นได้แบ่งแยกสภาวการณ์ในสังคมการเมืองออกเป็น 2 ชนิดนั่นคือสิ่งที่เรียกว่าตรรกะของการตรวจตรา/ตำรวจ(The Police order) และความเป็นการเมือง(The Political) สำหรับที่รองสิแยร์เรียกว่าตรรกะของการตรวจตรานั้นเขานิยามว่า

...คือ ระเบียบในการจัดความสัมพันธ์ในส่วนต่างๆ อาทิ การกระทำ, การดำรงอยู่ และการพูดจากัน เพื่อให้เกิดการจัดการกับสมาชิกในสังคมการเมืองให้เข้าใจกันได้ว่า อะไรได้ และอะไรไม่ได้,  อะไรที่ควรให้ความสำคัญ และอะไรที่ไร้ความหมาย... หรือก็คือการจัดการระบบระเบียบ(disciplining)ในการปกครองกับสมาชิกของสังคมการเมือง...[3]

สิ่งที่รองสิแยร์นิยามนี้จึงแสดงให้เห็นว่าในสังคมการเมืองนั้นมีความพยายามบางอย่างของฝ่ายผู้ปกครอง(the governors) ที่จะกระทำการบางอย่างในเรื่องการพูดถึง/คิดหนึ่งสิ่งใดๆในสังคมการเมืองแก่ผู้ถูกปกครอง(the governed) กระบวนการเช่นนี้ ส่อแสดงว่าในสังคมการเมืองนั้นย่อมีความ ไม่เท่าเทียมในการให้นิยาม/ความหมาย ในเรื่องต่างๆอยู่ ในสังคมการเมืองใดๆที่มีกระบวนการของการตรวจตรานั้นจึงมี อะไร บางอย่างที่ถูกทำให้ไม่สามารถพูดถึง/คิดถึงได้อยู่เสมอ และทำให้สังคมการเมืองนั้นไม่มีความเป็นการเมืองที่

...เป็นกิจกรรม(activity) และหรือกระบวนการอันที่ต่อต้านตรรกะของการตรวจตรา/ตำรวจจากสังคมการเมือง ... เพื่อทำให้สิ่งที่ไม่เคยถูกพูดถึงคิดถึงได้ เกิดมีความสำคัญขึ้นมาได้... เป็นพื้นที่ที่สิ่งที่ถูกนิยามให้ตรงกันข้ามกันสามารถมาอยู่ด้วยกันได้...[4]

ตัวอย่างหนึ่งที่สามารถเห็นได้อยู่เสมอนั่นก็คือการกล่าวอ้างความชอบธรรมจากคะแนนเสียงของประชาชนในสังคมการเมืองประชาธิปไตยทั้งหลาย ที่ เสียง ต่างๆมากมายที่แตกต่างหลากหลาย ถูกลดรูป(deformation)ให้กลายเป็นกลุ่มก้อน และด้วยการที่สังคมการเมืองประชาธิปไตยมักถูกทำให้เข้าใจกันว่าประชาชนนั้นคือแหล่งที่มาแห่งอำนาจอธิปไตย จึงเป็นที่ไม่น่าแปลกใจที่คะแนนเสียงของประชาชนนั้นได้กลายมาเป็นที่มาของความพยายามในการเผด็จการด้วยเสียงข้างมาก(tyranny of the majority)อยู่เสมอ[5] สังคมการเมืองประชาธิปไตยจำนวนมากจึงเป็น สังคมที่ขาดการเมือง เพราะเป็นสังคมที่ทุกคนถูกทำให้ เท่ากัน ไปเสียหมด ดังสะท้อนในคำพูดของจอห์น มิลลส์ตั้งแต่เมื่อ ศ.ต. ที่ 19 ว่า

...เผด็จการจากเสียงข้างมากนั้น ก็คือการที่สังคมเกิดลักษณะเผด็จการกับสมาชิกส่วนน้อยในสังคม... ในการที่ปกป้องตนเองหรือพวกของตนจากสังคมที่กระทำการอย่างเผด็จการต่อพวกตน... พวกเขาจำเป็น(need)ต้องโน้มน้าวทั้งความคิดและความรู้สึก(opinion and felling) ที่สังคมนั้นเอนเอียง(tendency... การปกป้องความเห็นของตนเองในที่สุดแล้ว มันก็คือการปกป้องเสรีภาพแห่งความเป็นปัจเจกชนแห่งตน การปกป้องตนเองนี้จะเกิดขึ้นได้กับสังคมอารยะเพื่อป้องกันตนจากผู้อื่น... ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานของปัจเจกชน เพื่อตัวเขาเหล่านั้น,ร่างกาย และจิตใจ... ปัจเจกชนนั้นก็คือองค์อธิปัตย์...[6]

 

มีต่อ http://gotoknow.org/blog/iammean/237901



[1] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, ฌัคส์  รองสิแยร์ กับ สุนทรียศาสตร์ของการเมือง(ตอนที่ 1), วิภาษา. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ลำดับที่ 1, 16 มีนาคม 30 เมษายน 2550) น. 5 – 8. อนึ่งไชยรัตน์ใช้คำว่าการแบ่งแยกการรับรู้ในภาษาอังกฤษว่า the partition of the sensible ซึ่งอธิบายว่าเป็นสำนวนภาษาอังกฤษที่ได้รับการยอมรับที่สุด ในสำนวนอื่นก็มี the distribution of the sensible ส่วนที่งานศึกษา/สารนิพนธ์นี้เลือกมาใช้ คือ the partition of the perceptible เนื่องด้วยใช้ตาม dis-agreement ฉบับภาษาอังกฤษที่งานศึกษา/สารนิพนธ์นี้ใช้อ้างอิงเป็นงานชิ้นหลัก

[2] แปล และสรุปจาก(ยกมาทั้งหมดเนื่องจากไม่สามารถระบุหน้าได้) The School is not merely the vehicle of the new progressive order. It is in fact its very model: the model of an inequality identified by the visible difference between those who know and those who do not, and that devotes itself visibly to the task of making ignorant people learn what they do not know and thus of reducing inequality…Educational progress is also the art of limiting the transmission of knowledge, to manage the delay, to postpone equality also the model for a society living under the order of progress. Jacques Rancière, The Ignorant of The School Master : education, equality, inequality, schools, nation, progress and philosophy. Michael O'Rourke(trans.), at http://ranciere.blogspot.com/2007/11/from-ignorant-school master-by-jacques.html 

[3] Jacques Rancière, ibid, p. 29.

[4] Jacques Rancière, ibid, p. 29 – 30.

[5] Magaret Canovan, The People. (Cambridge : Polity Press, 2005), p, 9.

[6] John Stuart Mill, “On Liberty,” in Geraint Williams(ed.) John Stuart Mill’s Utilitarianism, On Liberty, Considerations On Representative Government and Remarks On Bentham’s Philosophy. (London : Every Man, 1993), p. 72 – 73, 78.

หมายเลขบันทึก: 237898เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2009 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท