ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างคำฉันท์


ประวัติผู้แต่งดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง

      ผู้แต่ง "ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างของเก่าครั้งกรุงเก่า" ฉบับที่นำเสนอในที่นี้คงเป็นกวีไทย ไม่ใช่พราหมณ์ เพราะได้แสดงออกซึ่งอุปนิสัยของกวีไทยหลายอย่างที่เด่นๆได้แก่
      ๑) มุ่งแสดงศิลปะการใช้ถ้อยคำ โดยเลือกเฟ้นคำมีสัมผัสอักษรและสระ เช่น "พระพนัศบดีผองสบไศล" นอกจากนี้ยังเล่นคำและความหมายของคำ เช่น "จงเทพารักษรักษา คุ้มเกรงกรุณา ตูข้าจะนำเอาไป"
      ๒) การวาดมโนภาพ ผู้แต่งได้วาดภาพชีวิตในป่าอย่างสมจริงและรักษาประเพณีการพรรณนาป่า โดยระบุชื่อพรรณไม้ต่างๆ เช่น "หญ้าปล้องหญ้าหวายแลลมาน อ้อยช้างตระการ ทั้งข่อยและแขมโพบาย"

ประวัติหนังสือดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง

      วรรณกรรมประเภท "กล่อมช้าง" ของไทยมีหลายฉบับ ฉบับเก่าที่สุดคือ คำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง ขุนเทพกระวี พราหมณ์เมืองสุโขทัยแต่งเป็นภาษากัมพุช โดยมีฉบับแปลดัดแปลงเป็นภาษาไทย ตามที่ปรากฎในบทประพันธ์ ดังนี้

      แก้กลอนกัมพุชภาษา                 แจงแจ้งเอามา
      เปนสยามพากยพิไสย

      ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างของเก่าที่นำเสนอในที่นี้ก็คือ ฉบับสยามพากย์คู่ขนานกับฉบับกัมพุชพากย์ โดยขุนเทพกระวีนั่นเอง ดังนั้น จึงมีเนื้อเรื่องอย่างเดียวกัน ต่างกันเฉพาะฉันทลักษณ์ คือ ฉบับสยามพากย์แต่งเป็นกาพย์ฉบัง 16 และกาพย์ยานี 11 ส่วนฉบับกัมพุพากย์แต่งเป็นฉันท์

คำนำดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง

      ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างเป็นวรรณกรรมซึ่งมีขึ้นเพื่อใช้ประกอบกีฬาการคล้องช้างของพระมหากษัตริย์ในสมัยก่อน จุดประสงค์คือเป็นการเห่กล่อมเพื่อให้ช้างหมดอาลัย และลืมเลือนจากที่อยู่อาศัยแต่เก่าก่อน และเตรียมตัวเตรียมใจมาเป็นช้างทรงขององค์กษัตริย์ ในบทประพันธ์จะเห่กล่อมบอกให้ช้างอย่าถือโกรธ และขอให้ช้างละทิ้งนิสัยดื้อรั้น กลับมาเป็นช้างทรงที่เชื่องและแข็งแกร่งของกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการ

หน้าหนึ่ง (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   อัญขยม สดุดีพระไพร          ป่าดงพงใน
   สระสโรช มหิมา 
   ฉทึงธาร คิรีเหวผา              ไม้ไล่นานา
   อเนกพฤกษพิศาล 
   ป่งป่าท่าทางเที่ยวธาร          อันจร สบสถาน
   ข้าขออำลาพระไพร
   พระพนัศบดีผอง สบไศล       ตูข้าตั้งใจ
   ทำนุกอำรุงผดุงผดา

หน้าสอง (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   เทียนธูป แลประทีปชวาลา           เครื่องโภชนกระยา
   สังเวยประดับทุกพรรณ 
   กล้วยอ้อยพร้าวตาลสบสรรพ์       ถวายแก่พระกรรม์
   ประสิทธิพระไพรพน 
   ลาเทพทั้งพื้นไพรสณฑ์              จงรักษ์ดำกล
   หฤไทยตั้งรักษา
   อย่าได้เบียดเบียนบีฑา               ภูธรประชา
   ทั้งปกทั้งปวงเดินดง

หน้าสาม (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   มาลา แลเสวตรฉัตรธง             ถวายด้วยใจจง
   จงท่านอย่าได้บีฑา 
   ได้เดินใกล้รายไปมา               ขอโทษอำลา
   อย่าต้องอย่าพาลเบียดเบียน 
   ขอจงศุขสถาพรเสถียร              อย่าได้วนเวียน
   อัญเชิญธสถิตย์ในไพร
   ช้างใดต้องบาศ บไคล               จำนองจองไป
   ประโยชน์เลี้ยงรักษา

หน้าสี่ (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   อย่าได้แดเดือดโศกา                อย่าคร่ำครวญหา
   พ่อแม่พี่น้องเผ่าพันธุ์ 
   เมืองโพ้นนางช้างก็ สกรรจ์          ย่อมโขลงแส้งสรรค์
   ลำเภาดำเนินโสภา 
   กล้วยอ้อยพร้าวตาลนานา           หญ้าเผือเหลือตรา
   อเนก(ะ)ด้วยอาหาร
   ป่าดงฤาจะเปรียบปูนปาน            เบื้องศุขสำราญ
   ในไพรพนมชมผา

 
หน้าห้า (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖ แต่บทสุดท้ายแต่งด้วยวสันตดิลก ๑๔)

   เมื่อนอนร่มไม้สาขา            หญ้าแฝกแขมคา
   แลเงื้อม ชร(ะ)ง่อน เทินเขา 
   เมืองโพ้นโรงรัตนพัฬเหา     พเนกจลุงเกลี้ยงเกลา
   เมลือง บได้เคือง รคาย 
   ท่าทางเดินเหินก็สบาย         ควาญ คช กับนาย
   ประจำ บห่อนคลาไคล

วสันตดิลก ๑๔

   อ้าพ่ออย่าคิดแก่ชนนี           แลชนกในกลางไพร
   อ้าพ่ออย่าคิด ภคินิใน           พนสณฑะ สิงสถาน

หน้าหก (แต่งโดยวสันตดิลก ๑๔)

   อ้าพ่ออย่าคิดคณะผู้บุตร           อันเสน่หะ นงพาล
   อ้าพ่ออย่าคิดคชะผู้หลาน          เหลนเหลือลืด แลพงษ์พันธุ์ 
   อ้าพ่ออย่าคิดพนะ สร(ะ)นุกนิ์     ศุข(ะ)เล่นพนาวัน
   อ้าพ่ออย่าคิดศุขะในบรร-          พต(ะ) ห้วยฉทึงธาร 
   อ้าพ่ออย่าคิดศุขะในป่ง             คใน ป่าพฤกษาสาร
   อ้าพ่ออย่าคิดแก่บริพาร             อันเปนเพื่อนในไพรพนม
   อ้าพ่ออย่าคิดคชะ สุคน-            ธ(ะ) อันเคยภิรมย์ชม
   ดอกไม้อันหอมคชะผธม            ขจรกลิ่นวังเวงใจ

หน้าเจ็ด (แต่งโดยวสันตดิลก ๑๔)

   อ้าพ่ออย่าคิดแก่พล(ะ)ผลา        ภักษหญ้าอันมีใน
   ธารนำ้อันไหลวิสุทธ(ะ)ใส          แลมาเลี้ยงแก่ตนเอง 
   อ้าพ่ออย่าคิดทุกข(ะ)บัดนี้         ทุกข์แต่หลังบุราณเพรง
   อ้าพ่ออย่าคิดทุกขะวังเวง           เลย ณ พ่อจงตามครู 
   ต้องบาศ(ะ)เรา นี้ ฤ ณ พ่อ        เพราะเสน่หะ แห่งกู
   พังพลายอันใดกล(ะ)ดำรู          ก็จะเลี้ยงจะล่ามสงวน 
   อ้าพ่อจงเสีย พยศอันร้าย          แลอย่าขึ้ง ทร(ะ)หึงหวล
   หล่อหลอนอย่าทำกิจ(ะ) บควร   และอย่าถีบอย่าฉัดแทง

หน้าแปด (แต่งโดยวสันตดิลก ๑๔)

   อ้าพ่อจงเสีย พยศอันเปลื้อง        แลอย่าเลื่อมกำแหงแรง
   พ่อจำอันสอนจิตร(ะ)อย่าแคลง    แลจงรักทั้งหมอควาญ
   จงมีจริต สุทธิอันงาม                 สงบเสงี่ยมแลเสี่ยมสาร
   พวกพ้องนิกร บบริพาร               บริรักษ(ะ)รักษา
   อ้าพ่ออย่าโศกอย่าทุกข(ะ)เลย    แลอย่าเศร้าอย่าโศกา
   อย่าให้พิลาป จิตร(ะ)อา-              ดุร(ะ) เลยจงยลยิน
   อ้าพ่ออย่าโทษบิดร(ะ)มา-            ดร(ะ) โทษอันเพื่อนกิน
   อ้าพ่ออย่าโทษ นร(ะ)นรินทร์        ทั้งนี้ย่อมอำเภอกรรม์

หน้าเก้า (แต่งโดยวสันตดิลก ๑๔)

   อ้าพ่ออย่าโทษ ชน(ะ)ผู้ใด          แลพระพรหม(ะ)หากสรรค์
   มาเปนชำนิ นร(ะ)นิรัน-              ดร(ะ) เลี้ยงบำเรอห์ ใน
   จงพ่ออย่าได้ ทุกข(ะ)ทุกขา-      ดุร(ะ) เดือด รฤก ไพร
   จักนำยังโรงรัตน(ะ)ประไพ         จิตร(ะ) จงสำราญรมย์
   หนึ่งโสดสมเด็จบรมหง-              ษ(ะ)คือองค(ะ) พระพรหม
   รังสฤษดิสรรค(ะ)พ่อมาสม         เปนวรพาหน(ะ) ภูเบนทร์
   อย่าโทษพ่อแม่ คณะพี่น้อง        แลจงคิดคำนึงเหน
   โทษกรรมเองก็ บมิเว้น               บมิแวะจะหลีกกรรม์

หน้าสิบ (แต่งโดยวสันตดิลก ๑๔)

   จงตั้งมโนช(ะ)ที่จะไป           บุริรมย(ะ) หฤหรรษ์
   จักเห็นสระกุสุม(ะ)พรร-          ณ(ะ) สนุกนิ ชื่นชม
   มีบัวบุษย(ะ) บานอุบล(ะ)จง-  กลนี ก็สรบสม
   ใบบัทม(ะ)แบ่งแลก็ สลม        ก็สลอนทั้งสระศรี
   ตั้งใจราพ่อ คชะจงเดิน         ดล(ะ) ในพระบูรี
   อย่าคิดลำเนา พนะอันมี        คช(ะ) เคย ทร(ะ) เหหวน
   พ่อแม่พี่น้อง อันเปน เสน่-     ห(ะ) ทั้งนั้นอย่าเครงครวญ
   จงพ่อมาเสีย พยศมายวล     จิตร(ะ)โดยตูสมพอง

หน้าสิบเอ็ด (แต่งโดยกาพย์ยานี ๑๑)

   แต่นี้พนาทาง                ก็กระดาษ(ะ)ทั้งผอง
   ร่มราบคือน่ากลอง         แล ธ แกล้งประดับดา
   ครั้นพ่อแลดีแล้ว            วร(ะ) ราช(ะ) ราชา
   จักเปนคเชนทรา-           ธิปดินทร(ะ) ฤาไกร
   มีพวก จเกี่ยว หญ้า         มาส่งให้ บยากใจ
   จักกินอันใดใด                ก็จะได้ดั่งใจปอง
   หนึ่งโสดนายแลควาญ      จะรักษา บให้หมอง
   ขัดสีดูเรืองรอง                บมิให้มีมลทิน

หน้าสิบสอง (แต่งโดยกาพย์ยานี ๑๑)

   ที่อยู่จะใคร่อยู่              ทั้งที่กินจะใคร่กิน
   จงพ่อมายลยิน             คดีอัน กูกล่าวสาร
   หนึ่งโสดประดับด้วย      คชาภรณ์อลงการ
   ชนักแร่งประแอกอาน     แลตระพัตร(ะ)คนควร
   อยู่ป่าไซ้ถีบฉัด             แลหล่อแทง ทร(ะ)หึง หวน
   จงเสีย พยศทั้งมวญ       แลมาเชื่องเปนสารศรี
   จักเปนชำนิภู-                ธร(ะ) เกล้า ตริโลกีย์
   ปราบราช(ะ)ไพรี            แลจงจำอันสั่งสอน

หน้าสิบสาม (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   หนึ่งโสด กรินี สาทร        อันผูกด้วยสร
   มนัศใจเสน่หา
   ขอแต่พระไพรคณา        ตูจักลีลา
   ยังศุข(ะ)รมย(ะ)บุรี
   จงตั้งใจเดินด้วยดี         อย่ารำพึงศรี
   แลสระสโรชในไพร
   ร่มรื่นพื้นป่าพอใจ          เปนที่อาไศรย
   สนุกนิ์สำราญบรรธม

หน้าสิบสี่ (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   ป่งป่าท่าทางเคยชม                 ในพระบุรีรมย์
   สนุกนิ์กว่านี้แสนทวี
   นำ้ไหลไคลคลายเปรมปรีดิ์       บัวจงกลนี
   ทั้งหญ้าระร่อนอ่อนหวาน
   อุบลสัตบันแบ่งบาน                นานาผลาหาร
   สำราญภิรมย์อนันต์
   อย่าคิดถึงเผ่าพงษ์พันธุ์             พี่น้องพ้องสรรพ์
   ลูกจรัลจร(ะ) กลางแด

หน้าสิบห้า (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   แม่ลูกผูกรักเลงแล               เคยเคียงผันแปร
   แลแล่นมาเคล้าคลึงกัน
   แม่รักลูกรักจรจรัล                พลายพังก็กระสัน
   ทร(ะ)หึง ทร(ะ)โหย โหยหา
   ไห้ห่มรม ยวนไปมา               อย่าเศร้าโศกา
   ทั้งนี้ย่อม(โดย)แรงกรรม์
   กมลาศน์ ธแกล้งเกลาสรรค์      อย่าโทษพงษ์พัน-
   ธุ ทุกเทพย(ะ) มานุษย์เลย

หน้าสิบหก (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   แต่นี้จงสร่าง สร(ะ)เบย             ทุกข(ะ) หลังอันเคย
   พิบากลำบากเหลือใจ
   เมื่ออยู่ป่าดงพงไพร              หากินเองใน
   พนานต(ะ) ยากหนักหนา
   หนึ่งโสดฝุ่นทรายตรึงตรา      นอนแนบหินผา
   กระด้างกระเดื่องทั้งตัว
   แต่นี้เกลือกตมทรายมัว         บมิได้พอกพัว
   เพราะนายแลควาญรักษา

หน้าสิบเจ็ด (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   แต่นี้ไปโดยรัถยา                     ทางท้องมหิมา
   สลมสลอนพร้าวตาล
   หญ้าปล้องหญ้าหวายแล ลมาน     อ้อยช้างตระการ
   ทั้ง ข่อย แล แขม โพ บาย
   หนึ่งโสดฝูงช้างพังพลาย             อยู่เมืองโพ้นหลาย
   คเชนทร(ะ) เผือกพัฬเหา
   ลางตัวตัวผู้มาเอา                     กลิ่นตัวเมียเมา-
   รดี รดัส กำจร

หน้าสิบแปด (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   ย่อมช้างมีลักษณ(ะ)บวร             ชำนิภูธร
   ธิราชเจ้าจอมไตร
   ส่วนกรินี โสดก็จะไป                อยู่โรงเรียนใน
   กร ลา บังคัล คนผจง
   เทียมเทียบเกยรัตน์ยรรยง        แนมแนบพลายพงษ์
   เชื้อคเชนทร(ะ) อันดี
   จงเสียพยศร้ายราวี                วัดวาย ถีบตี
   ทั้งฉัดแลหล่ออย่าทำ

หน้าสิบเก้า (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   สั่งสอนอันใดพึงจำ                อย่าได้ฝ่าคำ
   อันกล่าวนี้หนอจงตาม
   ครั้นดีเชื่องชาญในสนาม          กินผอกเหลือหลาม
   สนุกนิ อยู่หรรษ์
   อาภรณ์ประดับสรรพสรรพ์        คับควรทุกอัน
   กระพัตร(ะ) คนซองหาง
   ชนักแร่ง แลพนาศสำอาง           งามทั่วสรรพาง-
   ค(ะ) คล้อยดำเนินโสภา

หน้ายี่สิบ (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   เปนพาหนะสมเด็จราชา            ผ่านผ้าสีมา
   อรินทร(ะ) เรียบฤาเสบย
   ใต้ฟ้าฤาจะเปรียบปูนเลย         โอ้กรินีเอย
   ประเสริฐ(ะ) แลใดปาน
   ขอเทพารักษ์ทุกสถาน            จงช่วยบริบาล
   สถิตย์ทั้งทั่วสรรพางค์
   ฤาษีสิทธิ์สถิตย์บาศอย่าวาง       ทั้งสี่ในปาง
   นี้หนอจงช่วยรักษา

หน้ายี่สิบเอ็ด (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   ช้างใดต้องบาศอย่าคลา            ผลนั้นมหิมา
   ครั้นสิ้นชีวิตรไปสวรรค์
   ส่วนช้างพังพลายสบสรรพ์         ไป่ต้องบาศอัน
   พิเศษ(ะ) เลื่องฤาไกร
   จองอยู่ป่าดงพงไพร                 แผ่เผ่าพันธุ์ใน
   พนานต(ะ) ให้มากหลาย
   หนึ่งจงเลี้ยงม่าม อ่ามสาย           ลูกเต้าพังพลาย
   แลพรรค์ คเชนทร์ มากมี

หน้ายี่สิบสอง (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   จงชม พน(ะ) สณฑ(ะ)คิรี     ในไพรพงพี
   สนุกนิ เสนาะหัวใจ
   จงชมเทินธารนำ้ไหล         คล่าวคล้ายแสงใส
   แลออกแต่เงื้อมแง่เขา
   จงชมบึงบางเซราะเซรา      ที่ธารทางเทา
   แลเที่ยวมาจวบจบกัน
   จงชมพฤกษาหลายพรรณ    ต้นเรียบเรียงรัน
   แลร่ม ชร(ะ)อื้อใบบัง

หน้ายี่สิบสาม (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   จงชมดอกโดรทั่ว ทัง             ป่าปรือไพรกรัง
   สนุกนิ เร่งเชยชม
   ครั้นแล้วบาศ ธ ก็จะสม           สบบาศคือพรหม
   ไว้ประสิทธิ สบสรรพ์
   ส่วนเจ้าป่าดงพงษ์พันธุ์          เทพารักษ์อัน
   อเนก(ะ) ทั่วไพรกรัง
   ข้าขอฝากทั้งพลายพัง            อันได้ด้วยหวัง
   แลบาศไปคล้องตรึงตรา

หน้ายี่สิบสี่ (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

 จงเทพารักษ์รักษา          คุ้มเกรงกรุณา
   ตูข้าจะนำเอาไป
   ส่วนพระภูธรผู้ไกร         ขอลาพระไพร
   ไปยังอโยทธยาศรี
   จงสถาพรศุข(ะ)มากมี     ขอลาพระไพร
   หฤไทยมีหฤหรรษ์

   ทั้งนี้โสดองค์พระสรร-       เพชญ ไท้ทรงธรรม์
   เลิศ(ะ) นิ ลำ้ ไตรตรา

หน้ายี่สิบห้า (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

 แก้กลอนกัมพุชภาษา             แจงแจ้งเอามา
   เปนสยามพากย(ะ) พิไสย
   ฝ่ายข้างไสยสาตร(ะ) นี้ใคร        ฤาจะเปรียบปูนใน
   พระองค์ไท้ทรงธรรม์
   เมื่อเสร็จการอุดมกรรม์         ได้ช้างเผือกอัน
   วิสุทธิสารบวร
   ทุกเทพทั้งหลายชมอร          จึ่งอวยพระพร
   แก่พระผู้เลี้ยงโลกา

หน้ายี่สิบหก (แต่งโดยกาพย์ฉบัง ๑๖)

   พระชนมยืนมหิมา                   สิบร้อยพรรษา
   พระเกียรติ ลำ้ แสนกัลป์
   ศักดิสิทธิฤทธิเดชสบสรรพ์          โองการอันพรร-
   ณา ประสิทธิกิจการ

ที่มา: www.olddreamz.com, 777 แก้วสารพัดนึก,
๗๗๗ แก้วสารพัดนึก
หนังสือและเอกสารเก่าเหล่านี้มีแหล่งข้อมูลจาก ห้องสมุด "๗๗๗ แก้วสารพัดนึก"
ของคุณเจ็ตกรแห่ง geocities.com/kit119 ผู้มีความอุสาหะ วิริยะ ค้นหาและรวบรวมเอาไว้ ในรูปของ text files เนื่องจากเว็บไซต์ดังกล่าวอาจปิดตัวไปแล้ว เป็นที่น่าเสียดาย
จึงได้นำบางส่วนมาเก็บไว้ที่นี่เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าต่อไป
ขอได้รับความขอบคุณจาก Old Dreamz มา ณ ที่นี้ (1)

อ้างอิง
(1) ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง [cited 2008 December 12]. Available from: http://www.openbase.in.th/node/4939

หมายเลขบันทึก: 228965เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2008 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สุขสบายทั้งกายและใจ...ตลอดไป

สวัสดีปีใหม่พี่นุส และอาจารย์ประจักษ์ ครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ

ขอให้มีความสุข สุขภาพแข็งแรงครับ

ขอบคุณครับ ดุษฎี นี้กวินนำมาปริวัตร ใส่ ประวิสัญชนีย์ และแก้ไข บางคำให้ถูกต้อง จากเดิม ครับ

เอาแบบเนื้อหาเยอะๆๆๆๆอะมีไหม

*-*

ขอบคุนค่ะ

ที่เอามาลงนี้ก็ นำมาจากต้นฉบับที่มีคนพิมพ์ไว้แต่ไม่ได้ประวิสัญชนีย์ (ะ) จึงนำ (ะ) มาใส่ไว้พร้อมทั้งเว้นวรรคให้อ่านง่าย

ถ้าจะอ่านเนื้อหาเยอะคงต้องหาอ่านจากงานวิจัยที่คณะอักษร น่าจะมีคนวิจัยไว้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท