ข่าวสาธารณสุขที่เด่น ๆ ในรอบปี 51


อ่านข่าวเด่นของสาธารณสุขในรอบปี 2551  พอจะสรุปข่าวได้ดังนี้ 

ข่าวต้นฉบับได้รับจากmail ของเครือข่ายระบาดวิทยา 

 

ข่าวเด่น"สาธารณสุข"ปี51

1.“เมลามีน” ภัยร้ายในนม

หลังรัฐบาลจีนประกาศตรวจพบนมผงสำหรับทารกมีการปนเปื้อนสารเมลามีน ที่มักใช้ในการผลิตจาน ชาม จนเป็นเหตุให้เด็กทารกจีนเสียชีวิต จากภาวะไตวาย 6 ราย และกว่า 3 แสนคนเจ็บป่วย สร้างความตื่นตัวต่อปัญหานี้ไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ไทยซึ่งมีการนำเข้านมจากประเทศจีนปีละจำนวนไม่น้อย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยอมรับว่าเป็น เรื่องใหม่ ที่อย.ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่ต้องถือว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างทันการ และถึงในต่างประเทศจะมีการตรวจพบสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์อื่นตามมาอีกเพียบ เช่นไข่ ขนมขบเคี้ยว ช็อกโกแล็ต และอาหารสัตว์ อย.ก็ออกเตือนประชาชนชนิดไม่ตกกระแส

โดยอย.ตรวจวัตถุดิบนมผงที่นำเข้าจากจีนทุกล็อตการผลิต และเก็บตัวอย่างสินค้าในตลาด ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบ กว่า 1,547 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนเมลามีน 15 ตัวอย่าง มีค่าเมลามีนเกินมาตรฐาน 8 รายการ โดยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. มีการเผาทำลายผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนเมลามีน น้ำหนักรวมเกือบ 8 ตัน เป็นผลิตภัณฑ์ขนม 19,824 กล่อง ผลิตภัณฑ์นม 13,085 กระป๋อง ไม่รวมวัตถุดิบนมผงของดัชมิลล์จำนวน 120 ตัน ที่ถูกอายัดและส่งกลับคืนประเทศต้นตอการผลิต


ผลจากเรื่องนี้ อย.ออกประกาศให้นมและอาหารที่มีนมเป็นส่วนผสมที่นำเข้าจากประเทศจีนต้องแสดงหลักฐานใบตรวจวิเคราะห์สารเมลามีน ส่วนอาหารอื่นที่ไม่มีนมเป็นส่วนผสม เช่น แป้ง พาสต้า ครีมเทียม ต้องไม่มีสารเมลามีนปนเปื้อนเกิน 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรค เฝ้าระวังคนไทยที่อาจจะป่วยจากการได้รับสารเมลามีน แต่ก็ไม่มีรายงานผู้ป่วยในไทย

 

2.ขยายสิทธิ “บัตรทอง”

ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 7 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือผู้ป่วยบัตรทอง ปัจจุบันสามารถทำให้ประชาชนไทยกว่า 99.16 % มีหลักประกันด้านสุขภาพ ครอบคลุมเรื่องการดูแลสุขภาพ ส่งเสริม ป้องกันและรักษาโรค


เฉพาะปี 2551 มีการขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ป่วยบัตรทองเพิ่มเติมราว 5 เรื่อง คือ 1.บริการทดแทนไต สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทั้งในด้านวิธีการฟอกเลือด การล้างไตช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต 2.สนับสนุนการเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพง จำนวน 8 รายการ เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยารักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม และยารักษาอาการเจริญพันธุ์ก่อนวัยในเด็ก เป็นต้น โดยบริหารจัดการร่วมกับหน่วยบริการ

3.การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกประเภท 4.การให้สารเมทาโดนระยะยาวในการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ติดสารเสพติดที่สมัครใจ และ5.ยกเลิกการจำกัดความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน จากเดิมไม่เกินปีละ 2 ครั้ง เปลี่ยนเป็นผู้ป่วยสามารถใช้บริการนอกหน่วยบริการที่กำหนดได้ตามความจำเป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที

สำหรับในปี 2552 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับงบเหมาร่ายรายหัว 2,202 บาทต่อประชากร ซึ่งได้รับเพิ่มขึ้นจากปี 2551 จำนวน 102 บาท คาดว่าอาจจะมีการดำเนินการขยายสิทธิเพิ่มเติมให้กับผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ให้เข้ารับบริการได้อย่างต่อเนื่อง จากเดิมให้การรักษาเฉพาะกรณีฉุกเฉินรับรักษาไม่เกิน 15 วัน หากทำได้จริงจะช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอีกมาก

3.เข้ม“หวัดใหญ่”ปลอด“หวัดนก”

นักวิชาการหลายท่านออกมาเตือนว่าอาจจะเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ทำให้สธ.มีการเตรียมพร้อมรับมืออย่างเข้ม โดยมีการติวเข้มบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการป้องกัน วินิจฉัย และรักษา ส่วนการฉีดวัคซีน ปี 2551 ฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยโรคเบาหวานและหัวใจ 5 แสนราย โดยในปี 2552 จะขยายให้ถึง 2 ล้านคน และอาจมีการเสนอให้บรรจุเข้าเป็นวัคซีนพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้คนไทยได้รับวัคซีนชนิดนี้ทุกคน โดยปี 2551 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ประมาณ 15,824 ราย

ขณะที่ไข้หวัดนก ประเทศไทยพบผู้ป่วยในปี 2548 จำนวน 5 ราย เสียชีวิต 2 ราย ปี 2549 พบผู้ป่วย 3 ราย เสียชีวิตทั้งหมด แต่ตั้งแต่ปี 2550 - 2551 ยังไม่พบผู้ป่วย ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการเฝ้าระวังโรคและทำงานสอดประสานอย่างเข้มข้นของสธ. โดยมอบหมายให้สำนักระบาดวิทยาติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนทั่วประเทศทุกวัน และหากมีข่าวสัตว์ปีกล้มตายผิดปกติในพื้นที่ใด อสม.จะเป็นหน่วยทะลวงฟันเข้าประชิดตัวประชาชน เพื่อให้ความรู้และการป้องกันโรคอย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันหากมีผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก ห้องแล็ปกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจสอบเชื้อทราบผลใน 24 ชั่วโมง ส่วนองค์การเภสัชกรรม(อภ.)พร้อมส่งยารักษาลงพื้นที่ทันทีเช่นเดียวกัน

 

4.นโยบาย“ซีแอล”

ต้นปีนพ.มงคลประกาศซีแอลยาเพิ่มอีก 4 รายการ ได้แก่ อิมาทินิบ รักษา มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งทางเดินอาหาร ยาโดซีแท็กเซลรักษามะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม ยาเออร์โลทินิบรักษามะเร็งปอด และเล็ตโทรโซลรักษามะเร็งเต้านม หลังจากที่ก่อนหน้านั้นได้ประกาศซีแอลเป็นครั้งแรกในประเทศไทยกับยาต้าน ไวรัสเอดส์ เอฟฟาไวเรนซ์และคราเรตต้า และยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมอง โคลพิโดเกรล

แต่ทันทีที่นายไชยาก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดในกระทรวง ประกาศยืนยันชัดเจน “การทำซีแอลต้องมีการทบทวน” โดยเฉพาะ ซีแอลยามะเร็ง ด้วยเหตุผล การลงนามประกาศซีแอลคลั้งนี้ น่าเคลือบแคลง เนื่องจากนายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์รัฐบาลขิงแก่ ส่งหนังสือแสดงความเป็นห่วงต่อการทำซีแอลมาให้สธ. ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2551 ก่อนที่นพ.มงคลจะเซ็นลงนามในประกาศ

ทว่าเกิดกระแสต้านจากผู้ป่วยและประชาชนค่อนข้างรุนแรงขนาดก่อม็อบขับไล่กลางกระทรวง จนนายไชยาต้องยอมอ่อนข้อ สั่งให้ปลัด 3 กระทรวงทั้งพาณิชย์ ต่างประเทศ และสาธารณสุข ประชุมร่วมกัน บทสรุปจบลงที่ให้มีการจัดทำฐานข้อมูลยามะเร็งที่ทำซีแอลใหม่ ทั้งจำนวนผู้ใช้ ราคายา ผลกระทบและอื่นๆ ทั้งที่ข้อมูลเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วค่อนข้างครบถ้วน จึงเป็นเหมือนการทำเพื่อแก้เกี้ยว

แม้ท้ายที่สุด คำพูด รมว.สธ.จะไม่ได้ทำให้ซีแอลยามะเร็งต้องล้มเลิก แต่ก็ส่งผลให้บริษัทยาในประเทศอินเดียขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบายที่ลับๆล่อๆ จนการลงนามร่วมกันในการจัดซื้อยาราคาถูกต้องเลื่อนออกไป พร้อมกับผู้ป่วยต้องรอยาต่อไป

เมื่อรัฐมนตรีคนใหม่ นายชวรัตน์ ก้าวจากตำแหน่งรมช.ยุคไชยาเป็นรมว.หลังมีการปรับครม.สมัคร 2 ท่ามกลางกระแสข่าวบริษัทยายักษ์ใหญ่เสนอเงื่อนไขแลกการล้มซีแอล แต่รมว.ผู้นี้ก็ยืนยันให้ซีแอลเดินหน้าต่อไปตามที่มีประกาศไปแล้ว กระทั่ง ช่วงปลายสมัย ร.ต.อ.เฉลิม ไฟเขียวให้เดินหน้าทำซีแอลยาตัวใหม่ โดยมีการเสนอให้ทำซีแอลยาจิตเวช 2 ตัว เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงยามากยิ่งขึ้น แต่ในที่สุดจนสิ้นปี 2551 รัฐบาลที่มาจากเสียงเลือกตั้งของประชาชนมากที่สุด ก็ไม่ได้มีการทำซีแอลยาใหม่แต่อย่างใด

อย่าง ไรก็ตาม ขณะที่ยังไม่มีการประกาศซีแอลกับตัวยาใดเพิ่มเติม การดำเนินงานเพื่อนำเข้ายาที่ได้ประกาศซีแอลไปก่อนหน้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอภ.สั่งซื้อยาโคลพิโดเกรล ล็อตแรก 1.2 ล้านเม็ด ล็อต2 จำนวน 4 ล้านเม็ด ยาเล็ทโทรโซล 4 แสนเม็ด จัดซื้อยาโดซีแท็กเซล จำนวน 6,000 เข็ม รวมไปถึงการสั่งซื้อยาเอฟฟาไวเรนซ์อย่างต่อเนื่อง

 

5. ห้าม!ขายเหล้า

สำหรับนโยบายรอบปีที่จัดได้ว่า โดนใจประชาชน แต่อาจก่อให้เกิดกระแส ไม่ปลื้มในหมู่นักดื่ม ต้องยกให้ยุคสิงห์เหลิม ซึ่งมีการเสนอให้ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสงกรานต์และวันสำคัญทางศาสนา ตามพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2551แต่ที่สุดงานนี้ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ยังไม่มีการแต่งตั้ง

ซึ่งก็ถือว่ายังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะก่อนหน้านั้นยุคไชยยาและชวรัตน์ไม่มีการเขยื่อนใดๆเลย แม้ข้าราชการประจำพร้อมชงกฎกระทรวงและแนวทางปฏิบัติ แต่ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีรมว.สธ.เป็นประธานและคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานไม่พร้อม งานจึงไปไม่ถึงไหน

ทว่า การดำเนินงานของสธ.ในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมคงเป็นการออกมาเตือนบริษัทเหล้า เบียร์ไม่ให้ลด แลก แจก แถม และขายกระเช้าปีใหม่ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่พลันที่อ้าปาก ก็มีแรงต้านจากผู้ประกอบการและขาเมาทันที เห็นจะเป็นงานหนักของรมว.วิทยา แก้วภราดัย ต้องเข้ามาสานต่อในเรื่องนี้

 

6.แก้ฟ้องแพทย์ยังไม่คืบ

ความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ผู้ทำการรักษา จนนำมาสู่การฟ้องร้อง ดูเหมือนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ เนื่องจากตามพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้ บริการทางสาธารณสุขเป็นหนึ่งในบริการที่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ฟ้องร้องได้โดยปากเปล่า ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และอายุความยาวถึง 10 ปี จึงอาจทำให้ยอดแพทย์ถูกฟ้องเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ บุคลากรทางการแพทย์มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานวิชาชีพอยู่แล้ว 21 ฉบับ

ซึ่งการพยายามแก้ปัญหาในเรื่องนี้ตลอดปี 2551 ไม่คืบหน้า มีเพียงนายวิชาญแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทจากการใช้บริการทางการแพทย์ ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคดีฟ้องร้องแพทย์ แต่กลับไม่มีเชิญตัวแทนผู้เสียหายเข้าร่วม จึงไม่ได้รับการเชื่อถือจากอีกฝ่าย

กลับกันฝากฝั่งผู้เสียหายต้องการให้แก้ปัญหาด้วยการเร่งผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด โดยเห็นว่าเป็นความหวังของทั้งฝ่ายแพทย์และคนไข้

จนสิ้นปี เรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรก้าวหน้า ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนคงต้องเร่งสาง ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาโลกแตกหาทางแก้ไม่ได้ เพราะเมื่อนั้นแวดวงสาธารณสุขไทยจะแย่มากขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีคดีเข้าสู่การพิจารณาคดีประมาณ 200 คดี และแพทย์ถูกตัดสินจำคุก 2 คดี

 



Epidemiology Section,
Khon Kaen Provincial Health Office,
A. Muang, Khon Kaen province,
THAILAND
40000

หมายเลขบันทึก: 233891เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2009 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท