นายกฯ เล็งเพิ่มกลุ่มแจกเงิน 2 พัน


เด็ก "บัญญัติ" จี้รัฐบาลยึดแนวศก.พอเพียง เชื่อมีปัญหาจัดเก็บรายได้

"มาร์ค" เตรียมเพิ่มกลุ่มแจกเงิน 2 พันบาท จนท.รัฐในท้องถิ่น-พนง.รัฐวิสาหกิจ ได้รับด้วย พร้อมเข้าไปช่วยเหลือครูเอกชนและคนในหน่วยงานอิสระด้วย  ยันไม่มีปัญหาเรื่องงบฯ เพราะกันสำรองไว้แล้ว คาด ก.พ.-มี.ค. เปิดโต๊ะให้ผู้สูงอายุลงทะเบียน ไม่เกิน เม.ย.จ่ายเบี้ยยังชีพให้ เล็งหารือ ธ.ก.ส. เร่งสางหนี้สินเกษตรกร เด็ก ปชป.จี้รัฐบาลยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บรายได้แน่

เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ  "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ถึงมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลยังมุ่งหน้าผลักดันงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สำหรับมาตรการการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 2,000 บาท ปรากฏว่า มีประชาชนบางกลุ่มเป็นห่วงว่า อาจจะไม่ครอบคลุมถึงตัวเอง เพราะพูดถึงประชาชนในระบบประกันสังคม ที่มีเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท และส่วนข้าราชการที่มีเงินเดือน
ไม่ถึง
15,000 บาท แต่มีประชาชนอีกบางกลุ่มที่ไม่ได้เอ่ยถึง ขณะนี้ตนจะดูแลให้ทั่วถึง เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ ถ้าเข้าเกณฑ์เรื่องเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท จะได้รับเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรภาครัฐในส่วนของท้องถิ่น กำลังตรวจสอบรวบรวมอยู่ ส่วนบุคลากรในหน่วยงานอิสระ และครูเอกชน จะดูว่ามีมาตรการอะไรหรือไม่  "ทั้งหมดนี้จะไม่กระทบกับงบประมาณ เพราะงบประมาณกลางปีที่จะมาสนับสนุนมาตรการนี้ เราจัดงบฯจำนวนหนึ่งเอาไว้เป็นงบฯ กลาง เพื่อสำรองเอาไว้ ทราบว่าตัวเลขของจำนวนประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่เราประมาณการไว้ตอนต้นบ้าง" นายกฯ กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับมาตรการฝึกอบรมแรงงาน จะตั้งอยู่ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) โดยจะจัดแบ่งหลักสูตรการฝึกอบรมให้ละเอียดมาก คาดว่าอาจแบ่งเป็น 100 กลุ่มก็ได้ มีความมั่นใจว่าเมื่อฝึกอบรมไปแล้ว จะมีงานที่รองรับในช่วงระยะเวลาเฉพาะหน้าได้ สำหรับโครงการเศรษฐกิจพอเพียง กำลังวางระบบการบริหารจัดการ มั่นใจว่าเมื่องบประมาณกลางปีผ่านสภา จะสามารถโอนเงินและดำเนินการโครงการได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขอให้ความมั่นใจไว้ว่าเรื่องผู้สูงอายุ เรื่องเบี้ยยังชีพ ไม่ล่าช้า ได้ประชุมคณะกรรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะแก้ระเบียบต่าง ๆ คาดว่าจะแก้เสร็จภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังจากนั้น จะเอาฐานข้อมูลของผู้มีอายุเกิน 60 ปี ไม่มีหลักประกันหรือรายได้อื่น ๆ เข้ามาเพื่อส่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ท้องถิ่น กทม. เพื่อเตรียมเปิดลงทะเบียน คาดว่า จะเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้ เมื่องบประมาณผ่านสภาจะโอนเงินไป คาดว่า การจ่ายเบี้ยยังชีพจะเริ่มได้ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ 

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า งานด้านการต่างประเทศกำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ ช่วงปลายสัปดาห์หน้า ตนจะเดินทางไปประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (เวิลด์ อีโคโนมิคฟอรั่ม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) เพื่อจะชี้แจงถึงการฟื้นฟูบ้านเมืองของเรา หลังจากที่เกิดวิกฤตในช่วงปีที่ผ่านมา เรื่องที่เตรียมไปทำความเข้าใจและสร้างความชื่อมั่นกับต่างประเทศ คือ บ้านเมืองของเรา และคนของเรา มีจุดแข็งมากมาย ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย ทำให้มีความแข็งแกร่ง ในแง่พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ มีไม่กี่ประเทศที่มีภาคการเกษตรที่เข้มแข็งและส่งออกอาหารได้ วันข้างหน้าทั่วโลกพูดถึงวิกฤตอาหาร หลายคนมองด้วยซ้ำว่า ไทยจะมีส่วนช่วยได้อย่างไร ถ้าเราปรับปรุงผลผลิตและระบบ จะมีความเข้มแข็งมาก สำคัญที่สุดคือ อัธยาศัยไมตรีของคนไทย ที่ต่างชาติประทับใจ ฉะนั้น รายได้จากการท่องเที่ยวการบริการจะเติบโตได้มาก  "เราเองก็เป็นประเทศที่ผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง เขาก็เห็นว่าเราสามารถผ่านมาได้ด้วยดี ฉะนั้น ครั้งนี้ก็เป็นบททดสอบอีกครั้งที่สำคัญและผมก็เชื่อมั่นว่าเราทำได้" นายกฯ กล่าว 

พิธีกรถามว่า การส่งออกตอนนี้แย่มาก นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาการส่งออกมาจากปัญหาที่เกิดในต่างประเทศ ทุกประเทศที่มีการส่งออกค่อนข้างมาก เจอปัญหาแบบเดียวกัน คือ การส่งออกที่ติดลบช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2551 แต่ถ้าติดตามข่าวจะเห็นว่าโอกาสที่คนจะมาลงทุนในประเทศไทยยังมีอยู่ แม้ในอุตสาหกรรมยานยนต์เอง ญี่ปุ่นก็กำลังพิจารณาอยู่ ถ้าเรามีมาตรการยุทธศาสตร์เรื่องพลังงานทดแทน รถที่ใช้พลังงานทดแทนสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ไปได้  ฉะนั้น ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ตนจะเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อไปพูดกับนักลงทุนให้ทราบว่า เราได้ก้าวผ่านจุดที่เรียกว่า เป็นวิกฤตที่สุดในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง มาอย่างไร มีแผนการอย่างไร วางอนาคตไว้อย่างไรเพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่น 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่สำคัญ คือต้องแสวงความร่วมมือด้วย เช่น หลายคนพูดกันมากว่า จีนเติบโตขึ้นเราจะเสียหาย ความจริงการที่จีนเติบโตช่วยเราได้มากในเรื่องการส่งออก ที่จะไปพบปะพูดคุยช่วยเร่งความร่วมมือได้ เรื่องอาเซียน มีเป้าหมายเป็นตลาดเดียว จะทำให้ตลาด 10 ประเทศ กลายเป็นตลาดเดียว ที่มีขนาดใหญ่มาก  "ช่วงนี้ลำบากทุกประเทศ แต่ผมยืนยันว่า ถ้าเราคุยกับคู่ค้าทั้งหลาย ไม่ว่าแต่ละคนจะลำบากอย่างไร อย่าปิดกั้นโอกาสของกันและกัน ถ้าทุกคนปิดกั้น เพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง ในที่สุดทุกคนจะเดือดร้อน ทั้งนี้รัฐมนตรีคลังอาเซียนบวก 3 จะประชุมกันเพื่อดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเหมือนหรือต่างกันอย่างไร จะเสริมกันได้อย่างไร และรัฐมนตรีเศรษฐกิจจะยืนยันว่าในภาวะเช่นนี้ จะไม่มีการปิดตลาด เพื่อปกป้องตัวเอง" นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับพี่น้องประชาชนทั้งที่เป็นเกษตรกร และพี่น้องทุกกลุ่ม มีปัญหาอะไรขอให้สื่อสารมาทางรัฐบาล จะเร่งแก้ไขปัญหาให้ ไม่จำเป็นต้องชุมนุม แต่ถ้าจะชุมนุม ก็เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าอย่าไปทำผิดกฎหมาย และอยากให้หลีกเลี่ยงการปิดถนนให้เกิดความเดือดร้อน ตนยืนยันว่าต้องเข้าไปดูแลทุกกลุ่ม เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ก็ไปพบกับกลุ่มเกษตรกรที่ชุมนุมอยู่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาหลายเดือนแล้ว แม้ว่าจะไม่สามารถตอบสนองเงื่อนไขได้ทั้งหมด แต่ยืนยันว่าจะเอาใจใส่ ก็ตั้งกรรมการไปดูแล ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ที่คลองเตยยืดเยื้อมานาน ก็กำชับกระทรวงคมนาคมกับการท่าเรือไปสะสาง ไม่ควรปล่อยให้การชุมนุมยืดเยื้อ  "ทราบว่าจะมีกลุ่มใหญ่เดินทางเข้ามาร้องเรียนเรื่องหนี้สิน คงเกี่ยวข้องกับกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกร ซึ่งผมจะเร่งหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพราะเป็นปัญหาที่ค้างมาในเรื่องของเอ็นพีแอล เอ็นพีเอ อะไรต่าง ๆ" นายกฯกล่าว และว่า ตนพูดถึงเรื่องที่ทำกิน แต่คนไปบอกว่า จะไปเร่งแจก ส.ป.ก.4-01 ความจริง
 

ไม่ใช่ แต่รัฐบาลมีนโยบายเรื่องการจัดระบบที่ทำกิน ทั้งโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน ซึ่ง ส.ป.ก.ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ต้องดูแลระมัดระวังเกี่ยวกับการจัดสรร บทเรียนในอดีตว่าคนที่จะได้รับการจัดสรรที่ดิน ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน มีระบบการตรวจสอบ

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว ขณะนี้คิดว่าการส่งออกของเรายังเป็นไปด้วยดี สินค้าเกษตร อาจจะมีปัญหาเรื่องความผันผวนของราคา แต่ในแง่ของปริมาณการส่งออก ไม่กระทบมากนัก จริง ๆ แล้วตัวเลขการส่งออกที่ติดลบช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2551 ถ้าดูในเรื่องของอาหาร ก็ยังไปได้ดี ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ตนยังยืนยันว่า เราเชื่อมั่นได้แต่ต้องปรับปรุงพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาดูเหมือนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก จะไม่ค่อยมี นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่จริงเรื่องการส่งออก มีงบประมาณที่เราจะสนับสนุนให้กับกระทรวงพาณิชย์ส่วนหนึ่ง ที่เป็นงบประมาณปกติก็มีอยู่แล้ว และความจำเป็นที่จะต้องเสริมเข้าไปก็มี แต่ประเด็นจะอยู่ตรงการส่งออกขณะนี้ปัญหามาจากกำลังซื้อนอกประเทศ เราทำอะไรได้ค่อนข้างน้อย เราก็หวังแต่ว่า มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ ของเราอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น หรืออาเซียน จะได้ผล เพราะมาตรการของประเทศเหล่านั้นได้ผล คนของเขามีกำลังซื้อ การส่งออกเราก็จะดีขึ้น แต่ในส่วนของเราเอง กระทรวงพาณิชย์ยังต้องเร่งทำงานในเรื่องของการหาตลาดที่ยังมีศักยภาพอยู่ ตนจะเสริมเรื่องผู้แทนการค้าเข้ามา คาดว่าจะแต่งตั้งเร็วๆ นี้ และบังเอิญว่าอยากให้แสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย ก็เลยใช้เวลา  หลายคนบอกว่าทำไมไม่มีมาตรการส่งออก ท่องเที่ยว หรือว่าลงทุน ยืนยันว่ามี แต่สิ่งที่สำคัญอันดับ 1 คือ รักษากำลังซื้อเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจติดลบ เพราะว่าเศรษฐกิจ 3 เดือนสุดท้ายของปี 2551 ติดลบ และอาจจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกของ ปี 2552 ส่วนสำคัญที่สุดในรายได้ประชาชาติ คือ การบริโภคในประเทศ ฉะนั้นการบริโภคในประเทศ จึงเป็นหัวใจสำคัญที่เราจะเดินหน้า และเป็นสิ่งที่เราทำได้เร็วที่สุด ฉะนั้น งบประมาณหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงมุ่งไปที่กระตุ้นกำลังซื้อของคนในประเทศ เพื่อรักษาระดับของอัตรากำลังการผลิต ไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง แต่การส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยวต้องส่งเสริม มาตรการเหล่านี้อาจไม่ได้ใช้เงิน แต่เป็นมาตรการเรื่องการอำนวยความสะดวกในเรื่องกฎระเบียบ

เมื่อถามว่า บางคนเป็นห่วงว่าแต่ละมาตรการของรัฐบาลใช้เงินมากมหาศาล ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกอาจยาวนาน รัฐบาลอาจต้องใช้เงินมากกว่านี้ นายกฯกล่าวว่า ดูจากตัวเลขไม่ให้กระทบกระเทือนวินัยการเงินการคลัง ทำไมงบประมาณกลางปีจึงเป็นแสนล้านบาท เพราะคำนวณจากว่า มีสิทธิในการกู้เงินในประเทศได้เท่าไหร่ ที่กฎหมายอนุญาต หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ทุกอย่างอยู่ในกรอบของวินัยการเงินการคลัง พอปีงบประมาณต่อไป ก็จะมีตัวเลขใหม่มาว่าเราจะมีเงินเท่าไร และมีแหล่งเงินอันหนึ่ง ยังไม่ได้ใช้ แต่ว่าถ้าจำเป็น ก็จะใช้คือเงินกู้จากต่างประเทศ อันนี้ก็เตรียมการเอาไว้ แต่จะใช้หรือไม่จะดูความเหมาะสมของสถานการณ์อีกที  "ต้องขอขอบคุณ ยืนยันว่าทุกความเห็น ทุกคำวิจารณ์ผมรับฟัง และพยายามดู บางเรื่องมีเหตุมีผลมีประเด็น เราตกหล่นไป ก็จะปรับปรุงแก้ไข แต่บางเรื่องอาจมองต่างมุมกัน ก็เป็นธรรมดา แต่รัฐบาลก็มีความรับผิดชอบที่จะดูแลให้มาตรการเหล่านี้ประสบความสำเร็จจริง ๆ และเป็นความมุ่งหมายของผมว่า เข้ามาเป็นรัฐบาลครั้งนี้ ต้องนำพาประเทศฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปให้ได้" นายกฯ กล่าว

เมื่อถามกรณีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า อีกประมาณ 2 เดือน จะเสนอ ครม.เกี่ยวกับเมกะโปรเจ็คต์ต่าง ๆ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็มีการลงทุนขนาดใหญ่ ความจริงไม่ได้มีปัญหาเรื่องของการพิจารณาโครงการ เพราะทุกโครงการดำเนินการมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเรื่องขนส่งระบบราง รถไฟ รถไฟฟ้า หรือแหล่งน้ำ ตั้งใจจะเดินหน้าอยู่แล้ว อาจจะมีทบทวนบ้างกรณีของโครงการที่จะไปผันน้ำจากต่างประเทศเข้ามา แต่จะไปพัฒนาระบบกระจายน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็กแทน เชื่อว่าจะสามารถกระจายน้ำและบริการประชาชนได้ทั่วถึงมากกว่า อันนี้ก็จะต้องเดินต่อ แต่ว่าที่ติดขัดส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องเงื่อนไขเงินกู้ เราก็รู้ว่า ตรงนี้ไม่สามารถที่จะเดินได้รวดเร็วนัก แต่กำลังไปเร่งรัดอยู่

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงขณะนี้ รัฐบาลเตรียมแผนแก้ไขปัญหาไว้แล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2552 จนถึงช่วงกลางปี 2553 ว่าจะทำอะไรบ้าง ขณะนี้มาตรการระยะสั้นออกไปหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือการเข้าไปควบคุมดูแลให้สามารถปฏิบัติได้จริง ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น แค่อนุมัติคงไม่พอ ต้องไปตามดูแลด้วย

นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการระยะสั้น คงไม่มีอะไรออกมาอีกแล้ว จากนี้ต่อไปเป็นเรื่องมาตรการระยะกลาง และยาว ที่ส่วนใหญ่การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ นอกจากนี้เรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ ปี 2553 ที่จะออกมาในช่วงเดือนตุลาคม 2552 จะต้องมาวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณส่วนนี้ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น  "ในทางปฎิบัติกว่าที่งบฯ ลงทุนของงบประมาณ ปี 2553 จะออกมาก็อยู่ช่วงเดือนตุลาคม 2552 แต่จะใช้จ่ายได้จริงก็ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2553 ดังนั้นเราต้องพยายามวางแผนการใช้งบประมาณส่วนนี้ ให้เร็วกว่ากำหนดเดิม จะต้องเลื่อนมาเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ได้หรือไม่" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ช่วงนี้จะต้องมานั่งคิดถึงเวลาการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป ว่าจะทำอย่างไรให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่เดินหน้าได้เร็วกว่าปกติ ซึ่งโครงการที่รัฐบาลให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ 1.การพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกของประเทศให้ดียิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้ได้มากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ 2 เท่า ซึ่งจะไปหารือในรายละเอียดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับแผนงานว่าจะทำตรงไหนอย่างไร เพราะแหล่งน้ำเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการมาก แต่การดำเนินงานคงไม่ทำให้ครบภายในปีเดียว แต่จะทำไปเรื่อย ๆ จนครบ 4 ปี

นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า 2.เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบการขนส่งของประเทศ (โลจิสติกส์) แต่จะเน้นงานในชนบทที่ช่วยการขนส่งสินค้า ระบบรางคู่ ถนน หรือสะพาน เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่ให้มากที่สุดส่วนเรื่องรถไฟฟ้าสายต่างๆ คงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโลจิสติกส์ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจะเข้าไปดูแลให้เกิดการขับเคลื่อน  "รัฐบาลคิดว่าขณะนี้ทำอย่างไรให้เกิดการสร้างงานโดยเร็วที่สุด การทำโครงการลงทุนต่าง ๆ ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการจ้างงานเช่นกัน และเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากมาตรการระยะสั้นที่เริ่มไปแล้ว" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแผนระยะสั้นที่ทำไปแล้ว ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง จะมีแผนฉุกเฉินรองรับไว้หรือไม่ นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ผมมั่นใจว่าได้ผล แต่มาตรการที่ออกไป มันก็คงได้ผลระยะสั้น ๆ เราก็ต้องเตรียมมาตรการระยะกลาง และระยะยาวเอาไว้ ซึ่งจะเป็นการลงทุนทำโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงานต่อเนื่องเมื่อถามว่า หากประชาชนที่ได้รับเงินไปจำนวน 2,000 บาท ไม่เอาเงินไปใช้จ่าย แต่เอาไปเก็บไว้เฉย ๆ ก็จะไม่เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำอย่างไร นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้รับเงินไป จะนำเงินไปใช้สอยอย่างแน่นอน เพราะกลุ่มคนที่ได้รับมอบเงินส่วนนี้ 7-8 ล้านคน มีเงินเดือนอยู่ที่หลัก 5-7 พันบาท แทบจะไม่พอกินเขาต้องนำเงินที่ได้ไปใช้อยู่แล้ว ไม่มีใครเอาไปเก็บไว้อยู่แล้ว

วันเดียวกัน ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มทศวรรษใหม่ของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาล เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่แท้จริง เพราะวันนี้มีการปิดบังตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีความเลวร้ายกว่าที่รัฐบาลเคยวางไว้ เพราะตัวเลขการส่งออก และดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ดีเลย จึงอยากเตือนประชาชนให้เตรียมการรับมือภาวะเศรษฐกิจในปี 2552 และอาจขยายไปถึงปี 2553 ด้วย

นายจุติกล่าวว่า วันนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ต้องออกมาส่งสัญญาณว่า จะมีอะไรมาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงปี 2552-2553 บ้าง และที่สำคัญ คือต้องบอกด้วยว่า รัฐบาลจะหารายได้จากส่วนไหนมาเยียวยา ทั้งเงินที่จะใช้ในปี 2552-2553 และจะเยียวยาย่างไรที่ให้ยืนอยู่บนความจริง เพื่อเอาประเทศให้รอดไปได้  "วันนี้ สหภาพยุโรป (อียู) จีน อเมริกา ที่เราพึ่งพาเรื่องการส่งออกก็ถดถอยด้วยกันหมด กระทรวงพาณิชย์จะต้องมีบทบาทมากขึ้น เพราะภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ทุกประเทศจะแข่งขันการระบายสินค้า ข้อตกลงเดิม ๆ ที่ร่วมมือกันไว้ จะไม่ได้รับการปฏิบัติแน่นอน ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาประกาศให้ประชาชนทราบความจริงด้วย ที่มาทำเป็นมีความหวังกับตลาดจีน หากเปรียบเทียบแล้ว ประเทศอื่นตกส้วมกันไปแล้ว จีนเองก็เหมือนกับยืนรออยู่หน้าส้วม ดังนั้นเรามีทางรอดเดียวคือ การนำแนวคิดพระราชทานเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้รัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์ปรัชญานี้อย่างจริงจังให้ประชาชนเข้าใจ"นายจุติกล่าว

เมื่อถามกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุเศรษฐกิจจะแย่เพียงช่วงไตรมาสที่ 1-2 ของปี 2552 หลังจากนั้นจะเห็นผลเปลี่ยนแปลงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขอรัฐบาล นายจุติกล่าวว่า นายกฯ มีตัวเลขของชุดปี 2551 ที่ผ่านมา แต่ในปี 2552 นี้ ตัวเลขเริ่มออกมาแล้วเป็นอีกแบบ นายกฯประเมินไม่ผิดเพราะประเมินจากตัวเลขไตรมาส 3 ของปี 2551 แต่วันนี้ ผลมาจากไตรมาส 4 แล้ว  "วันนี้ทุกคนพูดเหมือนกันหมด คืองบกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ปัญหาที่ทุกรัฐบาลเจอเหมือนกันหมด คือ รายได้ตกและปลายปี 2551 ผลประกอบการเลว และมีแนวโน้มว่าจะลามมาปี 2552 อีกทั้งปี ดังนั้น ไม่แปลกเลยที่รัฐบาลจะเก็บภาษีที่ดินและมรดก ยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และคิดเรื่องการกู้เงินจากต่างประเทศ แต่ถ้าตัดสินใจกู้แล้ว ก็ต้องกู้อีกไม่ต่ำกว่า 3 ปี ดังนั้นปัญหาของรัฐบาล คือจะมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บรายได้ ทำให้เหลือทางในการจัดเก็บรายได้ที่สามารถดำเนินการได้ ในเรื่องของซินแทค (ภาษีบาป) คือ ภาษีเหล้า บุหรี่ ซึ่งยังพอขยายฐานการจัดเก็บได้อยู่" นายจุติกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการให้สัมภาษณ์ นายอภิสิทธิ์ ได้เดินลงมาจากห้องทำงาน ชั้นสองของที่ทำการพรรคมาเจอนายจุติให้สัมภาษณ์อยู่พอดี จึงได้แซวนายจุติว่า "ดีแล้ว ทีหลังจะได้ให้คำปรึกษา" อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า การแก้ปัญหามันต้องทำให้เงินถึงและอยู่ในมือประชาชน จากนั้นทั้งสองเดินพูดคุยกันก่อนเข้าร่วมประชุม ส.ส.พรรคด้วยกัน

 

มติชนออนไลน์  ไทยโพสต์ 26 มกราคม 2552

หมายเลขบันทึก: 237634เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2009 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท