การเข้าสู่ระบบนานาชาติ


การพัฒนาและเข้าสู่ระบบนานาชาตินี้ ไม่ได้หมายถึงการทำให้ทุกคน ทุกองค์กรพยายามเป็นนานาชาติไปหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้เรากลายเป็นอาณานิคมไป

เรื่องการเข้าสู่ระบบนานาชาติ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ข้อคิดข้อเขียนของ อ.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ เขียนได้แทงใจดำดิฉันดีจริงๆ  เพราะดิฉันกำลังต่อสู้กับความคิดตนเองว่า จะสนับสนุนให้ลูกไปเรียนต่อต่างประเทศดีไหม จะให้ทัศนคติกับเขาอย่างไร จึงจะถูกต้องเหมาะสม  ลูกๆในสถานศึกษา ก็เช่นกัน กำลังจะไปฝึกงานต่างประเทศ  ส่วนอาจารย์รุ่นเยาว์ในภาควิชา ที่กำลังคิดตัดสินใจไม่ถูกว่าจะไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกต่างประเทศหรือในประเทศดี  ดิฉันควรให้แนวคิดแนวปฏิบัติแก่เขาอย่างไร วันนี้ดิฉันได้รับคำตอบจากข้อเขียนนี้แล้วค่ะ

"ข้อจำกัดของสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยอีกประการหนึ่ง คือ การคิดและพัฒนายังมองในระดับท้องถิ่น (Local) และในระดับประเทศ (National) อยู่  ดังนั้น จะเห็นได้จากสถาบันอุดมศึกษาของไทยในภูมิภาคเอง ยังเน้นหนักในเรื่องของท้องถิ่นมาก  แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องคิด วางแผนและพัฒนาให้เข้าสู่สภาพนานาชาติด้วย  การพัฒนาและเข้าสู่ระบบนานาชาตินี้ ไม่ได้หมายถึงการทำให้ทุกคน ทุกองค์กรพยายามเป็นนานาชาติไปหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้เรากลายเป็นอาณานิคมไป

แต่การเข้าสู่ระบบนานาชาติ หมายถึง การที่เรามีมาตรฐานสูงพอที่จะแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับเขาได้ มีบุคคลบางกลุ่ม  บางสาขา  ที่จะเป็นตัวแทนในระดับชาติ มีข้อความรู้ที่จะเผยแพร่ในระดับนานาชาติ  มีกิจการและกระบวนการที่เทียบเคียงและเทียบเท่ากับนานาชาติได้ โดยยังคงเอกลักษณ์  ธรรมชาติ  และสาระของเราไว้ ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสาระของเราให้เข้าในรูปแบบและวิธีการของเขา

การสร้างจิตสำนึกนานาชาตินั้น มีความจำเป็นต้องสร้างควบคู่ไปกับสำนึกของการเป็นท้องถิ่นควบคู่กันไป"

ดิฉันยังต้องเรียนรู้  ยังต้องฝึกหัดอีกมาก ที่จะทำให้รู้คิด รู้ทำอย่างพอดี

 

หมายเลขบันทึก: 2293เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2005 06:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

"นานาชาติ" นี่เป็นยังไงคะ  เราจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นหรือไม่เป็น

เล่นถามกลับอย่างงี้ คนเขียนก็ชักงงเหมิอนกันค่ะ

แสดงว่า คำว่า "นานาชาติ" อาจไม่สื่อ  ถ้าเปลี่ยนเป็นคำว่า "สากล" จะเข้าท่ากว่าไหมค่ะ

ดังนั้น สิ่งที่เป็นสากล (นานาชาติ) ก็คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ  และถ้าไม่เป็นสากล (นานาชาติ) ก็คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ

พอไหว ไหมค่ะป้าเจี๊ยบ?  

 

P

สวัสดีค่ะ อาจารย์

อยากทราบเหตุผล การตัดสินใจของอาจารย์ของอาจารย์ ว่าจะส่งลูกไปต่างประเทศหรือไม่ อย่างไร เมื่อไรค่ะ

ส่วนครอบครัวของดิฉัน เป็นความเห็นเฉพาะครอบครัวนะคะ ไม่ได้มีเจตนาอะไร

ลูกชาย strongly decided ที่จะส่งลูกเขาไปแน่นอน ตั้งแต่ชั้นมัธยม เพราะเขาทำงานเป็นทีปรึกษาการเงินอยู่ เดินทางบ่อยมากๆ และแวดล้อมด้วยนักธุระกิจและนักวิชาการ เขาบอกว่า  ไม่มีใครรู้จักมหาวิทยาลัยบ้านเราเลยค่ะ

เราน่าจะมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการให้นานาชาติเขารู้จักเราบ้างนะคะ

ความรู้สึกส่วนตัวจริงๆๆ คือ คิดถึงหลาน อาจต้องไปอยู่กับเขา ถ้าพ่อแม่เขาจะส่งไปจริง อยากให้หลานอยู่เมืองไทยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ P SASINANDA 
          เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คุณ SASINANDA เข้ามาเยี่ยมเยือนค่ะ
          ลูกสาวคนโตของดิฉัน สุกฤตา
P กำลังจะไปเรียนต่อนิติศาสตร์ระดับปริญญาโท  สาขา International law ที่ควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลียราว เดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ค่ะ
          หลังจากที่เขาเรียนจบ ป. ตรี สาขานิติศาสตร์  เขาก็สมัครเป็นอาจารย์ ของวิทยาลัยนานาชาติ ม.นเรศวร (ที่เดียวกับที่เขาจบมา)
          ดิฉันได้แต่สนับสนุนให้เขาฝึกฝนภาษาอังกฤษ จนสอบผ่านตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยยอมรับ  เขาจึงได้ทุนจากมหาวิทยาลัยด้วยลำแข้งของเขาเอง (ดิฉันไม่มีทุนรอนมากพอที่จะส่งเสียเขาเรียนต่อต่างประเทศค่ะ)
          แต่...ดิฉันอยากให้เขาได้ไปเรียนต่อต่างประเทศค่ะ  อยากมาก...... (สงสัยจะสนองตัณหาตัวเองที่ไม่มีโอกาส) ก็เลยคอยยุยงส่งเสริมตลอด
          ดิฉันอยากให้เขาได้เปิดโลกทัศน์ ได้เรียนรู้วิธีคิดของคนในประเทศที่เจริญแล้ว ว่าเขามีวิธีคิดอย่างไร ได้ซึมซับสิ่งดีดีที่หากอยู่แต่ในบ้านเราจะไม่มีทางได้เรียนรู้  หรือรับรู้ได้เลย และอยากให้เขาเป็นแบบอย่าง เป็นผู้สร้างแรงจูงใจให้กับน้องสาวของเขาอีก 2 คน
          หลังจากที่ดิฉันกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงเขามาจนบัดนี้ (อายุ 23 ปีแล้ว) ดิฉันพอจะประเมินได้ว่า เขามีวุฒิภาวะสูงพอที่จะช่วยเหลือตนเองได้ หากอยู่ในภาวะที่ต้องไปผจญภัยต่างถิ่นเพียงลำพัง
          ดิฉันทำงานในสถานศึกษามานาน มีโอกาสได้ไปดูงานสถานศึกษาต่างประเทศบ้าง มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับเขาเพื่อเชื่อมโยงมายังบ้านเราบ้าง และแม้ดิฉันจะไม่เคยร่ำเรียนต่างประเทศมา การได้สัมพันธ์ / สัมผัสผาดๆ ดังกล่าว ก็ยังได้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมากมายมหาศาล ระหว่างสถานศึกษาของประเทศที่เจริญแล้วกับประเทศเราว่าแตกต่างกันมากมายเพียงไร
          ดิฉันเห็นดีด้วยนะคะ ที่หลานของคุณ  SASINANDA จะได้รับโอกาสดีดีเช่นนี้ ตั้งแต่เขายังอายุน้อยๆ เพราะเขาจัดเป็นเด็กน้อยในจำนวนไม่ถึง 1% ของเด็กทั้งหมดในประเทศไทย ที่เกิดมาโชคดีถึงขนาดนี้
          ไม่น่ากังวลใจใดใดเลยค่ะ เพราะเขามีคุณพ่อ คุณแม่อยู่เคียงข้าง แถมมีคุณย่าที่แสนดีคอยห่วงใย ห่างไกลเพียงไร ก็คอยดูแลได้เหมือนอยู่ใกล้ โลกเดี๋ยวนี้ไม่มีพรมแดนของเวลาและระยะทางแล้วค่ะ
          หลานย่าที่มีพื้นฐานการเลี้ยงดูทั้งทางกายและใจมาอย่างดี เติบโตขึ้นคงเก่งไม่แพ้หรือเก่งยิ่งกว่าคุณปู่ และคุณพ่อของเขาอย่างแน่นอน
          ขอส่งความปรารถนาดีมายังครอบครัวอันแสนอบอุ่นของคุณ SASINANDA ค่ะ........   :  )

P SASINANDA

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆค่ะที่เข้าใจ

แต่สาเหตุเป็นเพราะอะไรคะ ที่คนข้างนอกประเทศเราไกลๆ จึงไม่ค่อยรู้จักมหาวิทยาลัยของเรา เพราะเราไม่ค่อยมีผลงานวิจัยหรือคะ  แต่การแพทย์เราก็เก่งนะคะ

คุณหมอวิจิตรเล่าว่า ท่านจบปริญญาเอกจากDuke University ที่มีชื่อเสียงมากด้านแพทย์ แต่ยังง่ายกว่าจบปริญญาเอกเมืองไทยอีก คุณหมอทำวิจัยตั้งหลายปีกว่าจะได้จากเมืองไทย คุณหมอได้จากการทำวิจัยการรักษาโรคเท้าช้าง รู้สึกจะ 5 ปี

เลยชักงงค่ะ

          เมื่อตอนที่ป้าเจี๊ยบถามดิฉันว่า "นานาชาติ" นี่เป็นยังไงคะ  เราจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นหรือไม่เป็น ?

          ดิฉัน ก็ตอบไปเพียงสั้นๆ ว่า สิ่งที่เป็นสากล (นานาชาติ) ก็คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ  และถ้าไม่เป็นสากล (นานาชาติ) ก็คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ

          การมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ จนเป็นเหตุให้เรียกขานได้ว่าเป็น "นานาชาติ" นั้น ดิฉันคิดว่าน่าจะมีเหตุปัจจัย ดังต่อไปนี้นะคะ 

  1. ความเก่าแก่  มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ (ที่เจริญแล้ว) เกิดก่อนมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทยเสียอีกค่ะ  อุปมาเหมือนคนเรา ผู้ที่อาวุโสย่อมได้รับการยอมรับนับถือมากกว่าผู้ที่ยังเยาว์วัย เพราะมีประสบการณ์มากกว่า ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน มีข้อมูลสั่งสมมากกว่า เข้าสูตร วัยวุฒิสูงหนะค่ะ
  2. ความรู้ / ขุมความรู้ของคนในองค์กร ในกรณีของมหาวิทยาลัย ก็คือคนที่เป็นอาจารย์ และงานวิจัย ตลอดจนนวัตกรรมขององค์กรนั่นเอง มหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ มักจะพบว่ามีนักวิทยาศาสตร์ หรือครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมายหลายคน และมีผลงานวิจัยที่มีคุณค่า สร้างผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ มหาวิทยาลัยนั้นดัง ก็เพราะคนและผลงานเหล่านี้แหละค่ะ ดังนั้นใครๆ ก็อยากไปเรียนรู้กับปรมาจารย์ที่มีชื่อเสียง แม้จะอยู่ไกลกันสุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม เข้าสูตร คุณวุฒิ ของคนเรา ถ้าใครมี degree ห้อยท้ายมากหน่อย เช่น ศ.ดร. ..  ศ.เกียรติคุณ....ฯลฯ  ย่อมเป็นที่ยอมรับได้ว่าท่านนั้น ได้ผ่านการพิสูจน์ตนเอง และได้ถูกกลั่นกรองมาแล้วว่า สมควรกับคุณวุฒิที่มอบให้  ยิ่งถ้ามหาวิทยาลัยนั้นเก่าแก่ด้วยแล้ว ประกอบกันเข้ากับการมีอาจารย์ดีดี  ก็ยิ่งน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
  3. ความพร้อมด้านทรัพยากรเกื้อหนุน ประเทศที่เจริญทางด้านวัตถุ และเทคโนโลยีกว่าเรา ย่อมเสริมส่งให้คนเรียนรู้ได้ง่าย ได้เร็ว กว่าประเทศที่ขาดแคลนและไม่มีรากฐานของความรู้พื้นฐานอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างกรณีนี้ได้ง่ายที่สุดเลยค่ะ ก็ทั้งลูกและหลานของคุณ SASINANDA งัยคะ เขาเกิดมาเพียบพร้อมในครอบครัวที่ดีมีเศรษฐานะสูงพอที่จะให้ได้กินดีอยู่ดี ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนดีดี  เป็นต้น อย่างนี้ก็เข้าแก็บ ชาติวุฒิ  ดิฉันเอาปัจจัยข้อนี้ไว้ท้ายสุด  เพราะไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่เป็นปัจจัยเสริมที่ดี

          ปัจจัยทั้ง 3 ข้อข้างต้น เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน เสริมกันได้ ดึงกันได้

          มหาวิทยาลัยไทยจึงยังไม่เข้าข่าย นานาชาติ (ไม่เป็นที่ยอมรับจากคนส่วนใหญ่) เราจึงมักเรียนจบยากกว่า (โดยเฉพาะตอน ป.โท ป.เอก)  เพราะมหาวิทยาลัยไทยยังมีระบบการบริหารจัดการที่ไม่ทันสมัย (มีประวัติศาสตร์ให้เรียนรู้และพัฒนากันน้อยกระมังคะ) ขาดแคลนครูบาอาจารย์ที่มีคุณภาพ และขาดแคลนทรัพยากรเกื้อหนุนทุกด้าน

          คุณหมอเรียนจบยากกว่าตอนเรียนเมืองนอกจึงเป็นเรื่องปกติ เหมือนอย่างที่เราๆ ท่านๆ หลายต่อหลายคนก็ประสบเช่นเดียวกันนี้ (จนต้องหนีไปเรียนเมืองนอกกันหมด)

          พล่ามมาเสียยืดยาว ท่าจะเริ่มเครียดแล้วนะคะ แต่ก็ขอทิ้งท้ายสักนิ๊ดว่า ถึงบ้านเราเป็นอย่างนี้ก็เหอะ  ดิฉันก็รักบ้านเกิดเมืองนอน

          ทั้งลูกหลาน ครูอาจารย์รุ่นน้องที่โชคดีได้ไปเรียนเมืองนอก ดิฉันจะต้องย้ำกับเขาเสมอว่า เมื่อมีวาสนาอย่างนี้ ต้องระลึกไว้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากภาษีและหยาดเหงื่อแรงงานของคนทุกคนในบ้านเกิด (ข้าวทุกเม็ดที่กินจนเติบใหญ่) เขาต้องกลับมา หรือทำอะไรก็ตาม ที่เป็นการทดแทนบุญคุณบ้านเกิด  อย่าเป็นคนอกตัญญูต่อแผ่นดิน

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท