ผู้บริหารยุคใหม่ ใจเกินร้อย“ความเที่ยงธรรมของผู้บริหาร”


ความเที่ยงธรรม กับ ความยุติธรรม

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงก้าวแรกของผู้บริหารระดับต้นคือการเสียสละ สาเหตุที่ให้ความสำคัญกับคุณธรรมข้อนี้ก่อนก็เนื่องมาจาก  การที่เราเป็นผู้ปฏิบัติงานมีทักษะความชำนาญเฉพาะทางเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เมื่อวันดีคืนดีได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่เหนือกว่าผู้อื่น จะด้วยเหตุผลแท้จริงอะไรก็ตามแต่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนที่ทำงานด้วยกันทุกวันจะยอมรับด้วยใจโดยง่าย ดังนั้น ถ้าเราต้องการที่จะชนะใจผู้อื่นด้วยความดีที่คงทน คุณธรรมข้อแรกที่ควรจะนำมาใช้ในการเข้าถึงลูกน้องก็คือความเสียสละนั่นเอง  ซึ่งก็ได้กล่าวไปแล้วว่าควรปฏิบัติเช่นไรบ้างและควรที่จะต้องหมั่นรดน้ำพรวนดินให้เจริญงอกงามอยู่เสมอ

            คุณธรรมข้อต่อไปที่อยากนำเสนอ ตามประสบการณ์ที่เคยได้สัมผัสมา คิดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งและจะต้องมีประดับไว้ก็คือความเที่ยงธรรม   อาจกล่าวได้ว่าเมื่อความเสียสละเป็นประตูเปิดทางเข้าสู่หัวใจลูกน้องและคนรอบข้างแล้ว  ประตูที่เคยเปิดต้อนรับก็อาจจะปิดสนิทได้ในที่สุด เพราะต่อให้มีความเสียสละมากน้อยแค่ไหน นานวันไปก็อาจจะดูไร้ค่าได้เหมือนกัน หากไม่มีคุณธรรมที่นักปกครองหรือผู้บริหารพึงมี  และที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ก็คือเรื่อง “ความเที่ยงธรรม”

            มารู้จักคำว่าเที่ยงธรรมกันสักนิด  ความเที่ยงธรรม (อวิโรธนะ) เป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญมาโดยสม่ำเสมอ ได้แก่ ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน และความเที่ยงธรรม  ซึ่งความเที่ยงธรรมในที่นี้ หมายถึงความตรงตามความถูกต้อง หรือความไม่ผิด[1]  วินิจฉัยรอบคอบทั้งฝ่ายถูก และฝ่ายผิด เมื่อพิเคราะห์ถึงความหมายจะเข้าใจได้ว่าผู้บริหารควรดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมข้อนี้อย่างยิ่งยวด  ในแง่ของเนื้อหา จากชีวิตจริงของการทำงาน มีลูกน้องหลากหลายรูปแบบ  แต่ละคนต่างก็เพ่งจิตเดาใจนายว่าคิดยังไงกับฉัน ลำเอียงหรือเปล่า เข้าข้างใครไหม คิดกับเรื่องที่ฉันนำเสนอยังไง มองงานที่ฉันทำมีคุณค่าแค่ไหน ตัดสินแต่ละเรื่องใช้มาตรฐานจากอะไร  ไม้บรรทัดที่ใช้วัด “ตรงไหม”  เรื่องที่มีสาระเดียวกันนี้ แต่เปลี่ยนคนชง มาตรฐานเปลี่ยนไปหรือเปล่า (เข้าข้างลูกน้องคนใดมากไปจนลืมว่าคำตัดสินเดิมที่เคยให้ไว้ไม่ใช่แบบนี้นี่นา “ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด”)  ฯลฯ  สาระพัดที่จะลุ้นการตัดสินผิดถูกจากตัวผู้เป็นนาย  สุดท้าย พึ่งไม่ได้ ลูกน้องก็พร่ำเพรียกหา “ความยุติธรรม” อยู่ไหนหนอ  และหมดกำลังใจ ไฟมอดไปเลย

            คำว่าความยุติธรรม มักจะใช้บ่อยกว่าความเที่ยงธรรม และมักใช้ในบริบทเดียวกันที่เกี่ยวกับเรื่องการวินิจฉัยและการตัดสินผิดถูกด้วยความเป็นกลาง   ถามถึงความหมายคำว่าความยุติธรรม จะตอบยากเพราะมีผู้ให้คำนิยามไว้หลากหลายมาก ขอยกคำกล่าวของท่านอาจารย์วศิน อินทสระ[2] ที่มีอ้างอิงไว้ในเว็บไซต์ schoolofdhamma.com ดังนี้

                       

            “ความยุติธรรม ต้องให้คน ได้รับสิ่งที่เขาควรจะได้รับ ถ้าเขาควรได้รับรางวัลก็ให้รางวัล ถ้าเขาควรได้รับโทษ ก็ให้ได้รับโทษ นี่เรียกว่าความยุติธรรม

          ความยุติธรรมจริงๆ นั้นคืออะไร ส่วนมากใครที่ได้รับผลประโยชน์ คนนั้นก็ว่ายุติธรรม คนเสียประโยชน์เขาก็ว่าไม่ยุติธรรม ถ้าอย่างนั้น ความยุติธรรมจริงๆ คืออะไร ต้องให้เขาได้รับสิ่งที่ควรได้รับ ถ้าเขาควรได้รับรางวัลก็ให้เขารับรางวัล ถ้าเขาควรได้รับโทษ ต้องให้เขาได้รับโทษ

บางคนบอกว่าความยุติธรรมจริงๆไม่มี หรือมี แต่ไม่รู้อะไร ความยุติธรรมเป็นสากล เป็นจริงในตัวเอง  หรือว่าไม่เป็นสากล ไม่เป็นจริงในตัวเอง หรือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ มันเป็นสิ่งที่แล้วแต่ใครเป็นคนตัดสิน

มนุษย์เราโดยปกติ โดยทั่วไปมีอคติ เข้าข้างตัวเองบ้าง เข้าข้างพวกพ้องของตัวเองบ้าง ทั้งยังเกลียดชังผู้อื่นและพวกอื่น


อคตินี่แหละทำให้เสียความยุติธรรม
ฉันทาคติพอใจลำเอียงเพราะพอใจบ้าง
โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบบ้าง
โมหาคติ ลำเอียงเพราะไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่ก็กระทำไปตามที่ไม่รู้เรื่อง

โมหาคติ ตามตัวแปลว่าลำเอียงเพราะหลง หลงเข้าใจผิด คือไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่รู้มันเป็นอย่างไร แล้วก็ทำไปเหมือนกับรู้

ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว ถ้ามีอคติอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 อย่างนี้ ความยุติธรรมหายไป หาได้ยาก

เรื่องที่มนุษย์ตัดสินว่าผิด ถูก ดี หรือชั่ว แน่นอนคือไม่แน่นอน หรือว่าไม่

แน่นอนเสมอไป เชื่อถือได้หรือเชื่อถือไม่ได้ ความรู้สึกว่าพวกเราหรือพวกเขา มันจะมาเป็นกำแพงกั้นความยุติธรรม คือปิดบังดวงปัญญา ทำให้ผู้รู้ทำอะไรอย่างคนโง่ และทำให้ผู้มีอำนาจลงโทษคนที่ไม่ผิด ทำให้อาจารย์ทำร้ายลูกศิษย์ เช่น อาจารย์ขององคุลิมาล ยืมมือคนอื่นประทุษร้าย เพราะโมหาคติ และภยาคติของตน ทำให้อาจารย์ผู้สอนธรรม กลายเป็นผู้ไร้เสียซึ่งความยุติธรรม

            ถ้าจะให้เปรียบเทียบระหว่าง “ความยุติธรรม” กับ “ความเที่ยงธรรม” แล้ว ในแง่ความคล้ายคลึงดูจะอธิบายได้ง่ายกว่า  ส่วนในแง่ความแตกต่าง อาจจะอธิบายให้เข้าใจได้ยาก ในที่นี้ ขอนำเสนอความเห็นในแง่ความแตกต่างที่ว่าความเที่ยงธรรม เป็นธรรมที่อยู่ในตัวนักปกครองซึ่งมีความเที่ยง “ตรงตามความถูกต้อง”  วินิจฉัยสิ่งใดก็ด้วยปัญญาที่เห็นธรรม ตัวเองก็รู้ได้ ผู้อื่นก็สัมผัสได้  ส่วนความยุติธรรม ค่อนข้างไปในทางแสดงออกมาให้ปรากฎ (action) ด้วยการตัดสินผิดถูก “ยุติ” ปัญหา หรือสิ่งใดก็ตามจาก “ธรรม” ที่มีอยู่ในตัวนักปกครอง หากนักปกครองตัดสิน “ยุติ” ด้วย “ธรรม” อยู่เป็นนิจ ก็สะท้อนให้เห็นถึง “ความเที่ยงธรรม” ที่มีอยู่ภายใน

            การอธิบายเช่นว่านี้เป็นการอธิบายในแง่มุมมองของผู้เขียนเอง และเปิดให้ผู้อ่านแต่ละท่านใช้จิตพิเคราะห์และปัญญาหยั่งรู้ด้วย “โยนิโสมนสิการ”[3] ของทุกท่าน  ในที่นี้ จะไม่เน้นความสำคัญที่การค้นหาความแตกต่างหรือความเหมือนกันของสองคำนี้ แต่จะเน้นการส่งเสริมให้ทุกท่านมีคุณธรรมข้อนี้ประดับไว้ให้คงทน ไม่แปรเปลี่ยนไปเพราะมีอคติ  ฉันทาคติ โทสาคติ และ โมหาคติ

            ในฐานะเจ้านายเอง เชื่อเถอะว่าไม่มีใคร  “ยอมรับว่าตนไม่เที่ยงธรรม” มีเหตุผลมากมายที่นำมาใช้อธิบายสนับสนุนว่าตนเองยึดมั่นความถูกต้อง และตัดสินถูกผิดอย่างเป็นกลาง แต่ก็คงไม่เพียงพอเท่ากับสายตาหลายคู่ที่เฝ้ามอง   ถึงตรงนี้ ขอย้อนกลับไปตอนที่แล้วซึ่งเอ่ยถึงเรื่องพหูสูตร หากผ่านระดับพหูสูตรมาได้ ก็จะไม่มีความยึดมั่นฟังเสียงตนเองฝ่ายเดียวโดยไม่ฟังเสียงใคร   ความเที่ยงธรรมจึงเป็นสิ่งที่ “ผู้ปฏิบัติ (ธรรม) รู้ได้ด้วยตนเอง” ไม่สามารถอธิบายให้ลึกซึ้งไปกว่านี้ได้

            การเป็นเจ้านายที่เที่ยงธรรมหรือไม่ นอกจากเป็นเรื่อง “ภายใน” ซึ่งตนเท่านั้นที่จะตอบได้แล้ว ในเรื่องของ “ภายนอก” ก็ดูจะเป็นเรื่องสะท้อนให้เห็นได้ชัดกว่า คงไม่ใช่ให้ฟังและเชื่อ “เสียงของทุกคน” เพราะมันเป็นไปได้ยากที่คนธรรมดาสามัญอย่างผู้บริหารในโลกแห่งการทำงานจะได้ใจลูกน้องทุกคน  แต่สิ่งชี้วัดที่จะช่วยเป็นกระจกตรวจสอบความเที่ยงธรรมของตนเองได้ประการหนึ่งก็คือใครมักอยู่ใกล้ท่าน  (ไมใช่คนหน้าเดิมที่ท่านมีฉันทาคติ) และใครอยากจะอยู่ใกล้ท่านบ้าง ยามที่ท่านต้องการใครมาช่วยเหลือทำกิจการงาน  ถ้ามีแต่คนหลายคนอยากจะไปจากท่านเมื่อมีโอกาสที่จะทำได้  เปรียบเทียบไปก็เหมือนกำลังทิ้งราชาให้ปกครองเมืองร้างแล้วล่ะก็  “ธรรม” และ “ทำ” ยังไม่มากพอ   และ  “ธรรม” ไม่เที่ยง เพียงพอที่จะมีใครอยากทำงานให้ด้วยใจบริสุทธิ์

 

            ในวาระดีขึ้นปีใหม่ 2552 นี้ ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านศรัทธา  ประทานพรให้ท่านมีความเที่ยงธรรม และนำความสำเร็จ ความสมหวังที่อธิษฐานจิตมาบังเกิดแด่ชีวิตท่านและครอบครัวของท่านตลอดไป                                                                                                   

                                                                                                                ศิลา ภู ชยา



[1] http://www.dhammajak.net/ratchathum/b10.htm

[2] http://www.schoolofdhamma.com

[3] การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้น ๆ หรือปัญหานั้น ๆ ออก  ให้เห็นตามสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย และภาษาอังกฤษที่อธิบายคือ “proper attention; systematic attention; having thorough method in one’s thought; proper consideration; wise consideration; thorough attention; critical reflection; genetical reflection; analytical reflection” อ้างอิงจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต), มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 232152เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2008 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คิดดีพูดดีทำดี

เป็นพรเป็นศรีสูงสุด

ไม่มีพรเทพพรมนุษย์

ประเสริฐสุดกว่าความดีที่ทำเอง

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

ขอให้ท่าน ศิลา ภู ชยา มีความสุขมากๆ พร้อมด้วยสุขภาพกายที่แข็งแรง สุขภาพใจที่แข็งแกร่ง ตลอดปี และตลอดไปครับผม

ขอบพระคุณคุณบวร P ที่มาเติมเต็มความหมายค่ะ

คิดดี พูดดี ทำดี...ดีที่สุดค่ะ  ดีใจมากที่เห็นคอมเม้นท์ในบันทึกเก่า ๆ ซึ้งใจมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท