เรื่องดีที่ มวล.: เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ อปท.


เมื่อผู้เล่าเล่าเรื่องเสร็จ ผู้ฟังช่วยกันตั้งชื่อที่สื่อสารเนื้อหาในเรื่องนั้นๆ กติกาคือให้โดนใจ

วันนี้ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีแสงแดดสดใสแต่เช้า หลังจากมีฝนตกต่อเนื่อง ไม่เห็นแสงแดดมาเกือบ ๔ สัปดาห์ ทำให้อารมณ์และจิตใจแจ่มใสมากขึ้น จึงขอเอาเรื่องราวการทำงานที่เก็บงำไว้เสียหลายวันมาเล่า

เมื่อวันที่ ๒๗-๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพชุมชนให้กับชาวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้ส่งและจะส่งเด็กในพื้นที่มาเรียนพยาบาลที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ณ โรงแรมลิกอร์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เราใช้งบประมาณที่ได้รับจากแผนงานสร้างพยาบาลของชุมชนโดยชุมชนฯ

เราเชิญนายกฯ และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสุขภาพชุมชนของ อปท.แห่งละ ๒-๓ คน ส่งจดหมายเชิญไปยัง อปท. จำนวน ๑๘ แห่ง ได้รับการตอบกลับ ๑๗ แห่ง ส่งรายชื่อผู้เข้าประชุมมาจำนวน ๓๓ คน ถึงเวลามีผู้เข้าประชุมจริงจำนวน ๒๕ คน จาก อบต. ๑๔ แห่ง เทศบาล ๓ แห่ง สาเหตุส่วนหนึ่งที่มากันได้ไม่มากไม่ครบ เพราะฝนตกหนัก บางพื้นที่มีน้ำท่วม

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑


การประชุมเริ่มตั้งแต่ ๑๐.๐๐-๑๗.๐๐ น. เราเริ่มช้าเพื่อรอผู้เข้าประชุมที่ต้องเดินทางมาไกล แต่เลิกเย็น และจัดที่พักให้ ๑ คืน ทีมจัดงานไปถึงโรงแรมแต่เช้า ดิฉันให้พนักงานของโรงแรมจัดห้องประชุมใหม่และเปิดห้องเพิ่มให้มีพื้นที่กว้างขวางขึ้น ไม่อึดอัด

แม้จะสั่งการและวาดผังการจัดห้องประชุมให้ผู้รับผิดชอบเตรียมงานดูแล้ว ก็ยังไม่ได้อย่างที่ต้องการ เนื่องจากคิดคนละแบบ พนักงานของโรงแรมบ่นเล็กน้อยว่าจัดห้องใหม่หลายรอบแล้ว แถมจะคิดค่าห้องที่เปิดเพิ่มแพงอีก จึงต้องบอกว่าถ้าคิดแบบนั้น ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ใช้บริการ ได้ผลที่ค่าห้องลดลง ๕๐% โดยพลัน

ดิฉันประชุมทีมทำงาน แนะนำบทบาทของ “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” ประจำกลุ่ม งานนี้ได้กะเกณฑ์อาจารย์พยาบาลให้มาทำหน้าที่คุณอำนวย มี ผศ.ดร.สายฝน เอกวรางกูร ดร.จิราภรณ์ สรรพวีรวงศ์ อาจารย์อุไร จเรประพาฬ และอาจารย์จรวย สุวรรณบำรุง เป็นโอกาสให้อาจารย์ได้เรียนรู้กระบวนการไปด้วย ส่วนทีม “คุณลิขิต” นั้นอาจารย์อุไรใช้กลุ่มที่ทำงานในชุมชนปากพูนด้วยกัน

กิจกรรมเริ่มด้วย BAR ตามที่น้องอ้อ วรรณา เลิศวิจิตรจรัส เคยใช้ (อ่านที่นี่) มีอาจารย์สายฝนและอาจารย์อุไร ช่วยทำกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนาน ให้ผู้เข้าประชุมเกิดความรู้สึกผ่อนคลายและเป็นกันเอง

ดิฉันดำเนินการต่อด้วย “กิจกรรมกระจก” ที่นอกจากจะฝึกการเล่าเรื่องและการฟังแล้ว ยังทำให้ผู้เข้าประชุมได้รู้จักกันมากขึ้น เดินสังเกตการณ์ดู ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่ปฏิบัติตามโจทย์ที่ให้ มี ๑ คู่ ที่สารภาพภายหลังว่าพูดคุยสอบถามการทำงานกันแทนที่จะเล่าเรื่องความประทับใจในวัยเด็กของตนเอง

 

กิจกรรมกระจก

คู่ที่เล่าและฟังกันอย่างจริงจังเป็นอย่างไรเราดูได้จากสีหน้าท่าทาง เมื่อผู้ฟังเล่ากลับได้เหมือนกับที่ตนได้เล่าออกไป สีหน้าและแววตาบอกว่า “ใช่เลย” พยักหน้าและยิ้มรับ.......บางคนถึงกับน้ำตาซึมเพราะฟังเรื่องของตนเองที่เพื่อนเล่ากลับแล้วรู้สึกว่าได้ทบทวนเรื่องเก่าๆ ของตนเองอีกครั้ง

ดิฉันใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที แนะนำการทำกิจกรรมในกลุ่มย่อย ที่ให้แต่ละคนเล่าเรื่องความสำเร็จหรือความประทับใจของตนในงานการดูแลสุขภาพชุมชน แนะนำวิธีการเล่าเรื่อง แนะนำวิธีการฟัง และการตีความ “ขุมความรู้” ในเรื่องเล่า ให้รู้จักบทบาทของ “คุณอำนวย” “คุณกิจ” และ “คุณลิขิต” งานนี้ไม่มีการพูดถึง "การจัดการความรู้" สักคำ

 

กิจกรรมผ่อนคลายก่อนเข้ากลุ่มย่อย <p style="text-align: left;">
ช่วงบ่ายเราแบ่งกลุ่มย่อยเป็น ๔ กลุ่ม มี “คุณกิจ” เพียงกลุ่มละ ๖-๗ คน พอเข้ากลุ่มแต่ละกลุ่มก็ตั้งชื่อกลุ่มของตนเองและหาสัญลักษณ์ของกลุ่ม ได้ชื่อว่า “กลุ่มปี ๑”  “กลุ่มไม่กลุ้ม” “กลุ่มแสนดี” และ “กลุ่มนกพิราบ” คาดว่าจะสามารถจบกิจกรรมกลุ่มย่อยได้เร็วเพราะกลุ่มเล็ก แต่พอทำจริงปรากฏว่าใช้เวลานานเกินกว่า ๑ ชม.ครึ่งเสียอีก เพราะแต่ละคนมีเรื่องเล่าเยอะและน่าสนใจ ผู้ฟังก็ซักถามรายละเอียดกันมาก</p> <p style="text-align: left;"> </p> <p style="text-align: center;"> </p><table border="0"><tbody>

</tbody></table> บรรยากาศในกลุ่มย่อย

ดิฉันนั่งฟังเรื่องเล่าของ “กลุ่มแสนดี” เมื่อผู้เล่าเล่าเรื่องเสร็จ ผู้ฟังช่วยกันตั้งชื่อที่สื่อสารเนื้อหาในเรื่องนั้นๆ กติกาคือให้โดนใจ ได้เรียนรู้เรื่องราวดีๆ หลายเรื่องคือ “บันทึกรักจาก อสม.” “คัดกรองด้วยใจ ห่วงใยจาก อสม.” “ครอบครัวอบอุ่น” “สุขภาพจิต สุขภาพใจ ผู้สูงวัย ผู้สูงอายุ” “Party ชุมชน” “เยาวชนสัมพันธ์ สร้างสรรค์ชุมชน” “เกลอข้ามรุ่น” บรรยากาศดี เป็นกันเองมากๆ ทุกคนดูเท่ากันไปหมดไม่ว่าจะเป็นนายก ผอ.หน่วย หรือเจ้าหน้าที่ 

หลังพักรับประทานอาหารว่าง แต่ละกลุ่มส่งตัวแทน “คุณกิจ” มานำเสนอว่าในกลุ่มของตนมีเรื่องเล่าอะไรบ้าง มีความน่าสนใจอย่างไร ต้องยอมรับว่าคนทำงานท้องถิ่น นำเสนอเก่งจริงๆ ยิ่งคนที่เป็นนายก อบต. ยิ่งเก่ง เช่น นายวุฒิชัย เลิศไกร นายก อบต.ไทรโสภา จ.สุราษฎร์ธานี กิจกรรมช่วงนี้ใช้เวลาไปกว่า ๑ ชม.

 

ลีลาการแนะนำตนเองของกลุ่มนกพิราบ

ช่วงสุดท้าย เดิมกำหนดไว้ ๒ กิจกรรมคือให้นักศึกษาทุน อปท. ปี ๑ และ ปี ๒ จำนวน ๑๒ คนมานำเสนอว่าเขาได้เรียนอะไรไปแล้วบ้างและเล่าประสบการณ์ที่ได้ไปดูงานที่น้ำพอง จ.ขอนแก่น และพูดคุยกันเรื่องกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่นักศึกษาจะลงไปทำในชุมชนช่วงปิดเทอม แต่เวลาไม่พอ เราจึงให้นักศึกษานำเสนออย่างเดียว ส่วนเรื่องที่ว่าจะไปอะไรในชุมชนช่วงปิดเทอม ให้คุยกันที่โต๊ะอาหารมื้อเย็น กลายเป็นเรื่องดีไปอีกแบบ ชาว อปท. ดีใจที่ได้พบและพูดคุยกับนักศึกษาที่ตนส่งมาเรียนอย่างใกล้ชิด

 

นักศึกษานำเสนอประสบการณ์ของตนเอง

การประชุมวันนี้ผ่านไปด้วยดี ชาว อปท.ทุกคนที่เข้าประชุม ร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่ ไม่มีใครหนีกลับก่อนเลย อาจารย์อุไรเล่าให้ฟังวันหลังว่าตอนอยู่ในรถตู้ที่พาไปดูงานในวันรุ่งขึ้น ได้ยินเขาโทรศัพท์คุยกันว่ามาประชุมครั้งนี้ได้อะไรเยอะ

วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๑


วันนี้เป็นวันของการพาศึกษาดูงาน มีอาจารย์อุไรและทีมงานเป็นผู้รับผิดชอบ ช่วงเช้าไปดูงานเรื่องการพัฒนาระบบสุขภาพแบบชุมชนมีส่วนร่วม ที่ อบต.ปากพูน ซึ่งได้รับการถ่ายโอนภารกิจสาธารณสุขแล้ว ส่วนช่วงบ่ายไปดูงานการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน กรณีที่ อปท.ยังไม่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจสาธารณสุขที่ ศูนย์แพทย์นบพิตำ

ฝนยังตกมาก ผู้เข้าประชุมไปดูงานช่วงเช้ากันเกือบครบ แต่ช่วงบ่ายมีบางทีมขอกลับไปก่อน

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 227323เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2008 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท