dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

การฝึกกระบวนการคิดในเด็กปฐมวัย


กระบวนการคิด เด็กปฐมวัย

การฝึกกระบวนการคิดต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย

                                                                               

                                                                                

 

            พูดถึงกระบวนการคิดถือเป็นการพัฒนาการทางสติปัญญา   มีงานวิจัยพบว่าระดับสติปัญญาเด็กไทยลดลง เป็นโอกาสดีของพวกเราซึ่งอยู่ในวงการศึกษาต้องเริ่มทำงานกันอย่าง    จริงจังโดยเริ่มพัฒนากันตั้งแต่ปฐมวัย   ทุกส่วนต้องร่วมมือกันแล้วไม่ว่าครอบครัว   ชุมชนและ โรงเรียนที่จะกล่าวในที่นี้คือ  โรงเรียนจะมีส่วนอย่างไรบ้าง  ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจสติปัญญาที่พูดถึงกันนั้น  หมายถึงความสามารถทางสมองของบุคคลในการเรียนรู้  การคิดหาเหตุผล  การคิด ตัดสินใจ  การแก้ปัญหา  ตลอดจนการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์  ดังนั้นการที่จะพัฒนา   สติปัญญาของเด็กปฐมวัย  เพื่อจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ  เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ  ซึ่งต้องมีการพัฒนาความคิดกัน

            การพัฒนาความคิด  มีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่าน  พอสรุปได้ว่าเป็นกลไกของสมองที่เกิดขึ้นเกือบตลอดเวลาเป็นไปตามธรรมชาติ  เป็นผลที่เกิดจากที่สมองถูกรบกวนจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว  และประสบการณ์ดั้งเดิมส่วนตัวในการพัฒนาความคิดนั้นมีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  การคิดแก้ปัญหา  ไม่ใช่อยู่ดี    แล้วเด็กจะพัฒนาทางความคิดได้เลย  ครูมีส่วนช่วยได้มากในแง่ของการสนับสนุนและให้แนวทางเด็กในการเรียนรู้วิธีการคิด  เช่น  วิธีสอนโดยให้เด็กได้ลงมือกระทำและปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ซึ่งดิวอี้  (Dewey)  เพียเจท์  (Piaget)  และบรูเนอร์  (Bruner)  มีความเห็นสอดคล้องกันว่ากระบวนการพัฒนาทางสติปัญญานั้นควรให้เด็กได้เรียนรู้โดยการกระทำ Learning  by  doing  ปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับสิ่งแวดล้อม และค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเอง  ดังนั้นกิจกรรมต่าง    ที่จะฝึกให้เด็กมีการพัฒนากระบวนการคิด  ผู้ใหญ่ครู  และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องคอยสนับสนุนให้เด็กได้ทำด้วยตนเอง  ได้คิด  ได้สัมผัสกับสิ่งที่มาปะทะกับตนเอง  แก้ปัญหาด้วยตนเอง  ทั้งนี้ผู้ใหญ่จะละเว้นปล่อยให้เด็กทำอย่างถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้  งานที่ให้เด็กทำต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก  เช่น  การวาดภาพระบายสี  ปั้นดินน้ำมัน   การทำงานประดิษฐ์ง่าย ๆ  ที่เกิดจากความสนใจและความต้องการ  เป็นต้น    การให้เด็กคิดตัวหนังสือหรือการเขียนตัวเลขตามแบบเป็นกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยของเด็กเลย  ที่สำคัญไม่เป็นการพัฒนากระบวนการคิดในเด็กปฐมวัย  กลับทำให้เด็กเบื่อ  ไม่น่าสนใจและทำให้ไม่อยากเรียนรู้อีกต่อไป

            มีปราชญ์ที่เป็นที่เคารพนับถือของคนไทยได้พูดเกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการคิด  ท่านพูดถึงการฝึกกระบวนการคิดต้องเริ่มตั้งแต่ที่บ้านเลย  เป็นข้อความที่น่าจะนำมาคิดและนำมาปฏิบัติคือ  ท่านพระธรรมปิฏก  (ป.อ.ปยุตโต)  (2546)  ท่านกล่าวในหนังสือรุ่งอรุณของการศึกษา  เกี่ยวกับกระบวนการฝึกคิดให้กับเด็กต้องเริ่มตั้งแต่ครอบครัวก่อนที่จะถึงโรงเรียน คือเราต้องมีการฝึกความคิดแล้ว  เพราะการคิดมันมีทางแยกไประหว่างรู้จักคิดกับไม่รู้จักคิด

            เด็กมีความพร้อม หรือมีศักยภาพที่จะเดินได้ทั้งสองสายแล้วแต่ว่าจะมีผู้ชี้แนะหรือไม่ เด็กบางคนอาจจะเก่งมาก  จนกระทั่งว่าถึงจะไม่มีผู้ชี้แนะ แกก็ไปได้  แต่ส่วนมากจะต้องมีผู้ชี้แนะ  ผู้ชี้แนะจะช่วยนำทางความคิด

            ยกตัวอย่างเช่น  พ่อแม่  พาเด็กไปร้านขายของ  แค่นี้ก็เป็นการให้การศึกษาแล้ว  พอไป    เห็นของเด็กก็ตื่นตาตื่นใจ  โดยมากจะตื่นกับสี  เช่น  สีเขียว  สีแดง  ซึ่งเป็นสิ่งที่ชัดเจน  ทำให้เกิดความรู้สึกมาก  เมื่อเห็นสีต่าง ๆ  และเห็นของที่แปลก    โดยรูปร่าง  ทรวดทรง  เป็นต้น  แกก็  สนใจ  เด็กจะมีทั้งความอยากบริโภคและอยากทำ  หรืออยากผลิตอยู่ด้วยกัน  อย่างน้อยก็อยากรู้  ตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะนำเด็กไปทางไหน

            พ่อแม่ส่วนมาก  เอาในเมืองไทยเราก่อน  พอเด็กเห็นและสนใจพ่อแม่มักจะบอกว่า  โอ      อันนี้สวยกว่า  อันนั้นสวยกว่า  อย่างนี้ดีกว่า  เอาอันนี้ดีกว่า  สวยกว่าอันนั้น อะไรต่าง ๆ มักจะอยู่แค่นี้  ไม่ค่อยนำความคิดไปในเชิงที่จะให้รู้ว่านี่คืออะไร  ใช้ทำอะไร  และนำมาได้อย่างไร  ต่อไปจนกระทั่งเมื่อรู้มากขึ้นก็ให้รู้จักแยกว่าอันนี้มีแง่ดีอย่างนี้  อันโน้นมีแง่ดีอย่างนั้น  ดีกว่ากันในแง่  นี้     ทำให้มีความคดในเชิงวิเคราะห์ต่อไป

            ฉะนั้น  การศึกษาในครอบครัวจึงสำคัญมาก  ยังไม่ถึงโรงเรียนหรอก  เด็กจะได้ฝึกฝน     ในทางความคิดไปแต่ต้นแล้ว  ถ้าได้รับการชี้ช่องแบบแรก  เด็กจะไม่ได้พัฒนาศักยภาพทางความคิด  แต่จะมุ่งบริโภคหรือสนองความอยากอย่างเดียว  เห็นอะไรก็อยากได้  อยากใช้  อยากบริโภค  เอาสวยเอางามเข้าว่า แล้วค่านิยมบริโภคก็เกิดขึ้น  แต่ถ้าฝึกให้เด็กรู้จักคิดด้วยการซักถามเป็นต้นบ้าง  หรือเราบอกแนะบ้าง  ว่าที่คิดอะไร  เขาใช้ทำอะไร  เขาทำมาอย่างไร  เด็กก็จะได้ข้อมูลความรู้และพัฒนาความคิดต่อไป  นี่เป็นเรื่องของชีวิตประจำวันเลยทีเดียว  จะเป็นการพัฒนา   ตัวเองอยู่เรื่อยตลอดเวลา

            คนที่รู้จักคิดแบบนี้  จะพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาด้วยการคิดนั้น  เพราะคนย่อมมี่เรื่องเข้ามาด้วยประสบการณ์ต่าง ๆ  อยู่เสมอ  การพัฒนาตนจึงเป็นไปเองอย่างเพิ่มทวีโดยอัตโนมัติ     ในขณะที่อีกคนหนึ่งย่ำอยู่กับที่ และที่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างบุคคลว่าทำไมคนจึงแตกต่างกันออกไปได้อย่างมากมาย

 

 

หมายเลขบันทึก: 227320เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2008 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขออนุญาต วางเนื้อหาใน www.noonoy.ning.com นะครับ

พรพรรณ เฉลาชาญชัยยุทธ์

การฝึกกระบวนการคิดตั้งแต่เริ่มในประถมวัยเป็นการกระตุ้นสมองให้เด็กมีความคิดและพัฒนาสมองให้มีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่

การพัฒนาสมองของเด็กในวัยนี้ เป็นสิ่งที่ดีเพราะสามารถที่จะต่อยอดทางความคิดให้กับเด็ก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทความมีประโยชน์ต่อการฝึกกระบวนการคิดของเด็กมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท