พย.สสส. : KM การเรียนการสอนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ (๒)


ผู้เข้าประชุมต่างบอกว่าได้มากกว่าที่คาดหวังไว้ และเกือบทุกคนเสนอแนะว่าถ้าจะจัดการประชุมอย่างนี้อีก อยากให้จัดเป็น ๒ วัน

ตอนที่

ผู้เข้าประชุมทยอยกันมาเรื่อยๆ ใกล้ ๐๙.๐๐ น. นับได้ประมาณ ๑๐ กว่าคน เรารออีกสักพักเมื่อเห็นจำนวนเกือบครบแล้วจึงเริ่มกิจกรรม รศ.ดร.นิตย์ ทัศนิยม ผู้จัดการแผนงานฯ กล่าวต้อนรับ ดิฉันแนะนำคุณอ้อต่อที่ประชุม
 
คุณอ้อแจกหัวใจดวงใหญ่และสีเทียนแก่ผู้เข้าประชุม ให้แบ่งหัวใจเป็น ๔ ห้อง ห้องบนซ้ายเขียนชื่อเล่นของตนเอง ห้องบนขวาเขียนความคาดหวัง ห้องล่างขวาบอกการเตรียมตัวของตนเอง ใช้หัวใจดวงนี้ทำกิจกรรมให้ผู้เข้าประชุมรู้จักกัน และ BAR ไปด้วย

 

(ซ้าย) เขียนชื่อเล่น ความคาดหวัง การเตรียมตัว (ขวา) ตามหาเจ้าของหัวใจ

ผู้เข้าประชุมดูสนุกสนาน เกิดบรรยากาศดีๆ จากคำทายของเพื่อนที่อ่านจากหัวใจซึ่งแต่ละคนได้เขียนไว้ ทุกคนได้บอกความคาดหวังและการเตรียมตัวของตนที่ล้วนแต่เป็นคำพูดเชิงบวก เช่น อยาก ลปรร. เพื่อเปิดหู เปิดตา เปิดใจ อยากสร้างเครือข่าย คาดหวังความสนุกสนาน เตรียมตัวเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ  อยากได้แนวคิดเอาไปพัฒนางาน เตรียมตัวมาเล่าเรื่องที่ตนเองภูมิใจ ฯลฯ

จบกิจกรรมช่วงแรก เราพัก รับประทานอาหารว่างประมาณ ๑๐ นาที

ช่วงต่อไปคุณอ้อใช้กิจกรรมกระจก เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้ฝึกเล่าเรื่องและฝึกการฟัง เริ่มจากให้ผู้เข้าประชุมนั่งนิ่งๆ อยู่กับตัวเองสัก ๒ นาที ทบทวนชีวิตเรื่องราวที่ประทับใจวัยเด็ก เลือกคู่ที่รู้สึกว่ายังรู้จักน้อยหรือคนที่อยากรู้จักมากที่สุด ผลัดกันเล่าเรื่องของตน (๕ นาที) ฟัง แล้วเล่ากลับ (๓ นาที) เสียงเล่าเรื่องดังขึ้นเรื่อยๆ มีเสียงหัวเราะสอดแทรกขึ้นมาเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ

 

จับคู่ ผลัดกันเล่า ผลัดกันฟัง

คุณอ้อบอกว่าถ้ามีเวลาพอ จะให้วาดภาพก่อน การวาดภาพจะได้ทบทวนและการใช้สีจะช่วยดึงความเป็นเด็กออกมา ฝึกการใช้สมองทั้งซีกซ้ายและขวา

ดิฉันแนะนำกิจกรรมตลาดนัดความรู้ เน้นว่าเป็นเวทีขยายความสำเร็จ ไม่เอาปัญหามาอภิปราย ไม่ใช่การประชุมระดมสมอง บอกให้รู้ว่าจากเรื่องเล่าแต่ละเรื่อง ให้ผู้ฟังช่วยกันสกัด “ขุมความรู้” ออกมา

ต่อจากนั้นแบ่งกลุ่มย่อย ๔ กลุ่ม ลปรร.เรื่องเล่าการเรียนการสอนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพที่ภาคภูมิใจ มี ๒ กลุ่มที่ขอไปนั่งนอกห้องประชุม ดิฉันและคุณอ้อช่วยกันเดินดู คอยให้คำแนะนำ พบว่าบางกลุ่มเดินกิจกรรมได้ดี บางกลุ่มเดินได้ช้ามากเพราะผู้ฟังยังฟังไม่ได้ตัวเรื่อง ซักถามไปถึงอนาคตว่า “ถ้า.......แล้วจะยังไงต่อ” เป็นต้น บางกลุ่มก็มีผู้อาวุโสคอยชักนำไปนอกทาง มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจหลายเรื่องที่คงต้องติดตามขอรายละเอียดมารวบรวมไว้

ล่วงเลยเวลาไปถึง ๑๒.๓๐ น. จึงต้องหยุดพักรับประทานอาหารกลางวันกันก่อน

ช่วงบ่ายมาเล่าเรื่องกันต่อจนจบและเขียน “ขุมความรู้” ใส่ card ที่เตรียมให้ ต่อจากนั้น “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” ช่วยกันคัดเลือก จัดหมวดหมู่และสังเคราะห์เป็น “แก่นความรู้” ผู้เข้าประชุมที่เหลือดู VDO เครือข่ายเบาหวาน เรื่องที่ ๑ เพื่อให้เกิดไอเดียในการใช้เครื่องมือ KM สร้างเครือข่าย มีคุณอ้อช่วยดูแลอยู่ในห้อง

 

เรียง card ขุมความรู้ คัดเลือก จัดกลุ่ม ตั้งชื่อแก่นความรู้

แก่นความรู้ที่ได้มี ๘ เรื่อง
- การให้นิสิต/นักศึกษาเรียนรู้แบบกำกับตนเอง
- การให้นิสิต/นักศึกษาเป็นแกนนำในการเรียนรู้
- การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้
- การใช้สื่อการสอนที่ใกล้ตัวและน่าสนใจ
- อาจารย์เป็นตัวอย่างของการสร้างเสริมสุขภาพ
- อาจารย์เป็นผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ของนิสิต/นักศึกษา
- การจัดให้นิสิต/นักศึกษาเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพจากประสบการณ์จริง
- การใช้ชุมชนเป็นแหล่งประโยชน์ในการเรียนรู้

กลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มช่วยกันสร้างเกณฑ์ระดับความสำเร็จ ๕ ระดับ (กลุ่มละ ๒ เรื่อง) โดยใช้แนวของ AIDS Competence พร้อมๆ กับรับประทานอาหารว่างไปด้วย ต่อจากนั้นแต่ละสถาบันประเมินตนเอง ผู้เข้าประชุม comment ว่าบางเกณฑ์ไม่น่าจะถูกต้อง คุณอ้อช่วยพิมพ์ข้อมูลการประเมิน แสดงให้เห็นแผนภูมิแม่น้ำ และบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

ประเมินตนเอง

ดิฉันแนะนำต่อว่าจบการประชุมวันนี้แล้ว ผู้เข้าประชุมสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ผ่านกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน นำเสนอขั้นตอนการจัดกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน ยกตัวอย่างให้เห็น รวมทั้งการต่อยอดความรู้

นอกจากนี้เรายังแนะนำให้รู้จัก Weblog และวิธีการใช้ GotoKnow โดยมีคุณบุ๊ค เจ้าหน้าที่จากหน่วยประสานงาน มวล. มาช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ต เราให้ผู้เข้าประชุมเอา Notebook มาและเตรียมไฟล์เรื่องเล่ามาด้วย ดิฉันเตรียมสาย LAN ไปจากนครศรีธรรมราชหลายสาย (๑ ลัง) แต่ปรากฏว่าไม่ต้องใช้เลย เพราะระบบ Wireless ของศูนย์ประชุมใช้การได้แล้ว มีผู้เปิดบล็อกสำเร็จ ๘ ราย

 

เรียนวิธีการใช้ Weblog

เย็นแล้ว เริ่มมีผู้เข้าประชุมหายตัวไปบ้าง เราปิดท้ายการประชุมด้วยการ AAR ผู้เข้าประชุมต่างบอกว่าได้มากกว่าที่คาดหวังไว้ และเกือบทุกคนเสนอแนะว่าถ้าจะจัดการประชุมอย่างนี้อีก อยากให้จัดเป็น ๒ วัน เพราะรู้สึกว่ากิจกรรมเร่งรัดเกินไป

ได้เวลา ๑๘.๓๐ น. รศ.ดร.นิตย์ ที่ร่วมกิจกรรมกับเราตลอดวัน กล่าวปิดประชุม และขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยน้ำเสียงนุ่มๆ เรารับประทานอาหารเย็นร่วมกันก่อนแยกย้ายกลับบ้านหรือกลับห้องพัก

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 224592เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2008 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณผู้จัดที่ช่วยสรุปให้ได้อ่าน และเพิ่งส่งเรื่องเล่ามาให้ ขอโทษด้วยคะ มีปัญหาที่ต้องการถามอาจารย์ว่าเรื่องเล่าที่มีอารมณ์ความรู้สึกและใช้ภาษาคล้ายการเขียนนิยาย หรือต้องเขียนเร้าใจผู้ฟังเป็นอีกแนวที่เขียนได้ไหม เพราะเคยอ่านของอาจารย์วิจารณ์ บอกว่าให้เขียนเห็นพฤติกรรมตัวละคร เขียนตรงประเด็น ตรงไปตรงมา

ขอบคุณมากๆคะ

ธารารัตน์ ดวงแข

เรียนคุณธารารัตน์

สำหรับการเขียนเรื่องเล่า ก็เป็นอย่างที่อาจารย์วิจารณ์บอกไว้คือตรงประเด็นและตรงไปตรงมา แต่ควรบอกให้ชัดว่าเรื่องที่เราจะเล่านี้ความสำเร็จหรือความประทับใจคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร เราคิดอย่างไรจึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผลที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง......เล่าให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านเห็นภาพพจน์

เนื้อหาที่เล่าไม่ใช่เขียนแบบวิชาการ แต่เล่าตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เห็นรายละเอียดของการปฏิบัติ มักจะได้อารมณ์ความรู้สึก และจุดประกายความคิด/กระตุ้นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่นได้

ถ้าสนใจวิธีการเล่าเรื่อง ลองใช้คำค้น storytelling ดูนะคะ

วัลลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท