จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

กลันตัน 1 (ครั้งที่ 4)


ไปกลันตันครั้งก่อน ยังเอามาเล่าในโกทูโนยังไม่ทันหมดเลยครับ ผมก็ต้องย้อนกลับไปกลันตันอีกครั้ง (บันทึกนี้เขียนที่กลันตันครับ แต่จะได้โฟสต์ขึ้นเมื่อไหรอันนี้ไม่แน่ใจเหมือนกัน) ก่อนจะกลับมากลันตัน ก็มีการนำเสนอผลงานระหว่างการดำเนินการวิจัยไปครั้งหนึ่งแล้ว (เล่าไปแล้วครับ) ซึ่งทุกครั้งที่มีการเสนอความคิดเห็น ผมก็มักจะได้แนวคิดอะไรใหม่ๆ เพื่อการเก็บข้อมูลทุกครั้งไปครับ
ครั้งนี้ออกเดินทางมาในเวลาสิบโมงของวันที่สิบ พ.ย. ครับ แต่ออกจากบ้านได้เพียงสองกิโลเมตร ผมเกิดอาการไม่แน่ใจว่าหลักฐานรถจะอยู่ครบหรือเปล่า สำรวจใหม่อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่า คู่มือรถฉบับแปลเป็นอังกฤษหายไป เอกสารชิ้นนี้ไม่จำเป็นสำหรับการเดินครั้งที่ผ่านมาครับ แต่ครั้งนี้จำเป็นเนื่องจากรอบนี้ต้องทำประกันรถในฝั่งมาเลย์ใหม่ เพราะคราวก่อนหมดอายุไปแล้ว
ผมย้อนกลับไปหาเอกสารชิ้นนี้ทั้งที่ทำงานและที่บ้าน ปรากฏว่า มันไม่มี ซึ่งความจริงมันก็ไม่ควรมีอยู่ในทั้งสองทีครับ เนื่องจากผมจำได้ว่า ผมเก็บเอกสารพวกนี้ไว้ในรถเลย แล้วผมก็นึกถึงเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมาได้ทันที สรุปได้ว่า มันหายไปเพราะมีฝีมือเตาฟิกแน่นอน เพราะครั้งหนึ่ง ผมลืมปิดประตูรถ แล้วเตาฟิกก็ขึ้นมาเล่นอยู่บนรถ และเอกสารในรถกระจัดกระจาย สงสัยจะหายตอนนั้นจริงๆ
ผมตัดสินใจไปทำใหม่ที่ขนส่งครับ แต่พอไปถึงปรากฏว่า หลักฐานผมไม่ครบอีก คือขาดสำเนาทะเบียนบ้าน จำได้ว่าครั้งก่อนมันไม่ใช้นี้หว่า ก็ต้องย้อนกลับมาที่บ้านอีกครั้ง กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด ปาเข้าไปบ่ายสามครับ เริ่มหงุดหงิดใจแล้ว แหม่ ผมน่าจะรอบคอบกว่านี้หน่อย
ก่อนออกเดินทางก็ได้รับการแจ้งข่าวดีมาจาก อ. ibm ว่า ผมคงไม่ต้องรับหน้าที่ตำแหน่งบริหารหน่วยงานๆ หนึ่งแล้ว ฮิฮิ อัลฮัมดุลิลลาห์ โล่งไปอีกเปราะหนึ่ง
ผมใช้เวลาที่ด่านตาบา (อ.ตากใบ) ประมาณหนึ่งชั่วโมงครับสำหรับการทำประกันรถฝั่งมาเลย์ แล้วก็รอเรอเฟอรี่ ปรากฏเมื่อข้ามฝั่งไปได้ เป็นโอกาสดีครับที่ได้เจอกับกลุ่มตัวอย่างเลย คือ คนสยามจากตุมปัตครับ เขาเพิ่งกลับมาจากวัดโคกสมานคุณที่หาดใหญ่ เพื่อไปร่วมงานและซื้อของใช้ต่างๆ สำหรับนำกลับมาใช้ในการถวายกฐินพระราชทานที่วัดพิกุลทอง ความจริงคุยกันว่า แบ่งคนกลุ่มหนึ่งไปรถของผมและอีกกลุ่มหนึ่งไปกับอีกคันหนึ่งครับ แต่ปรากฏว่า ไม่สำเร็จ หัวหน้าทีมเลยบอกว่า ไม่เป็นไร ค่อยไปเจอกันที่ตุมปัตเลย เพราะยังไหงเดี๋ยวลูกของเขาจะมารับแล้ว
เมื่อไปถึงตุมปัต ผมไม่คิดเรื่องที่พักก่อนครับ เพราะการมารอบที่แล้ว ผมเก็บข้อมูลเรื่องที่พักไว้เยอะแล้ว คราวนี้เลยลงสนามเลย ไปถึงวัดพิกุลทองก็กำลังคึกคักเลยครับ เจอใครก็คุยก็ถามครับ เจอทั้งคนเก่า คนใหม่ ได้ข้อมูลเต็มกระบุง แล้วก็ต้องประเด็นใหม่อีกอย่างหนึ่งครับคือ ในตุมปัตมีที่พักหรือเปล่า เราจะได้ไม่ต้องเข้าไปโกตาบารู ปรากฏว่ามีครับ เป็นที่พักที่เขาเรียกว่า hostel แต่กว่าจะหาเจ้าของเจอก็ทุ่มกว่า และคิดว่าถ้าอยู่ที่ตุมปัตคงหาข้าวทานลำบากแล้ว เพราะร้านแถวนี้ปิดหมด เลยเปลี่ยนใจไปนอนที่โกตาบารูดีกว่า
เมื่อตัดสินใจได้ก็อยู่ในวัดต่อครับ สังเกตบรรยากาศของการเตรียมงาน รอบนี้ต้องเรียกว่า เจอแต่คนใจดีครับ เดินๆ อยู่เจอแม่ค้าขายขนมจาก ก็เรียกผมเข้าไปใกล้ๆ ยื่นขนมจากให้สองลูก บอกว่า ลองชิมดูสิ แล้วพอรู้ว่าผมมาจากประเทศไทยก็เลยถามว่า รถชาดต่างกันหรือเปล่า คนมันเริ่มหิวข้าวแล้วครับ เลยอร่อยจริงๆ สังเกตการขายแล้วรู้สึกว่า คนขายจะเน้นการแจกมากกว่าการขายครับ เจอใครก็เรียกมาว่า เอาๆๆ ไปชิมก่อน ฮิฮิ นั่งคุยอยู่นานครับ แล้วก็อุดหนุนขนมจากอีกสองเหรียญ เป็นการขอบคุณ
เดินไปที่โรงเรียนสอนภาษาไทยหลังวัด ก็เด็กกลุ่มหนึ่งกำหนดทำความสะอาดห้องเรียนอยู่ เลยเข้าไปคุย ฮาฮา แทนที่เด็กกลุ่มนั้นจะเป็นนักเรียน ที่ไหนได้ นี่แหละครับครูสอนภาษาไทยประจำวัด ก็เหมือนกับพี่สอนน้องนั่นแหละครับ
ปรากฏการณ์ที่สำคัญคือ คนสยามให้ความสนใจกับภาษาจีนมากขึ้นครับ ทำให้เด็กส่วนใหญ่พูดได้มากกว่าสามภาษาครับ คือ ไทย มลายูและจีน ฟังวิธีการเรียนภาษาแล้ว ผมได้ข้อสรุปเลยครับว่า ไม่ต้องเอาทฤษฏีทวิภาษามาทดลองในสามจังหวัดก็ได้ครับ กระบวนการเรียนภาษาที่ตุมปัตน่าจะเอาเป็นแบบได้ดีกว่าครับ

การเก็บข้อมูลในครั้งนี้ ผมเปลี่ยนทั้งวิธีการและแนวคิดครับ เพราะสิ่งที่เราเจอและรายงานในที่ประชุมไป พบว่า ผลของเรามีความแตกต่างจากหลายงานวิจัยมาก ดังนั้นทำอย่างไรให้มีการตรวจสอบข้อมูลที่เยี่ยมยอดมากขึ้น และที่สำคัญต้องมีมิติที่แตกต่างจากงานวิจัยอื่นๆ ว่า วิธีการเก็บข้อมูลของเราเชื่อถือได้ดีกว่างานวิจัยชิ้นอื่นๆ ซึ่งผมก็พบความจริงบางอย่าง ซึ่งผมเชื่อว่า นักวิจัยไทยคนอื่นที่มาเก็บข้อมูลทำไม่ได้เหมือนอย่างเรา แล้วผมก็พบว่า ข้อมผิดพลาดของงานวิจัยที่ทำมาก่อนหน้านี้อยู่ที่ไหน
ผมเก็บข้อมูลไปแล้วสองวันครับ สิ่งที่เราได้คืออย่างที่หัวหน้าทีมวิจัยพูดครับ "งานนี้ต้องขอบคุณ สกว. ที่ให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่แตกต่าง เป็นความรู้ที่ไม่สามารถหาได้จากหนังสือ ตำราใด ประสบการณ์ที่ได้คุ้มค่าจริงๆ"
ตอนนี้หน้าที่ของผมคือ เขียนรายงานให้มีความสมบูรณ์ที่สุดครับ ส่วนหัวหน้าที่จะทำหน้าที่แปลเป็นภาษามลายูต่อไปครับ

คำสำคัญ (Tags): #กลันตัน
หมายเลขบันทึก: 222773เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2008 07:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

จองที่ไว้ก่อน .. ไปทานข้าวก่อน..แล้วต้องไปโรงบาล ..

บ่ายๆจะมาเขียนเพิ่มเติม ..อินชาอัลลอฮฺ

ขอเป็นกำลังใจสำหรับการทำงานครับ การได้เก็บเกี่ยวอีกมุมหนึ่งของอาจารย์คือการเรียนรู้ที่ผมนับว่ามีค่ามากในชีวิตอีกช่วงนึง มีโอกาสคงได้สานต่อการทำงานของอาจารย์นะครับ และอยากจะบอกอาจารย์ครับว่า ตอนนี้ผมยื่นเสนอโครงการวิจัยไป ๒ แห่ง เป็นวิจัยเล็กๆ หากได้รับการตอบรับ(ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา)ก็อยากจะบอกว่า เพราะบันทึกอาจารย์ทำให้ผมอยากทำงานวิจัยมากขึ้นครับ

มาชม คุณจารุวัจน์

กับการเข้าไปทำวิจัยในมาเลเซีย เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้หลายแง่มุมมากเลยครับ

ขอเป็นกำลังใจสำหรับการทำงานครับ การได้เก็บเกี่ยวอีกมุมหนึ่งของอาจารย์คือการเรียนรู้ที่ผมนับว่ามีค่ามากในชีวิตอีกช่วงนึง มีโอกาสคงได้สานต่อการทำงานของอาจารย์นะครับ และอยากจะบอกอาจารย์ครับว่า ตอนนี้ผมยื่นเสนอโครงการวิจัยไป ๒ แห่ง เป็นวิจัยเล็กๆ หากได้รับการตอบรับ(ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา)ก็อยากจะบอกว่า เพราะบันทึกอาจารย์ทำให้ผมอยากทำงานวิจัยมากขึ้นครับ

เวลาเจอญาติ หลานๆที่โน้น จะคุยมาลายูไม่กี่คำ นอกนั้น พวกหลานๆเล่นพูดจีนกับเจ้าหญิง เราเนี้ยะ งงเป็นไก่ตาแตกเลย..นอกจากภาษาจีน ก้จะคุยภาษาอังกฤษ จนภาษาผสมไปหมด ทั้ง มาลายู อังกฤษ จีน สามภาษานี้จะมีกันเกือบทุกครอบครัวเลย..

แต่ก็ได้ความรู้ดี แถม งง อยู่คนเดี่ยว

เพราะเหมือนว่าการค้าขายต้องเก่งภาษาจีน นอกจากภาษาอังกฤษ ภาษาอารับ ภาษาจีนก็ต้องไม่ลืม

ขอบคุณครับ อาจารย์ Ibm ครูปอเนาะ  จองไว้แล้ว อย่าลืมแวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะครับ

ขอบคุณครับอาจารย์เสียงเล็กๆ  ยินดีต้อนรับเข้าสู่เครือข่ายนักวิจัยโครงการเล็กๆ ครับ ใหญ่ๆ เราไม่ทำครับ เราทำเล็กๆ พอประมาณ

ขอบคุณครับอาจารย์ umi  ไปมาเลย์คราวนี้ได้เรียนรู้อะไรเยอะมากครับ

ขอบคุณครับ ณ.ปัตตานี เวลาเด็กๆ เขาจะมีความลับกันในบ้านคนไทยที่โน้น เขาจะคุยกันภาษาจีน เพราะพ่อแม่เขาพูดไม่เป็นครับ

เมื่อเช้าเขียนคอมเมนต์ในบันทึกๆหนึ่งก็มาเจอบันทึกของอาจารย์เพิ่งโหลดมาพอดี ก็เลยของค้างไว้ก่อนเพราะได้เวลา ไปดัดขาดัดก้อยที่โรงบาลแล้ว ..ตอนนี้ผมไปโรงบาลทุกวัน ออกจากโรงบาลแล้วก็ไปมหาวิทยาลัย ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ขอหยุด ไม่ไปมหาลัย เพราะเท้ายังบวมอยู่..แต่ก็อัลฮัมดุลิลลาฮฺ เลิกใช้ วีลแชร์แล้ว

ผมชอบอ่านบันทึกมากครับ โดยเฉพาะบันทึกที่เป็นประสบการณ์จากมาเลยเซีย แถมเป็นบันทึกงานวิจัยด้วย ยิ่งน่าสนใจ เพราะปกติเราจะฟังเรื่องเล่า บางที่จริงบ้าง เสริมแต่งบ้าง

ผมมั่นใจว่าทีมงานวิจัยของอาจารย์ไม่ได้หวังแค่ผลงาน แต่สิ่งที่ได้มันยิ่งใหญ่ ทั้งความรู้ ทั้งประสบการณ์ เพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมที่ผสมผสานบ้านเรา

ไว้เจอกันนะครับอาจารย์ ตอนผมอยู่เมื่อวันพุธตอนผมอยู่โรงบาลท่านรองฯโทรหาผม พอท่านรู้ว่าผมอยู่โรงบาลท่านก็ไม่พูดอะไร ตอนบ่ายทราบว่าท่านมีประชุมอาจจะเป็นเรื่องของอาจารย์ด้วย .. ข่าวแว่วๆมาว่า..ตำแหน่งของผมมีคนอื่นแล้ว..ไม่ซีเรียสครับ ถ้าได้เป็น อ.อย่างเดียวเหมือนอาจารย์ผมว่าดีมากเลย ผมจะได้เป็นลูกศิษย์ทำวิจัยกับอาจารย์ได้อย่างเต็มที่

ขอบคุณครับอาจารย์ Ibm ครูปอเนาะ

ถ้าจะเอาแนวของมาเลย์มาใช้บ้านเราคงยากครับ เพราะยืนบนหลักการจัดการทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างจะต่างกันครับ ที่ผมเห็นช่องทางคือ การเรียนรู้ เพื่อปรับหรือประยุกต์ใช้ครับ

วันก่อนในที่ประชุมยังคุยตลกๆ กันว่า มาเลย์ทะเลาะกันเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว แต่เราเพิ่งมาทะเลาะกัน คงอีกนานกว่าจะสามัคคีได้อย่างมาเลย์ในปัจจุบัน (อันนี้ไม่ใช่คำพูดผมนะครับ จำคนเขามา ฮิฮิ)

 

P

มาอ่านบทความดีๆ

-สนใจการเรียนรู้ภาษาของเด็กๆ ช่วย เขียนเล่าให้พี่สาวรู้บ้างนะคะ

-เด็กที่นั่นเหมือนลูกสาวอย่างหนึ่ง ถ้าไม่อยากให้แม่รู้เรื่องคุยภาษาฝรั่งเศลกัน  มันน่า.....นะ

ขอบคุณครับพี่ krutoi

มันน่า.....นะ เนี๊ยะน่าจะเป็นอารมณ์เดียวกันของพ่อแม่ที่โดนลูกคุยความลับต่อหน้า โดยที่ฟังเขาไม่รู้เรื่องครับ ฮิฮิ

ผมเองก็สนใจประเด็นการสอนภาษาของมลายูมากครับ โดยเฉพาะการสอนภาษาจีนและมาเลย์ เพราะผลสำเร็จมันเห็นชัดมากครับ แต่เนื่องจากรอบนี้ยังเจาะลึกลงไปได้น้อยครับ ฮิฮิ รอขอทุนวิจัยรอบหน้าจะลงลึกครับ (ถ้ามีคนให้ทุนไปทำวิจัยอีกรอบ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท