วิธีแก้นิสัย "สายเสมอ"


ความซื่อสัตย์ การรักษาสัญญา เป็นที่มาของความไว้วางใจระหว่างมนุษย์

การไปถึงที่นัดหมาย "สายเสมอ" ไม่ว่าห้องเรียน ห้องประชุม ที่ทำงาน ที่สังสรรค์ หรือแม้กระทั่งการส่งงานก็ไม่ตรงเวลา จนเป็นนิสัย กลายเป็นบุคลิกภาพของบุคคลนั้น สะท้อนให้เราเห็นอะไรบ้าง? นำสู่อะไร? และจะแก้ไขอย่างไร?

บันทึกนี้เกิดขึ้นจากที่ได้ไปสอนวิชาการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตที่สุรินทร์ โดยสอนที่ อ.ศรีขรภูมิ วันเสาร์ที่ ๒๔ ม.ค.๕๒ และ อ.ปราสาท วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ม.ค.๕๒ ปรากฏว่านักศึกษามาสายกันมาก (ส่วนหนึ่งที่เป็นคนจีนติดไหว้เจ้าตรุษจีน แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่เกี่ยวเพราะเป็นเชื้ัอสายเขมรและลาว) เลยบรรยายให้นักศึกษาฟังเรื่องคุณค่าของเวลาที่ อ.ปราสาท ตามเนื้อหาที่บันทึกสรุปมาข้างล่าง

จากประสบการณ์การพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองของผมในเรื่องการเป็นคนไม่ตรงต่อเวลา โดยการสังเกตตนเองมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ผมมีข้อค้นพบดังนี้

การสายเสมอสะท้อนว่าเรา...

  1. ไม่ใส่ใจหรือไม่ให้คุณค่าในตัวผู้อื่น (เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง)
  2. ไม่รู้จักจัดการเวลา
  3. ไม่รักษาสัญญา

การสายเสมอนำสู่อะไรบ้าง?

  1. นำสู่การเป็นผู้ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น เพราะมีประวัติว่ารับปากอะไรแล้วก็ไม่ทำตามที่พูด ความซื่อสัตย์ การรักษาสัญญา เป็นที่มาของความไว้วางใจระหว่างมนุษย์
  2. นำสู่นิสัยชอบแก้ตัว ความรู้ผิดรู้ถูกในส่วนลึกที่มีอยู่ในตัวคุณสายเสมอทำให้เขารู้สึกผิดที่มาสาย แต่แทนที่จะแสดงให้คนอื่นเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวเองรู้สึกผิด และจะพยายามปรับปรุงตน กลับใช้ความคิดหาเหตุผลมาแก้ตัว โดยโทษเหตุภายนอก โยนไปใส่เหตุการณ์ ถนนหนทาง จราจร หรือโยนใส่คนอื่น ลูกน้อง เจ้านาย ฯลฯ) จนกลายเป็นผู้ชำนาญการหาเหตุผลแก้ตัว แก้ได้แนบเนียนจนคนฟังแล้วหลงไหล (ลิงก็ยังหลับ) ซึ่งแท้ที่จริงแล้วคำแก้ตัวนั้นเพื่อลดความคับข้องใจของตน (โดยไม่รู้ตัวเพราะไม่ได้สังเกตตนเอง) หากเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนคนที่สัมพันธ์ด้วยเห็นเป็นบุคลิกภาพของคุณสายเสมอ (ถูกคนอื่นตีตรา) แล้ว คนอื่นฟังคำแก้ตัวแล้วเขาอาจเฉยๆ เพราะเขารู้อุปนิสัยของ "คุณสายเสมอ" แล้ว ถ้าเขาจะสนใจฟังอยู่บ้างก็คือ ฟังว่าวันนี้ "คุณสายเสมอ" จะหาคำแก้ตัวอะไรมาอีก

วิธีแก้

  1. ตั้งจิตตั้งใจว่าการไปถึงที่นัดหมายตรงเวลาคือการรักษาสัญญาอย่างหนึ่ง เพื่อไม่ให้ผิดสัญญาอย่างแน่นอนก็ต้องไปให้ถึงก่อนเวลาสัก ๑๕ นาที หากเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ก็ไปถึงก่อนครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
  2. ทุกครั้งที่สาย หากพบว่าตัวเองกำลังคิดแก้ตัว ก็หยุดคิด หากสังเกตตัวเองไม่ทันแต่หลุดแก้ตัวไปแล้ว มาเห็นกลางคัน หากหยุดได้ก็หยุด แล้วเปลี่ยนเป็นพูดขออภัย ยอมรับ และให้สัญญาว่าจะพยายามไม่ให้ตัวเองเป็นแบบนี้อีก (ประกาศให้ทุกคนรู้ไปเลยว่า กำลังรบกับตัวเองเรื่องนี้)
  3. เขียนเวลาไปถึงที่หมายลงไว้ในปฏิทินนัดหมายต่อจากเวลาที่นัดหมาย แล้วประเมินเป็นระยะๆ เช่น เดือนละครั้ง ทำเป็นสถิติของความสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นมาดู พล็อตเป็นกราฟก็ดี
  4. หากในการนัดหมายนั้นเราต้องเป็นผู้นำเสนออะไรที่ต้องมีการเตรียมก็ต้องฝืนตัวเองทำให้เสร็จ "ก่อนวันนัดหมาย" ให้ได้ (การฝึกฝืนตัวเองนี้เป็นกุญแจสำคัญของการฝึกตัวเอง นั่นคือ ฝึกระลึกว่าอะไรสำคัญต้องทำก่อนก็ลงมือทำ สิ่งที่ไม่สำคัญเท่าแม้ใจอยากทำ มีแรงดึงดูด ก็วางไว้ก่อน พอฝึกไปสักพักก็จะเป็นเอง และจะมีความสุขเกิดขึ้นจากการทำสิ่งนั้นจนเสร็จ)

แถมท้าย

จากการสังเกตพบว่า "คุณสายเสมอ" (ซึ่งก็คือผมคนหนึ่งด้วย) มักเป็นคนที่มีอีกนิสัยหนึ่งคู่กันมาด้วย คือ เปลี่ยนใจเร็ว (ความจริงเปลี่ยนความคิดแต่เราเรียกว่าเปลี่ยนใจ) จนคนอื่นตามไม่ทัน

วิธีแก้ - ฝึกสังเกตความคิดและพฤติกรรมตนเอง หากฝึกโดยการเฝ้าดู พยายาม "เอาสติอยู่กับเนื้อกับตัว" จนสามารถเห็นตัวเองทุกขณะในระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน นั่นคือ เห็นคำพูดหรือพฤติกรรมของตนก่อนที่จะพูดหรือแสดงออกไป แล้วถามตัวเองว่า ถ้าไม่เปลี่ยนไปตามความคิดที่โลดแล่นแล้วจะมีอะไรเสียหายไหม คนอื่นๆ เขาตั้งหลักกันมาตามที่เคยตกลงกันไว้แล้ว เขาจะรู้สึกอย่างไร จะมีอะไรกระทบเขาไหม หากคำตอบคือไม่ต่างอะไรกันมากก็หยุดเสีย แล้วทำตามที่เคยพูดจากันไว้ คะแนนความไว้วางใจก็จะค่อยๆ กระเตื้องขึ้นมา ตัวเองก็ได้ปล่อยวางมากขึ้น มีความสุขในชีวิตมากขึ้น พบวิธีหาความสุข(ใจ)จากภายใน(ใจ)ตนมากขึ้น ลดการขวนขวายหาความสุขจากวัตถุภายนอกได้มากขึ้น.

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
บันทึกระหว่างรอขึ้นรถไฟในร้านกาแฟหน้าสถานีสุรินทร์
๒๕ ม.ค.๒๕๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 237614เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2009 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับอาจารย์ ผมได้ข้อคิดดี ๆ และตัวอย่าง มาทบทวนตนเอง ปกติเวลานัดหมายผมมักไปก่อนเวลานิดหน่อย ประมาณไม่เกิน 5นาที แต่บางครั้งก็เอาอะไรแน่นอนในการเดินทางไม่ได้ แม้ว่าที่ทำงานอยู่ใกล้ ๆ แต่อาจประสบปัญหาเช่น มีโทรศัพท์สายด่วนเข้า หรือ นักศึกษามาพบ หรือทำงานติดพันในบางครั้งตอนนี้ผมพยายามไปเร็วขึ้นกว่านัดหมายเดิมประมาณ 10 นาที ยังไม่พลาดนัดเลย และเป็นมักเป็นคนแรก ๆ ที่ไปถึงห้องประชุม ตอนนี้ก็เกิดการความรู้สึกเข้าใจคนที่มาสายมากขึ้น และใครได้ใช้แนวทางของอาจารย์มาทบทวนตนเองก็จะดีไม่น้อย...และช่วยกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ เข้าประชุมตรงเวลา หาก ไม่มีอะไรเร่งด่วนจริง ๆ

เป็นวัฒนธรรมของท้องที่ด้วยมั้งคะ คนไทยคนเดียวกัน (ตัวเองนี่แหล่ะค่ะ) อยู่เมืองไทย ก็มีสายบ้าง อ้างรถติด แต่พอมาอยู่แคนาดา ไม่เคยสายเลยค่ะ  เพราะไม่อยากเป็นตัวประหลาดอยู่คนเดียว...ตอนนี้มาอยู่เม็กซิโก...คนที่นี่เหมือนคนไทยค่ะ นัดมาทานอะไรกันที่บ้านตอนบ่ายสอง ปรากฏว่าบ่ายสามโน่นแน่ะค่ะ ถึงจะทยอยกันมา....เวลาจัดปาร์ตี้ที่นี่ต้องแยกเลยค่ะ ปาร์ตี้ฝรั่ง หรือ ปาร์ตี้เม็กซิกัน ไม่งั้นฝรั่งกลับหมดแล้ว เม็กซิกันยังมาไม่ครบ ...

สวัสดีครับ P พี่อักษร ทับแก้ว 

  • วัฒนธรรมมีทั้งที่ควรอนุรักษ์และที่ควร "พัฒนา" หรือเปล่าครับ?
  • ผมว่าอะไรที่มันไม่สอดคล้องกับยุคสมัยก็ต้องพัฒนา
  • สวัสดีครับอาจารย์ สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
  • ผมคนหนึ่งล่ะครับ ที่มักสายเสมอ
  • ขณะนี้ก็กำลังต่อสู่กับตนเองอย่างแรง พอเห็นเว็บบอร์ดที่โน้น ก็ตามเข้ามาที่นี่ทันที
  • อาจารย์แนะนำไว้ดีมากเลยครับ
    ฝึกระลึกว่าอะไรสำคัญต้องทำก่อนก็ลงมือทำ สิ่งที่ไม่สำคัญเท่าแม้ใจอยากทำ มีแรงดึงดูด ก็วางไว้ก่อน
  • ตัวนี้แหละครับของผมล่ะ "อยากทำ+ดึงดูด" ทำก่อนทุกที และก็ทำให้สายทุกที
  • ขอให้อาจารยฺโชคดีมีความสุขตลอดไปครับ

:)

สวัสดีคะ แวะมาทักทาย คะ

อ่านบทความอาจารย์แล้ว ประทับใจ ปลื้มใจ จัง

กับการสอนที่สะท้อนจากการยอมรับสังเกตุพฤติกรรมตนเองอันนำสู่การปรับปรุง และยังสามารถสะท้อนเป็นตัวอย่าง สำหรับสอนผู้อื่นได้อย่างดีด้วย

ข้าพเจ้า

ฐานะคนที่จริตตรงกันข้าม คือมักทุกข์เพราะตึงเกินไปกับการตรงต่อเวลา เพราะเป็นคนยึดตรงต่อการรักษาสัญญา (มากเกินไป!!!!)

ฐานะคนที่ไม่ใคร่จะเคยไปไหนสาย คือมักจะตรงเวลา รักษาสัญญา

ฐานะ คนที่และมักทุกข์ใจเสมอเมื่อทำท่าว่าจะสายแล้ว(แม้เหตุสุดวิสัย)

ยอมรับเหมือนกันว่าตัวเองทำให้ตัวเองทุกข์ ไม่ผ่อนคลายเกินไป กับการไม่ปล่อยว่าง easy เสียบ้าง มักโทษตัวเอง โทษคนอื่นด้วยเวลาไปพบผู้มีพฤติกรรมแบบอาจารย์เล่ามา ตอนนี้พร้อมเช่นกันสำหรับการปรับปรุงตนเอง ในทางที่เป็นสายกลางมากขึ้น พร้อมยอมรับปรับใจตนเอง ให้ยอมรับเพื่อนๆ คนอื่น และให้อภัย และให้โอกาสเสียบ้าง

พบว่าชีวิตมีความสุขขึ้นมากเลยคะ

สวัสดีปีใหม่จีนทุกท่านในกระดานสนทนาคะ :)

ประทับใจ ที่ได้ยินอาจารย์เขียนว่า "ความซื่อสัตย์ การรักษาสัญญา เป็นที่มาของความไว้วางใจระหว่างมนุษย์ "

และทำให้ตัวเองระลึก(ส่วนตัว)ได้เช่นกันว่า "ความไว้วางใจของฉัน อันเป็นที่มีของศรัทธาระหว่างมนุษย์นั้น ก็มิได้ขึ้นกับว่าการรอว่าผู้อื่นจะรักษาสัญญา/ตรงต่อเวลา อย่างเข้มแข็งเสมอไปหรือไม่ ทุกสิ่งล้วนมีเหตุมีปัจจัย หากใจเรายอมรับ และพร้อมเข้าใจ"

แวะเวียนเข้ามา เพราะเป็นคนที่บุคลิกบางอย่างตรงกับข้อความของอาจารย์

เป็นคนมาสายบ้าง (แต่ไม่สายเสมอ) เป็นคนซื่อสัตย์ และจะรักษาสัญญาเสมอ จะรู้สึกผิดหวังมาก ๆ กับคนที่ไม่ stick to the word บ่อย ๆ ในขณะที่เรายึดมั่นตรงนี้มาก ถ้าสัญญาแล้วต้องทำให้ได้ แต่พอเจอคนที่ไม่รักษาคำพูด เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ความไว้วางใจของเราต่อคน ๆ นั้น ก็จะไม่มีอีกเลย ถึงแม้ว่าครั้งต่อ ๆ ไปคน ๆ นั้นจะได้พยายามทำตามที่พูด แต่เราก็ยังไม่เชื่อใจอยู่ดี (คงต้องใช้เวลาอีกนาน)

มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดี ๆ

ตัวอย่าง

1.

นึกได้ตัวอย่างหนึ่งว่า สามเดือนที่ผ่านมา

เราคุยกับเพื่อน (ไม่สนิทมากนัก) ทางอีเมล

เรากำลังต้องการความช่วยเหลือมาก

เราก็ขอร้องเพื่อนไป ว่าหากได้ข้อมูล แหล่งข้อมูล ช่วยส่งข่าวด้วย (เราต้องการความช่วยเหลือ)

เพื่อนตอบบอกว่า :ok ถ้าได้ข้อมูลบางอย่างที่เราขอร้องให้ช่วย จะส่งข่าวมา:

ผ่านไปสามเดือน แล้ว เพื่อนก็เงียบไปเลย

เราก็ รู้สึกทุกข์ เสียใจ คำพูดแค่นี้เหมือนสัญญาเลย ทั้งที่ไม่ใช่สัญญา (เราไปผูกเป็นสัญญา)ยิ่งเป็นเรื่อง ที่เราต้องการความช่วยเหลือด่วนด้วยแล้ว

ก็รู้สึกเสียใจ น้อยใจ ทุกข์ เหมือนเพื่อนไม่สนใจ กับความเดือดร้อนของเรา แต่พอสังเเกตุเห็นสภาพภายในตัวเองได้ก็ หยุดลง เบาสบายลง

และเพื่อนก็คงหาข้อมูลไม่พบ หรือ เพื่อนอาจยุ่งด้วย ก็แค่นั้น หรืออะไรก็ได้ ตามปัจจัย

...........ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน...........

2.

จำได้อีกตัวอย่างหนึ่งอาทิตย์ที่แล้ว เรานัดเพื่อนที่หนึ่ง ความจริงเวลาทันเราอยากแวะกินไอศรีมที่ระกว่างกลางทาง แต่ด้วยความเกรงว่าสายของเรา (ความจริงจะไม่ไปถึงก่อนสัก 20 นาที เราจะทุรนทุรายมาก) ก็เลยตัดสินใจ ผ่านไปไม่กิน เพราะเกรงว่าจะมี ACCIDENT อะไรทำให้ไปสายเช่นรถติด ก็ตัดสินใจเดินทาง ตรง

ปรากฎไปถึงก่อน 30 นาที (โอเค)ไม่เป็นไรเพราะว่าเราชอบไปถึงก่อนอยู่แล้วสบายใจ

ปรากฎเพื่อนมาสาย เราเลยรอเกิน 40 นาที ทำให้เราเริ่มผิดหวัง หัวเสียนิดๆ ไม่ใช่เรื่องสายเพราะเรารอได้ แต่ลึกๆเป็นเรื่องว่า เขาคงไม่เคารพเรา เขาคงไม่ให้ความสำคัญเรา ผิดหวัง เสียใจ .......ถ้าไม่หยุด สังเกตุตัวเอง คงจะพัฒนาไปถึงโกรธ (จะรอหรือไม่ หรือโทรถามหรือไม่ตอนนี้ไม่ใช่ประเด็นแล้ว) กำลังเล่าสิ่งที่เกิดภายในจิต และใจ ฉัน แต่ก็ดีขึ้น พอเห็นตัวเองก็เบาลง ไม่โกรธเพือน

สิ่งที่ผึ้งเขียนโดยยกตัวอย่างตัวเองดีมากเลย ทำให้ได้เห็นบุคลิกของคนอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่เหมือนก้น แต่ก็ "ทุกข์" เหมือนกัน

บทความข้างต้นเป็นประโยชน์กับนันและคนอื่นมากคะอ่านได้วิธีแก้ไขจริงๆขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท