นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๒๑)
“เพลินพัฒนา”
ชุมชนแห่งการเรียนรู้
การจัดการความรู้ เพื่อ สร้างเด็กเก่ง – ดี
บนทางสายกลาง
(โปรย) “เพราะเด็กจะเป็นอย่างที่เราเป็น มากกว่าจะเป็นอย่างที่เราบอกให้เป็น” โรงเรียนเพลินพัฒนาจึงอาศัยบริบทแวดล้อมสร้างให้โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ทุกฝ่ายพัฒนาไปพร้อมกันโดยใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมเข้ามาเป็นแกนในการออกแบบการเรียนการสอนและวิถีปฏิบัติของโรงเรียน และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ดีแก่เด็ก ๆ จุดเริ่มพาเพลิน
“โรงเรียนเพลินพัฒนา”
ก่อตั้งขึ้นจากการมีเจตนารมณ์ร่วมกันของคนหลายกลุ่มที่เป็นเพื่อนกัน
ทั้งกลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง นักการศึกษา
นักวิชาการและกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ (บ.ซีเอ็ดยูเคชั่น จก. และ บ.แปลน
พับลิชชิ่ง จก.) รวมกว่า 70 คน ที่ต้องการมีส่วนในการสร้างคนเก่ง
คนดีให้เป็นกำลังในการพัฒนาชาติต่อไปในอนาคต
จึงร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนขึ้นและจัดการเรียนการสอนที่ทำให้โรงเรียน
คือ “ชุมชนของการเรียนรู้”
โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายพ่อแม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ให้ผู้เรียน
จึงเป็นการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันทั้งพ่อแม่และนักเรียน
โดยเปิดสอนตั้งแต่เตรียมอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.6)
โดยกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานของโรงเรียนไว้ที่การ “ก้าวพอดี”
เป็นทางสายกลางในการพัฒนาเยาวชน อย่างพอเหมาะพอดี สอดคล้องกับเวลา
และสถานการณ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเพลิดเพลิน และมีความสุข
ชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม
“เพราะเด็กจะเป็นอย่างที่เราเป็น
มากกว่าจะเป็นอย่างที่เราบอกให้เป็น”
โรงเรียนเพลินพัฒนาจึงอาศัยบริบทแวดล้อมสร้างให้โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ทุกฝ่ายพัฒนาไปพร้อมกันโดยใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมเข้ามาเป็นแกนในการออกแบบการเรียนการสอนและวิถีปฏิบัติของโรงเรียน
และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ดีแก่เด็ก ๆ
ธิดา พิทักษ์สินสุข
ผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา กล่าวว่า “
ชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม” หมายถึง
กระบวนการปฏิสัมพันธ์ เช่น การทำงาน การเรียน การสอน
การเข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ความช่วยเหลือ
ความร่วมมือของทุกคนในชุมชนแห่งนี้
และดำเนินชีวิตทุกรูปแบบ
โดยกระบวนการต่างๆ
มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก่อเกิดความหมาย ความเข้าใจ ความรู้
และความเห็นร่วมกัน (แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน)
ก่อเกิดการสร้างสรรค์ความรู้ ความเชื่อใหม่ๆ
ก่อเกิดเป็นข้อสังเคราะห์เป็นข้อตกลงร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวกับความดี
ความงาม และความจริง ก่อเกิดการสะสมความรู้
ความเห็นความเชื่อเข้าไปเป็นคนกลางของสังคม
และก่อเกิดการถ่ายทอดความรู้ ความเห็น ความเชื่อจากคนสู่คน
จากรุ่นสู่รุ่น และจากสังคมสู่สังคม
การจัดการความรู้ของโรงเรียนเพลินพัฒนา
• ครอบครัว-โรงเรียนรวมกันเป็นหนึ่งชุมชนแห่งการเรียนรู้
จากเป้าหมายดังกล่าว
กระบวนการจัดการความรู้เพื่อจัดการเรียนการสอนให้บรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าวจึงเริ่มด้วยการดึง
“ครอบครัว” มามีส่วนร่วมในการเอื้อให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้
ฉะนั้นโรงเรียนกับบ้านต้องร่วมกันพัฒนาผู้เรียนให้มีความสุขที่ได้เรียนรู้
ผู้ปกครองจะช่วยให้เด็กมีทักษะชีวิต และวินัย
ซึ่งวัฒนธรรมครอบครัวที่ดี
จะช่วยรองรับการสร้างคุณภาพให้กับเด็กได้ด้วย
ส่วนโรงเรียนก็ช่วยในเรื่องการเรียนรู้ในวิชาการ ซึ่งทั้งสองส่วน
(โรงเรียน และบ้าน) ต้องสัมพันธ์กัน
โดยไม่ใช่แค่การสร้างให้ได้เรียนจบไปเพียงอย่างเดียว
แต่ต้องการสร้างคนที่มีคุณภาพออกสู่สังคม
“ห้องเรียนพ่อแม่”
จึงเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้มาพบปะพูดคุย
ปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนความรู้กันเพื่อเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก
เกิดเป็นเครือข่ายพ่อแม่ที่จะมาร่วมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านได้อย่างต่อเนื่อง
โดยห้องเรียนพ่อแม่ก็จะมีกิจกรรมกันสม่ำเสมอ
“เราไม่อยากให้เด็กสับสนว่าทำไมเมื่ออยู่โรงเรียนต้องทำอย่างหนึ่ง
แต่เมื่อกลับไปที่บ้านทำไมต้องทำอีกอย่างหนึ่ง
ซึ่งตรงนี้พ่อแม่จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างความเข้าใจและช่วยพัฒนาเด็กต่อเนื่องจากโรงเรียน
ทั้งในแง่ของทักษะชีวิต วินัย ความรับผิดชอบ ”
อาจารย์ปราณี เชาว์ชัยพร
หัวหน้าฝ่ายชุมชนแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียน กล่าว
ศิริพร
จิรวินิจนันท์ ผู้ปกครองคนหนึ่ง เล่าว่า
ที่มีกิจกรรมนี้ขึ้นเพราะพ่อแม่อยากกระชับความสัมพันธ์ของการเป็นเครือข่ายกันให้แน่นแฟ้นมากขึ้น
ได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกัน
รวมทั้งสร้างกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ที่แทรกการเรียนรู้อยู่ด้วย
โดยการประสานและหารืออย่างใกล้ชิดกับครูประจำสายชั้น
เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่เรียนและไปในแนวทางเดียวกัน
เช่น การชมละครวรรณคดี
ที่ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านวัฒนธรรมไทย ๆ
ขณะที่ อารียา
ทากาฮาชิ ผู้ปกครองนักเรียนอีกท่านหนึ่ง กล่าวเสริมว่า
การจัดกิจกรรมเรียนรู้เราต้องทำให้เรื่องนั้นๆ เข้าใจได้ง่ายๆ
และมีความสนุกสนานมีการออกแบบการาเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสุขในการเรียนรู้
และกิจกรรมที่เด็กๆได้เรียนรู้ จะยู่ในบทเรียนอยู่แล้ว
ซึ่งการที่เด็กได้เห็นกิจกรรม และการนำเสนอที่เป็นรูปธรรม
จะทำให้เด็กเข้าใจบทเรียนเรื่องนั้นๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย
แม้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เครือข่ายห้องเรียนพ่อแม่คิดสร้างสรรค์เนื้อหาต่างๆ
มาให้นักเรียนได้เรียนรู้แล้ว
การเชื่อมโยงความรู้ให้เข้ากับเครือข่ายพ่อแม่ในชั้นเรียนอื่นๆ
ก็เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้พ่อแม่ได้เรียนรู้เทคนิค
วิธีการซึ่งกันและกัน ซึ่งนับว่าเป็นการต่อยอดความรู้
และเติมเต็มประสบการณ์ให้แก่กัน
“เมื่อเทอมที่แล้วเรามีกิจกรรม คือ เรียนภาษาอังกฤษอย่างไรให้ปิ๊ง
ซึ่งปัจจุบันผู้ปกครองจะมีความกังวลใจมากเรื่องภาษาอังกฤษของลูกๆ
ดังนั้นเราก็ตัดสินใจมาคุยกันว่าจุดกังวลใจของแต่ละคนอยู่ตรงไหน
มีวิธีใดบ้างให้เด็กๆ ได้เรียนภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพ
ก็เชิญผู้ปกครองที่มีความรู้เรื่องการเรียนภาษาอังกฤษมาให้ความรู้ผู้ปกครองในเรื่องของเทคนิคให้พ่อแม่เพี่อไปขยายความรู้สู่ลูกๆ
หลานๆของแต่ละคน”
ห้องเรียนพ่อแม่จึงเป็นกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้กลุ่มพ่อแม่ให้กระชับยิ่งขึ้น
และร่วมกับครูในการจัดสรรกิจกรรมที่มีสาระผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรมที่สร้างความสุขและการเรียนรู้ให้กับทุกฝ่าย
• แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามโรงเรียน
อีกกิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อเสริมต่อการสร้างเด็กเก่งและดีเพื่อเป็นกำลังหลักของประเทศชาติต่อไปนั้น
โรงเรียนเพลินพัฒนาจึงให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์กับโรงเรียนที่มีแนวคิดและการดำเนินการคล้ายคลึงกัน
เช่น การทำกิจกรรมและการสร้างเครือข่ายกับโรงเรียน
กับร.ร.ลำปลายมาศวิทยา จังหวัดบุรีรัมย์
ที่ต้องการสร้างโรงเรียนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ เช่นกัน
โดยเชื่อว่าการสร้างการเรียนรู้ที่ดีจะช่วยทำให้คนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้
ตอนนี้โรงเรียนก็ผลัดกันเยี่ยมโรงเรียน
เพื่อแลกเปลี่ยนกระบวนการเรียนทั้งระบบ โดยเฉพาะครูกับครู
ซึ่งยังมีเวทีเรียนรู้ร่วมกับครูที่เพลินพัฒนา
ในการแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างครอบคลุมเนื้อหาและวิธีปฏิบัติที่สมบูรณ์แบบ
• กระบวนการและช่องทางการเรียนรู้กับชุมชน
อาจารย์ธิดา กล่าวว่า
การเรียนรู้ของนักเรียนเพลินพัฒนามีการเรียนรู้กับชุมชน อยู่ 2 ส่วน
คือ
1. ชุมชนเพลินพัฒนา คือ การเรียนรู้กับผู้ปกครอง
และขยายออกไปสู่วงรอบนอกที่ไม่ใช่ผู้ปกครอง
2. การเรียนรู้กับบุคคลที่มีความรู้
โดยครูจะนำบุคคลเหล่านั้นเข้ามาให้ความรู้
หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ในเรื่องที่เด็กมีความสนใจ
และการนำเด็กไปเรียนรู้กับสิ่งที่เรียกว่าแหล่งเรียนรู้
ซึ่งจะทำให้เด็กเห็นบริบทนั้นๆได้อย่างชัดเจน
โดยทั้งสองส่วนจะเป็นสิ่งที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์และจิตนาการให้กับเด็ก
ที่มีค่ามากกว่าความรู้ในตำรา เช่นการเรียนรู้ใน
วิชามนุษย์กับโลก
ก็จัดให้มีกิจกรรมภาคสนามให้นักเรียนได้ไปเรียนรู้จากชีวิตจริงของครูภูมิปัญญาของชุมชน
และในสถานที่จริง เช่น การเรียนรู้ที่สวนเจียมตน ของ ลุงชวน ชูจันทร์
ซึ่งเป็นสวนเกษตรผสมผสาน ที่อยู่ใกล้โรงเรียน
เช่นในกิจกรรมเรียนรู้ของนักเรียน ม.2
ที่เน้นการเรียนรู้ธรรมชาติในสวนเจียมตน ซึ่งลุงชวน
จะให้ความรู้ด้วยการอธิบายและนำชมแหล่งความรู้ต่าง ๆ
ภายในสวนเพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ ได้เกิดความอยากรู้อยากเห็น
และทำการศึกษาอย่างเจาะลึกตามใบงานที่คุณครูได้บูรณาการการเรียนรู้ในหลายวิชาเข้าด้วยกัน
ทั้งภาษาไทย ดนตรี คณิตศาสตร์ จินตทัศน์ ฯลฯ แล้วให้เด็ก ๆ
ร่วมกันหาคำตอบโดยกำหนดให้เป็นกิจกรรมกลุ่ม กลุ่มละ 5-10 คน
โดยมีครูพี่เลี้ยงประจำกลุ่มๆ ละ 2 คน คอยดูแล
และให้ความรู้อย่างใกล้ชิด
เช่น
การศึกษาว่าต้นไม้ในสวนมีสรรพคุณอย่างไร มีวิธีการนำมาใช้อย่างไร
ศึกษาระบบนิเวศน์ในสวน
รวมทั้งได้นำเรื่องราวที่ได้ศึกษาในสวนมาบูรณาการให้เข้ากับสาระวิชาต่างๆได้อย่างเหมาะสม
เช่นกิจกรรม "ชวนเพลินเชิญแต่งกลอน" (เด็กๆหามุมสบาย แต่งกลอนกลบท
ในหัวข้อ "ดุริยางค์ชมสวน") เด็กๆ ทบทวนสิ่งที่ได้เดินชมในสวน
และนำมาแต่งกลอนคนละ 1 บท เช่น “ที่สวน ชวนดู
ปูนา
มีปลา หากิน ดินทราย”
และนำมาแต่งเป็นกลอนกลบท
เช่น
“ที่ที่สวน ชวนชวนดู ปูปูนา มีมีปลา หาหากิน
ดินดินทราย”
ซึ่งเป็นตัวอย่างของการบูรณาการให้เข้ากับวิชาภาษาไทย
เมื่อสรุปกิจกรรมทั้งหมดตลอด 1 วัน ขุมความรู้ที่นักเรียนได้คือ
ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำชุมชน
ได้เห็นและสัมผัสการเรียนรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติทุกขั้นตอน
พร้อมทั้งนำเสนอสิ่งที่เรียนรู้เป็นกลุ่ม
ซึ่งช่วยให้ครูได้เห็นจิตนาการและวิธีคิดของเด็ก
ในขณะเดียวกันครูก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน
และยังสามารถนำไปออกแบบการเรียนการสอนให้มีพัฒนาการมากขึ้นต่อไป
การที่โรงเรียนได้มีบูรณาการเรียนรู้กับชุมชน หมายความว่า
โรงเรียนยังได้เครือข่ายแหล่งเรียนรู้ของชุมชนเพิ่มเติมอีก
และผลของการเด็กได้เรียนรู้กับชุมชนแล้ว
เด็กยังไปถ่ายทอดความรู้ให้กับพ่อแม่ กระทั่งพ่อแม่เกิดความสนใจ
และหาเวลาในวันหยุดเรียน
รวมกลุ่มพ่อแม่พาลูกๆไปเรียนรู้เพิ่มเติมที่สวนเจียมตนกันอีกครั้ง
ทำให้เกิดสัมพันธภาพอันดีงามและทำให้เห็นขุมความรู้ที่หลากหลายระหว่างผู้ปกครองกับชุมชนได้อีกต่อไป
• เด็กได้เรียนรู้อะไรใน 10 สัปดาห์
การแบ่งภาคเรียนเป็น 4 เทอมเล็ก (เท่ากับ 2
เทอมใหญ่ของโรงเรียนทั่วไป) ซึ่งใน 10 สัปดาห์ (1 เทอม)
เด็กจะเรียนรู้เนื้อหาเป็นลำดับขั้นจำนวน 8
สัปดาห์ซึ่งจะมีการสอดแทรกกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้และปฏิบัติด้วย
ส่วนอีก 2 สัปดาห์จะให้เด็กได้บูรณาการความรู้ที่ได้เรียน
ในรูปแบบของการทำโครงงานชื่อว่า “ชื่นใจได้เรียนรู้” คือ
การนำสิ่งที่เรียนรู้มาบูรณาการ เอามาสังเคราะห์
เป็นการประมวลความรู้ขึ้นมา
โดยเอาคอนเซ็ปต์หลักๆของแต่ละวิชามาสร้างกิจกรรม
เพื่อจะเป็นการตอบโจทย์ว่าเด็กได้เรียนรู้อะไรมาบ้าง
การสานความรู้แผ่ออกไปทุกหย่อมหญ้า เด็กจะเรียนรู้ว่า ความรู้
ผู้ที่ให้ความรู้ แหล่งเรียนรู้ และวิธีการเรียนรู้ มีความหลากหลาย
ฉะนั้นทุกคนที่แวดล้อมเด็กล้วนแล้วแต่เป็นผู้ให้ความรู้ด้วยกันทั้งสิ้น
ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงมาที่ครู และสิ่งที่เด็กได้เพิ่มเติมจากการเรียนรู้
คือการเคารพในคุณค่าของความเป็นคน มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
ลดความเป็นอัตตาในตัวออกไป
และพร้อมที่จะเปิดรับความรู้จากผู้อื่นได้
เช่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เรียนรู้เรื่องการจัดการขยะ เด็กเรียนรู้ว่าคนเก็บขยะมีวิธีการจัดการกับวัสดุแต่ละชิ้น ฯลฯ สิ่งที่เด็กได้คือความคิด วิธีคิด จุดประกายความคิดให้ผู้เรียนนำมาถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านกระบวนการเรียนรู้เป็นกลุ่ม และสรุปบทเรียนออกมาเป็นการบันทึกเป็นรายงานเรื่องราวในโครงงาน ชื่นใจได้เรียนรู้ โดยตำราเหล่านั้นจะถูกเก็บเป็นผลงานในห้องเรียนของรุ่นน้องที่จะก้าวขึ้นมาเรียนและศึกษาวิชาเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาเรียนรู้ผ่านตำรา(Explicit Knowledge) และเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจที่จะพัฒนาผลงานของตนเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
• ห้องเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูกับครู
การที่โรงเรียนมีหลักคิดร่วมกันในเรื่องที่เรียนรู้
ทำให้มีการการบริหารออกเป็น 3 ช่วงชั้น โดยมีครูใหญ่แต่ละช่วงชั้น
เหมือนเป็นโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ มีวิชาการช่วงชั้น
ทุกช่วงชั้นก็จะมีธุรการช่วงชั้น ซึ่งเป็นหลักการกระจายอำนาจ
และเป็นหลักการเรียนรู้ร่วมของชุมชนในโรงเรียน
มีการเรียนรู้ร่วมทั้งในระดับบอร์ดโรงเรียน ระดับหัวหน้าช่วงชั้น
มีการแลกเปลี่ยนการจัดการบริหารระดับช่วงชั้น เช่น
กระบวนการจัดการความรู้ ,กระบวนการจัดการวิชาการ
,กระบวนการจัดการเรื่องเกี่ยวกับเด็ก
ซึ่งจะได้แลกเปลี่ยนพบปะกันทุกสัปดาห์
เพื่อบริหารและแชร์ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน
นอกจากนี้
ยังมีการถ่ายทอดความรู้ให้ครูใหม่ที่เข้ามา
ซึ่งในเบื้องต้นจะเป็นสอบถามถึงความต้องการที่จะเข้ามาสอนที่โรงเรียนก่อน
จากนั้นก็จะมีครูผู้ช่วย ที่จะช่วยถ่ายทอดความรู้จากครูสู่ครู
ซึ่งเป็นความรู้ที่จะช่วยให้ครูใหม่ สามารถศึกษางานได้เร็วขึ้น
กล่าวคือ
ครูเก่าได้ทำเป็นบันทึกขุมความรู้ในการจัดการเรียนการสอนของตนเองเอาไว้
โดยโรงเรียนสามารถเก็บความรู้ของครูคนนั้นไว้ได้ทั้งหมดในรูปแบบข้อมูล
ที่จะช่วยให้ครูใหม่เรียนรู้แนวทางการสอนด้วยตัวเอง
ดังนั้นครูจึงเป็นผู้ที่สำคัญในการสร้างขุมความรู้ที่มีอยู่ในตัวออกมา
ในรูปของการเขียนโปรแกรมการสอน ,บนฐานข้อมูลที่เรียนว่า อินเตอร์เน็ท
ฉะนั้นองค์ความรู้จะเก็บไว้ในโรงเรียนตลอด
การนำแผนการสอนที่ถ่ายทอดโดยครูเก่า
มาศึกษาใหม่สามารถทำให้ครูคนใหม่ที่เข้ามาเรียนรู้
สามารถมาศึกษาและวิจัยพัฒนาแผนการสอนนั้นๆได้ต่อไป
ซึ่งนับว่าเป็นต้นทุนของความรู้ที่จะสามารถพัฒนากระบวนการเรียนการสอนต่อไปได้
• เชื่อมโยงเครือข่ายพ่อแม่สู่ครอบครัวใหญ่ในอนาคต
สังคมของชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นฐานของการสร้างสังคม
โดยโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่รวบรวมผู้คนโดยอาศัยเครือข่ายพ่อแม่ในการมีส่วนร่วมสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนไปพร้อมๆกัน
และเมื่อเด็กเติบโตมาด้วยสังคมแห่งความจริง
ซึ่งสามารถมองเห็นความคิดที่สอดคล้องกัน
และไปในทางเดียวกันของโรงเรียนและบ้าน
สามารถทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างราบรื่นเด็กจะไม่ขัดแย้งในความคิด
ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงเรียน
และผู้ปกครองช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้มันเกิดขึ้น
ดังคำกล่าวที่ว่า“สังคมดีๆไม่มีขายอยากได้ต้องช่วยกันสร้าง”
และนี่คือการจัดการความรู้ที่บูรณาการทุกเรื่องมาสู่การจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างเด็กไทยที่ทั้งเก่งและดี
เป็นความหวังของประเทศได้ต่อไปในอนาคต
ธิดา
พิทักษ์สินสุข (ครูหวาน)
ผู้อำนวยการ โรงเรียนเพลินพัฒนา
เลขที่ 33/39-40 ถนนสวนผัก
แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทร.02-8852670-5 ต่อ 3103 (ครูณี) www.plearnpattana.com
ไม่มีความเห็น