50 ปีแห่งการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดี


ตั้งต้น เติบโต ต่อยอดเมล็ดพันธุ์แห่งความดี

ตั้งต้น เติบโต ต่อยอดเมล็ดพันธุ์แห่งความดี

        นับตั้งแต่โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ได้ก่อตั้งขึ้นมาด้วยอุดมการณ์อันแน่วแน่มั่นคงของสองนักการศึกษา ที่ถือได้ว่าเป็นปูชนียาจารย์ในวงการศึกษาไทย คือ ท่านอาจารย์ดร.จิระพันธุ์    พิมพ์พันธุ์  และท่านอาจารย์ปรีชา  พิมพ์พันธุ์ อดีตมหาบัณฑิตทางการศึกษา จากมหาวิทยาลัย อลาบามา สหรัฐอเมริกา เป็นเวลากว่า ๕๐ ปี  ตลอดระยะเวลาอันยาวนานท่านทั้งสองได้ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ และจิตวิญญาณความเป็นครูให้กับครูอาจารย์ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ทั้งยังได้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี จนเป็นที่เคารพนับถือ ศรัทธา และได้รับการสืบสานอุดมการณ์มาอย่างต่อเนื่องตราบเท่าทุกวันนี้

        ด้วยการถ่ายทอดจิตวิญญาณของความเป็นครูของท่านทั้งสองยังจดจำอยู่ในใจของพวกเราชาวจิระศาสตร์ทุกคน ความว่า...

          การเป็นครูโรงเรียนจิระศาสตร์นั้น    ต้องมุ่งมั่นในเรื่องศักดิ์ศรี

จะทำการสิ่งใดต้องให้ดี                แม้จะสิ้นชีวียอมพลีเอย

                วิญญาณความเป็นครูจิระศาสตร์วิทยา ทุกคนรู้สึกว่า ชีวิตของพวกเรานั้นคือโรงเรียนอย่างแท้จริง  และโรงเรียนก็ให้ชีวิตอย่างแท้จริง  ถ้าไม่มีโรงเรียน ไม่มีครูก็ไม่มีความรู้  ไม่มีวิทยาการใดๆ  และถ้าไม่มีความรู้  ไม่มีวิทยาการ ก็เหมือนไม่มีชีวิต  โรงเรียนคือชีวิต  เพราะโรงเรียนให้ความรู้  ให้ชีวิตใหม่แก่ทุกคน ชีวิตครูจิระศาสตร์จึงต้องทุ่มเทให้โรงเรียนด้วยเลือดเนื้อและจิตวิญญาณความเป็นครู  เพราะโรงเรียนมีนักเรียน ครูทุกคนจึงรักโรงเรียน  รักนักเรียนดั่งรักชีวิตของตน  และได้ตระหนักอยู่เสมอว่าท่านผู้ปกครองคือผู้มีพระคุณ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่นำมาใช้จ่ายเป็นเงินเดือนครู บุคลากร และนำมาพัฒนาโรงเรียนได้มาจากค่าธรรมเนียมการเรียน  จึงถือได้ว่า ท่านผู้ปกครองคือเจ้าของโรงเรียน นี้โดยตรง

        

       พวกเราตระหนักดีว่าไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต  ครูย่อมมีความสำคัญต่อสังคม  และประเทศชาติ กล่าวคือนอกจากครูจะต้องมีหน้าที่เป็นผู้สอนนักเรียนให้มีความรู้ ความสามารถด้านวิชาการต่าง ๆ แล้วครูยังต้องรับบทบาทในการพัฒนาประเทศชาติในด้านต่าง อีกมากมาย  เช่น การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนาและวัฒนธรรม

             ดังนั้นครูจึงต้องรับบทบาทในการสร้างสังคม  ให้มีความเจริญก้าวหน้า หากครูให้การศึกษาแก่สมาชิกของสังคมอย่างไร  สังคมก็จะเป็นอย่างนั้น เช่น การให้การศึกษาเรื่องระบอบประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง  สังคมก็จะเป็นประชาธิปไตย   ดังพระราชาโชวาทของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร  ความตอนหนึ่งว่า

                หน้าที่ของครูนั้นเป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเป็นการปลูกฝังความรู้ความคิดและจิตใจให้แก่เยาวชน  เพื่อที่จะได้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองดีและมีประสิทธิภาพของประเทศชาติในกาลข้างหน้า   ผู้เป็นครูจึงจะจัดได้ว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทเป็นสำคัญในการสร้างสรรค์  บันดาลอนาคตของชาติบ้านเมือง 

          จากพระราโชวาทดังกล่าวข้างต้น   เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นถึงความสำคัญของครู  ที่มีต่อความเจริญของบุคคล และชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง   ซึ่งการการพัฒนาคนจะดำเนินไปอย่างถูกต้องก็เพราะมีระบบการศึกษาที่ดี  และระบบการศึกษาจะดำเนินไปด้วยดีก็ต้องอาศัยครูที่มีคุณภาพ   การพัฒนาทุกด้านก็จะประสบความสำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว  ในทางตรงกันข้ามถึงแม้เราจะมีหลักสูตรที่ดี  มีอาคารเรียนที่ทันสมัย มีวัสดุอุปกรณ์พร้อมเพรียง   แต่ทว่าหากในสถานศึกษามีครูไร้คุณภาพแล้ว การพัฒนาการศึกษาจะเป็นไปอย่างล่าช้า และยากยิ่ง

       ท่านอาจารย์ปรีชา พิมพ์พันธุ์ เคยกล่าวไว้สรุปได้ใจความว่า เมื่อเราจะทำอะไร ให้ทำอย่างจริงใจ ไม่มีการสร้างภาพ ทำอย่างมีสติแล้วจะเกิดปัญญา เห็นแนวทางในการแก้ปัญหา แต่ถ้าเราไม่ได้ทำสิ่งใด ๆ ด้วยความจริงใจ  ทำอย่างสร้างภาพ  ปัญหาจะไม่หมดไป กลับจะหมักหมมมากขึ้น

          ท่านอาจารย์ ดร.จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ กล่าวว่า  คนที่มีความสุขในการทำงาน เขาจะพึงพอใจกับผลของงาน ที่ทำ  ซึ่งถ้าเราเปรียบเทียบกับชีวิตครูในปัจจุบันนี้ ครูที่วันหนึ่ง ๆ คิดค้น หาวิธีที่จะสอน จะอบรมบ่มนิสัย ให้นักเรียนเป็นคนเก่ง คนดี มีจำนวนไม่น้อย  บางครั้งการมองปัญหาในภาพรวมจะเห็นปัญหาทุกอย่าง เด็กในห้องเรียนมีปัญหาอย่างหลากหลายจะแก้กันอย่างไร   ถ้าเรามาจัดระบบ ความสำคัญเร่งด่วนของปัญหา  แล้วลงมือแก้ทีละจุด  ถ้านักเรียนคนที่เราแก้ปัญหาเขาดีขึ้นในระดับหนึ่ง กำลังใจย่อมจะก่อเกิดขึ้นในตัวครูผู้นั้น  แล้วจะเกิดการฮึดสู้ปัญหาขึ้นมา ความภาคภูมิใจ จะเปล่งประกายออกมาทางใบหน้า ดวงตา จะเกิดแรงกาย แรงใจ ในการแก้ปัญหาของนักเรียนคนต่อไป แก้ปัญหาไป คิดค้นหาวิธีไป  พูดคุย บอกเล่ากับเพื่อนครูไปในลักษณะปรึกษาหารือนี่เป็นภาพลักษณ์ของอาชีพที่เรียกว่าอาชีพชั้นสูง (professional)  ไม่ใช่อาชีพธรรมดาแต่เป็นอาชีพที่สูงส่ง  ซึ่งใครจะมาดูหมิ่นเหยียดหยามไม่ได้

          การช่วยเหลือดูแลนักเรียน ครูก็ต้องดูแลเอาใจใส่ คือเอาใจของเราเข้าไปใส่ ในใจของเขา  ครูไม่ชอบอะไร นักเรียนก็ไม่ชอบสิ่งนั้น   สิ่งหนึ่งที่เห็นว่าครูควรปฏิรูปก่อน คือ ต้องคิดให้ได้ว่านักเรียนเป็นผู้รับบริการ ครูคือผู้ให้บริการ  คือให้เขาได้รับความรู้ไปเต็มตามหลักสูตร และแทรกคุณธรรม จริยธรรม ในลักษณะบูรณาการ โดยสอดแทรกอย่างกลมกลืน หาตะเข็บต่อไม่ได้  และที่สำคัญ ควรต้องทำให้ห้องเรียนเป็นสวรรค์ของเขา        

            ถึงเวลาแล้ว ที่เราควรมาใช้แนวทางของท่านมหาตมะ คานธี  ต้องคิดจริง ทำจริง แก้ปัญหาจริง ไม่สร้างภาพ ต้องใช้สติ  ไม่บ่น รำพึงรำพัน  ไม่เพ้อเจ้อ เจื้อยแจ้ว กันอีกต่อไป ใครจะปฏิรูปกันอย่างไร  ครูจิระศาสตร์ของเราก็ไม่หวั่นไหว ถ้าเราได้ทุ่มเทอย่างถึงที่สุดแล้ว    เราทุกคน มีสมอง กับสองมือ กับหนึ่งหัวใจ ถ้าเราได้ทำทุกอย่างโดยไม่ทรยศต่ออาชีพของเราแล้ว  อะไรจะเกิดก็ให้เกิด เราจะไม่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลังกับสิ่งที่เราทำ หรือยังไม่ได้ทำ

          จากคำกล่าวที่ว่า ครูคือเรือจ้าง บรรทุกผู้โดยสารเต็มลำ คัดท้ายพายอย่างประณีต บรรจง สุดแรงเกิด มุ่งมั่นที่จะพาเรือลำนั้นแล่นตัด ฝ่ากระแสน้ำอันเชี่ยวกราก ให้ผู้โดยสารทุกคนไปขึ้นฝั่ง   นั่งเรือลำต่อไปเพื่อ ไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่มุ่งหวังไว้ให้จงได้  

          ก่อนจบบทความ  ขอฝากบทกลอนให้คุณครูที่มีอุดมการณ์ทุกท่านไว้เป็นข้อคิด    และมีกำลังใจในการทำงานเพื่อการศึกษาต่อไป     
        
คนเป็นครูนั้นเป็นครูไม่รู้จบ          แม้จะพบวันเกษียณเปลี่ยนทางฝัน  
   
ชีวิตครูมีเลือดครูอยู่ทุกวัน                 รักผูกพันลูกศิษย์เป็นจิตใจ
   
ความมุ่งหวังเต็มหัวใจไม่เคยหมด                แบบฝึกหัดแต่และบทยังสดใส
   
งานของครูพัฒนามายาวไกล            และจะยังยิ่งใหญ่ไปนิรันดร์ 

         ห้าสิบปีจิระศาสตร์มาบรรจบ                   น้อมเคารพปณิธานอันแม่นมั่น

    แม้นมีอุปสรรคขวากหนามจักฝ่าฟัน                 เพื่อต่อยอดเมล็ดพันธุ์แห่งความดี

    ขอกุศลผลบุญหนุนนำส่ง                            ให้มั่นคงก้าวหน้ามีราศรี

    จิระศาสตร์ต้องยึดมั่นในความดี             แม้จะสิ้นชีวียอมพลีเอย.

 

หมายเลขบันทึก: 227276เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2008 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 13:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท