ภาษาพม่าสบายๆ สไตล์เรา (10 - ทมินซาลา กินข้าวไหม)


 

...

ภาพที่ 1: ที่ล้างมือที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง พุกาม มิถุนายน 2548...

  • ถังน้ำใส่น้ำในภาพจ้างขนมาจากแม่น้ำอิระวดี (Irrawaddy ออกเสียง "เอ-หย่า-วดี")

...

  • สบู่ตั้งอยู่บนเก้าอี้... เวลาจะใช้ให้เปิดน้ำก๊อกนิดหน่อย พอมือเปียกให้ถูๆๆๆ ไปบนสบู่ หลังจากนั้นถูมือให้ทั่ว เพราะถ้าจะกินอาหารพม่าให้อร่อยก็น่าจะลองเปิบมือดู
  • วิศวกรชาวพม่าท่านหนึ่งบอกว่า เวลาคนพม่ากินจะรู้เลยว่า มีการศึกษาหรือไม่... คนมีการศึกษาของพม่าจะเปิบด้วยข้อนิ้วมือส่วนปลาย (distal phalanges) ข้อเดียวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนชาวบ้านที่ไม่ได้เล่าเรียนจะเปิบเต็มมือ

...

ภาพที่ 2: ชุดอาหารพม่าที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง พุกาม พม่า (มิถุนายน 2548)

  • เจ้าของร้านนี้ดูจะเป็นคนฉาน (ออกเสียง "ชาน" หรือไทยใหญ่) ซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่ชาวพม่าว่า อาหารรัฐฉานจะอร่อยมากกว่าอาหารจากส่วนอื่นๆ ของพม่า

...

  • ค่าอาหารคนละ 1,500 จัต หรือประมาณ 40.50 บาท เป็นราคาแบบเหมา ถ้าเป็นร้านอาหารอื่นๆ ส่วนใหญ่จะคิดค่ากับข้าวเป็นถ้วย กินถ้วยไหนก็คิดถ้วยนั้น ค่าข้าว ค่าน้ำพริกกะปิ-ปลาร้า ผักรวม และซุปเปรี้ยวไม่คิด
  • โปรดสังเกตว่า อาหารพม่าชั้นดีต้องมีน้ำมันลอยหน้าแกงหนาประมาณ 7 มิลลิเมตร... นี่คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ชาวพม่านิยมล้างมือทั้งก่อนและหลังอาหาร เนื่องจากมือจะ "เยิ้ม" ไปหมดหลังอาหาร

...

ภาพที่ 3: ของว่าง

  • ของว่างประกอบด้วยชาชุบน้ำมันนึ่ง ถั่วทอด กระเทียม ผลไม้ และก้อนน้ำตาลโตนด
  • ใครกินอาหารชุดใหญ่แบบนี้แล้วไม่ออกแรง-ออกกำลังมากๆ ไม่นานคงจะมีอาการอ้วนลงพุง

...

ภาพที่ 4: ชุดอาหารแบบพม่าที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง พุกาม พม่า (มิถุนายน 2551)

  • โปรดสังเกตแกงชั้นดีที่ต้องมีน้ำมันลอยหน้าเช่นกัน

...

ตอนที่แล้ว (ตอนที่ 8) เราคุยกันเรื่องวิธีบอกว่า "หิวข้าวแล้ว" เป็นภาษาพม่า ตอนนี้เราจะคุยกันเกี่ยวกับประโยคคำถามง่ายๆ ให้ได้ว่า "กินข้าวไหม"

...

ทบทวนศัพท์ตอนที่ 8 > [ Click ]

  • ทมิน = ข้าว
  • ส่า = อยาก
  • แด = ปัจจุบัน ใช้ตอนจบท้ายประโยคบอกเล่าหรือคำถาม
  • ไบ้ = ท้อง

...

ทบทวนสำนวนตอนที่ 8 > [ Click ]

สำนวนไทย สำนวนพม่า
หิวข้าวแล้ว ทมิน ส่า แด
หิวข้าวแล้ว ไบ้ ส่า แด
หิวข้าวแล้ว(พูดกับพระ) ทมิน ส่า แด พญา, ไบ้ ส่า แด พญา

...

ประโยคคำถามในพม่าที่ใช้มากคือ ประโยคที่ลงท้ายด้วยคำว่า "ตลา" หรือพูดย่อๆ เป็น "ลา" แปลว่า "หรือ"

ขอแทรกไว้หน่อยว่า คำว่า "ครับ" หรือ "คามยา" ในภาษาพม่า และคำว่า "ค่ะ" หรือ "ชิน(sh)" ในภาษาพม่า ใช้เป็นสรรพนามแทนคนที่เราคุยด้วยได้เลย โดยจะทำหน้าที่คล้ายๆ กับคำว่า "คุณ" เนื่องจากคำ "คามยา" และ "ชิน(sh)" เป็นคำสุภาพ

  • ผู้ชายพูด "คามยา" > เวลาใช้คำแทนคนที่เราพูดด้วย ให้ใช้ "คามยา" เช่นกัน
  • ผู้หญิงพูด "ชิน(sh)" > เวลาใช้คำแทนคนที่เราพูดด้วย ให้ใช้ "ชิน(sh)" เช่นกัน

...

ตัวอย่างเช่น

  • ผู้ชายพูด"คุณหิวข้าวหรือ" = "คามยา... ทมิน ส่า ตลา (คุณ + ข้าว + หิวข้าว + หรือ)"
  • ประโยคที่นิยมพูดจะสั้นลงเป็น "คามยา... ทมิน ส่า ลา"
  • หรือสั้นลงไปกว่านั้นเป็น "ทมิน ส่า ลา (หิวข้าว + ไหม)"

...

ตัวอย่างเช่น

  • ผู้หญิงพูด"คุณหิวข้าวหรือ" = "ชิน(sh)... ทมิน ส่า ตลา (คุณ + ข้าว + หิวข้าว + หรือ)"
  • ประโยคที่นิยมพูดจะสั้นลงเป็น "ชิน(sh)... ทมิน ส่า ลา"
  • หรือสั้นลงไปกว่านั้นเป็น "ทมิน ส่า ลา (หิวข้าว + ไหม)"

...

พวกเราคงจะจำคำว่า "มี" ในภาษาพม่าได้ นั่นคือคำว่า "ฌิ(sh)"

  • สำนวนประโยคบอกเล่า (ปัจจุบัน) ที่ควรจำคือ "ฌิ(sh) แด" = มี + ปัจจุบัน = ตอนนี้มี
  • สำนวนประโยคบอกเล่า (อนาคต) ที่ควรจำคือ "ฌิ(sh) แหม่" = มี + อนาคต = จะมี

...

ถ้ามีคนถามเราว่า "ทมิน ส่า ลา (ข้าว + หิว + ไหม)" หรือ "ไบ้ ส่า ลา (ท้อง + หิว + ไหม)" มีทางเลือกให้ถาม-ตอบได้บ่อยๆ ดังต่อไปนี้

ภาษาพม่า แปลตามศํพท์ แปลเป็นไทย
ทมิน ส่า ลา ข้าว + หิว + หรือ หิวข้าวไหม
ทมิน ส่า แด ข้าว + หิว + ปัจจุบัน หิวข้าว
ทมิน มะ ส่า บู ข้าว + ไม่ + หิว ไม่หิวข้าว
ไบ้ มะ ส่า บู ท้อง + ไม่ + หิว ไม่หิวข้าว

...

ถ้ามีคนถามเราว่า "ทมิน ซา ลา (ข้าว + กิน + ไหม)" มีศัพท์ที่ควรรู้เพิ่มขึ้นมาหน่อยคือ คำว่า "ยัง" ในภาษาพม่า = "เต"

คนไทยเราเติมคำว่า "ยัง" ไว้ข้างหน้า เช่น "ยังไม่กิน" ฯลฯ ภาษาพม่าจะเติมคำว่า "ยัง (เต)" ไว้ข้างท้าย เช่น "ยังไม่กิน" = "มะ ซา เต บู (ไม่ + กิน + ยัง)" โปรดสังเกตคำว่า "ไม่ (มะ_บู)" ซึ่งเติมอะไรแทรกเข้าไปได้มากมายหลายคำ วิธีสังเกตคือ พอคนอื่นอ้าปากพูดและเราได้ยินคำว่า "มะ" ให้รีบแปลว่า "ไม่" ไว้ในใจเลย ส่วน "บู" นั้นไม่ต้องไปแปล 

...

ทางเลือกให้ถาม-ตอบได้บ่อยๆ ดังต่อไปนี้

ภาษาพม่า แปลตามศํพท์ แปลเป็นไทย
ทมิน ซา ลา ข้าว + กิน + หรือ กินข้าวไหม
ทมิน ซา แหม่ ข้าว + กิน + อนาคต จะกินข้าว
ทมิน มะ ซา บู ข้าว + ไม่ + กิน ไม่กินข้าว
ทมิน มะ ซา เต บู ข้าว + ไม่ + กิน + ยัง ยังไม่กินข้าว

...

คนพม่าจะค่อนข้างจริงจังกับชีวิตในหลายๆ เรื่อง... เรื่องหนึ่งที่ชาวพม่าคร่ำเคร่งจริงจังมาก คือ จริงจังกับคำว่า "แด (ปัจจุบัน)" กับ "แหม่ (อนาคต / จะ)" สองคำนี้ควรใช้ให้ถูกต้อง เพื่อให้ชาวพม่าสบายอกสบายใจ (สบายใจพม่า = "เอเอ เซเซ" = ใจเย็นๆ)

ครั้งหนึ่งผู้เขียนไปงานศพพระมหาเถระที่วัดมัณฑเลย์ (ชาวบ้านเรียกว่า "วัดมันตะเล") แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นวัดพม่ามาแต่โบราณ

...

ตอนเช้ามีชาวไทยเชื้อสายพม่ารุ่นลูกรุ่นหลานทำอาหารเลี้ยงกันหลายเจ้า มีอาหารสุดโปรดของผู้เขียนด้วยคือ "โมฮิงคา" มีคนถามผู้เขียนว่า พูดพม่าได้ไหม แล้วถามว่าจะกินไหมเป็นภาษาพม่า ผู้เขียนตอบไปว่า "ทมิน ซา แด (ข้าว + กิน + ปัจจุบัน)"

ลูกหลานพม่าท่านนั้นรีบสอนเลยว่า ไม่ได้ๆ ต้องเป็น "ทมิน ซา แหม่ (ข้าว กิน อนาคต)" เหตุผลง่ายๆ คือ ตอนที่เราตอบยังไม่ได้กิน จะกินก็ต้อง "แหม่ (= จะ)"

...

ถ้าไม่ชอบตอบยาวๆ แบบนี้ และจะตอบตกลงก็ไม่ยาก เพราะภาษาพม่ามีคำว่า "ตกลง" แบบฝรั่ง หรือ "โอเค (OK)" ทว่า... ก้าวไปไกลกว่าฝรั่งแยะ คือ "โอเค" พม่ามีทั้งแบบคำถามและคำบอกเล่าดังต่อไปนี้

  • ฮ่กแต่ = โอเค (OK)
  • ฮกเก้ = โอเค (OK)
  • ฮ่กลา (อาจจะมาจากคำว่า "ฮกแต่ + ตลา") = ใช่หรือ
  • โฮ่ลา = ใช่หรือ (คงจะลบตัวสะกดออกไปจาก "ฮ่กลา")

...

ศัพท์ในตอนนี้                                           

  • ตลา = หรือ
  • ลา = หรือ
  • เต = ยัง
  • ฮ่กแต่ = โอเค ใช่
  • ฮกเก้ = โอเค ใช่
  • ฮ่กลา = ใช่หรือ ใช่ไหม
  • โฮ่ลา = ใช่หรือ ใช่ไหม

...

สำนวนในตอนนี้                                        

ภาษาพม่า แปลตามศํพท์ แปลเป็นไทย
ทมิน ส่า ลา ข้าว + หิว + หรือ หิวข้าวไหม
ทมิน ส่า แด ข้าว + หิว + ปัจจุบัน หิวข้าว
ทมิน มะ ส่า บู ข้าว + ไม่ + หิว ไม่หิว
ไบ้ มะ ส่า บู ท้อง + ไม่ + หิว ไม่หิว

...

ภาษาพม่า แปลตามศํพท์ แปลเป็นไทย
ทมิน ซา ลา ข้าว + กิน + หรือ กินข้าวไหม
ทมิน ซา แหม่ ข้าว + กิน + อนาคต จะกิน
ทมิน มะ ซา บู ข้าว + ไม่ + กิน ไม่กิน
ทมิน มะ ซา เต บู ข้าว + ไม่ + กิน + ยัง ยังไม่กินข้าว

...

แบบฝึกหัด          

จงแปลภาษาไทยเป็นภาษาพม่า

  • หิวข้าวไหม
  • ไม่หิว (ให้ตอบ 2 สำนวน)
  • หิวข้าว
  • จะกินข้าว
  • ใช่ไหม (ให้ตอบ 2 สำนวน)
  • โอเค (ให้ตอบ 2 สำนวน)
  • ยังไม่กินข้าว

...

เฉลย                 

  • หิวข้าวไหม = ทมิน ซา ลา / ทมิน ซา ตลา
  • ไม่หิว (ให้ตอบ 2 สำนวน) = ทมิน มะ ซา บู / ไบ้ มะ ซา บู
  • หิวข้าว = ทมิน ส่า แด
  • จะกินข้าว = ทมิน ซา แหม่
  • ใช่ไหม (ให้ตอบ 2 สำนวน) = ฮ่ก ลา / โฮ่ ลา
  • โอเค (ให้ตอบ 2 สำนวน) = ฮ่ก แต่ / ฮก เก้
  • ยังไม่กินข้าว = ทมิน มะ ซา เต บู

...

เครื่องหมายกำกับเสียง

  • 'ญ' > ออกเสียงนาสิก หรือเสียงขึ้นจมูกแบบตัว "ญ" บาลี เสียง "ญ" ทางเหนือหรืออีสาน
  • '.' > จุดแสดงสระเสียงสั้นมากๆ ประมาณ 1 ใน 3 ของสระอะภาษาไทย

ขอแนะนำ                                               

  • ขอแนะนำให้อ่านตอนต่อไป (ตอนที่ 11)
  • [ Click ]

...

  • ขอแนะนำเว็บไซต์ "ศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร"
  • [ Click ]

...

  • ขอแนะนำเว็บไซต์ "มอญศึกษา"
  • [ Click ]

...

  • ขอแนะนำหนังสือ "เรียนรู้ภาษาพม่าด้วยตนเอง" พิมพ์ครั้งที่ 11. ราคา 55 บาท เขียนโดยท่านอาจารย์วินมิตร โยสาละวิน โทรศัพท์ 055-545.257 ตู้ ปณ.62 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 63110.

...

  • ขอแนะนำหลักสูตรระยะสั้นเพื่อการสื่อสารและธุรกิจ(ภาษาพม่า) ณ วิทยาลัยชุมชนระนอง ค่าเรียน 70 บาท โปรดติดต่อท่านอาจารย์สมเกีรยติ เอาจี่มิค โทรศัพท์ 077-823.326 หรือ 086-686.9766 อีเมล์ [email protected]

...

  • ขอแนะนำให้อ่านตั้งแต่ตอนที่ 1
  • [ Click ]

...

ที่มา                                                                 

  • กราบขอบพระคุณ > ท่านพระอาจารย์ธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต (สมณศักดิ์พม่า) และท่านพระอาจารย์ชนกะ วัดท่ามะโอ ลำปาง
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ นักเรียนภาษาพม่า > 3 ธันวาคม 2551.

...

  • สงวนลิขสิทธิ์บทความในบล็อก
  • ยินดีให้ท่านผู้อ่านนำไปใช้ส่งเสริมสุขภาพ หรือเผยแพร่ความรู้ได้ ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า

...

คำสำคัญ (Tags): #burmese#myanmar#ภาษาพม่า
หมายเลขบันทึก: 227167เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2008 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรียนคุณหมอวัลลภ

  • เข้ามาเรียนรู้กับคุณหมออีกแล้วค่ะ
  • หวนคิดถึงครั้งเมื่อครูตาไปศึกษาธรรมะที่วัดท่ามะโอ  แต่ไปหลังจากที่คนอื่นเขาเรียนไปหลายสัปดาห์แล้ว คุณหมอคงกลัวว่าครูตาจะเรียนไม่เข้าใจไม่ทันเพื่อน  ก็นัดมาเสริมความรู้ให้  ครูตารู้ว่าคุณหมอตั้งใจ..ตั้งใจ..ให้ความรู้ 
  • และตอนนี้ครูตาก็ได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องสุขภาพ  เรื่องพุทธธรรม  เรื่องภาษากับคุณหมออีกครั้ง
  • ขอบพระคุณมากจริง ๆ ที่แบ่งปัน
  • ขออวยพรให้คุณหมอมีสุขภาพดีนะคะ

ขอขอบคุณ... คุณครูตา ลป.

  • ขอขอบพระคุณมากๆ สำหรับประสบการณ์ตรง
  • ถ้าอย่างนั้นเรียนเชิญมาเรียนภาษาพม่า และเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพม่าทำนอง "รู้จักพม่า" ไว้ก่อนน่าจะดี
ขอความปรารถนาดีของอาจารย์พึงสำเร็จแด่อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย และท่านผู้อ่านทุกท่านครับ...
  • แวะมาเรียนรู้กับคุณหมอ ได้มากมายหลากหลายจริงๆ
  • ฝากภาพชาวพม่าที่กำลังห่อคุณยา(ไม่รู้ถูกไหม.ตอนถามเขาฟังไม่ชัด..เพราะเขาพูดไทยไม่ได้)
  • คงเป็นเหมือนเคี้ยวหมากบ้านเรานี่เองนะคะ

ขอขอบคุณอาจารย์ add..

  • ภาพนี้เป็นภาพคนขาย "หมาก (โกน-หย่า)" ครับ

หมากพม่าไม่ค่อยเหมือนหมากไทย คือ มี 2 สูตร สูตรนุ่มนวลหรือสูตรหวาน (แบบพม่า ) กับสูตรยาแรงหรือสูตรอินเดีย (โกน-หย่า-เซ)

  • ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยบอกด้วยว่า เป็นภาพถ่ายที่ไหน เมื่อไร เพื่อเป็นวิทยาทานครับ
  • ขอขอบพระคุณ...

 

  • สวัสดีค่ะคุณหมอ
  • ว่าแล้ว ศน.แอ้ดต้องฟังเพี้ยนแน่ๆขอบคุณนะคะ
  • โกน-หย่า ศน.แอ้ดฟังเป็นคุณยา...แต่ก้อใกล้เคียงนะคะ
  • อ๋อ..ไปถ่ายเองกับมือเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551
  • ณ ศูนย์อพยพพม่าบ้านแม่หละ  อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
  • หลงเข้าไปโดยไม่รู้ตัวนะค่ะคุณหมอ
  • ฝากภาพโกน หย่า..ให้ดูอีกภาพนะคะเขาชี้ไปที่ยาตัวสีดำๆ
  • ที่กำลังจะห่อน่ะคะ เข้าใจว่าเป็นตัวเอกของเรื่อง คุณหมอพออธิบายเพิ่มได้ไหมค่ะ  ขอบคุณนะคะ

ขอขอบคุณอาจารย์ add...

  • สูตรในการผสมหมากนี่... มีอะไรอยู่ด้วยผมก็คงจะรู้เพียงบางส่วน
  • เท่าที่ทราบคือ เขาจะมีน้ำมันหมากหรืออะไรทำนองนี้ ทำจากอินเดีย กลิ่นหอมมากสำหรับคอหมาก
  • มีใบยาสูบหมักในบางสูตร

เรียนเสนอให้ลองหาเพิ่มในเว็บไซต์ศูนย์พม่าศึกษา มน. ครับ

เนื้อหาไม่ตรง............................................................................................

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท