ผสานพลังเบาหวาน เหนือ-อีสาน-ใต้ (๒)


เข้าค่ายแล้วต้องวางแผนต่อเนื่องให้เขาไปทำต่อได้

ตอนที่

วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๒
การจัดประชุมครั้งนี้มีชื่อยาวๆ ว่าโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาส่วนขาดและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคเบาหวานและการจัดค่ายเบาหวานอย่างยั่งยืน มีคุณเหมียว จีราพร แจ่มปัญญา เป็นแม่งาน ผู้เข้าประชุมมาจากโรงพยาบาล สสอ. และ สอ. ทุกอำเภอรวมแล้วเกือบ ๒๐๐ คน

กำหนดการวันแรก หมอฝนจะเติมส่วนขาดเรื่องการจัดค่ายเบาหวาน ดิฉันจึงขอเวลาช่วงเช้าเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่าการจัดค่ายเป็นรูปแบบหนึ่งของการให้การศึกษาแก่ผู้ป่วยเบาหวาน ยังมีกิจกรรมอีกหลายรูปแบบที่รวมๆ กันแล้วจะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถจัดการและดูแลตนเองได้

ทีมวิทยากรของมีหมอฝนมีน้องกวาง เภสัชกร น้องสาว นักกายภาพบำบัด และน้องนาง
ผู้นำกิจกรรมสันทนาการ และยังมีลุงกลิ่น ดาราคนหนึ่งใน VDO ของเครือข่ายเบาหวาน พวกเรามาพร้อมกันที่ห้องประชุมตั้งแต่ ๐๘ น.กว่าๆ

 

ทีมครบุรี จากซ้าย นาง หมอฝน ลุงกลิ่น กวาง และสาว

เกือบ ๙ น. ผู้เข้าประชุมเริ่มทยอยมา เราตกลงกับผู้จัดไว้ว่าจะขอเริ่มงานตรงเวลาคือ ๙ น. ไม่ว่าผู้เข้าประชุมจะมามากหรือน้อย

๐๙.๑๐ น.เริ่มพิธีเปิดการประชุม โดย นพ.วิวัฒ คำเพ็ญ รองนายแพทย์ สสจ.กล่าวรายงาน และ นพ.สุธี ธิติมุทา นพ.สสจ.กล่าวเปิดว่าดีใจที่มีการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ถือว่ามีประโยชน์มากสำหรับงานสาธารณสุขของจังหวัด

เบาหวานเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ สังคมไทยกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นโรคเรื้อรัง โรคไม่ติดต่อจึงจะเป็นปัญหาแน่นอน พฤติกรรมสุขภาพเหมือนจะสอนกันได้ แต่จริงๆ สอนยากมาก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยาก คนรู้แต่ไม่ปฏิบัติ เหมือนคนขับรถฝ่าไฟแดง

การประชุมครั้งนี้ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว จัดให้มีการดำเนินการทุกอำเภอ (๑๑ อำเภอ ประชากรประมาณ ๑ ล้าน) ถ้าการดำเนินการมีประสิทธิภาพสัก ๕๐-๖๐% ก็พอใจแล้ว ถ้าทำสำเร็จเชื่อว่าคุณภาพชีวิตของคนเพชรบูรณ์จะดีขึ้น

พิธีเปิดใช้เวลาเพียง ๑๐ นาทีก็แล้วเสร็จ เท่าที่ดิฉันมีประสบการณ์การประชุมของจังหวัดต่างๆ ที่เพชรบูรณ์นี้นับว่าประธานมาเร็วที่สุด การกล่าวรายงาน-กล่าวเปิดสั้นที่สุดเท่าที่เคยพบมา บางจังหวัดประธานนอกจากจะมาช้าแล้วยังกล่าวเปิดยืดยาวจนกำหนดการที่เตรียมไว้รวนไปก็มี

๐๙.๒๐ น.เราเริ่มกิจกรรมด้วยการแนะนำตัววิทยากรทุกคน หลังจากนั้นดิฉันบรรยายเรื่องการให้การศึกษาเพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถจัดการตนเองได้ โดยมีเรื่องการจัดค่ายเป็นส่วนหนึ่ง การจัดค่ายมีหลักการอย่างไร และให้ข้อมูลว่าผู้ป่วยเบาหวานต้องจัดการตนเองในเรื่องสำคัญอะไรบ้าง แต่ละเรื่องต้องมีความรู้อะไรจึงจะปฏิบัติได้ ตัวอย่างวิธีการที่เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อสนับสนุนการจัดการตนเองของผู้ป่วย ไม่มีเวลาพอสำหรับการลงรายละเอียด แต่ดิฉันได้ให้เอกสารประกอบการบรรยายและ PowerPoint ไว้กับคุณเหมียวแล้ว หลังจากนั้นจึงพัก รับประทานอาหารว่าง

 

บรรยากาศในห้องประชุม

ต่อจากนั้นน้องนางได้พาทำกิจกรรมที่กระตุ้นความตื่นตัว นำร้องเพลงเบาหวาน ย้ำให้ผู้เข้าประชุมรู้ว่าตนเองเป็นทีมเบาหวาน ที่มาประชุมเพื่อเรียนรู้การจัดค่ายเบาหวาน เพราะใจสั่งมา หลังจากนั้นจึงเปิด VDO ของเครือข่ายเราเรื่อง สมดุลของความรู้ สมดุลของชีวิต สมดุลของระบบสุขภาพ จนจบ ดิฉันจดบันทึกคำพูดในบท VDO ที่กล่าวถึงคุณกิจ คุณอำนวย ชุมชนนักปฏิบัติ เอาไว้เชื่อมต่อกับเรื่องของการจัดการความรู้ในวันพรุ่งนี้

๑๑.๑๐ น. VDO จบ น้องกวางและน้องสาวเชิญลุงกลิ่นมาเล่าเรื่องของตนเองให้ผู้เข้าประชุมฟัง ลุงกลิ่นเล่าถึงการปฏิบัติตนเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย แรงบันดาลใจที่ทำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กิจกรรมที่ได้เรียนรู้จากการเข้าค่ายเบาหวาน วิธีการที่ลุงใช้ในการแนะนำและให้กำลังใจสมาชิกกลุ่มเบาหวานบ้านใกล้ที่ลุงเป็นหัวหน้า ลุงกลิ่นบอกว่าตนภูมิใจที่สามารถดูแลตนเองและดูแลเพื่อนได้ เจาะเลือดได้

 

น้องนางและน้องสาว สัมภาษณ์ลุงกลิ่น

หมอฝนให้ผู้เข้าประชุมหันเก้าอี้เข้าหากันเป็นกลุ่ม ให้โจทย์ว่าดู VDO และฟังลุงกลิ่นแล้ว ช่วยกันคิดหน่อยว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดคนแบบลุงหยาด ลุงกลิ่น และป้าฝอยขึ้น คำตอบมีหลากหลาย เช่น เจ้าหน้าที่ empower ให้ผู้ป่วยมีบทบาท การสร้างแรงจูงใจ การรักตัวเอง มีจิตอาสา ฯลฯ

หมอฝนตั้งคำถามว่า “เคยเชื่อจากใจไหมว่าผู้ป่วยเป็นทีมเดียวกับเรา ทีมที่จะค่อยๆ ทำให้คนเบาหวานดูแลกันเองได้…… ผู้ป่วยมีศักยภาพที่จะดูแลตนเองได้ และเราเป็น facilitator” ยกตัวอย่างผู้ป่วย ข้อมูลระดับน้ำตาลในเลือดและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังเข้าค่าย ตัวอย่างคำพูดคำถามที่ใช้กับผู้ป่วย ทั้งที่ไม่ดี และที่เป็นคำพูดเชิงบวก คำชื่นชม น้ำเสียงที่ใช้

หมอฝนเล่าถึงกระบวนการ “ซื้อใจ” ผู้ป่วย ให้เบอร์โทรศัพท์ที่ผู้ป่วยสามารถติดต่อได้ตลอด ๒๔ ชม. วิธีการพูดคุยว่าคุยกับคนเป็นเบาหวาน ต้องหวานๆๆ

ก่อนให้เขาปรับพฤติกรรม ต้องเข้าใจเขาก่อน ดูตาม stage of change คนไข้บางคนแขวนถุงยาไว้ที่บ้าน ไม่ได้กิน เพราะกินแล้วน็อคทุกครั้งในไร่นา วันที่ทำไร่ทำนา งานหนักมาก บางทีจึงต้อง off ยาในวันทำงาน ส่วนวันที่อยู่บ้านก็กินได้ คนที่ฉีดอินซูลินวันทำงานอาจฉีด ๑๖ วันอยู่บ้านฉีด ๒๐ ลุงใบหาจุดที่พอดีเองจากการที่ปรับยาทีละ ๒ ยูนิต

เข้าค่ายแล้วต้องวางแผนต่อเนื่องให้เขาไปทำต่อได้ ไม่มีค่ายไหนที่พาคนไข้ลงไร่ลงนา ค่ายเป็นที่ที่ให้เขามาเรียนรู้ ให้เขารู้จักตัวเองและรู้จักเบาหวาน แล้วให้ไปทำการทดลองต่อที่บ้าน……เทคนิคการชักจูงผู้ป่วยให้ฉีดอินซูลิน ต้องให้เวลา ถามความพร้อม ให้แกนนำไป approach จนผู้ป่วยมาบอกเองว่าพร้อมแล้ว ภาพลวงตามีเสมอ เวลาเจอผู้ป่วยอย่าคิดแบบที่เราคิด ฟังเขาก่อน.............

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 237622เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2009 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท