4 โปรเจควิชาอีคอมเมิร์ซ


กำแพงเมืองจีนไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด อีคอมเมิร์ซไซต์ก็คงไม่ได้ประสบความสำเร็จในวันเดียวฉันนั้น

วันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้ายของการเรียนการสอนวิชาอีคอมเมิร์ซของเทอมนี้ และแน่นอนหลังจากสะสมความรู้กันมาร่วมเทอมก็ถึงเวลาที่จะให้นักศึกษามา present โปรเจคกันซะที เทอมนี้ผมกำหนดให้แบ่งเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มคิดหัวข้อด้วยตนเอง จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ตามแต่ความถนัด ข้อดีคือได้เห็นความคิดที่หลากหลายของนักศึกษาและได้ย้อนมองดูตัวเองกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ข้อเสียคือให้คะแนนยากมากเพราะแต่ละโปรเจคมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่ในเมื่อมันคือเพื่อการศึกษาผมก็จำเป็นต้องฟันธงให้คะแนน และคอมเมนต์นักศึกษาไป ก็หวังว่าพวกเขาคงได้เรียนรู้อะไรบ้าง ไม่มากก็น้อยจากการทำโปรเจคครั้งนี้

กลุ่มแรกมานำเสนอ เว็บให้ความช่วยเหลือในการจัดเซ็ตประกอบคอมพิวเตอร์ ไอเดียมีอยู่ว่าปัจจุบันมีผู้ไม่มีความรู้เกี่ยวกับฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์อยู่มาก ผู้บริโภครู้ว่าอยากจะได้คอมพ์ แต่ไม่รู้ว่าต้องใช้เครื่องสเปกอย่างไรเพราะเทคโนโลยีมันช่างเปลี่ยนแปลงเร็วเหลือเกิน นักศึกษาเลยคิดว่าจะให้บริการแนะนำการจัดเซ็ตคอมพิวเตอร์โดยแบ่งเป็น 2 ระดับคือ แบบเสียเงิน และแบบไม่เสียเงิน ซึ่งข้อดีของแบบเสียเงินคือจะมีการวิเคราะห์เจาะลึกจากผู้รู้พร้อมส่วนลดพิเศษจากร้านค้าที่ร่วมรายการ ผมฟังแล้วก็เกิดคำถามในใจว่ามันจะเป็นไปได้หรือ? เพราะปัญหาหลักสำหรับคนทำเว็บจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะชาวไทยคือ คิดว่าทุกอย่างบนเน็ตเป็นของฟรี ทำไมเขาเหล่านั้นต้องเสียเงินซื้อข้อมูลเหล่านี้ด้วยหละ ถัดมานักศึกษาอธิบายเพิ่มเติมว่าอย่างไรก็ตามเว็บไซต์จะเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตประกอบคอมพิวเตอร์ทั้ง International และ Local จะมีรายได้หลักมาจากสปอนเซอร์อย่าง Dell คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือทำไม Dell ต้องสนับสนุนเว็บไซต์ใหม่ของเราด้วยหละ นักศึกษาตอบว่าเพราะถ้าทำเองต้นทุนจะสูง ขาดความเป็นกลางทำให้ผู้บริโภคไม่ไว้วางใจ นักศึกษายืนยันหนักแน่นและยกเหตุผลต่างๆ นานามาคอนเฟิร์มว่ามีคนใช้บริการแน่ กลุ่มนี้เลยสอนให้ผมรู้ว่าในการนำเสนอ ไม่ว่างานที่ทำออกมาจะถูกหรือผิดอย่างไร ถึงจุดนี้ต้องเถียงหัวชนฝาอย่างเดียว เพื่อให้ผู้ฟังคล้อยตาม ซึ่งเรื่องจริงจะเป็นเช่นไร ผมคิดว่าสิ่งที่กลุ่มนี้ควรทำเพิ่มเติมนอกจากการคิดและจินตนาการเองคือการทำ market survey ถามทั้งผู้ใช้บิรการ และกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการจะไปหาสปอนเซอร์ เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ให้ดีหากสนใจจะเริ่มทำธุรกิจนี้จริง

กลุ่มถัดมาเกี่ยวกับ งานปาร์ตี้ กลุ่มนี้มีไอเดียคล้าย iam in Thai มาก นักศึกษาบอกว่า ต้องการให้เป็นเว็บพอร์ทอลที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปาร์ตี้ ซึ่งคำว่าปาร์ตี้ในที่นี้มีนิยามว่า มันคือทุกๆ อีเวนท์ที่เราจะต้องใช้เวลาอยู่นอกบ้านพบปะผู้คน มันไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลอง แต่มันเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่ที่ทำให้เรามีความสุข ผมไม่ขัดกับไอเดียนี้เลยเพราะ iam in Thai ก็เกิดมาจากความรู้สึกแถวนี้เช่นกัน แต่สิ่งที่ทำให้ผมฉุกคิดมากที่สุดคือ นักศึกษาคิดว่าการที่เราทำเว็บพอร์ทอลเฉพาะทางซึ่งค่อนข้างใหม่หรือยังไม่ค่อยเห็นมีใครทำมาก่อนจะสร้างความประทับใจและสามารถดึงดูดให้ร้านค้ามาให้ข้อมูลกับเรา ผมบอกได้เลยจากประสบการณ์ว่า"ไม่จริง" ยิ่งเว็บยิ่งใหม่ผู้คนยิ่งสนใจน้อย (มันเป็นสมการผกผัน) ซึ่งอย่าว่าแต่ธุรกิจร้านค้าเลย แม้แต่หน่วยงานราชการที่ประกาศว่าจะส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการก็ไม่เคยแม้แต่จะช่วยให้ข้อมูล ดังนั้นสิ่งที่เราในฐานะเว็บใหม่จะทำได้คือ ต้องหาข้อมูลเองและใส่ข้อมูลเข้าระบบด้วยตนเอง ซึ่งถ้าเก่งหน่อยก็อาจจะทำ bot หรือ crawler ฉลาดๆ ให้ไปดึงข้อมูลจากในอินเทอร์เน็ตมาเพื่อคัดกรองต่อไป แต่อย่างไรก็ตามมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นด้วยกับนักศึกษาก็คือ พวกเขาบอกว่าในเมื่อเว็บไซต์นี้เป็นเว็บพอร์ทอลฟีเจอร์ที่จะต้องให้ความสำคัญที่สุดคือ Search เขาจะพยายามทำให้การค้นหาข้อมูลภายในเว็บไซต์สะดวกและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจุดนี้ตรงใจมากครับเพราะพอร์ทัลคือประตูไปสู่ข้อมูลที่สนใจ ดังนั้นถ้าเราสามารถให้บริการ Search ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีข้อมูลเพียงพอก็จะทำให้เว็บเรากลายเป็นเว็บที่ผู้คนบอกต่อกันได้

ภาพจาก: www.siamsafety.com

กลุ่มที่สามเป็น ธุรกิจการถ่ายภาพ กลุ่มนี้แค่ใช้เว็บเป็นหน้าร้านโดยจะมีบล็อกที่อัพเดตกิจกรรมผลงานต่างๆ ของตน นักศึกษามองว่าเขาจะให้บริการแบบมืออาชีพแก่ลูกค้าโดยครอบคลุมตั้งแต่งานแต่ง งานรับปริญญา งานบริษัทถ่ายรูปสินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ พวกเขาจะสร้างความแตกต่างจากผู้ให้บริการทั่วไปโดยให้ลูกค้าพิจารณาจากผลงานเก่าๆ ของเขา พวกเขาจะใช้อุปกรณ์ชั้นเยี่ยมและซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย ก่อนอื่นเลยที่ต้องชื่นชมสำหรับกลุ่มนี้คือพวกเขาบอกว่าจะใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ แต่ก็นั้นอีกเหมือนกันครับที่ก่อให้เกิดประเด็นคือ นักศึกษามักมองว่างานที่ดีเริ่มจากอุปกรณ์ราคาแพง ซึ่งในการทำธุรกิจจริง มันจะเป็นเรื่องยากมากในการที่เราจะต้องบริหารควบคุมต้นทุนเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพ หากเราว่าทำให้ต้นทุนยิ่งสูง เราก็ยิ่งต้องเก็บเงินลูกค้าแพง แล้วถ้าเรายังไม่มีชื่อเสียงพอ ก็จะเกิดคำถามว่าทำไมลูกค้าจะต้องเชื่อใจจ่ายเราแพงๆ ด้วยหละ ถัดมาการที่พวกเขาบอกว่าเขาเป็นมืออาชีพสำหรับงานทุกอย่าง มันยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่ไม่รู้จักมาก่อนได้ ตรงกันข้ามหากพวกเขาพยายามเจาะจงเฉพาะกลุ่มและเลือกที่จะให้ความสำคัญ focus ไปที่ลักษณะงานบางอย่างหรือลูกค้าบางกลุ่มก่อน มันจะเป็นการง่ายและสื่อสารกับลูกค้าได้สะดวกกว่า สิ่งที่นักศึกษาต้องทำให้ดีคือทำความเข้าใจกับตัวเอง และทำ STP (segmentation, targeting, positioning) เพื่อเข้าใจตลาด วางจุดยืนของตัวเองใหั้มั่นคง ว่าเราคือใคร เราทำอะไร และลูกค้าจะได้คุณค่าอะไรจากเรา

กล่มสุดท้ายมาแหวกแนวกับเว็บไซต์ขายเสื้อยืดโดยคนดังออกแบบ คอนเซ็ปต์มีอยู่ว่าเขาจะให้คนดังเป็นคนออกแบบลายเสื้อยืดแล้วนำไปสกรีนขายให้กับกลุ่มแฟนคลับที่สนใจโดยรายได้ส่วนหนึ่งจะนำไปบริจาคเป็นการกุศล ที่ต้องชมคือพวกเขากล้าที่จะคิดให้แตกต่าง แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือนักศึกษาบอกว่าจะขายของ premium ที่ reasonable price มันไม่ผิดหรอกที่จะทำเช่นนั้น แต่มันกำลังจะทำให้คุณค่าของสินค้าด้อยไป กลายเป็นเสื้อที่ใส่กันเกลื่อนหาที่ไหนก็ได้ แล้วลูกค้าที่ยินดีจะจ่ายพอใจเช่นนั้นหรือ ทั้งนี้อีกส่วนที่ยากสำหรับโปรเจคนี้คือ ศิลปินคนดังทุกคนไม่ได้เป็นจิตกร และก็ไม่ทุกคนที่จะยอมเสียเวลามาออกแบบลายเสื้อให้กับเรา เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้รับการตอบรับจากคนดังที่ต้องการ สมมติอยู่ดีๆ ไปถามพี่เบิร์ดว่าช่วยออกแบบลายเสื้อให้หน่อยเพื่อเอาไปขายให้กับแฟนคลับและนำรายได้ส่วนหนึ่งไปบริจาค คุณว่าพี่เบิร์ดจะทำให้ไหมครับ? แค่หาทางติดต่อเข้าไปก็ยากแล้ว หรือถ้ามี connection กับค่ายเพลงหรือสังกัดศิลปินก็อาจจะเป็นไปได้แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้กลายเป็นธุรกิจ เพราะนักศึกษาต้องหาศิลปินมาผลัดเปลี่ยนบนเว็บไซต์เรื่อยๆ คงไม่ใช่มีแค่คนสองคน แต่ต้องมีศิลปินจำนวนมาก และต้องสร้างชุมชนกลุ่มแฟนคลับหลายกลุ่มเลยทีเดียว ซึ่งอันที่จริงแฟนคลับดาราเหล่านี้ส่วนมากก็มักจะมีเว็บที่ทำให้กับศิลปินคนโปรดอยู่แล้ว ทำไมต้องเข้ามาในเว็บและซื้อเสื้อจากเราด้วยหละ

อย่างไรก็ตามต้องชมเชยทุกกลุ่มที่พยายามกันมาเป็นอย่างดีครับ แต่ถ้าสังเกตทุกกลุ่มจะโดนคำถามกลับว่าทำไม? ทำไม? ทำไม? เพราะถ้าจะทำธุรกิจจริงต้องมองให้ขาด ปิดประตูทำไมลงให้หมด และก็ไม่ใช่ใช้สีข้างถูๆ ไถๆ ไป เราต้องเข้าใจและทำให้ผู้เยี่ยมชมเว็บเข้าใจเหมือนที่เราอยากจะสื่อ ทั้งนี้การทำเว็บให้ยั่งยืนก็ยังต้องมองแยกระหว่าง consumer กับ customer อีกด้วยว่า ใครคือผู้ชม ใครคือลูกค้าคนให้เงิน ทำอย่างไรให้ผู้ชมพอใจกลายเป็นผู้ชมที่เข้ามาเว็บไซต์เราประจำ ทำอย่างไรให้คนที่เป็นลูกค้าอยากจะให้เงินกับเว็บของเรา ไม่ว่าเราจะมี business model แบบไหน ก็ต้องสร้างสมดุลย์ระหว่างความต้องการทั้งสองด้านให้ดีครับ นอกจากนี้ก็มีอีกสองสามประเด็นที่นักศึกษามักจะเข้าใจผิด เป็นต้นว่า ทุกกลุ่มจะคาดหวัง word-of-mouth การบอกต่อจากคนที่เข้ามาเว็บไซต์ของเรา นั่นคืออุดมคติที่เจ้าของเว็บทั้งหลายอยากให้เป็นเช่นนั้น แต่อะไรคือประเด็นให้เกิดการบอกต่อ และคิดไหมครับว่าผู้ชมจะเอาไปบอกต่อในแง่ดีหรือร้าย? viral marketing เป็นคำง่ายๆ ที่จะพูดแต่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำ ถัดมาเรื่องการใช้ Socail network service ทั้งหลายในการโปรโมท ทุกกลุ่มจะบอกว่าเพราะมันฟรี แต่จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่ใช่ว่าเราเข้าไปให้ Hi5 สร้าง Profile ขึ้นมาแล้วจะมีคนจาก Hi5 เข้ามาเว็บเรา สิ่งที่ต้องทำมากกว่านั้นคือการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนใน community นั้นๆ ต้องไปเม้นท์ ต้องหมั่นไปทักทายบ่อยๆ กว่าจะทำให้คนรู้จักจากเว็บไซต์อื่นแล้วกลายมาเป็นผู้ใช้เว็บไซต์เรานั้นไม่ฟรีแน่นอนครับ ต้องอาศัยเวลาและแรงงานอยู่โขทีเดียว ท้ายสุดประเด็นที่น่าสนใจจากการฟัง present ครั้งนี้คือ คนเรามักจะคิดเข้าข้างตัวเอง ว่าสิ่งที่ตัวเองคิด ตัวเองทำเป็นไปได้เสมอ แต่ถ้ามองจากสายตาคนอื่นๆ อาจจะได้ภาพที่ไม่เหมือนกัน ความเป็นไปได้อาจจะเลือนลางบิดเบี้ยวไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ คงจะอยู่ที่เมื่อคิดแล้ว เอาไปปฏิบัติอย่างไร ใส่ความตั้งใจและความพยายามไปมากน้อยแค่ไหน กำแพงเมืองจีนไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด อีคอมเมิร์ซไซต์ก็คงไม่ได้ประสบความสำเร็จในวันเดียวฉันนั้น ผมอยากให้มีคนมาวิจารณ์เว็บไซต์ผมบ้างจัง แล้วคุณหละคิดอย่างไร How do u think?

หมายเลขบันทึก: 229630เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2008 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คิดว่าทำไมเนื้อหายาวจังเลย แต่ก็อ่านจนจบล่ะค่ะ

เนื้อหาในส่วนนี้ทำให้เข้าใจในอีคอมเมิร์ซมากขึ้นค่ะ จากที่เมื่อก่อนเรียนแบบไม่เข้าใจ

แต่พอได้ทำงานและต้องนำตรงจุดของอีคอมเมิร์ซ มาประยุกต์และคิดต่อยอดต่อไปเพื่อให้เข้าถึงจุดมุ่งหมายของweb ที่จะทำมากขึ้น

เนื้อหาเรื่องนี้ไม่ได้บอกเล่าประสบการ์ณเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้ทำให้คิดต่อจากที่มีอีกด้วย

ขอบคุณอาจารย์มากน่ะค่ะ

ว่างแล้วจะมาวิจารณ์เว็บไซต์ของอาจารย์ให้น่ะค่ะ

แต่ว่าคนวิจารณ์ ความรู้ไม่ได้จบด็อกเตอร์มาคงไม่ว่ากันน่ะค่ะ

..

ขอบคุณ คุณ OriO_design ครับ

ผมว่าการเป็นดร.นี่ไม่ดีเลยจริงๆ คนคงคาดหวังเยอะว่ารู้อะไรแยะ

อันที่จริงก็คนเหมือนกันแหละครับ การศึกษาจะมากน้อยแค่ไหนไม่ได้ช่วยให้คนเราต่างกัน ผมไม่อายหรอกนะครับถ้าจะมีเด็กประถมมาสอนผมทำตุ๊กตุ่นตุ๊กตาที่เขาถนัด ผมจะเสียใจมากกว่าถ้าคนมองว่าเราเก่งแล้วมีแต่คนรังเกียจไม่อยากคุยด้วย การมองจากมุมต่างๆ อย่างเปิดรับสิครับ มันจะช่วยให้เราพัฒนามากยิ่งขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท