KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 616. แนะนำหนังสือ KM ในภาคการศึกษา (๖.๑)


นานาทัศนะ : การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ในภาคการศึกษา

 

ตอนที่ ๑ , ตอนที่ ๒ , ตอนที่ ๓ , ตอนที่ ๔, ตอนที่ ๕.๑, ตอนที่ ๕.๒

 

ครั้งที่ 2       

การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้: หลักคิดในการนำ KM สู่การปฏิบัติ

โดย      นายแพทย์พิเชฐ  บัญญัติ: นายแพทย์ 8 ด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก 

[ปาฐกถาพิเศษในงานมหกรรมตลาดนัดการจัดการความรู้ 4 ภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรการศึกษา ครั้งที่ 2 (ภาคเหนือ) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ ของโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษา]

ปัจจุบันการบริหารองค์กรต่างๆ ได้ใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนและพัฒนาการเรียนรู้ในองค์กร จนกลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่ดีภายในองค์กร การจัดการความรู้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของการบริหารองค์กรให้ก้าวหน้า โดยคำนึงถึงศักยภาพของบุคลากรในองค์กรเป็นหลัก ถ้าจัดการความรู้แล้วไม่เห็นคุณค่าในตัวคน องค์กรก็ไม่สามารถพัฒนาได้ ตรงนี้นายแพทย์พิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ได้ใช้คำว่า การจัดการความรู้ต้อง เนียนหรือแฝงเข้าไปอยู่ในงานประจำ ไม่ควรให้หายไปเหมือนเช่นหลายๆ เรื่องในอดีต ส่วนการอบรม การสัมมนา หรือจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นเพียงแค่การส่งผ่านความรู้ (knowledge transfer)

หลักคิดของการนำการจัดการความรู้สู่การปฏิบัติ

ถ้ากล่าวถึงการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) จะมีสาระสำคัญหลักๆ ดังนี้

1. แนวคิด (concept) ของการจัดการความรู้

การจัดการความรู้เป็นเรื่องของคนและการเปลี่ยนแปลงการจัดการ ต้องเป็นการจัดการทั้งเรื่องคน เงิน และงาน ต้องจัดกิจกรรมกระตุ้นให้คนทำงานด้วยใจ ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมคน เตรียมองค์กร เตรียมสิ่งต่างๆ สำหรับการเรียนรู้ขององค์กร เพื่อไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ เป็นแนวคิดของการจัดการสมัยใหม่ที่มองคนในองค์กรเป็นสินทรัพย์อันมีค่า

เนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้คนในองค์กรต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงด้วย ต้องพัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลที่มีความรู้ สามารถทำงานได้อย่างรอบด้าน และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ รวมทั้งสามารถแก้ปัญหางานและรับผิดชอบงานได้ด้วยตนเอง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายตามที่องค์กรกำหนด ไม่ต้องรอการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาตลอดเวลา มีความมุ่งมั่นต่อองค์กร ทำงานอย่างมีเป้าหมาย และต้องเป็นคนที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งเหมาะกับสังคมฐานความรู้อย่างมาก เพื่อที่จะสามารถผลักดันให้องค์กรอยู่รอดได้ในสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและรวดเร็ว รวมทั้งมีการแข่งขันกันสูง สิ่งสำคัญยิ่งคือคนในองค์กรต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน พัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลเรียนรู้ สร้างความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์และใช้ในการพัฒนาคุณภาพการทำงาน พัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรอัจฉริยะ จากสภาพการณ์ดังกล่าว การจัดการความรู้จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารองค์กรเพื่อไปสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ (Intelligence Organization) เพราะการจัดการความรู้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนและการจัดการองค์กร

การจัดการความรู้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการจัดการ (change management) ขององค์กร ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลักของการจัดการความรู้ คือ

1.1 knowledge vision คือการให้แนวคิดการจัดการความรู้เพื่อให้เกิดการใช้ความรู้ที่สร้างขึ้นในองค์กร

1.2 knowledge sharing คือการจัดการความรู้ต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ในองค์กร และนำมาเล่าสู่กันฟัง ถือเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการความรู้

1.3 knowledge asset คือการนำมาเก็บเป็นขุมความรู้ หรือคลังความรู้ หรือขุมทรัพย์ความรู้ขององค์กร

2. การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ เพื่อให้ทันกับกระแสโลกาภิวัฒน์ เพราะสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงถือว่าความรู้คืออำนาจ (“knowledge is power”) เมื่อบุคลากรในองค์กรมีความรู้ดี จะสามารถแก้ปัญหางาน และรับผิดชอบงานได้ด้วยตนเอง

ความรู้ในที่นี้ หมายถึงความรู้ในงานที่รับผิดชอบและทำงานได้สำเร็จด้วยตนเอง ถ้าทางศาสนาเรียกว่า ปัญญา คือความรู้ที่ถึงพร้อมด้วยความสำเร็จ เป็นความรู้ที่มากับการปฎิบัติ ไม่ใช่ความรู้ที่มาจากทฤษฎี เมื่อมีการแลกเปลี่ยนหรือกระจายความรู้ ก็จะกลายเป็นสังคมอุดมปัญญา (“knowledge sharing is power”)

3. การจัดองค์กรสมัยใหม่ แต่เดิมมีการจัดองค์กรหรือบริหารองค์กรเหมือนเครื่องจักรกล (Mechanic Organization) นั่นคือ มีการจัดองค์กรตามสายการบังคับบัญชาชัดเจน มีลำดับขั้นของอำนาจ รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง มีความเป็นทางการสูง มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างเป็นทางการและเน้นประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อยึดถือแนวทางนี้นาน ๆ ก็พบว่า ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอีกมาก โดยเฉพาะองค์กรไม่ได้อยู่อย่างเดี่ยว ๆ ยังมีสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ องค์กรที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งในองค์กร คือ คนในองค์กรที่มีความรู้สึก มีชีวิตจิตใจ และผลงานของคนในองค์กรก็ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของกลุ่ม องค์กรจำเป็นต้องปรับตัวให้เป็นองค์กรเสมือนสิ่งมีชีวิต (Organic Organization)

ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ องค์กรมีลักษณะโครงสร้างที่ยืดหยุ่น ปรับสภาพโครงสร้างให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ มีการกระจายอำนาจ มีการทำงานเป็นทีมและช่วยกันผลักดันให้งานบรรลุผลสำเร็จ โดยทีมงานเริ่มเน้นผลงานมากกว่ากฏระเบียบ มีการสื่อสารกันแบบไม่เป็นทางการ มีการรวมกลุ่มคนทำงาน และค่อยๆ สร้างวิถีชีวิตในองค์กรขึ้นมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในองค์กร ทำให้สามารถเรียนรู้ร่วมกัน สร้างความรู้ขึ้นและถ่ายทอดไปยังคนอื่น ๆ ได้ ทั้งในส่วนที่เป็นการปฏิบัติ วัตถุหรือสัญลักษณ์ จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร (Organization Culture) ขึ้นมา เป็นการบริหารรูปแบบใหม่ในลักษณะที่ยึดเหนี่ยวให้บุคคลทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กร

ยิ่งเมื่อโลกเจริญมากขึ้นเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ สิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้องค์กรต้องปรับตัวตาม ต้องสามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้องค์กรบรรลุจุดมุ่งหมาย เมื่อองค์กรพบปัญหา ก็ต้องสามารถแก้ปัญหาได้เอง บริหารงานได้เอง สามารถตอบสนองโดยอัตโนมัติต่อความต้องการของผู้รับบริการและสังคม โดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งจากเบื้องบนหรือผู้บริหารในการดำเนินงานแต่ละครั้ง เกิดเป็นองค์กรบริหารตนเอง (Self Organization) โดยองค์กรต้องสามารถตัดสินใจและเรียนรู้ได้

การที่องค์กรต้องบริหารตนเอง ต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าหรือผู้รับบริการเป็นสำคัญ โดยมุ่งเน้นบริการและผลิตภัณฑ์ที่จะพึงได้รับ จึงทำให้ต้องเน้นเรื่องของคุณภาพ ดังนั้น องค์กรทุกแห่งต่างก็พยายามพัฒนาและจัดองค์กรใหม่เพื่อให้เป็นองค์กรคุณภาพ (Quality Organization) มีการนำแนวคิดที่หลากหลายมาประยุกต์เพื่อทำให้เกิดองค์กรคุณภาพขึ้น ทำให้องค์กรเป็นเสมือนมนุษย์ที่มีสมอง หัวใจ และแขนขา (Head Heart and Hand)

กล่าวคือ มีสมอง คือ เป็นองค์กรบริหารตนเองที่สามารถวางแผนกลยุทธ์ การตัดสินใจ การเรียนรู้ และระบบสารสนเทศ มีหัวใจ คือ มีวัฒนธรรมองค์กรที่มีจิตวิญญาณ มีความผูกพันต่อคุณภาพ มีสำนึกต่อผู้รับบริการและสังคม มีลักษณะขององค์กรแบบมีชีวิต คือ เน้นการมีส่วนร่วม การทำงานแบบเป็นทีม และสนใจความต้องการของบุคคลในองค์กร มีแขนขา คือ เป็นองค์กรแบบเครื่องจักรที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานใช้หลักการทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และสถิติ และมีการจัดการปฏิบัติการที่ดี ทั้งนี้ เมื่อนำสิ่งดี ๆ เหล่านี้มารวมกัน ก็จะได้เป็นองค์กรคุณภาพ เป็นองค์กรที่สามารถเรียนรู้ ตัดสินใจ และตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization)

4. การจัดการความรู้คือการปฏิบัติ เปรียบเหมือนขี่จักรยาน ความรู้คือขี่จักรยานได้ จึงต้องฝึกขี่จักรยานให้เป็นโดยไม่เกร็ง แต่ไม่มีรูปแบบ เช่น ขี่จักรยานปล่อยมือได้ หรือแบบอื่นๆ ตามความชำนาญที่ปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ถนน ลม สภาพคนขับขี่ เป็นต้น

การจัดการความรู้เป็นเรื่องของนักปฏิบัติ เป็นการดึงความรู้ฝังลึกที่เป็นความรู้ในตัวคนออกมา และจัดวางความรู้จากการปฏิบัติหรือความรู้ฝังลึกเป็นฐานรากให้แน่น และต่อยอดความรู้ สร้างความรู้ขึ้นมาใหม่

ความรู้ฝังลึกในตัวคนจะมีอยู่ 5 ชนิด หรืออาจเรียกว่า “ASHEN” คือ 1) A = Artefact เป็นวัตถุซึ่งห่อหุ้มความรู้และเทคโนโลยีไว้ 2) S = Skill เป็นทักษะในการปฏิบัติงานหรือทำงานจนเกิดทักษะ
3)
H = Heuristics เป็นกฏแห่งสามัญสำนึกหรือเหตุผลพื้นๆ ทั่วไป 4) E = Experiences เป็นประสบการณ์จากการได้ผ่านงานนั้นมาก่อน และ 5) N = Natural Talent เป็นพรสวรรค์เฉพาะตัวที่มีมาแต่กำเนิด

การจัดการความรู้จึงเป็นการนำความรู้ฝังลึกออกมาบันทึก และเปลี่ยนเป็นความรู้ชัดแจ้ง (explicit knowledge) โดยรวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์เป็นวิธีการทำงานใหม่ ที่เรียกว่า best practice และนำความรู้ชัดแจ้งตัวใหม่มาถ่ายทอดให้ผู้ปฏิบัติ ให้เป็นความรู้ใหม่ และนำความรู้ไปปฏิบัติใหม่ เกิดเป็นความรู้ฝังลึกในตัวคน เกิดวิธีการทำงานใหม่หรือเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น และนำไปถ่ายทอดให้คนได้รู้ได้ปฏิบัติตาม ทำวนเวียนลักษณะเช่นนี้ ก็จะเป็นการจัดการความรู้ที่ครบวงจร ซึ่งเรียกว่าหมุนเกลียวความรู้ และที่สำคัญยิ่งของการจัดการความรู้ คือ ต้องบันทึกไว้เป็นขุมความรู้ และจัดเก็บเป็นคลังความรู้เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงและนำความรู้ไปใช้

อย่างไรก็ดี ในการจัดการความรู้มีกฏสำคัญ 3 ข้อ คือ 1) ต้องเป็นการสมัครใจ ไม่ใช่เป็นการ
กะเกณฑ์ บังคับ ข่มขู่ สั่งไม่ได้
2) คนทุกคนจะเรียนรู้สิ่งใดได้ ก็ต่อเมื่อต้องการใช้สิ่งนั้น จึงควรต้องรู้ว่าใครควรต้องรู้อะไร ใครอยากเรียนรู้อไร เพื่อให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการและตรงกับที่องค์กรต้องการ และ 3) คนทุกคนรู้มากกว่าที่พูดได้เขียนได้ เวลาถอดความรู้ฝังลึกในคน ก็ให้ใช้วิธีที่ตนเองถนัด คนที่พูดเก่งก็ให้เล่าเรื่อง ส่วนคนที่เขียนเก่งก็ให้เขียนดึงความรู้ออกมา

ฉะนั้น การจัดการความรู้จึงเป็นวิธีการสร้างความรู้โดยใช้การวิจัยเป็นตัวตั้ง (research methodology) เพื่อสร้างทฤษฎีหรือความรู้ใหม่และนำไปทดลองปฏิบัติ แต่เป็นการถอดความรู้จากเรื่องของความสำเร็จ (success story) โดยกระบวนการถอดความรู้ต้องเริ่มต้นจากสิ่งดีงามและความสำเร็จเพื่อให้กลายเป็นเวทีระบายสุข หัวใจสำคัญของการจัดการความรู้ คือกระบวนการเรียนรู้ที่ครบวงจรไปสู่การสร้างปัญญา ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดึงความรู้ฝังลึกในคนออกมาเป็นความรู้ชัดแจ้งและนำไปปฏิบัติ เมื่อนำไปปฏิบัติแล้ว ความรู้นั้นก็จะเป็นความรู้ฝังลึกในคนที่นำไปปฏิบัติ ซึ่งก็จะหมุนวนในลักษณะเช่นนี้ ทั้งนี้ กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ฝังลึกในคนต้องคำนึงถึงการสร้างบรรยากาศที่ดีและบริบทของแต่ละองค์กรด้วย

ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการปฏิบัติการจัดการความรู้ คือ 1) ผลสัมฤทธิ์ของงานมีคุณภาพมากขึ้น โดยกำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของงาน เช่น ผู้รับบริการพอใจ ผู้เรียนมีการเรียนรู้และมีความสุขในการเรียนมากขึ้น เป็นต้น 2) คนมีคุณภาพมากขึ้น เพราะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ฝังลึกระหว่างคนในองค์กร และมีความสัมพันธ์ที่ดีของคนในองค์กร ทำให้ทำงานกันอย่างมีความสุข 3) เกิดวิธีการทำงานที่ดี หรือมีนวัตกรรมจากการทำงานมากขึ้น เช่น สถาบันการศึกษามีรูปแบบการเรียนการสอน มีเนื้อหาในหลักสูตร มีคู่มือใหม่ๆ เป็นต้น

5. หลักการสำคัญในการจัดการความรู้ มีดังนี้ 1) ให้คนหลากหลายทักษะ หลากหลายวิธีคิดมาทำงานร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์ โดยยึดเหนี่ยวกันด้วยเป้าหมายเดียวกัน 2) ร่วมกันพัฒนาวิธีการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้บรรลุประสิทธิผลที่กำหนดไว้ (Responsiveness/ Innovation/ Competency/ Efficiency) 3) ทดลองและเรียนรู้ เพราะเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ ถ้าได้ผลดีก็ขยายผลมากขึ้น จนได้เป็นวิธีทำงานแบบใหม่ หรือ Best Practice และ 4) นำความรู้จากภายนอกเข้ามาใช้อย่างเหมาะสม โดยนำความรู้จากภายนอกมาทำให้พร้อมใช้ในบริบทของตน (มองหา/ ดูดซับ/ ส่งเสริม)

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ย. ๕๑

 

โปรดอ่านต่อ ตอนที่ ๖.

หมายเลขบันทึก: 224227เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2008 07:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท