51. คารวะกษัตริย์ไท คำตี่ ที่รัฐอรุณะจัล ประเดช อินเดีย


ไท คำตี่อยู่ที่รัฐอรุณะจัล ประเดช อินเดีย

คารวะกษัตริย์ไต คำตี่

 

 

 

  (วัดในหมู่บ้านไต คำตี่)

ไปถึงด่านชายแดนรัฐอัสสัม 7 รัฐนี้ใครจะผ่านไปมาต้องแจ้งด่านชายแดน ราวกับเป็นคนละประเทศ

เลย อาจารย์กับลูกชายลงไปทำพิธีการ สตรีนั่งในรถรอ สักพักเขาก็เปิดทางให้ไป ถนนราดยางเรียบกว่า

ในรัฐอัสสัม ผ่านทุ่งนา  บ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือนไท ใต้ถุนสูง ที่นี่เป็นไต คำตี่ค่ะ ถ่ายรูปไม่ทัน

เพราะรถวิ่งเร็ว ไปถึงบ้านน้ำทราย แวะบ้านพี่ของพี่เขยน้อง เป็นไท พาเกเหมือนกัน แต่มาทำงาน

ที่นี่ บ้านหลังใหญ่ มีฐานะดี เราสวนกับกลุ่มแขกชุดหนึ่งที่แวะไปเยี่ยมแกก่อนแล้ว เจ้าบ้าน

อัธยาศัยดี ภรรยาแต่งกายแบบสาวไท ใส่เสื้อแขนกระบอก นุ่งซิ่น เกล้ามวย ไปนำขนม น้ำ ชานม

มาเลี้ยงพวกเรา แถมไปทำ pop corn มาให้เราทานด้วย (ไม่น่าเชื่อว่าไกลขนาดนั้นยังมีให้ทานได้)

นั่งพักพูดคุยกันสักครู่ ลาเจ้าของบ้านแล้วเดินทางต่อ อาจารย์แวะไปเติมน้ำมันก่อน ดิฉันลงไป

ยืดเส้นยืดสาย ชำระเงิน แล้วไปต่อ เรากำลังจะไปบ้านกษัตริย์ไต คำตี่ค่ะ 

 

เริ่มพลบค่ำแล้ว เห็นสองข้างทางก่อนถึงบ้านกษัตริย์มีทิวแถวของตุง(ธง)คล้ายทางเหนือ บริเวณบ้าน

กว้างมาก มีรั้วรอบ ในบริเวณบ้านเห็นมีบ้านหลังเล็กๆ อยู่ห่างกันคงเป็นบ้านคนรับใช้ หรือมีไว้รับแขก

ก็ไม่ทราบ มีสวนดอกไม้ มีต้นไม้ใหญ่ดูร่มรื่นเหมือนรีสอร์ท แต่เรามุ่งไปเรือนหลังใหญ่ บริเวณนี้

จะกว้างขวาง สวยสะดุดตากว่าบริเวณโดยรอบ มีรปภ. นอกเครื่องแบบยืนอยู่ใต้ถุนบ้าน 3-4 คน

ทางขึ้นบ้านชั้นบนมีประตูเหล็กยืดปิดไว้ ต้องให้คนมาไขกุญแจเปิดให้ บ้านทำด้วยไม้สักทั้งหลัง

สวยงามมาก ขึ้นมาข้างบนมีห้องรับแขกกว้างขวาง พบกับกษัตริย์อายุ 88 ปีแล้ว ท่านไม่ค่อยแข็งแรง

เป็นกษัตริย์รุ่นที่สอง พวกเรานำผลไม้ที่ซื้อมาฝากท่าน  

 

หลานชายกษัตริย์ออกมารับแขกด้วยดูเป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่นทันสมัย ตามด้วยลูกสาวสองคน ลูกชาย

และลูกสะใภ้ แยกๆ กันนั่งคุย ดิฉันนั่งคุยกับลูกสาวคนเล็กซึ่งเป็นคนเดียวในบรรดาสตรีที่นั่นที่แต่งกาย

แบบผู้หญิงปัญจาบี ซอยผมสั้น เพราะเธอแต่งงานออกไปอยู่ที่เดลลีแล้ว ช่วงนี้กลับมาเยี่ยมบ้าน

เพราะใกล้เทศกาลปอยส่างแกน (คล้ายสงกรานต์ไทย วันรวมญาติ) ส่วนพี่สาว และพี่สะใภ้นุ่งซิ่น

สวมเสื้อขาวแขนกระบอก ห่มสไบ ทำผมมวยเพราะเธออยู่ที่นั่น ที่นี่มีชาวไท คำตี่ราว 12,000 คน

 บิดาของกษัตริย์ท่านนี้มาหักร้างถางป่า ขายไม้ ได้เงินมากก็มีคนมาอาศัยบารมีอยู่ด้วย ท่านจึงตั้งตน

เป็นกษัตริย์ ลูกหลานเรียนต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เพราะพูดภาษาอังกฤษดีทุกคน ในปัจจุบัน

สถานภาพนี้ก็ดูจะเลือนรางไปมาก แต่กษัตริย์ท่านนี้ก็ได้รับการยกย่องจากรัฐบาลอินเดีย นายกรัฐมนตรี

อินทิรา คานธีเคยไปเยี่ยมท่านถึงที่บ้านนี้มาแล้ว หมู่บ้านนี้อายุมากกว่าเจ็ดสิบปี ดูแล้วยังคง

บรรยากาศความเป็นไทไว้มาก เพราะผ่านวัดมา เห็นบ้านทรงไท ใต้ถุนสูงตามสองข้างทาง  

 

(บ้านชาวบ้านไต คำตี่ ไม่มีรูปบ้านกษัตริย์เพราะแบตกล้องหมดพอดี)

 

เด็กคนใช้ชายหญิงผิวคล้ำสองคนมาเสริ์ฟชานมร้อนกับขนม บ้านไหนๆ ก็มีแต่เด็กตัวดำๆ เป็นคน

รับใช้ทั้งนั้น นั่งคุยกันราว 1 ชั่วโมง น้อง ซึ่งเป็นไท พาเกสามารถคุยกับพี่ๆ ผู้หญิงที่เป็นไท คำตี่

ได้  พวกเราขออนุญาตไปเข้าห้องน้ำ บ้านกว้างขวางมาก มีหลายห้องที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์

อย่างดี เสร็จแล้วลากลับ ลูกๆ ท่านมีอัธยาศัยดีทุกคน บ้านนี้ก็คุ้นเคยกับคนไทยเพราะเคยมีคนไทย

ไปพักด้วย

 

กษัตริย์ให้รถจี๊บนำหน้ารถเราออกมา มืดสนิท อากาศที่นี่ในเดือนเมษายนยังเย็นๆ อยู่โดยเฉพาะ

เช้ามืดกับกลางคืน รถจี๊บนำเรามาที่ guest house ของหมู่บ้าน คล้ายที่ทำงาน รูปร่างเป็นบังกะโล

หลังใหญ่ มีห้องกลางรับแขก ปีกสองข้างเป็นห้องพักข้างละ 2 ห้อง  เราไปดูสภาพแล้วพอพักได้

เหลือสองห้องๆ ละสองเตียง ดิฉันกับน้อง พักด้วยกัน อาจารย์ และภรรยาพร้อมลูกชายพัก

ด้วยกัน ภายในห้องแต่ละเตียงมีโครงเหล็กสี่เหลี่ยมให้เรากางมุ้งได้ มุ้งกับผ้าห่มมีกลิ่นไม่สะอาด

เราขอให้เขาเปลี่ยนให้ก็ได้ในระดับหนึ่ง  ค่าที่พักคนละ 70 บาทรวมอาหาร แสนจะถูก แต่ภรรยา

อาจารย์ดูจะถอดใจกับสภาพและความสะอาด ทำท่าอยากกลับบ้านเลย ดิฉันไม่ไหวแล้ว กระดูกหลังหัก

แน่ และคิดว่าอันตรายด้วย จึงไม่ตกลง

 ดิฉันไม่มีปัญหา ผลัดกันอาบน้ำเสร็จออกมานั่งเล่น ลูกศิษย์อาจารย์ มาเยี่ยมอาจารย์พร้อม

ขนมคล้ายโรตีกรอบ พวกเราได้รองท้องกัน อากาศเย็นทีเดียว ดิฉันมีแต่ผ้าคลุมไหล่พอได้อาศัย

นั่งสักไฟดับซึ่งเป็นธรรมดาของที่นี่ จุดเทียน นั่งคุยกันต่อ อาจารย์กับลูกศิษย์ก็คุยกันไป เรานั่งรอ

อาหารเย็นที่มีพ่อครัวทำอยู่สองคน จนลูกศิษย์อาจารย์ลาไปแล้ว อาหารก็ยังไม่เสร็จ สักพักก็มี

เสียงรถแล่นมาเป็นอีกกลุ่มที่พักในห้องอีกปีกหนึ่ง เขาไม่ทานข้าวด้วย จนสามทุ่มเศษ อาหารเสร็จ

พวกเรามานั่งกินกัน อาหารรสชาติจัดกว่าที่บ้านอาจารย์ออกแนวอินเดียมากๆ เผ็ดเครื่องเทศ

เขาหุงข้าวแฉะด้วย ทานพออยู่ท้อง เสร็จแล้วแยกย้าย เข้าห้อง ดิฉันกับน้อง แอบออกมา

จ่ายค่าที่พักเสร็จ นั่งคุยกันอีกสักพัก จึงแยกกันเข้านอน ดิฉันนอนหลับไม่สนิทเพราะผิดกลิ่นผ้าห่ม

คงไม่ได้ตากแดด ไม่ได้ซักปลอก รวมถึงมุ้งด้วย ดีที่ไม่มีเรือดไรกัด ภรรยาอาจารย์ก็นอนไม่หลับ

เหมือนดิฉัน 

 

ตีห้าตื่นขึ้นเพราะเสียงอาจารย์ออกมาขากเสลด  (ทุกเช้า) พวกเราจึงเตรียมตัวเก็บข้าวของ จะออก

จากที่พัก ปรากฏว่ายารถแบน ดิฉันไปดูสภาพยางรถ โอ้โห ไม่มีดอก ยางเลย มาเจอสภาพถนนผิวโลก

พระจันทร์ รอดมาได้ก็บุญแล้ว และไม่สงสัยว่าทำไมแบน คงโดนหินกระแทกจนรั่ว ถ้าเป็นบ้านเรา

คงทิ้งปลูกผักชีแล้ว แต่คนอินเดียใช้ของคุ้มจริงๆ ดันยืนยันว่าเขาไม่สุรุ่ยสุร่าย ใช้จนกว่าจะใช้

ไม่ได้ ดิฉันบอกอาจารย์ว่ากลับไปจะซื้อยางใหม่ให้ดีกว่า อาจารย์บอกว่าตั้งใจจะกลับไปเปลี่ยนอยู่แล้ว

อาจารย์กับลูกชายพยายามจะซ่อมเองแต่ไม่สำเร็จ แกจึงขับไปหาร้านซ่อม ดิฉันกับน้อง เดินเล่น

ภรรยาอาจารย์นั่งรอที่บังกาโล (โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

 หากท่านสนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา วิชาเอก

อินเดียศึกษา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจอินเดียอย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์ในการสร้างความ

สัมพันธ์อันดีระหว่างกันในด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ศิลปะ การค้า การลงทุน ฯลฯ และ

เข้าใจรากฐานทางวัฒนธรรมไทยให้ดียิ่งขึ้น ท่านสามารถสมัครได้ที่สถาบันวิจัยภาษาและ

วัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล หรือเข้าชม www.lc.mahidol.ac.th โทร.

02-800-2308-14 ต่อ 3101, 3308 รอบสองรับสมัครเดือนกุมภาพันธ์ 2552

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 229197เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2008 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาทักทายครับ จากศิษย์เก่าอินเดีย อิจฉาจัง(ล้อเล่น)ที่ได้ไปรัฐอัสสัม ผมยังไม่เคยไปเลยน่ะ

สวัสดีค่ะ คุณฤทธิชัย

    ขอบคุณค่ะ ไปคราวหลังก็ได้ค่ะเพราะมีสายการบินๆ ตรง จากกรุงเทพฯ ไปยังกุวาฮาตีเลยค่ะ

  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท