หมอบ้านนอกไปนอก(79): ศิษย์ มสธ.


มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก่อคุณูปการแก่สังคมไทยเป็นอย่างมาก ที่ช่วยให้คนไทยเข้าถึงการศึกษาเรียนรู้โดยไม่ลดทอนคุณภาพการศึกษา การไม่เข้าชั้นเรียนเลย ทำให้นิสิตต้องใส่ใจ ใฝ่ใจอ่านศึกษาหาความรู้เอง ไม่มีคะแนนเก็บ คะแนนช่วยหรือคะแนนเห็นใจทั้งสิ้น คำพูดทำนองที่ว่า "จ่ายตังค์ครบ จบแน่" จึงไม่เกิดขึ้น

การได้ทุนมาเรียนต่างประเทศทำให้วิถีชีวิตเดิมๆเปลี่ยนไปมากพอสมควร การใช้เวลากับโลกออนไลน์มากขึ้น ได้พบกับสิ่งที่มีประโยชน์ของโลกออนไลน์ ขณะเดียวกับการได้ผจญภัยกับภยันตรายที่กลุ่มมิจฉาชีพหรือผู้ที่หวังฉกฉวยประโยชน์ต่างๆจากผู้ใช้เน็ต ถือเป็นการเรียนรู้ที่มีค่าเช่นกัน เหมือนกับที่มีคนกล่าวไว้ว่า ทุกคนเป็นครู ทุกที่เป็นห้องเรียน ทำให้นึกถึงมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชหรือ มสธ. ที่ได้เปิดโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบชั้นเรียนแต่มีใจที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนที่จะหาความรู้ใส่ตนเพื่อสร้างความก้าวหน้าของตนเองและใช้ความรู้เพื่อประเทศชาติ

ผมเองได้มีโอกาสเข้าเรียนในหลักสูตรของ มสธ.ในหลายสาขาด้วยกันทั้งด้านการบริหารรัฐกิจ นิเทศศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ ทำให้ได้ใช้ความรู้เหล่านี้มาประกอบการทำงานได้อย่างมาก นอกจากนี้ยังมีระบบการเรียนที่เลือกเรียนเฉพาะบางรายวิชาที่เราสนใจ เรียกว่า สัมฤทธิบัตร ทำให้เราสามารถไขว่คว้าหาความรู้ได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องลงเรียนทุกวิชาตลอดหลักสูตร ผมจึงเป็นคนหนึ่งที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นศิษย์ มสธ. อย่างมาก

ปลายปี 2548 ผมก็ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ มสธ. อีกครั้ง โดยการนำของรองศาสตราจารย์ ดร. บุญทิพย์ สิริธรังสี ให้ผมได้มาเรียนรู้กับ มสธ. ในการร่วมเขียนเอกสารประมวลสาระชุดวิชา ระบบสุขภาพและการจัดการ (Health System and Management) ของนิสิตปริญญาโทสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ การบริหารการพยาบาล ในหน่วยที่ 13 การจัดการความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ทำให้ผมมีโอกาสเรียนรู้วิธีการเขียนเอกสารการสอนของ มสธ. ที่ถือว่าเป็นเอกสารการสอนที่อ่านเข้าใจง่ายเพราะไม่มีการบรรยาย อาศัยการอ่านเอกสารเป็นหลัก ใช้เวลาเกือบปีกว่าจะเขียนสำเร็จ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการให้ใช้ได้

เค้าโครงเนื้อหาที่เขียนในหน่วยนี้ประกอบด้วย ตอนที่ 13.1 ความหมายและพัฒนาการของการจัดการความรู้และการจัดการข้อมูลข่าวสาร (ความหมายและพัฒนาการของการจัดการความรู้ ความหมายและพัฒนาการของการจัดการข้อมูลข่าวสาร) ตอนที่ 13.2 การจัดการความรู้ด้านสุขภาพ (เป้าหมายและองค์ประกอบในการจัดการความรู้ รูปแบบของการจัดการความรู้ด้านสุขภาพ กลยุทธ์ และกระบวนการการจัดการความรู้ด้านสุขภาพ) และตอนที่ 13.3 การจัดการข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ (ความหมายและความสำคัญของการจัดการข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ระบบสารสนเทศกับการจัดการข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ กระบวนการจัดการข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ) การเขียนเอกสารทางวิชาการมีความยากกว่าการเขียนบทความเพราะต้องหาเอกสารอ้างอิง จะเขียนตามประสบการณ์อย่างเดียวค่อนข้างยากเพราะดูเลื่อนลอยเกินไป แต่ผมกลับคิดว่าถ้าทุกอย่างที่เขียนต้องมีเอกสารอ้างอิง แล้วสิ่งที่เราพบจากประสบการณ์ทำงานจริงก็จะเขียนลงไปได้ยากเพราะไม่รู้จะอ้างจากงานเขียนของใคร

ผมก็ได้มีโอกาสเรียนรู้จาก มสธ.อีกโดยอาจารย์บุญทิพย์ ชวนผมมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิให้แก่นิสิตปริญญาโทพยาบาลศาสตร์ 3 คน ผมคิดว่าระบบที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของ มสธ. ดีมากเพราะมีอาจารย์หลักของคณะ 1 คน ที่ชำนาญในหัวข้อนั้นๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีความชำนาญในด้านสถิติ และบุคคลภายนอกที่มีประสบการณ์ในเรื่องที่นิสิตทำวิทยานิพนธ์ เป็นวิทยานิพนธ์ ไม่ใช่การศึกษาอิสระ (IS: Independent study) แบบที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งให้นิสิตทำ บางแห่งทำเป็นกลุ่ม 5-6 คนต่อเรื่อง เพราะอาจารย์ที่ปรึกษามีไม่เพียงพอ เลยทำให้เป็นที่สงสัยเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนได้

นิสิตทั้ง 3 คน คือคุณสมถวิล จากสถาบันบำราศนราดูร คุณลักขณา จากโรงพยาบาลนภาลัย และคุณบุญนำ จากโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช บุคลากรทั้ง 3 คนนี้ ถือเป็นบุคลากรแนวหน้าของหน่วยงานอยู่แล้ว ก่อนที่จะเข้ามาเรียนที่ มสธ. ในการเป็นที่ปรึกษาครั้งนี้ ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้การเป็นที่ปรึกษา เรียนรู้จากการทำงานและพูดคุยกับนิสิตและอาจารย์บุญทิพย์และอาจารย์สุพิมพ์ ที่ปรึกษาอีก 2 คน ผมคิดว่า เหมือนกับที่ปรึกษาร่วมเป็นทีมวิจัยกับนิสิตไปด้วย เป็นการพบปะกันแบบกัลยาณมิตร ที่นิสิตไม่ต้องกลัวอาจารย์ดุด่า โดยเฉพาะอาจารย์บุญทิพย์ ถือเป็นตัวอย่างของครูที่มีความเมตตาต่อศิษย์อย่างมาก ไม่ตามใจง่ายๆ แต่แนะนำให้แก้ไขแบบใช้ลูกยุ หรือลูกเชียร์ (Empowerment) ผมเองก็มีความรู้สึกไปด้วยว่า งานของนิสิตทั้ง 3 นี้เป็นงานของเราไปด้วย ที่ต้องช่วยกันให้งานสำเร็จออกมาดี มีประโยชน์ โดยการทำหน้าที่คุณอำนวยและคุณเอื้อให้นิสิตทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด แม้จะอยู่คนละสถานที่แต่การพบกันแบบเวทีจริงก็มีหลายครั้ง ร่วมกับการติดต่อทางโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ทำให้รู้สึกว่าครูกับศิษย์ไม่ห่างไกลกัน ผมเองก็ได้เรียนรู้จากงานของนิสิตทั้ง 3 เป็นอย่างมาก

งานวิทยานิพนธ์ทั้ง 3 ชิ้นนี้ มีความเหมือนกันคือการประยุกต์ใช้แนวคิดการจัดการความรู้ของโนนากะและทาเคอูชิ ที่เรียกว่า SECI Model หรือ knowledge conversion process model ที่เป็นตัวแบบการจัดการความรู้ที่ครบวงจรมากที่สุด ถ้าเราทำได้ครบตามนั้น แต่ส่วนใหญ่ที่เอามาใช้กันจริง ทำแค่ครึ่งเดียวคือเอาคนมาเจอกัน แล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสกัดเอาความรู้ฝังลึกออกมาใส่ไว้ในเอกสาร แล้วก็จบ ซึ่งทำให้เกลียวความรู้หมุนไม่ครบวงและไม่สามารถยกระดับสูงขึ้นไปเพื่อดึงให้เกิด Best practice ที่ดีขึ้นเรื่อยๆได้ ทำให้ได้แค่เอกสารออกมารอบเดียว แล้วก็จบกันไป กระบวนการจัดการความรู้ของโนนากะและทาคิวชิ (Nonaka &Takeuchi) ประกอบด้วยกระบวนการง่ายๆคือเอาคนมาสัมพันธ์กัน (Socialization) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เอาความรู้ในตัวคนออกมา (Externalization) แล้วเอาความรู้ที่ออกมาบันทึกเป็นเอกสารนั้น มารวบรวม กลั่นกรอง วิเคราะห์และสังเคราะห์มาเป็นวิธีการทำงานใหม่ (Combination) แล้วเอามาประกาศใช้ เอามาให้ผู้ปฏิบัติได้เรียนรู้เพื่อเอาไปปรับใช้จริง (Internalization)

คุณสมถวิล ทำเรื่องการพัฒนารูปแบบ การจัดการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคเอดส์   สถาบันบำราศนราดูร  กระทรวงสาธารณสุข  โดยใช้แนวคิดของการจัดการความรู้ของโนนากะและทาคิวชิ ประชากรที่ได้รับการวิจัยครั้งนี้  คือ  ผู้ให้บริการที่มีความรู้ความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคเอดส์   ผู้ป่วย  พร้อมผู้ดูแลผู้ป่วยเด็กโรคเอดส์ของสถาบันบำราศนราดูร ในระหว่างเดือน มกราคม- เมษายน .. 2550 กลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม 25 คนเป็นการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงคือผู้ให้บริการ 15 คน ผู้ดูแลผู้ป่วยเด็กโรคเอดส์จำนวน 5 คน และผู้ป่วยเด็กโรคเอดส์ 5 คน

คุณบุญนำ ทำเรื่องการพัฒนารูปแบบการช่วยชีวิตขั้นสูง โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

โดยใช้แนวคิดการจัดการความรู้ของโนนากะและทาคิวชิ (Nonaka & Takeuchi) เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory action research) กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชที่เกี่ยวข้องกับการช่วยชีวิตขั้นสูง ได้แก่พยาบาลประจำการในหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน 10 คน พยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางงานผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน 2 คน แพทย์ผู้เกี่ยวข้องในการสอนการปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นสูง1 คนและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอายุรกรรม 1 คน ตัวอย่างลักษณะการทำวิจัยของคุณบุญนำ คือ

Socialization หมายถึง การจัดกลุ่มสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มตัวอย่างที่คัดเลือกมา  หัวข้อการสนทนาคือ การช่วยชีวิตขั้นสูงที่ประสบความสำเร็จ โดยเป็นการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการและ เป็นบรรยากาศการสนทนาอย่างเป็นกันเอง  ทำการสนทนาซ้ำหลายครั้ง

Externalization หมายถึง กระบวนการSocialization ที่ถ่ายทอดเป็นคำพูดในกระบวนการช่วยชีวิตขั้นสูงที่เกิดขึ้นระหว่างการสนทนาตามกระบวนการ Socialization โดยการบันทึกคำสนทนาทุกครั้งที่มีการทำการสนทนากลุ่ม  มีการรวบรวมบันทึกคำสนทนามาตรวจสอบความถูกต้องทุกครั้งที่ทำการทำการสนทนากลุ่ม

Combination หมายถึง การนำเอาสิ่งที่ได้จากการสนทนาที่ผ่านการทำซ้ำหลายๆ ครั้ง มารวบรวมเป็นแนวปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นสูงที่ต้องการพัฒนาเป็นรูปแบบ  ทำการปรับปรุงรูปแบบตามแนวทางที่ได้จากกระบวนการ Socialization และ Externalization  โดยผู้ที่อยู่ในกระบวนการ Socialization

Internalization หมายถึง การนำรูปแบบการช่วยชีวิตขั้นสูงที่พัฒนาขึ้นให้ผู้ที่ร่วมพัฒนาและผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบก่อนนำไปทดลองปฏิบัติ  และส่งตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิพร้อมให้ข้อเสนอแนะข้อคิดเห็นเพื่อให้รูปแบบมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก่อนนำมาสรุปเป็นรูปแบบที่จะประกาศใช้เป็นแนวปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นสูงของหน่วยงาน

              คุณลักขณา ทำเรื่องการพัฒนารูปแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลนภาลัย  โดยใช้แนวคิดของการจัดการความรู้ของโนนากะและทาคิวชิ เป็นวิจัยแบบมีส่วนร่วม ( PAR : Parcitipatory Action Researh ) เช่นกัน กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจง  แบ่งเป็น  2 กลุ่ม  กลุ่ม 1 กลุ่มพัฒนารูปแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ประกอบด้วย ทีมสหวิชาชีพส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลนภาลัย  ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ แพทย์  นักกายภาพบำบัด   โภชนากร   และเจ้าหน้าที่ด้านเวชกรรมครอบครัว 12 คน กลุ่มผู้ดูแล   ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดทางสมองที่มาใช้บริการในสถานะผู้ป่วยใน ในช่วงเดือนที่เก็บข้อมูลจำนวนไม่ต่ำกว่า 3 คน กลุ่ม 2 เป็นกลุ่มประเมินความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่สร้างขึ้นไปใช้ ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 4 ท่าน  ทั้งที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลนภาลัย

             คุณสมถวิลสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ไปแล้วเมื่อเดือนที่แล้ว มีการวิพากษ์และปรับแก้ไขมากพอสมควรและสอบผ่านไปแล้ว คุณบุญนำ จะสอบในเดือนหน้า ส่วนคุณลักขณา จะสอบพรุ่งนี้ ทำให้ช่วงนี้ผมต้องเตรียมตัวในเรื่องการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของผมเองที่จะสอบวันที่ 23 มิถุนายน และอ่านเอกสารเตรียมตัวเป็นอาจารย์สอบมากกว่าเตรียมสอบของผมเองมาก

             วันพุธที่ 18 มิถุนายน 2551 ตื่นเช้าไปส่งลูกที่โรงเรียนแล้ว ก็ต่อสไกป์ไปที่ สมธ. วันนี้มีอาจารย์วัลลา ตันตโยทัย คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญการจัดการความรู้ระดับประเทศ เป็นประธานกรรมการสอบ มีอาจารย์บุญทิพย์ อาจารย์สุพิมพ์ และผม ร่วมเป็นกรรมการ มีการวิพากษ์เยอะมากจากอาจารย์วัลลาและผม เป็นกรรมการที่เข้าขากันดีมากเพราะเคยมีประสบการณ์การทำเคเอ็มมาด้วยกัน เราพยายามชี้ประเด็นในแก่นของการทำเคเอ็มจริงๆ ซึ่งหลายคำถามเราสามารถพบคำตอบได้ในขณะที่เราเป็นที่ปรึกษาและมีการพูดคุยกันในกลุ่ม แต่ตัวนิสิตเองอาจจับประเด็นมาตอบไม่ชัด เกือบสามชั่วโมงของการวิพากษ์ที่เป็นเสมือนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้สอบและอาจารย์สอบไปด้วยกัน อาจารย์ทั้งสี่ท่านมีความเห็นร่วมกันในสุดท้ายว่า สอบผ่าน แต่ให้มีการปรับแก้ไขตามข้อเสนอแนะก่อน ผมเองไม่เครียดแต่คุณลักขณาอาจจะเครียดก็ได้

            ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการนำการจัดการความรู้มาทำวิจัยหรือการนำการวิจัยมาจัดการความรู้เป็นเรื่องยาก เพราะที่มาของแนวคิดหลักการค่อนข้างจะมาคนละด้านกัน แม้เป้าหมายจะเป็นสิ่งเดียวกันคือสร้างองค์ความรู้ใหม่ การทำวิทยานิพนธ์ของนิสิตทั้ง 3 คน จึงมีความยากในตัวเองอยู่แล้ว ต้องอาศัยความมานะพยายาม อาศัยการเชื่อมโยงความคิดเห็นที่อาจแตกต่างกันของแนวคิดตามเอกสารที่ทบทวนมาและแนวคิดของอาจารย์ที่ปรึกษาแต่ละท่านและอาจารย์ที่มาสอบ วิจัยเริ่มจากปัญหา มีกระบวนการที่เป็นกรอบที่ชัดเจน เน้น Evidence-based หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ตา ขณะที่การจัดการความรู้ เริ่มจากความสำเร็จ มีกระบวนการที่ยืดหยุ่น เน้นความสัมพันธ์ระหว่างคน เน้น Practical-based หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ใจ จึงเด่นไปคนละด้าน ตัวที่จะมาเชื่อมโยงเข้าหากันได้ดี น่าจะเป็น R2R

             ตอนบ่ายผมมีการซ้อมนำเสนอวิทยานิพนธ์ให้เพื่อนๆในกลุ่มได้ฟังและวิพากษ์ ตอนแรกผมรุ้สึกเบื่อๆทำไมต้องมาซ้อม แต่พอทำจริงก็พบว่าเพื่อนๆให้ข้อชี้แนะที่ดีมาก การเรียนรู้ร่วมกัน จากมุมมองที่แตกต่าง ทำให้เราได้สิ่งดีที่คาดไม่ถึงได้ ตอนบ่ายกลับบ้านมาวางแผนพาครอบครัวเที่ยว เครียดกว่าการเตรียมตัวสอบวิทยานิพนธ์เยอะเลย

พิเชฐ  บัญญัติ (Phichet Banyati)

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

20 มิถุนายน 2551, 22.35 น. (แก้ไข 16 พฤศจิกายน 2551 บ้านพักโรงพยาบาลบ้านตาก)

หมายเลขบันทึก: 223301เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2008 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

น่าเรียนนะคะที่มสธ.

สมัครไม่ทัน

ขณะนี้ยังเปิดรับสมัคร หลักสูตรสัมฤทธิบัตร หรือเปล่าคะ

สวัสดีครับ

ผมเองก็ศิษย์ มสธ คัรบ

เป็นการเรียนเพิ่มความรู้ ขณะทำงานครับ

มีวันหนึ่งที่ต้องไปประชุม เลยทราบว่ามีนักศึกษาจากหลายอาชีพ ที่ซึ่งล่วนแต่มีปริญญามาแล้วทั้งนั้น เค้าเหล่านี้มีความต้องการเดียวกันคือมา พัฒนาความรู้ครับ

.นอกจากนั้น ได้เพื่อน ได้ประสบการณ์

ขอบคุณ มสธ. ครับ

  • การเรียนรู้ร่วมกัน จากมุมมองที่แตกต่าง ทำให้เราได้สิ่งดีที่คาดไม่ถึงได้ (เป็นความจริงที่เห็นด้วยค่ะ)
  • มสธ. ให้อะไรมากกว่าที่คิดค่ะ

การเรียนรู้ร่วมกัน จากมุมมองที่แตกต่าง ทำให้เราได้สิ่งดีที่คาดไม่ถึงได้ ....ขอขอบพระคุณอาจารย์นะค่ะ ที่สอนศิษย์คนนี้ ทำให้ได้มีอีกหนึ่งมุมมอง คงจะโชคดีกว่าคนอื่น เพราะมีแต่คนอยากเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ แต่ไม่มีโอกาส เพราะฉะนั้นจะใช้โอกาสที่มีดีกว่าคนอื่น เก็บเกี่ยวความรู้จากอาจารย์ให้มากที่สุด....และจะนำไปใช้ประโบชน์ทั้งต่องานและสังคม

สวัสดีครับคุณบรรเจิด

ได้เข้ามาอ่านนานแล้ว แต่ไม่ได้มาตอบ ผมเองก็ภูมิใจในตัวลูกศิษย์คนนี้เช่นกันครับ ขอแสดงความชื่นชมยินดีอีกครั้งกับคะแนนเฉลี่ย 4.00 ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก ที่ผมได้มีโอกาสสอนในรายวิชาการบริหารเชิงกลยุทธ์ทางสาธารณสุข

ดูจากความรับผิดชอบและความตั้งใจเรียน สนใจงานที่มอบหมายแล้ว ก็เป็นโชคดีของจังหวัดพิจิตรครับ ที่มีบุคลากรคุณภาพเช่นนี้

ขอให้ประสบแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิตครับ

ผมเองก็กำลังพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีคุฯสมบัติในการกลับเข้าไปเป็นศิษย์ มสธ. อีกสาขาหนึ่งครับ อาจเป็นปีหน้า

ผมเรียนคณะบริหารสาธารณสุข สอบไม่ผ่าน หลายครั้งแล้ว อยากได้รับการอบรมเข้ม จะหาข้อมูลการอบรมได้ที่ใดบ้าง ใครทราบช่วยตอบผมหน่อยครับ ผมเหลืออีก 6 ชุดวิชา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท