องค์ความรู้สหสาขาวิชาเพื่อจัดการกับโรคติดต่ออุบัุติใหม่ (1)


โรคชนิดใหม่ ๆ เกิดขึ้น ในหมู่ประชากรมนุษย์ เร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ฟ้าครับ

พวกเราที่ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค กำลังสนใจเรื่อง "องค์ความรู้สหสาขาวิชา ที่จะนำมาใ้ช้ในการจัดการกับโรคติดต่ออุบัุติใหม่" เพราะมีความเชื่อว่า สถานการณ์ที่โลก และประเทศไทย กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้มีความเสี่ยงทีึ่สูงมาก มีอะไรบางอย่าง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราดำรงอยู่นี้ ที่บ่งบอกว่า โรคชนิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นในหมู่ประชากรมนุษย์เร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยอัตราเกิดเชื้อโรคใหม่ปีละ 1 ชนิด (ดู 'Faster emergence' for diseases', BBC News 20 Feb 06)

ในสถานการณ์อย่างนี้ เราคิดว่า เราถึงเวลาที่จะต้องใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่เข้าจัดการ ป้องกัน ยับยั้ง หรือแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มสติปัญญา พูดง่าย ๆ ก็คือมีอะไรต้องงัดออกมาใช้ให้หมด

แต่องค์ความรู้ที่เรามีอยู่ในปัจจุบันยังมีลักษณะที่แยกกันอยู่เป็นส่วน ๆ เทคโนโลยีอีกจำนวนไม่น้อยที่น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้ก็ยังเป็นหน่ออ่อนอยู่ มิหนำซ้ำเป็นหน่ออ่อนที่มักจะถูกละเลย ด้วยคิดว่าคงไม่เกี่ยวกับปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น อิเล็คทรอนิคส์ นาโนเทคโนโลยี วัสดุศาสตร์ นิเวศวิทยา อุตุนิยมวิทยา ฯลฯ

นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการมองอนาคตเรื่อง "องค์ความรู้สหสาขาวิชาเพื่อจัดการกับโรคติดต่ออุบัุติใหม่" ด้วยความตั้งใจว่า จะต้องหากรอบหรือ "เบ้าหลอม" ที่จะรวมเอาความรู้ในทางปฏิบัติ (หรือจะเรียกว่าเทคโนโลยีก็ได้) ให้มาเชื่อมโยงถึงกัน และมองเห็นเส้นทางที่จะปรับแต่งหรือ optimize เทคโนโลยีเหล่านั้นให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปถึงจุดที่เรานำมาใช้งานได้ทันท่วงที ความจริง แนวคิดเรื่องนี้ผมเคยนำเสนอไว้แล้วก่อนหน้านี้ ในบันทึก การประชุมโต๊ะกลมมองอนาคตโรคติดต่ออุบัติใหม่ - อุบัติซ้ำ

จุดสำคัญของเรื่อง มองเป้าหมายการใช้งาน (area of applications) ที่ชัดเจนให้ออกเสียก่อน แล้วจึงย้อนกลับมาหาวิธีสร้างองค์ความรู้ที่จะไปสนองตรงนั้นตรงนี้ ในที่นี่เป้าหมายการใช้งานคือ การจัดการกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ ส่วนองค์ความรู้ทางปฏิบัติจะมีอะไรได้บ้างนั้น จะต้องมีกระบวนการไปเสาะแสวงหาคำตอบออกมา (ตรงนี้คาดว่าจะใช้กระบวนการ bibliometric analysis ซึ่งคล้าย ๆ กับการทำ data mining อย่างหนึ่ง)

แนวคิดทั้งหมดนี้ คราวหนึ่งเคยนำไปปรึกษากับคุณหมอสมศักดิ์ที่มูลนิธิสาธารณสุข ก็ได้แง่มุมคิดเพิ่มเติมมาว่า นอกจากจะหาคำตอบที่ตัวเทคโนโลยีแล้ว ยังต้องกลับไปดูด้วยว่า เวลาเอาองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีมาใช้แล้ว การตอบรับของสังคมจะเป็นไปอย่างไร ภายใต้สภาพเงื่อนไขแบบต่า่ง ๆ กัน แล้วผลตรงนี้จะนำไปสู่อะไรบ้างที่เราต้องไปจัดการให้ดี ก็เลยพยายามชักชวนคุณหมอเองให้มาร่วมวงคิดกับเรา เพื่อจะได้อัดฉีดเราด้วยไอเดียดี ๆ ที่เรามองเองบางครั้งไม่ค่อยเห็น อีกอย่างความที่ต้องระดมความเห็นจากคนหลากหลายภูมิหลังและสาขาวิชาชีพ คนที่ทำหน้าที่อำนวยกระบวนการก็ต้องมีความรอบด้านสูงทีเดียว คุณหมอสมศักดิ์จะแนะนำเราได้มาก ขอบคุณล่วงหน้านะครับ...

สรุปว่า แม้กรอบแนวคิดจะเป็นเรื่องของการมองอนาคต (เพื่อให้เกิดการลงมือตั้งแต่ปัจจุบัน) แต่ประเด็นสำคัญเวลานี้อยู่ที่การจัดการ ซึ่งภายใต้สมมติฐานแบบที่ว่ามานี้ น่าจะซับซ้อนเอาการทีเดียว

ล่าสุดผมเพิ่งมีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเวทีผู้แทนเขตเศรษฐกิจในเอเปค เดี๋ยวผมจะกลับมาเล่าให้ฟังต่อว่า ในแวดวงนานาชาติเขามองประเด็นนี้อย่างไร และจะมีตัวอย่างดี ๆ มาแถมให้อ่านด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 22440เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2006 00:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท