พบกันเพื่อทุกสิ่ง


พบกันเพื่อทุกสิ่ง

 

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสร่วมโครงการ การพัฒนาเครือข่ายเพื่อเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์ ทำการศึกษาใน 4 ภาคของประเทศ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สกอ. ซึ่งทีมวิจัยจากคณะพยาบาลศาสตร์ ม. สงขลานครินทร์รับผิดชอบในพื้นที่ในภาคใต้ ช่วง 2 ปีแรกเป็นการทำความเข้าใจสถานการณ์เบื้องต้น ศึกษาสภาพชีวิต คุณภาพชีวิต ความฉลาดทางอารมณ์ และอื่นๆ อีกมากมาย  ปีที่แล้วได้รับทุนเพื่อให้พัฒนาเครือข่ายเด็กเพิ่มเติม คราวนี้โครงการหดเหลือ 3 พื้นที่ (ภาพเหนือ ภาคกลางและภาคใต้) โจทย์ครั้งนี้ค่อนข้างยากและหนักใจเพราะว่าภาคใต้การตีตราทางสังคมยังคงมากอยู่  ขณะที่ภาคเหนือ เขามีความเข้มแข็งของเครือข่ายอยู่แล้ว การสร้างพัฒนาเครือข่ายเด็กฯให้เกิดขึ้นในภาคใต้ภายใน 1 ปีคงต้องใช้กำลังมากโข...

 

ทีมของเราเลือกจังหวัดที่มีจำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบฯ มาก เริ่มงานสร้างเครือข่ายกันเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ค่อยๆ ทำความรู้จักกับผู้ทำงานเพื่อเด็กกลุ่มนี้  จัดและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ จนเกือบครบปี เครือข่ายเด็กฯ ที่ตั้งเป้าไว้ก็ยังไม่เกิดขึ้น ทีมของเราเลยจัดประชุมพบกันเพื่อถอดบทเรียน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อเหลียวหลัง แลไปข้างหน้า

 

ครั้งนั้นเราเชิญผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับเรามาตั้งแต่ต้น มาช่วยบอกเล่า แลกเปลี่ยนความคิด เป็นกระจกสะท้อนการทำงานให้ทีมของเรา และช่วยเรามองไปข้างหน้าด้วยกัน แรกๆ การคุยแบบเกร็งๆ กัน...เมื่อผู้เข้าร่วมประชุมเริ่มเข้าใจวัตถุประสงค์ของการพบกัน ทุกคนเริ่มผ่อนคลาย เล่าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานให้ฟัง  

 

ตัวแทนจาก NGO กล่าวถึงวิวัฒนาการการแก้ปัญหาเอดส์ในพื้นที่  ปัญหาอุปสรรค และ ความฝันที่อยากให้เกิดขึ้นในการแก้ปัญหาเอดส์ระดับจังหวัด พยาบาลเล่าถึง 5 ปีที่เฝ้ารอ  ความสำเร็จในการทำงาน และความภูมิใจที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับและเปิดเผยตัวเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ได้เห็นรอยยิ้มที่มีความสุขและผ่อนคลายของผู้ติดชื้อ กลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯเล่าปัญหาที่เกิดจากการติดตามเยี่ยมเด็กที่ได้รับผลกระทบที่บ้าน ปัญหาเรื่องการตีตราทางสังคมและปัญหาการดูแลเด็กฯของผู้ดูแลสูงวัย รวมทั้งความสุขที่ได้รับจากการทำงานเพื่อเด็กช่วงหนึ่งผู้เข้าประชุมเล่าว่าการแก้ปัญหาเอดส์ตอนนี้น่าจะเป็นการพบกันเพื่อทุกสิ่ง คงไม่ใช่การพูดถึงปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการหลอมรวมทุกปัญหา-กิจกรรมเข้าด้วยกัน แบ่งปันภูมิปัญญา เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  หลายคนรู้สึกดีใจที่มีโครงการพัฒนาเครือข่ายเด็กฯเกิดขึ้น เพราะทำให้คนทำงานได้มีโอกาสมานั่งพูดคุย และประสานงานกันอย่างไม่เป็นทางการกันจากหลายภาคส่วน

 

ฟังการทำงานของแต่ละฝ่ายเพื่อกลุ่มเป้าหมายเดียวกันแล้ว  รู้สึกประทับใจ และได้รับพลังจากกลุ่ม...ดีใจว่าเราเป็นเพียงเฟืองตัวเล็กๆ ของระบบใหญ่ที่ช่วยในการขับเคลื่อนงานเอดส์...

 

เวทีวันนั้นจึงเป็นเวที พบกันเพื่อทุกสิ่ง  เวทีของการแบ่งปันการให้และรับความสุขและพลังของคนทำงาน...

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 224628เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2008 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท