การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๒๐)


การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๒๐)


           ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๒๐ มาลงต่อนะครับ     เป็นบทสรุปประสบการณ์ ๖ เดือนของโรงเรียนชาวนา     เสนอมุมมองต่อการจัดการความรู้ในภาคประชาชนไทย


ตอนที่  20  ภาพสะท้อนความคิด
        จากประสบการณ์ในการดำเนินงานโครงการ  ส่งเสริมการจัดการความรู้  เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน  ในช่วง  6  เดือนแรก  ประกอบกับการทำงานกับเกษตรกรในเขตชลประทานภาคกลางของมูลนิธิข้าวขวัญในช่วงระเวลา  15  ปีที่ผ่านมา  มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการส่งเสริมการจัดการความรู้ในสังคมไทย  ดังนี้
        1.  สังคมไทยมีองค์ความรู้เดิมอยู่ในแต่ละท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก  และมีคุณภาพพอที่จะใช้เป็นฐานการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี  แต่องค์ความรู้ในท้องถิ่นส่วนใหญ่จะไม่มีการบันทึกหรือถ่ายทอดในรูปแบบที่เข้าถึงได้ทั่วไป  เช่น  หนังสือ  หรือเอกสารชนิดต่างๆ  แต่อยู่ในตัวบุคคลต่างๆในท้องถิ่นนั้นๆ  ทั้งเป็นองค์ความรู้ที่มีการสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ  และความรู้ที่เกิดขึ้นกับบุคลากรที่มีความสามารถ  ความถนัดพิเศษเฉพาะด้าน
        ดังนั้น  การสืบค้นแหล่งองค์ความรู้ในท้องถิ่นให้พบ  แล้วถ่ายทอดออกมา  เพื่อใช้เป็นฐานความรู้ในการปฏิบัติงาน  แก้ปัญหา  และพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ  จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ  และจำเป็นจะต้องทำเป็นอันดับแรก
        2.  ความรู้จากภายนอกที่เหมาะสมกับท้องถิ่น  และสอดคล้องกับองค์ความรู้เดิมในท้องถิ่นก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ  และจำเป็นต้องนำมาใช้ในการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหา  และพัฒนาให้ประสบผลสำเร็จ  อย่างมีประสิทธิภาพ  เพราะในปัจจุบันสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น  ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาก  ลำพังการนำองค์ความรู้เดิมในท้องถิ่นมาใช้แก้ปัญหาย่อมไม่เพียงพอ  หรือมีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ  จำเป็นจะต้องถูกเสริมหรือต่อเติมด้วยความรู้ที่เหมาะสมจากภายนอก  แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ความรู้ทั้งสองแหล่งต้องสอดคล้องและเสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกัน  ไม่ขัดแย้งหรือทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติ
        ดังนั้น  การคัดเลือกประยุกต์ปรับใช้ความรู้จากภายนอกให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ที่ใช้เป็นฐานในท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ได้เป็นลำดับต่อมา  หลังจากมีการรวบรวมองค์ความรู้จากท้องถิ่นแล้ว
        3.  การนำองค์ความรู้จากท้องถิ่นนั้นๆ  และความรู้ภายนอกที่เหมาะสมเข้าไปปฏิบัติโดยคนในท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหา  หรือพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์  ควรมีคนในท้องถิ่นเป็นหลัก  (เป็นพระเอก)  และต้องปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่มจึงจะได้ผลเร็ว  และมากกว่าการทำร่วมกับปัจเจกบุคคลทีละราย  กระบวนการกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการร่วมปฏิบัติหรือเรียนรู้  จะทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในเรื่องอื่นๆ  ต่อเนื่องไป  แม้จะสิ้นสุดการปฏิบัติหรือเรียนรู้ร่วมกันแล้ว
        บุคลากรที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานหรืออำนวยการให้เกิดการเรียนรู้หรือปฏิบัติงาน  เพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่น  (คุณอำนวย)  นั้น  มีความจำเป็นและต้องมีความสามารถในการนำเอา         องค์ความรู้ในท้องถิ่นและภายนอกมาปรับใช้ให้เป็นกระบวนการเรียนรู้กับกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสมทั้งวิธีการและเนื้อหา  การพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสมกับการทำหน้าที่นั้น  (คุณอำนวย)  จึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องทำให้สำเร็จเช่นเดียวกัน  กระบวนการจัดการความรู้จึงจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        4.  ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในโครงการฯ  ช่วงระยะเวลา  6  เดือนที่ผ่านมา  คือ  ในพื้นที่ตำบล       วัดดาว  อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี  กลุ่มนักเรียนชาวนาที่ได้ผ่านการจัดการความรู้จากโรงเรียนชาวนา  ประสบความสำเร็จทั้งการนำความรู้ไปใช้ในการทำนาปลอดสารเคมี  และ         การปรับเปลี่ยนทัศนคติการดำเนินชีวิต  เกิดการเอื้อเฟื้อ  ช่วยเหลือเกื้อกูลในชุมชน  ภูมิใจในศักดิ์ศรีของชาวนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น  จนกระทั่งองค์การบริหารส่วนตำบล  (อบต.)  ต้องการขยายผลให้ครอบคลุมทั้งตำบลวัดดาว  โดยมีความพร้อมในทุกด้าน  โดยเฉพาะด้านงบประมาณ  แต่ขาดบุคลากรที่จะทำหน้าที่อำนวยการให้เกิดกระบวนการจัดการความรู้  (คุณอำนวย)  เท่านั้น
        ดังนั้น  กระบวนการสร้างบุคลกร  เพื่อทำหน้าที่อำนวยให้เกิดการจัดการความรู้ในท้องถิ่น  (คุณอำนวย)  จึงเป็นความจำเป็น  และมีความสำคัญเช่นเดียวกัน  โดยเฉพาะการสร้างบุคลากรในท้องถิ่นนั้นๆเองให้ทำหน้าที่นี้จะเหมาะสมกว่าให้คนนอกเข้าไป  เพราะจะทำให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและขยายผลต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
        5.  ผลที่ได้รับจากการจัดการความรู้ในรูปแบบโรงเรียนชาวนา  พบว่า  นอกจากชาวนาที่ผ่านกระบวนการจัดการความรู้ในโรงเรียนชาวนาจะปรับเปลี่ยนวิธีการทำนา  โดยนำเอาสิ่งที่เรียนรู้จากโรงเรียนชาวนาไปใช้อย่างได้ผล  จนสามารถเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูข้าวได้  และลดต้นทุนการผลิตข้าวโดยไม่ลดผลผลิต  ทำให้เพิ่มรายได้อย่างน่าพอใจแล้ว  ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกว่า  ซึ่งเกิดขึ้นในหมู่นักเรียนชาวนากลุ่มนี้ก็คือ  การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์  (Paradigm)  จากการให้ความสำคัญกับเงินหรือปัจจัยภายนอก  มาเป็นการให้ความสำคัญกับสุขภาพ  ชีวิต  ความสัมพันธ์ในชุมชน  สิ่งแวดล้อม  วัฒนธรรม  ศักดิ์ศรี  ฯลฯ  เป็นหลัก  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  เป็นผลที่เกิดขึ้นเพราะกระบวนทัศน์แบบเดิมที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างสอดคล้องกับการทำนาแบบเดิมที่พึ่งพาสารเคมี  และทำลายระบบคุณค่าดั้งเดิมของชาวนาต่อเนื่องมาหลายสิบปี  ถูกแทนที่ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ที่สอดคล้องกับคุณค่าดั้งเดิมของชาวนา  และวิธีการปลูกข้าวที่ไม่พึ่งพาสารเคมี  ซึ่งเรียนรู้จากโรงเรียนชาวนา
        สรุปโดยสังเขปคือ  การจัดการความรู้ในรูปแบบโรงเรียนชาวนา  โดยนำเอาองค์ความรู้ในท้องถิ่นและความรู้จากภายนอกมาใช้เป็นหลักสูตรในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มของชาวนาอย่างประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม  (ลดต้นทุน  รายได้เพิ่ม  สุขภาพและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น  ฯลฯ)  แล้ว  วิถีการดำเนินชีวิตในชุมชนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยอย่างเห็นได้เป็นรูปธรรม  เช่น        การช่วยเหลือเกื้อกูล  ความมั่นใจในอาชีพ  และอนาคต  มีศักดิ์ศรี  ภูมิใจในวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น  จนรื้อฟื้นขึ้นมาปฏิบัติและถ่ายทอดให้เยาวชนรุ่นต่อไป  ฯลฯ
        ผลที่เกิดขึ้นจากการจัดการความรู้ในช่วงระยะเวลา  6  เดือนที่ผ่านมา  ทำให้เชื่อได้ว่า  หากมีการจัดการความรู้อย่างเหมาะสมในสังคมไทยปัจจุบันแล้ว  จะสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลายๆด้าน  ไม่เฉพาะด้านการเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกรเท่านั้น
         แต่การจัดการความรู้ในสังคมไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น  ต้องการระยะเวลา  และการทำงานเพื่อการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกหลายด้าน  ทั้งองค์ความรู้  กระบวนการ  และบุคลากร

                         


           มองจากมุมของ สคส. ข้อสรุปนี้ช่วยตอกย้ำความเชื่อของ สคส. ว่าการจัดการความรู้น่าจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการขับเคลื่อนชนบทไทย   ไปสู่สังคมพอเพียง    เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข     และมีการใช้ความรู้ในกิจการของตนทุกเรื่อง     มีชุดความรู้ที่ร่วมกันสร้างขึ้นใช้งาน และปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา


           ข้อสังเกตของ มขข. นี้ มีผลต่อยุทธศาสตร์การทำงานของ สคส. และพันธมิตร ในการดำเนินการสร้าง “คุณอำนวย” ขึ้นอย่างรวดเร็ว


วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘
       
       

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 2235เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2005 08:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท