1. เด็กหนุ่มจากเมืองวาริน


เรียนรู้อดีต..เรียนรู้ชีวิต

เช้ามืดต้นเดือนมีนาคม 2512 ผมต้องรีบลุกขึ้นอาบน้ำล้างหน้าเพื่อเดินทางไปทำหน้าที่ครู พ่อผมบอกเมื่อคืนนี้ก่อนนอนว่า นายอำเภอบุณฑริกจะไปเป็นประธานเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เราจะผ่านไป พ่อบอกจะขออาศัยรถยนต์ของท่านนายอำเภอ พวกเราจึงต้องตื่นแต่เช้าไปพบท่านที่อำเภอ

พวกเราสามคน พ่อผม น้าของพ่อผม(ผมเรียกว่าปู่) และผม จะเดินทางไปบ้านคำบาก ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอบุณฑริก 28 กิโลเมตร เราอาศัยรถยนต์ท่านนายอำเภอบุณฑริกไปได้เพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น ระยะทางที่เหลือเราจะต้องเดินอย่างเดียว เพราะไม่มีรถยนต์โดยสาร หรือแม้แต่พาหนะอื่นใดเลย

พวกเราไปถึงที่ว่าการอำเภอหรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า "อำเภอ" เวลาประมาณเจ็ดโมงเรารอไม่นานท่านนายอำเภอก็มาถึงและอนุญาตให้พวกเราไปกับท่านได้

เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้นั่งรถจี๊ปเล็ก พวกเรานั่งตอนท้ายร่วมกับเจ้าหน้าที่อำเภออีกห้าคน จึงค่อนข้างเบียดกันพอสมควร รถวิ่งไปตามถนนลูกรังแต่ก็แค่ไม่ถึงกิโลเมตรก็พ้นตัวอำเภอ จากนั้นถนนเป็นดินทราย แคบ ๆ เพียงให้รถผ่านไปได้ นานๆ จะมีเกวียนสวนทางมา ซึ่งแน่ละเกวียนจะต้องหลบออกข้างทาง พวกเราทั้งหมดแปดคนนั่งเงียบ หัวสั่นหัวคลอนไปกับจังหวะที่รถตกหลุม ผมมองดูสองข้างทางเป็นป่าโปร่ง ส่วนใหญ่เป็นไม้ตองกุง นานๆ จะเห็นต้นยางหรือไม้สูงใหญ่สักต้น ผมไม่เห็นอะไรที่แปลกๆ จึงหลับตาคิดถึงการเดินทางของชีวิตที่ผ่านมา

อ่านต่อตอน 2 ป.กศ. สองปีสองเทอม กดที่นี่ครับ

หมายเลขบันทึก: 237259เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2009 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2016 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

น่าจะเขียนต่อนะคะ เหมือนยังไม่จบ น่าสนใจนะคะ อยากรู้ว่าจะไปทำไม แล้วระยะทางที่เหลือเดินต่อไปยังไง ปี 12 อุบลฯ สภาพเป็นอย่างไร เคยไปหลายครั้งเมื่อสักยี่สิบปีที่ผ่านมา แต่เหมือนผ่านไปไม่กี่วันเอง

รออ่านอยู่ค่ะ รีบเขียนนะคะนาตื่นเต้นดีค่ะ

สวัสดีค่ะ

ตามาอ่านให้กำลังใจด้วยคนค่ะ

รออ่านตอน่อไปนะคะ

สวัสดีครับชีวิตคนก็เหมือนเส้นทาง สองข้างทางคือปัญหาและอุปสรรค

สวัสดีครับคุณเล็ก ครูแป๋ม เทียนน้อย และคุณเบดูอิน

ขอบคุณมากครับ ที่ให้กำลังใจ ถูกต้องครับ เรื่องยังไม่จบ คงจะอีกหลายตอนครับ และอีกไม่นานคงจะเห็นภาพอุบลราชธานี ในปี 12 ที่นี่ แต่ตอนนี้ผมไม่ค่อยมั่นใจว่าจะฉายภาพได้ดีแค่ไหน ก็ขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจอีกครั้งครับ

แวะมาทักทาย บันทึกแรกค่ะ

มีความสุขในทุกๆวัน นะคะ

ดอกไม้สวยจัง ขอบคุณครับ

เขียนบรรยายได้แบบธรรมชาติดีค่ะ

อ่านนึกภาพจินตนาการตามได้บรรยากาศค่ะ

 เขียนอีกนคะ จะติดตามค่ะ

ลองมาอ่านบทที่ 1 ก่อนดูซิ มีที่ไหนอ่านตอนจบก่อน ชีวิตครูบ้านนอก สมัยก่อนเขาไม่ว่ากันบ้านนอกเนาะ  เพราะคิดว่าที่ไหนก็ ยังไม่เจริญเท่าไหร่ พอๆกัน  คิดว่าที่ไหนที่ไหนก็จะเรียกบ้านนอกหมด มีที่เดียว บางกอก ที่ไม่เรียกบ้านนอก

จำได้  นั่งรถสมัยก่อนถนนลูกรัง  ฝุ่นตลบ ไหง่ง่อง หัวแดง แถมรถตกหลุมเมื่อไหร่ก็กระเทือนไปตามทาง หัวสั่นหัวคลอนไปตามกัน ถ้าอ๊วกได้ จะไม่กลั้นเลย

 

คิดจะมาต่อสู้ชีวิตในป่าดงดอน คงคิดเปลี่ยนใจ เพราะรู้ว่าจะต้องเจอวิบากกรรมแน่นอน หลับตา จะไปต่อดีหรือจะถอย  แต่รู้นิสัยชอบตื่นเต้นชอบผจญภัย กำลังห่าว  หลับตาอีกที  สู้ สู้หวะ

 

ผมก็จำไม่ได้ว่า มีคำ "ครูบ้านนอก" เมื่อไหร่ คงจะมีตอนสร้างหนัง "ครูบ้านนอก" กระมัง

สมัยก่อนมี "ครูประชาบาล" สอนระดับประถม และมีครุมัธยม หรือ ครู ม. สอนระดับมัธยม

เรื่องหัวแดง เป็นธรรมดาในหน้าแล้ง ส่วนหน้าฝนก็เลอะโคลน เพราะบางครั้งรถติดหล่ม ผู้ชายต้องช่วยกันเข็นรถ บางทีหากคนน้อยผู้หญิงก็ต้องช่วยกัน ทุลักทุเล แต่....มีความสุขครับ ยิ้มแย้มแจ่มใส หยอกล้อกัน เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่รู้จักกัน 

ตอนนั้น ผมไม่คิดถึงความยากลำบากเลย คิดเพียงว่า "เราจะได้เป็นครูแล้ว.." แค่นั้นจริงๆ

ปิดเทอมชั้น ม.2 (ป.6 ปัจจุบัน) สามเดือนผมเป็นศิษย์วัดป่า กินข้าววันละ 2 มื้อ เรียน มศ.1-2 ผมเป็นศิษย์วัดในเมืองอุบลราชธานี

การสู้ชีวิตตามลำพังจึงไม่ใช่เรื่องลำบากสำหรับผมเลย

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและร่วมออกความเห็นครับ

ในชีวิตจริง ของครูคนหนึ่ง  แต่ยอมรับนะคะ ในสมัยก่อนใครได้เรียนครู ถือว่าเนื้อหอมที่สุด  ใครได้เป็นเมียครู ก็ถือสุดยอดแล้ว

ในสมัยก่อนอาชีพครู ได้รับเกียรติและการยกย่องมากเลยนะ  ทุกวันนี้ก็ยกย่อง แต่ไม่เท่าสมัยก่อน

การเรียนครู ฮิตกันมาก พอจบถามว่าจะไปเรียนอะไร ใครๆก็บอกว่าไปเรียนครู ตอนนั้นวิทยาลัยครู ที่มหาสารคามก็ดังมาก เปิดสอนภาคค่ำด้วย เรียกว่าทะไวไล้ ภาษาอังกฤษเขียนไม่ออก   วิทยาลัยครูเลยก็ตามมา

พอเปิดภาคทะไวไลท์มาได้ไม่เท่าไหร่ นักศึกษามีท้องกันก่อนจบ  เลยยกเลิก แต่นั้นมา คนเรียนครูจะถูกมองว่า มีท้องก่อนจบ มองติดลบ (จบดื้อๆรู้แค่นี้แหละ)

                          ต่อไปไม่รู้ เพราะเป็นเด็กอยู่

 

พอเปิดภาคทะไวไลท์มาได้ไม่เท่าไหร่ นักศึกษามีท้องกันก่อนจบ  เลยยกเลิก 

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งครับ แต่... ไม่ใช่เหตุผลหลัก

สมัยนั้นคนจบครูเยอะ คุณภาพไม่น่าพูดถึง เปิดสอบบรรจุครูแต่ละครั้ง คนแห่ไปสอบท่วมท้น อัตราส่วน 100 : 1 (หากผมจำไม่ผิด)  

ผมเชื่อว่า "วิญญาณของความเป็นครู" ยังมีอยุ่อย่างเปี่ยมล้น เพียงแต่วิถีชีวิตของสังคมเปลี่ยนไปมาก เท่านั้นเอง

ทุกชีวิตต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ครูก็ไม่ละเว้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท