BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ศีลข้ออทินนา


ศีลข้ออทินนา

วันนี้... (วันพระ) ได้นำเอาศีลข้อสองเป็นหัวข้อธรรมเทศนา โดยเริ่มจากการแปลคำสมาทานศีลว่า...

  • อทินฺนาทานา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
  • ข้าพเจ้ารับเอาซึ่งหัวข้อในการศึกษาเจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้

จากคำแปลจะเห็นได้ว่า มิได้ห้ามการลักทรัพย์ แต่ให้ยึดถือหัวข้อที่ควรศึกษา กล่าวคือให้พิจารณาว่า ถ้าเราจงใจจากการเว้นการลักขโมยสิ่งของผู้อื่นนั้น จะมีคุณมีโทษอย่างไร...

 

ต่อจากนั้น ก็ได้นำเอาองค์ประกอบแห่งศีลข้อสองมาขยายความ ซึ่งมี ๕ ประการ กล่าวคือ

  • สิ่งของที่ผู้อื่นห่วงแหน
  • สำเนียกรู้ว่าเป็นสิ่งของที่ผู้อื่นห่วงแหน
  • มีไถยจิตคิดจะลักสิ่งนั้น
  • พยายามด้วยไถยจิตนั้น
  • ลักมาด้วยความพยายามนั้น

อธิบายโดยย่อ... สิ่งของที่ผู้อื่นยังคุ้มครอง ปกป้อง รักใคร่ห่วงใย ยังไม่ได้สละหรือทอดทิ้ง เรียกว่า สิ่งของที่ผู้อื่นห่วงแหน .... และเราต้องรู้ด้วยสามัญสำนึกด้วยว่าสิ่งนั้นยังมีเจ้าของอยู่ ดังเช่น เดินตามถนนเห็นกางเกงสวยงามตกอยู่กลางถนน คิดว่าไม่มีเจ้าของจึงฉวยหยิบไป แต่กางเกงตัวนั้นเจ้าบ้านตากไว้ที่ดาดฟ้าพลัดร่วงลงมา... อย่างนี้แม้กางเกงตัวนั้นจะมีเจ้าของแต่เรามิได้สำเนียงว่าเป็นสิ่งที่มีเจ้าของ และมิได้มีไถยจิตคิดจะลัก จึงไม่ถือว่าเข้าองค์ประกอบ แต่ถ้าเจ้าของเห็นทักท้วงก็ต้องคืนกลับให้เขาไป...

เมื่อมีไถยจิตคิดจะลักก็ต้องอาศัยความพยายามด้วย แม้ไม่มีความพยายามก็ไม่ถือว่าผิดศีลข้อนี้ เนื่องจากไม่สำเร็จประโยชน์... จริงอยู่ว่า ศีลข้อนี้เป็นกายกรรม แต่การพยายามนั้น อาจเป็นไปได้ทั้งทางกายทวารและวจีทวาร กล่าวคือ จะขโมยเองหรือใช้ผู้อื่นให้ขโยมมา ก็จัดว่าเป็นการผิดศีลข้อนี้เหมือนกัน เมื่อสามารถขโมยได้ด้วยความพยายามนั้น...และการพยายามในอทินนาทานนี้ จะรวมอาการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นขโมย ฉก ชิง วิ่งราว สับเปลี่ยน ฉ้อ ยักยอก ปล้น ฯลฯ

อนึ่ง ยังมีเรื่อง วิสสาสะ กล่าวคือ การหยิบฉวยโดยอาศัยความคุ้นเคย ไม่ถือว่าเป็นการผิดศีลในข้อนี้ โดยท่านกำหนดหลักแห่งการถือวิสาสะไว้ ๓ ประการ กล่าวคือ

  • เคยคบกันมา เคยเห็นกันมา เคยพูดกันไว้
  • เจ้าของนั้นยังมีชีวิตอยู่
  • รู้ว่าเมื่อหยิบฉวยไปแล้วเค้าพอใจ

ตัวอย่างก็เช่น มีสวนอยู่ใกล้กัน ไม่มีจอบจะใช้ เห็นจอบสวนติดกันวางอยู่จึงนำมาใช้ ต่อมาไม่ได้นำกลับไปคืน เพราะเห็นว่าสวนติดกันมีจอบเหลือใช้อยู่หลายอัน แม้เจ้าของจอบเก่าเห็นก็มิได้ทักท้วงเรียกคืน ... หรือนักเรียนวัยรุ่นเช่าบ้านอยู่ร่วมกัน อาจหยิบฉวยเสื้อผ้านำของคนอื่นไปใช้แล้วไม่คืน ทำนองนี้ก็อาจจัดเข้าว่าเป็นวิสสาสะ...

การถือวิสสาสะนี้ การที่เจ้าของเดิมพอใจเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเจ้าของเดิมไม่พอใจทักท้วงก็ต้องคืน ถ้าไม่คืนก็ถือว่าผิดศีลข้อนี้...

 

ประการสุดท้ายก็ขยายความถึงการกำหนดโทษหรือบาปหนักเบาของศีลข้อนี้ โดยประการแรกท่านให้พิจารณาคุณค่าหรือราคาสิ่งของนั้นๆ ถ้าราคาสูงก็จะเป็นโทษหรือบาปมาก ถ้าราคาต่ำก็จะเป็นโทษหรือบาปน้อย ดังเช่น ขโมยรองเท้าแตะคู่ห้าสิบบาท ย่อมเป็นบาปหรือโทษน้อยกว่าการขโมยรองเท้าหนังคู่สองพันบาท เป็นต้น

ต่อมาให้พิจารณาเจ้าของสิ่งที่ถูกขโมย กล่าวคือ ถ้าขโมยของคนดีมีคุณธรรมก็จัดว่าเป็นบาปหรือโทษหนัก แต่ถ้าขโมยของคนชั่วไร้คุณธรรมก็จัดว่าเป็นบาปหรือโทษเบา... อีกอย่างหนึ่ง ถ้าขโมยของผู้มีพระคุณก็จัดว่าเป็นบาปหรือโทษมาก เช่น ไปอาศัยนอนบ้านเค้าแล้วขโมยของเค้ามาย่อมเป็นโทษหรือบาปมากกว่าการขโมยของคนที่เราไม่รู้จักไม่เกี่ยวข้องด้วย เป็นต้น

สิ่งที่ถูกขโมยก็เป็นตัวกำหนดโทษหรือบาปหนักเบาได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ถ้าขโมยของหนักถือว่ามีโทษหรือบาปมาก เพราะต้องใช้ความพยายามสูง แต่ถ้าขโมยของเบาก็ถือว่ามีโทษหรือบาปน้อย เช่น ขโมยหมวกใบหนึ่งย่อมเป็นบาปหรือโทษต่ำกว่าการขโมยโทรทัศน์ เพราะหมวกเบากว่าโทรทัศน์ เป็นต้น

กรณีที่มีความขัดแย้งในการวินิจฉัยโทษหรือบาปเหล่านี้ ท่านให้ถือกิเลสคือความละโมบโลภมากและความพยายามในการขโมยเป็นสำคัญ กล่าวคือ ถ้าขโมยด้วยความละโมบสูงต้องอาศัยความพยายามอย่างแรงกล้าจึงจะขโมยสิ่งนั้นมาได้ นับว่ามีโทษหรือบาปหนักกว่าการขโมยมาง่ายๆ...

ประเด็นนี้ใกล้เคียงกับกฎหมายปัจจุบัน ตามที่เคยได้ฟังมาบ้างก็เช่น การปล้นกลางวัน ศาลมักลงโทษเบากว่าการปล้นกลางคืน... หรือการวิ่งราวสร้อยคอทั่วไป ศาลมักลงโทษเบากว่าการใช้รถจักรยานยนต์กระชากสร้อยคอ เป็นต้น... นั่นคือ พิจารณาความยากง่าย ของความพยายามและความละโมบโลภมากนั้นเอง

ประเด็นที่ต่างออกไปก็คือโทษหรือบาปในการขโมยของสงฆ์ ได้แก่ของส่วนรวม สมาคม องค์กร หรือของสาธารณะทั่วไป ซึ่งต้องไปเกิดเป็นเปรตนั้น เรื่องนี้ผู้เขียนเคยเล่าไว้แล้ว (ผู้สนใจ คลิกที่นี้ )

ส่วนคำอธิบายว่าธรรมเป็นตัวกำหนดและตัดสินโทษหรือบาปหนักเบานั้น ผู้เขียนได้ขยายความไว้แล้วในศีลข้อแรก (คลิกที่นี้)

 

หมายเลขบันทึก: 230943เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2008 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นมัสการพระคุณเจ้า

หลักกฎหมายก็อิงมาจากหลักธรรม เพื่อป้องปรามคนไม่ดี แต่ผู้ที่รู้และใช้ประโยชน์จากกฎหมาย หาประโยชน์ให้ตัวและพวกพ้อง มันไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

P บังหีม--ผู้เฒ่าnatachoei--

 

คืนนี้บังมาเร็วเกินปกติ โดยมากมักจะเห็นบังหลังเที่ยงคืนไปแล้ว (....)

แนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติเชื่อว่า จริยธรรมและกฎหมายเลียนแบบมาจากกฎธรรมชาติ (เคยเขียนเรื่องนี้ไว้บ้างแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าอยู่บันทึกใด)...

ข้อแตกต่างกันเพียงแต่ว่า จริยธรรมนั้นไม่มีสภาพบังคับ ส่วนกฎหมายมีสภาพบังคับ....

ประเด็นที่บังว่ามานั้น เค้าก็พยายามคิด แก้ไข และหาทางป้องกันมานานแล้ว และคงจะต้องพยายามต่อไป...

เจริญพร

กราบนมัสการเจ้าค่ะ BM.chaiwut

หนูเปิ้ลเห็นด้วยค่ะ

ซึ้งในรสพระธรรมจริงๆค่ะ

 

นมัสการพระอาจารย์

อ่านจบแล้ว ก็ต้องไปหาข้อ 1 อ่าน แล้วจึงกลับมา comment

(ด้วยรู้สึกว่าทั้งสองข้อคล้ายกัน จึงบันทึกที่นี่ที่เดียว)

รู้สึกว่าคิดได้ตาม common sense  เป็น ธรรมชาติ ดี

แต่การตีความให้ ดูเหมือน อ่อนลง นี้ จะทำให้คนละศีลมากขึ้นมั้ยครับ

P Mr Boonchai Theerakarn

 

ถ้าพิจารณาเชิงกฎหมาย ก็น่าจะเป็นไปทำนองเดียวกัน คือคนที่รู้กฎหมายมักหาวิธีการหลีกเลี่ยงเพื่อรอดพ้นจากความผิด หรือให้ผิดน้อยที่สุด ซึ่งความเห็นของโยมคุณหมอน่าจะสอดคล้องกับประเด็นนี้...

แต่เจตนารมณ์กฎหมายจริงๆ จะเป็นอย่างไร นั่นคือประเด็นที่ต่างออก...

การรักษาศีลก็เช่นเดียวกัน ย่อมมุ่งไปถึงอุดมคติแห่งศีล มิใช่เพียงแต่การวินิจฉัยว่าบาปน้อยบาปมากเท่านั้น...

อย่างไรก็ตาม ข้อวินิจฉัยเหล่านี้ บ่งชี้ถึงภูมิปัญญาของโบราณาจารย์...

เจริญพร

ศีลาสิกขา สัมมาว่าฮ้อ รับเอาหัวข้อ จดจ่อศึกษา
ตั้งใจ๋ละเว้น ก๋ารเป๋นโทษา เอาเจ๋ตนา มาเป๋นที่จั้ง
คฤหัสถา ศีลห้ามาตั้ง ป๋าณาติป๋าตัง เป๋นเก๊า
.
สองอทินนา สามกาเมเค้า สี่มุสาเข้า รวมนัย
ห้าข้อปั๋ญจะ มัชชะเมาไก๋ สุราเมรัย เว้นไกล๋บ่เข้า
ยอมือไหว้สา พระมหาเจ้า ข้าขอลำเนา ค่าวเน้น
.
ป๋าณาติป๋า ศึกษาเพื่อเว้น ก๋ารเข่นฆ่าล้าง ม้างชีว์
สัตว์มีชีวิต จิตคิดเบียดสี เพียรทุกวิธี บั่นชีวาสั้น
สัตว์นั้นต๋ายไป ดั่งใจ๋ว่าอั้น ครบองค์โดยพลัน ขาดนับ
.
อทินนาทาน์ รู้ว่าสินทรัพย์ มีเจ้าของอั้น ปันแปง
มีไถยจิต คิดผิดคิดแผง จักลักของแปง ด้วยแรงอยากได้
เพียรทุกวิถี ต๋ามวิธีใบ้ ได้ของเมื่อใด ขาดนะ
.
มีต่อในข้อ 3 ขอรับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท