โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (3.2) คุณอุไร แอบเพชร


...ข้าวของเราไม่ได้สวยด้วยเคมี ต้นข้าวไม่ได้สวยงามแบบเขานะ ออกจะเกร็น แต่กลับได้เยอะกว่าเขา...
โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (3.1)

สุขภาวะนักเรียนชาวนา: อุไร แอบเพชร (ต่อ)

     เมื่อก่อน ตอนที่จะไปเรียน (โรงเรียนชาวนา) สะพายเป้ออกจากบ้านไป ก็ถูกแซวว่าคนบ้าไปอีกแล้ว ก็คิดในใจว่า ใครจะว่าบ้าก็ช่างมัน ไม่สนใจแล้ว โดนแซวเป็นปี คนรอบข้างมองแล้วก็หัวเราะกัน

     พี่สาวมาบ่นว่า ดูซิ...ทำไมไม่เอายาไปฉีดหญ้า หญ้ารกนาหมดแล้ว ซื้อยาฆ่าหญ้ามาให้ทำไมไม่เอาไปฉีด ก็เลยเอายาไปฉีด ปรากฏว่าข้าวบริเวณนั้นไม่ได้เลยนะ ส่วนตรงที่ไม่ฉีดกลับได้ข้าว

     ตอนนี้มีเสียงยอมรับขึ้นมาแล้วว่า ต้นทุนก็ไม่ได้มีอะไรนักหนา ยาอะไรก็ไม่ฉีดอย่างคนอื่นเขา ก็เห็นๆอยู่แต่เพียงว่าตอนเช้าหิ้วแกลลอน (ใส่น้ำหมักฮอร์โมน) ไป แต่กลับได้ข้าวมากกว่าใครๆ

     ปีนี้คนรอบข้างเริ่มมาจับรวงข้าวในนาของเราแล้ว ทำไมจึงมายืนดูข้าวในนาของเรา เพราะว่าข้าวของเราไม่มีเมล็ดลีบ ส่วนข้าวของเขา…สวยจริง เขียว...สวยด้วยสารเคมี แต่มีเมล็ดลีบถึงครึ่งหนึ่ง ข้าวของเราไม่ได้สวยด้วยสารเคมี ต้นข้าวไม่ได้สวยงามแบบเขานะ ออกจะแกรน เรียว แต่กลับได้เยอะกว่าเขา นาของเขา ๑๒ ไร่ ได้ข้าว ๙ เกวียน ส่วนนาของเรา ๑๐ ไร่ ได้ข้าว ๑๐ เกวียน แล้วตอนที่เอาข้าวไปขายนะ พ่อค้ามาดูบอกว่าข้าวของเราสวย เกลี้ยงมาก พ่อค้าพูดแค่นี้...เราภูมิใจมากเลย ... ไม่เสียแรงที่ไปเรียน เป็นนักเรียนชาวนา ภูมิใจมากๆ เป็นนักเรียนชาวนา ไม่ต่ำต้อย ภูมิใจ มีศักดิ์ศรี

     ตอนนี้ญาติๆเข้าเป็นนักเรียนชาวนาด้วย โดยเฉพาะพี่สาว ในช่วงก่อน (มีนาคม ๒๕๔๘) มาเอายาสมุนไพรไปใส่ข้าวซึ่งเป็นโรค เพราะเพลี้ยกระโดดลงนาทั้ง ๑๐ ไร่เลย ปรากฏว่าได้ผล ตอนนี้สามารถจูงใจพี่สาวได้อีกคนหนึ่ง (พูดและยิ้มด้วยความภูมิใจ) และคนรอบข้างก็มาสนใจ มาขอแบ่งน้ำหมักสมุนไพร ก็บอกเขาไปว่า อยากได้ก็มาเอา ถ้าเขาอยากทำก็จะฝึกหัดให้ ไม่หวง แต่ภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ได้กุศลด้วย ไม่อยากให้คนอื่นเขาตายผ่อนส่งแบบที่เคยเจอมา ให้คนอื่นพ้นทุกข์บ้าง

     ก่อนที่จะมาเป็นนักเรียนชาวนาไม่ได้มีการสังเกตข้าวในนาหรอกนะ ว่าต้นข้าวเกิดจากอะไร แล้วเป็นเพราะอะไรต้นข้าวจึงเป็นแบบนี้ แต่เดี๋ยวนี้เป็นคนช่างสังเกตแล้ว ทุกวันนี้ก็ไปเดินดูว่าต้นข้าวเป็นอย่างไร เรารู้จักสังเกตแล้ว แถมยังชอบไปสังเกตนาของน้า ๒ แปลง รวม ๕ ไร่ บอกให้เขาลองดู ให้แปลงหนึ่งใส่สารเคมี แล้วอีกแปลงหนึ่งไม่ใส่สารเคมี ใส่สมุนไพรแทน แล้วก็อธิบายให้เขาฟัง แถมยังเอาสมุนไพรต่างๆให้เขาใส่ บอกว่าลองดูนะ ... จนผลปรากฏ ไปเดินดูข้าวของน้า ทั้งข้าวที่ใส่สารเคมีและข้าวที่ไม่ใส่สารเคมี ข้าวที่ไม่ใส่สารเคมีนั้นสวยกว่า แล้วอย่างนี้จะเป็นเพราะอะไรล่ะ จะดูไม่ออกเชียวหรือ”

     คราวนี้ มาพิจารณาดูค่าใช้จ่ายต่างๆในการทำนาข้าวของคุณอุไร ซึ่งคุณอุไรให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า "ก่อนหน้านี้ ไม่ได้คิดถึงต้นทุน จะดีใจก็ตอนที่ได้ขายข้าว มีเงินในวันนั้น แต่พอไปจ่ายหนี้แล้วก็หมดเลย เหลือไม่ถึงเดือน ต้องทำงานอย่างอื่นใช้แทน ต้องเย็บผ้าเพื่อหาเงินเพิ่ม แต่ในช่วงปีสองปีที่เป็นนักเรียนชาวนานี้มีเงินเหลือถึง ๒ – ๓ หมื่น” ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็คงจะขอทบทวนและย้อนกลับไปดูต้นทุนการทำนาข้าวในปี พ.ศ.๒๕๔๖ กันก่อน อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่คุณอุไรจะมาเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนา โดยมีรายละเอียดทั้งรายจ่ายและรายรับ ดังนี้

ต้นทุนการทำนาในปี ๒๕๔๖ ก่อนเป็นนักเรียนชาวนา

รายการค่าใช้จ่ายส่วนที่ ๑ ค่าปุ๋ยเคมี สารกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ได้แก่

๑)

ค่าปุ๋ยยูเรีย (๕ ถุงๆละ ๕๘๐ บาท)

๒,๙๐๐

บาท

๒)

ค่าปุ๋ยสูตร (๕ ถุงๆละ ๔๕๐ บาท)

๒,๒๕๐

บาท

๓)

ค่าปุ๋ยเกล็ด (๓ ซองๆละ ๖๐ บาท)

๑๒๐

บาท

๔)

ยาคุมหญ้า (๒ ขวดๆ ละ ๒๕๐ บาท)

๕๐๐

บาท

๕)

ฮอร์โมน (๑ ขวด)

๑,๒๐๐

บาท

๖)

ยาฆ่าแมลง (๒ ขวด : ๔๕๐ บาท ๔๙๐ บาท)

๙๔๐

บาท

๗)

ยาฆ่าหอย (๑ กระสอบ)

๖๐๐

บาท

๘)

ยาฆ่าหอย (๑ ขวด)

๒๕๐

บาท

 

รวมค่าใช้จ่าย ส่วนที่ ๑

๘,๗๖๐

บาท

รายการค่าใช้จ่ายส่วนที่ ๒ ค่าจ้างต่างๆ ได้แก่

๑)

ค่าจ้างรถไถ (๑๐ ไร่ๆละ ๓๕๐ บาท)

๓,๕๐๐

บาท

๒)

ค่าจ้างรถเกี่ยวและขนข้าว (๑๐ ไร่ๆละ ๕๐๐ บาท)

๕,๐๐๐

บาท

 

รวมค่าใช้จ่าย ส่วนที่ ๒

๘,๕๐๐

บาท

รวมค่าใช้จ่ายทั้ง ๒ ส่วน

๑๗,๒๖๐

บาท

ลองคำนวณหาค่าเฉลี่ยต้นทุนต่อไร่อย่างง่ายๆ

=

ค่าใช้จ่าย ๑๗,๒๖๐ บาท

นา ๑๐ ไร่

     

จึงได้ค่าเฉลี่ยต้นทุนต่อไร่

=

๑,๗๒๖ บาท ต่อไร่

พอทราบรายการต่างๆในปี พ.ศ.๒๕๔๖ แล้ว มาดูรายรับรายจ่ายในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๗ – ๒๕๔๘ สามารถเปรียบเทียบต้นทุนการทำนาทั้ง ๒ ช่วง (ช่วงก่อนเป็นนักเรียนชาวนา กับช่วงที่เป็นนักเรียนชาวนา) ได้อย่างชัดเจนดังรายละเอียดต่อไปนี้

ต้นทุนการทำนาในปี ๒๕๔๗ – ๒๕๔๘ ระหว่างการเรียนรู้ - นักเรียนชาวนา

รายการค่าใช้จ่าย (ต้นทุนเฉพาะส่วนที่นำเงินสดไปจ่ายจริง) ได้แก่

(ต้นทุนเฉพาะส่วนที่นำเงินสดไปจ่ายจริง) ได้แก่

๑)

ค่าจ้างรถไถ (๑๐ ไร่ๆละ ๓๘๐ บาท)

๓,๘๐๐

บาท

๒)

ค่ายาคุมหญ้า (๒ ขวดๆ ละ ๒๕๐ บาท)

๕๐๐

บาท

๓)

ค่าปุ๋ยหมักชีวภาพ (๒ ตันๆละ ๖๐๐ บาท)

๑,๒๐๐

บาท

๔)

ค่าปุ๋ยยูเรีย (๒ กระสอบๆ ละ ๖๒๐ บาท)

๑,๒๔๐

บาท

๕)

ค่าจ้างรถเกี่ยวและขนข้าว (๑๐ ไร่ๆละ ๕๐๐ บาท)

๕,๐๐๐

บาท

 

รวมรายจ่าย

๑๑,๗๔๐

บาท

กำไรเบื้องต้น

๕๐,๒๖๐

บาท

ลองคำนวณหาค่าเฉลี่ยต้นทุนต่อไร่อย่างง่ายๆ

=

ค่าใช้จ่าย ๑๑,๗๔๐ บาท

นา ๑๐ ไร่

     

จึงได้ค่าเฉลี่ยต้นทุนต่อไร่

=

๑,๑๗๔ บาท ต่อไร่

และคำนวณหากำไรเฉลี่ยต่อไร่อย่างง่ายๆ

=

กำไรเบื้องต้น ๕๐,๒๖๐ บาท

นา ๑๐ ไร่

     

จึงได้กำไรเฉลี่ยต่อไร่

=

๕,๐๒๖ บาท ต่อไร่

ซึ่งต้นทุนเฉลี่ยต่อไร่ลดลงถึง ๕๕๒ บาท (๑,๗๒๖ – ๑,๑๗๔ บาท) หรือลดลงร้อยละ ๓๑.๙๘ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนกระบวนการทำนาในบางส่วนของคุณอุไร

และนี่จึงเป็นเรื่องราวที่น่ายินดีและน่าดีใจ เห็นคุณอุไร นักเรียนชาวนามีรอยยิ้มเกิดขึ้นทุกครั้งที่พูดถึงการทำนาข้าว รอยยิ้มของความภูมิใจในความเป็นชาวนา ศักดิ์ศรีของชาวนาที่คุณอุไรตามหา ไม่ได้เกิดจากใครอื่นๆมาบอก มาสั่ง มาหยิบยื่นให้ แต่เป็นศักดิ์ศรีที่เกิดขึ้นในใจและในตัวของคุณอุไรเอง และลูกสาวของคุณอุไรจะไม่เป็นลมเมื่อลงเล่นน้ำในนา สนุกที่จะเดินเล่นกลางนา พร้อมๆกับช่วยแม่ดูแลต้นข้าว แหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของครอบครัว ครัวใหญ่ของบ้าน เป็นคุณกิจที่มีสุขภาวะ และเป็นสุขภาวะนักเรียนชาวนาทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคตกาล

 

หมายเลขบันทึก: 22735เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2006 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท