52. ไท/ไตคำตี่ที่อำเภอโลหิต อรุณจัลประเทศ อินเดีย


สายน้ำ และหุบเขาที่หล่อเลี้ยงชาวไตคำตี่

 

 

 

                ไท/ไตคำตี่คือพวกเดียวกับไทฉานและไทอาหม อพยพมาจากทางตอนเหนือของพม่า  เข้าสู่อินเดียราวต้นศตวรรษที่ 18 โดยอพยพมาจากชนบทบอร์คำตี่ (บอร์- ภาษาไทอาหม หมายถึงใหญ่ กว้างขวาง) คำตี่โหลง หรือ คำตี่หลวง ไทคำตี่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตเมืองโลหิต และแม่น้ำสายย่อยๆ เช่น ติแอ่ง  เทงกะปานี  กำลัง และ เนาดิฮิง (บุญยงค์ เกศเทศ สืบสานวัฒนธรรมชาติพันธุ์-ไทสายใยจิตวิญญาณ ลุ่มน้ำพรหมบุตร, 2546: 113, 115)

          เมืองโลหิตเป็นที่ราบลุ่มที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาปาดไก่ (Patkai) ซึ่งเป็นภูเขาสูงที่เป็นเส้นทางอพยพของกลุ่มไทจากพม่าและจีนตอนใต้ มียอดเขาสูงหลายลูกเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธาร มีกระแสน้ำเชี่ยวหลายสายผ่านเทือกเขาต่างๆ ซึ่งมีเขื่อนหินทั้งเล็กและใหญ่กั้นแม่น้ำหลายแห่ง ในฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วม ทิวทัศน์บริเวณเทือกเขาปาดไก่สวยงามมาก  อากาศหนาวเย็นเพราะมีลมพัดแรงแม้ในเดือนเมษายน ถนนเส้นนี้เป็นเส้นทางไปสู่ประเทศพม่าได้ แต่มีทหารตรวจตราตลอดเส้นทางสั้นๆ ที่ไปแวะชมวิว ผู้คนแวะลงรถ ถ่ายรูป ชมวิว (หนาวสั่นเพราะไม่มีเสื้อกันหนาว)

          ดิฉันนั่งรถขึ้นไปตามเส้นทางเทือกเขาปาดไก่ ผ่านป่าไม้เบญจพรรณ มีเฟิร์นสีเขียวอ่อนขึ้นตามรายทางสองข้างทางซึ่งสอดรับกับหมอกยามเช้า อากาศครึ้มๆ คล้ายฝนจะตก สองข้างทางมีสวนส้มหลายแห่ง มีไร่ชาสลับบ้างตามไหล่เขาขึ้นไป แต่ไม่มากเท่าในรัฐอัสสัม

           พวกเราหาอาหารเช้ารับประทานที่ร้านอาหารเล็กๆ แวะเข้าห้องน้ำที่ต้องหิ้วถังน้ำไปราดเอง เราสั่งมาม่ารสเครื่องเทศต้ม มีซาโมซาให้รองท้องก่อน มาม่ารสจัดมาก สำหรับทุกคน ยกเว้นดิฉัน ทานอาหารเช้าเสร็จเดินทางกลับลงมาบริเวณที่เราพักเมื่อคืนนี้ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร (ไปกลับ)

          ฝนตกปรอยๆ ตลอดทาง ถนนที่รัฐนี้ดีกว่าชายแดนที่เพิ่งผ่านมาจากรัฐอัสสัม เราตัดสินใจเดินทางกลับ ไม่แวะที่ไหนเพราะไม่มีเวลา เราแวะทานอาหารกลางวันตอนบ่ายแก่ๆ ที่บ้านน้องสาวอาจารย์ ซึ่งอยู่ในไร่ชา พวกเรา  ไม่ค่อยทานอาหารตามร้านระหว่างทางเพราะเกรงจะไม่สะอาด ครอบครัวของน้องอาจารย์ก็ลงมือทำอาหารไม่นาน (อาจารย์คงติดต่อมาล่วงหน้าแล้ว) พวกเราได้ทานอาหารร้อนๆ อร่อยๆ มีปูรีจิ้มแกง ไข่ดาว เสร็จแล้วลาจากกัน พวกเราเดินทางต่อ แวะส่งน้อง ที่ท่ารถที่ตินซูเกียเพื่อกลับบ้าน พอรถกลับเข้ามาตามเส้นทางในตลาด รถคันน้อยของอาจารย์ยางแตกอีก อาจารย์จอดลงดู ต้องค่อยๆ แอบข้างทาง เผอิญหาร้านปะยางแถวๆ นั้นได้ เปลี่ยนเส้นที่แตกเพื่อปะไว้ใช้ เอาเส้นอะไหล่ออกมาเปลี่ยนสภาพแย่พอๆ กัน เพราะเจ้าอะไหล่ก็ปะไปเมื่อเช้านี้เอง อาจารย์ก็ขอโทษขอโพยว่าทำให้เสียเวลา และบอกว่าจะเปลี่ยนทั้งหมดหลังเทศกาลบิฮู ดิฉันดูๆ แล้วการใช้ของคุ้มแบบนี้เสี่ยงชีวิตมากหากใช้ยางหัวโล้นนี้วิ่งทางไกล เพราะฝนตก และถนนแย่มาก พอปะเสร็จพวกเราก็เดินทางต่อ

 

          ไปถึงดิบรูการ์ฮ อาจารย์แวะไปเยี่ยมญาติที่โรงพยาบาลเอกชน ดิฉันก็ตามลงไปด้วย โรงพยาบาลใหญ่ สะอาดสะอ้าน เสร็จแล้วไปแวะบ้านญาติอาจารย์ เยี่ยมผู้อาวุโสที่บ้านซึ่งป่วยอยู่ มีญาติๆ มารวมกันหลายคน ที่บ้านนี้เชื้อสายไท มีห้องพระใหญ่ให้ดิฉันไปกราบพระพุทธรูป ดิฉันก็ไม่ทราบว่าใครเป็นใคร แต่เห็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก

          เสร็จธุระของอาจารย์พวกเราลากลับ อาจารย์แวะหน้าร้านขายชาอัสสัมที่ตลาดดิบรูการ์ฮ ดิฉันซื้อชาอัสสัม มาหลายห่อ ซื้อให้อาจารย์ด้วย เสร็จแล้วอาจารย์ไปแวะร้านขายนมเปรี้ยวที่ร้านขายขนมร้านใหญ่ทีเดียว คนเยอะมาก นมเปรี้ยวนี้ใส่ถ้วยดินซื้อสองถ้วย 

          ตอนนี้มืดสนิท อาจารย์แวะไปมหาวิทยาลัยเพื่อไปบ้านเพื่อนอาจารย์ที่พักในมหาวิทยาลัย รับหนังสือที่อาจารย์ท่านนั้นช่วยยืมให้เพื่อเอาไปให้ลูกสาวอาจารย์ทำรายงาน เสร็จแล้วลาจากมา กลับบ้าน ถนนมืดมาก แต่ไม่เปลี่ยว อาจารย์ขับรถด้วยความชำนาญ บ่นๆ ว่าเหนื่อยมาก เพราะความสูงวัยด้วย รวมทั้งสภาพถนนที่โหดและยาวไกล  แต่อาจารย์ก็เก่ง แข็งแรง ขับถึงบ้านราวสองทุ่มด้วยความปลอดภัย ดิฉันอาบน้ำ สระผม ทานข้าวสร็จ เข้านอนเลย ราตรีสวัสดิ์ค่ะ

-----------

วิชาเอก อินเดียศึกษา มีอะไรน่าสนใจที่อยากเชิญชวนท่านมาศึกษาในระดับปริญญาโท หลักสูตรวัฒนธรรมและการพัฒนา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังจะเปิดรับสมัครรอบสองในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กรุณาเข้าชมรายละเอียดใน www.lc.mahidol.ac.th โทร. 02-800-2323, 02-800-2308-14 ต่อ 3101, 3308

หลักสูตรปกติ แต่เรียนเสาร์-อาทิตย์เป็นส่วนใหญ่ กรุณาประชาสัมพันธ์ต่อด้วย ขอบพระคุณค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 230308เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2008 01:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 00:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

น่าอิจฉาจังที่อาจารย์ได้เดินทางไปเหยียบถิ่นไทคำตี่แล้ว อ.บุญยงค์ พูดกรอกหูผมบ่อย ๆ เรื่องไทคำตี่ ผมล่ะอยากไปสักครั้งในชีวิตอยากไปเหมือนที่ท่านอาจารย์บุญยงค์พูดบ่อย ๆ

บรรยากาศสวยงาม น่าไปสักครั้ง

ขอเรียนถามครับว่า ภาษาไทคำตี่ คล้ายภาษาบ้านเราหรือเปล่าครับ

ภาษาไทยคำตี่ คล้ายกับภาษาไทยครับ เพราะอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไท(Tai) เช่นกัน แต่ออกจะหนักไปทางภาษาเหนือ+อีสาน+ไทยโบราณนะครับ เช่น

แต้ม(เขียน) ปะชาย(ผู้ชาย) ปะญิง(ผู้หญิง) คำ(ทอง) ม่านตา(แว่นตา) กือ(เกลือ) เพิ่นเข่า(สำรับกับข้าว) หัวแขน(ไหล่) พี(อ้วน) ปีเลิง(ปีกลาย) พ่อเจ้า(พ่อตา) แม่เจ้า(แม่ยาย) นิ้วโหลง(นิ้วโป้) นิ้วจื้อ(นิ้วชี้) นิ้วกึ่งกลาง(นิ้วกลาง) นิ้วลับจ็อบ(นิ้วนาง) นิ้วอ่อน(นิ้วก้อย) เป็นต้น ภาษาค่อนข้างเป็นภาษาเก่าคนที่มสใจวรรณคดีเก่าหรือรู้ภาษาเหนือภาษาอีสาน ก็จะสามารถสนทนากับชาวคำตี่ได้สบาย ๆ เลยล่ะครับ

น่าสนใจมาก โดยปกติแล้วผมก็วนใจภาษาไทยเก่าๆ วันหลังคงจะได้ขอความรู้อีกแน่ๆครับ ขอบคุณครับ

เรียน คุณพิมลและคุณธีรพร

    ขอบพระคุณมากค่ะที่ช่วยให้ความรู้กัน ดิฉันพอคุยกับเขารู้เรื่องบ้างนิดหน่อย เพราะดิฉันรู้คำเมืองบ้าง อีสานบ้าง

   ขอเชิญชวนให้ไปเยี่ยมชมกลุ่มไทที่อัสสัม และอรุณจัลประเทศนะคะ

ถ้าอาจารย์จัดทัวร์ก็เมตตาส่งข่าวลงไว้บ้างนะครับ เผื่อคนที่สนใจแต่ไม่รู้หาทางไปจะได้รับความรู้เพิ่มเติม (ความจริงผมอยากไปแต่ไม่รู้ว่าต้องไปอย่างไร 2-3 เดือนก่อน

อ.บุญยงค์ชวนไปธิเบต บอกว่านักรถไฟจากปักกิ่งไปสามวัน ผมไม่กล้าไปกับท่านหรอก เพราะท่านรุ่นไม่กลัวอะไรแล้วในโลก)

เรียน คุณพิมล

ค่ะ ถ้าได้ไปกันอีกจะแจ้งข่าวให้ทราบนะคะ คุณน่าจะไปกับอาจารย์บุญยงค์เพราะการลุยแบบอาจารย์นั้นทำไม่ได้ง่ายๆ ผู้ชายด้วยกันไปลักษณะนั้นได้รสชาติกว่านะคะ ดิฉันยังอยากไปแบบนั้น (บ้าง) แต่ไม่ใช่ทั้งการเดินทาง ไม่ไหวเหมือนกัน (ฝากความระลึกถึงอาจารย์ด้วยค่ะ)

ความจริง น่าสนใจมาครับ เรื่องกลัวอะไรๆน่ะ ผมไม่กลัวนะ แต่อาจจะต้องพิจารณาตารางเวลาเป็นพิเศษ

แต่อยากไปสักครั้งในชีวิตนะครับ อยากสนทนากับพี่น้องเราที่จากกันมานาน

เรียน อ.โสภนา

ถ้าผมเจอ อ.บุญยงค์จะบอกให้นะครับ อาจารย์เองก็คงรู้จักท่านบุญยงค์มากกว่าผมซะอีก เพราะผมเป็นแค่ลูกศิษย์ท่านนี่ครับ ขอให้ อ.โสภนามีสุขภาพที่แข็งแรงตลอดปีใหม่ 2552 (ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์อุดหนุนให้ได้ซี 10 เร็ว ๆ นะครับ)

อจ.โสภนาครับ

เรื่องราวของกลุ่มคนไต หรือคนไท ในรัฐอัสสัมน่าตื่นเต้นและน่าพิศวงมาก

กำลังจะมีการเสด็จของเจ้านายชั้นสูงในรัฐอัสสัมเร็วๆ นี้

เชื่อว่าจะทำให้คนไทยในประเทศไทยและคนอินเดียได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาคอีสานอินเดียแห่งนี้

การเรียกชื่อคนกลุ่มในภาคนี้ยังต้องการผู้เชี่ยวชาญมาบอกถึงคำที่ถูกต้องอีกมาก เช่น

คนไต ภาษาไต หรือคนไท ภาษาไท รวมทั้งชื่อเรียกต่างๆ ทำให้งงไปบ้างเหมือนกันครับ

ดิฉันชอบอ่านงานของอาจารย์บุญยงค์มากค่ะ ติดตามมาตลอดเหมือนเราได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย และดิฉันก็ได้ศึกษาชนเผ่าไทคำตี่ และชนเผ่าไตลื้อในยูนนานด้วย ดิฉันเรรียนจบวิชาเอกประวัติศาตร์อยากเรีนต่อวิชา อินเดียศึกษามาก เพราะมีความรู้สึกว่าตัวเองชอบ

เวร ว่างมากเหรอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท