จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

อิ่มใจที่กลันตัน


เขียนเล่าเรื่องอิ่มท้องไปแล้วนะครับ ว่าไปกลันตันรอบนี้มีอะไรให้อิ่มท้องไปบ้าง เดิมทีบันทึกฉบับนั้นจะเขียนเรื่องอิ่มใจไปพร้อมกันครับ แต่ดูท่าว่าจะยาวเลยแยกมาเขียนต่างหาก และความจริงยังไม่อยากเขียนคืนนี้ครับ เพราะตั้งใจจะเขียนรายงานให้เสร็จ แต่บังเอิญมีคนโทรมาคุยให้เสียกำลังใจ เลยเปลี่ยนใจเขียนเล่าเรื่องกลันตันดีกว่า (เผือจะอารมณ์ดีขึ้นพอจะไปเขียนรายงานวิจัยต่อได้)

ทีมวิจัยตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นครับว่า งานวิจัยกลันตันจะต้องสัมภาษณ์มุขมนตรีแห่งรัฐกลันตัน โต๊ะคูรูนิอับดุลอาซีสครับ และก็คิดกันว่าจะสัมภาษณ์เป็นท่านแรก ปรากฏว่าต้องเจอโรคเลื่อนตลอดครับ เนื่องจากท่านไม่สบายบ้าง ท่านติดประชุมในรัฐอื่นบ้าง สุดท้ายครั้งก่อนหน้านี้ก็พลาดอีกครั้ง แล้วก็เลื่อนมาเป็นวันที่สามสิบครับ ผมก็เลยบอกหัวหน้าทีมว่า ไม่เจอรอบนี้ก็ไม่พบแล้วนะครับ ฮิฮิ ไม่ใช่อะไรหรอกครับ สงสารท่าน เนื่องจากนอกจากท่านจะภารกิจเยอะแล้ว สุขภาพท่านก็ไม่ค่อยดีด้วยครับ

แต่แล้วรอบนี้ไม่พลาดครับ อัลฮัมดุลิลลาห์ เริ่มจากตอนเช้าของวันที่สามสิบครับ ผมได้รับการติดต่อจาก ดร.ดวลนะว่าให้ไปท่านรับก่อนที่ราตาปันยัง (ชายแดนด้านสุไหงโกลก) เนื่องจากท่านติดน้ำท่วม ไม่สามารถเอารถท่านออกมาจากบ้านได้

(ภาพนี้เป็นภาพตอนช่วงเย็นแล้วครับ ทีมวิจัยเดินทางกลับปัตตานี ซึ่งน้ำเริ่มจะลดแล้ว)

ผมขับรถออกจากโกตาบารูตอนเก้าโมงครับ ใช้เวลามากกว่าปกติเนื่องจากฝนตกตลอดทาง แล้วก็ได้รับคำอธิบายจาก อ.แมว่า เส้นทางที่ผมใช้นั้นเป็นทางเก่า แต่ทางใหม่นั่นท่านก็จำไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหนของโกตาบารู ซึ่งพอบอกอย่างนี้ผมก็นึกออกว่า จริงด้วย เพราะตอนมาจากราตาปันยังในการมาเก็บข้อมูลครั้งแรก ผมจำได้ว่า ไม่ต้องเข้าเมืองปาเสมัส แต่ตรงมายังโกตาบารูเลย แต่ตอนที่ผมกลับครั้งก่อนโน่นต้องเข้าเมืองจนผมคิดว่าผมหลงทางแล้ว ฮิฮิ

หลังจากไปรับดร.ดวลนะเรียบร้อยแล้วก็กลับมาเข้าเมืองโกตาบารูอีกครั้ง แล้วทางผู้ประสานงานของพรรคบาสก็โทรมาถามว่าอยู่ที่ไหนแล้ว ซึ่งก็ไปเจอกันตรงจุดนัดพบครับคือที่ทำการพรรคบาสในเมืองโกตาบารู

ปรากฏก็ต้องรอนานพอสมควรครับ เนื่องจากโต๊ะครูกำลังบรรยายอยู่ ผมเลยเก็บภาพการนั่งรอในห้องรับรองครับ

(ภาพนี้ อ.แม ถ่ายให้ผมครับ)

หลังจากนั้นเราก็ได้เข้าพบโต๊ะครู ยอมรับเลยครับท่านเป็นคนสมถะจริงๆ ถึงแม้ว่าที่ทำการรัฐจะหรูหร่ามาก แต่ในห้องท่าน ไม่มีการเปิดไฟเปิดแอร์ทิ้งไว้ และมีหลายอย่างที่ผมเห็นแล้วทึ่งครับ

พอท่านรู้ว่า เรามาทำอะไรจากการแนะนำของผู้ประสานงาน ท่านก็ไม่รอให้เราถามก่อนครับ ท่านเล่าแนวคิดของท่านทันทีครับ สิ่งที่ผมประทับใจคือ นี่คือความแตกต่างของผู้รู้ที่มาทำงานการเมืองกับคนไม่รู้หรือคนทั่วไปทำงานการเมือง ทุกอย่างของแนวคิดท่านในการปกครองรัฐ อ้างอิงกับอัลกุรอานและหะดีษได้ทุกแนวคิดเลยครับ ดังนั้นทีมวิจัยไม่ต้องถามอะไรมากครับ ท่านเล่าได้ครับถ้วนเลย

พอท่านพูดเสร็จ เราก็ทักถามจากเหตุการณ์ที่เราเจอในภาคสนามครับ แล้วท่านก็แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เราถาม ส่วนผมรอบนี้นั่งฟังอย่างเดียวครับ ไม่กล้าโชว์ความสามารถทางภาษามลายูกับโต๊ะครู ฮิฮิ ดังนั้น อ.แมจะหันมาถามผมว่า ผมจะถามอะไร ผมก็บอกเป็นภาษาไทยไป แล้ว อ.แมถามท่านโต๊ะครูเป็นภาษามลายูอีกทีหนึ่ง ฮือ เห็นมัย ทักษะมลายูผม ฮือฮือ

ซ้ายมือสุด เป็นผู้ประสานงานให้กับทีมวิจัยตั้งแต่ต้นเลยครับ (แล้วก็เป็นคนพาเราไปเลี้ยงอาหารอาหรับครับ) แล้วเราก็ประทับใจของที่ระลึกที่ท่านให้เรามากครับ นั้นคือ หนังสือรวมปาถกถาของโต๊ะครู ซึ่งท่านบอกว่า นโยบายที่เป็นตัวอักษรไม่มี แต่ที่พูดไปทั้งหมดนั้นคือนโยบายที่จะทำให้เกิดให้ได้ ซึ่งตอนนี้ทีมงานของท่านรวบรวมเป็นเล่มอย่างหนาเลยครับ

สุดท้ายที่ท่านโต๊ะครูฝากให้กับเราเป็นสิ่งที่ประทับใจสุดๆ ครับ ท่านยกอัลกุรอานบทที่ว่า "ไม่มีการบังคับกันในเรื่องศาสนา" แล้วท่านก็อ่านวรรคต่อไปให้เราฟัง พร้อมบอกว่า คนมักจะยกอัลกุรอานบนนี้มาอ้างเพียงครึ่งเดียว แต่ความจริงนัยสำคัญมันอยู่วรรคหลัง แล้วก็สิ่งเหล่านั้นเป็นหน้าที่ของนักวิชาการอย่างท่านๆ (หมายถึงเราด้วย)

ดร.ดวนะ คุยกับผมว่า อิ่มใจจริงๆ ที่ได้รับฟังคำตักเตือนจากโต๊ะครู ผมก็ว่าจริงอย่างท่านคิดครับ

(มุมจากลานจอดรถใต้อาคารที่ทำการรัฐ)

 

(รอรถครับ คนละมุมกัน อ.แมและดร.ดวนะ)

เสร็จภาระกิจที่กลันตัน เราก็เดินทางกลับครับ โดยใช้เส้นทางราตาปันยัง ส่วนในใจนั้นลุ้นว่า น้ำท่วมที่นั่นคงลดแล้ว หากไม่ลดก็คงต้องย้อนกลับไปออกทางตาบาอีกครั้ง แต่ก่อนที่จะไปถึงราตาปันยัง มีคนโทรมารายงานว่า ที่ตุมปัต (ทางไปตาบา) น้ำท่วมแล้ว ดังนั้นเรามีทางเลือกเดียวครับคือต้องผ่านออกทางราตาปันยังให้ได้ครับ

อัลฮัมดุลิลลาห์ครับ น้ำลดแล้ว เราออกจากมาเลย์ได้ แต่แล้วที่หนักสุดคือ ในประเทศไทยครับ เส้นทางจากนราธิวาสไปปัตตานี มีท่วมเป็นระยะๆ ครับ โดยเฉพาะที่บาเจาะครับ น้ำท่วมเกือบถึงหัวเข่า ฮือ เป็นครั้งแรกของชีวิตเลยครับที่ขับรถลุยน้ำลึกขนาดนี้ แล้วก็เส้นทางน้ำท่วมเป็นกิโลเมตรครับ

ต้องขอบอกว่า ระหว่างขับไปก็ตัสเบียะห์ไปด้วยครับ ลุ้นอย่าให้น้ำเข้าเครื่อง และผ่านไปได้ด้วยดี สรุปว่าใช้เวลาเดินทางไปทั้งสิ้นหกชั่วโมงครับ ยาวนานกว่าทุกๆ ครั้ง

อัลฮัมดุลิลลาห์ครับ การเก็บข้อมูลภาคสนามโครงการนี้น่าจะเสร็จสิ้นแล้วครับ เหลือแค่การนำมาเขียนรายงานสรุปผลครับ

คำสำคัญ (Tags): #กลันตัน#วิจัย
หมายเลขบันทึก: 227178เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2008 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอให้น้ำลดเร็วๆนะคะ

แวะมาทักทาย  มีความสุขในการทำงานนะคะ

สุขภาพแข็งแรง

 

 

  • ตามมาอ่าน น่าสนใจมากครับอาจารย์
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท