บทคัดย่อสารนิพนธ์ : C-Building


การศึกษารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ของบุคลากรในองค์กรแบบบูรณาการ โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง:กรณีศึกษา บริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด

การศึกษารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ของบุคลากรในองค์กรแบบบูรณาการ โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง กรณีศึกษา บริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิด หลักการ รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ ปัจจัยที่ส่งเสริมหรือสนับสนุน และปัญหาหรืออุปสรรค ที่มีผลต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ของบุคลากรในองค์กรแบบบูรณาการ โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยมีบริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด เป็นกรณีศึกษา

            การศึกษาวิจัยในครั้งนี้จัดทำขึ้นในรูปแบบของ การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งอาศัยวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) โดยการศึกษา ค้นคว้า รวบรวมและเรียบเรียงจากหนังสือ วารสาร วิทยานิพนธ์ ภาคนิพนธ์ ผลงานวิจัย บทความและเอกสารทางวิชาการต่างๆ ผ่านการค้นคว้าจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเตอร์เน็ต (Internet)      การสัมภาษณ์ (In-Dept Interview) ผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการจัดรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ของบุคลากรในองค์กรแบบบูรณาการ โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง บริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด รวมทั้งสิ้น 12 ท่าน โดยใช้คำถามที่ผู้ศึกษาจัดทำขึ้นจากการทบทวนแนวคิดและทฤษฏีที่เกี่ยวข้องเป็นแนวทางในการสัมภาษณ์  ตลอดจนเข้าสังเกตการณ์สภาพแวดล้อมและกิจกรรมการจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในบริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด

            ผลการศึกษา พบว่า บริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด ได้นำเครื่องมือหรือวิธีการ (Tools or Approach) ในการพัฒนาบุคลากรของบริษัทมาใช้ในการผลักดันกระบวนการในด้านการเรียนรู้กับบุคลากรของบริษัท โดยนำแนวคิดพื้นฐานในการจัดรูปแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา มาใช้ในการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ด้วยการประยุกต์ทฤษฎี Constructionism ของ Professor Seymour Papert  แห่ง  Media Lab, MIT USA. ซึ่งใช้ชื่อเรียกโครงการพัฒนาพนักงานดังกล่าวว่า โครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แบบบูรณาการ” (C-Building)

            จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรขององค์กรแตกต่างจากการพัฒนาบุคลากรขององค์กรอื่น คือ ก่อให้เกิดการพัฒนาของผู้เรียนในโครงการหลายๆด้าน เป็นที่น่าพอใจ เช่น ผู้เรียนกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออก มีความั่นใจในตนเองมากขึ้น เข้าใจการใช้ชีวิตในมิติต่างๆมากขึ้น รักการเรียนรู้ มีเหตุมีผลมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาด้านความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) มีการใช้สติในการทำงานมากยิ่งขึ้น และมีทัศนคติในการคิดที่เป็นบวกมากขึ้น รวมถึงเห็นว่าการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างมาก

            จากการศึกษาพบว่า การที่องค์กรได้ดำเนินการจัดโครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แบบบูรณาการ (C-Building) มีปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องประกอบไปด้วยปัจจัยต่างๆที่เอื้อต่อการพัฒนาบุคลากร โดยเริ่มจากปัจจัยที่สำคัญที่สุดจะเห็นได้ว่า ผู้บริหารเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ซึ่งผู้บริหารต้องจริงจัง เข้าใจวัตถุประสงค์และเห็นความสำคัญในการดำเนินโครงการอย่างแท้จริง (CEO must be on board) ผู้บังคับบัญชาทุกระดับหรือผู้ปกครองต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่และเต็มใจ รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำเป็นระยะๆ กระบวนกร (Facilitator) ต้องมีความเข้าใจในหลักการและแนวคิดในการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทาง Constructionism รวมถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ต่างๆอย่างชัดเจน  และผู้เข้าร่วมโครงการหรือผู้เรียน (Learner) ต้องเปิดใจรับการเรียนรู้ มีความรับผิดชอบ มีวินัยในตนเอง นอกจากนี้ การบริหารจัดการที่ครอบคลุมเป็นระบบที่ดี เป็นแบบองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization)  การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง และการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึงถูกต้องชัดเจนกับผู้เกี่ยวข้องที่มีประสิทธิภาพ  รวมถึงการมีเครือข่ายด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำให้โครงการ C-Building ประสบความสำเร็จ

            สำหรับข้อเสนอแนะในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 เป็นข้อเสนอแนะสำหรับบริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด ซึ่งประกอบไปด้วยการหาแนวทางในการขยายหรือเพิ่มปริมาณผู้เรียน (Learner) ให้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนของบุคลากรในองค์กร การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทีมกระบวนกร (Facilitator)  การสนับสนุนให้มีการทำวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น การจัดกิจกรรมกระตุ้นการเรียนรู้ให้กับผู้ที่ผ่านโครงการ การบันทึกพฤติกรรมของผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอและจริงจังของทีมกระบวนกร ผู้เรียนควรมีการทำบันทึกเพื่อพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ การคัดเลือกบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการอย่างเหมาะสม การประชาสัมพันธ์โครงการให้รับทราบอย่างทั่วถึง การจัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ และการปรับปรุงระบบการประเมินผลพัฒนาการของผู้ร่วมโครงการ    ประเด็นที่ 2 เป็นข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาวิจัยในครั้งต่อไป ผู้สนใจควรมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยศึกษาวิจัยปัจจัยที่มีผลต่อการขยายผลการเรียนรู้ในองค์กร กรณีการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทาง Constructionism  การศึกษาพัฒนาการของผู้ที่ผ่านโครงการ C-Building  การศึกษาเปรียบเทียบการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) สำหรับโครงการ C-Building, C-Cement, C-Pulp, C-ChEPS, C-Distribution ของกลุ่มธุรกิจในเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ซึ่งจะทำให้ได้รับทราบและวิเคราะห์การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้หลากหลายยิ่งขึ้นในอนาคต

คำสำคัญ (Tags): #co-facilitator#constructionism#learning#scg
หมายเลขบันทึก: 223985เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2008 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณมากครับ สำหรับงานวิจัยดีๆ

ไม่ทราบคุณธนเดช เป็นนักวิจัยในเรื่องนี้หรือเปล่า ครับ

ขอบคุณเช่นกันครับผม ที่เข้ามาทักทายกัน

เป็นสารนิพนธ์ที่ทำตอนจบ ป.โท ที่ NIDA ครับ

พอดีทำหน้าที่เป็น Co-Facilitator ของโครงการ C-Building นี้อยู่ครับ

อุดมลักษณ์ ดวงลกดก

เป็นงานวิจัยที่น่าสนใจมาก อยากทำกับองค์กรที่ทำงานอยู่ แต่อยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับ

Facilitating Process รบกวนแนะนำด้วยนะคะ

นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวสระบุรี สกบ.1/4

มีงานวิจัย ที่เกี่ยวกับการบริหารคลังสินค้า ของบริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด ไม่ค่ะ

คือ หนูกำลังทำเรื่องนี้อยู่ค่ะ แต่หาข้อมูลที่จะเอามาอ้างอิง ยากมาก

มีคำแนะนำบ้างไหมค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ ^^

พอมีข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับการวัดคุณภาพของผู้บริหารบ้างหรือเปล่าค่ะ ถ้ามีข้อมูล เมลล์มาคุยกันได้นะค่ะ ต้องการข้อมูลแต่ยังหาไม่ได้เลยค่ะ

อยากรู้ว่า บทคัดย่อต้องซักประมาณกี่หน้าจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท