แนวทางการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย


การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย

แนวทางการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย

บาว นาคร*

 

ในปัจจุบันได้มีรายงานขององค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International -TI) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) ในประเทศเยอรมนี เป็นองค์การไม่มุ่งหวังผลกำไร และเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระดับโลกโดยมีเครือข่ายใน 120 ประเทศทั่วโลก และได้มีดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น Corruption Perceptions Index (CPI) และได้มีการพัฒนาโดย องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ และมหาวิทยาลัย Gottingen ในประเทศเยอรมนี เพื่อจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ค่าคะแนนของ CPI เริ่มตั้งแต่ 0 คะแนน ถึง 10 คะแนน โดย 0 คะแนน เป็นคะแนนต่ำสุดหมายถึงภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นสูงสุด ส่วน 10 คะแนน เป็นคะแนนสูงสุดหมายถึงมีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นน้อยสุดหรือมีความโปร่งใสสูงสุด

การอันดับความโปร่งใสของประเทศต่างๆ ในปี พ.ศ. 2551 นั้น ประเทศที่มีความโปร่งใสเป็นอันดับหนึ่งมี 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเดนมาร์ก นิวซีแลนด์และสวีเดน ได้ 9.3 คะแนน ส่วนประเทศในเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 4 ได้ 9.2  คะแนน สำหรับประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 80 ได้ 3.5 คะแนนจากทั้งหมด 10 คะแนน และเป็นการสำรวจจากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก (http://www.transparency.org/policy_research/surveys_indices/cpi/2008)

จากรายงานทำให้เห็นว่าประเทศไทยอันดับความโปร่งใสของประเทศไทยอยู่ในอันดับนั้นยังมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและการฉ้อราษฎร์บังหลวงอยู่มาก และเป็นปัญหาปัญหาที่เรื้อรังและหมักหมมมาอย่างยาวนานในสังคมไทย และเป็นปัญหาซึ่งยากต่อการแก้ไขได้ ซึ่งคำว่าทุจริตคอร์รัปชั่น ได้มีนักวิชาการหลายท่าน ได้ให้คำนิยามความหมายไว้ เช่น อุษณี ภัทรมนตรี (2548,น.12) ได้กล่าวถึง คำว่า โดยทุจริต ว่าเป็นคำที่มีความหมายพิเศษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) แสดงถึงมูลเหตุจูงใจให้บุคคลกระทำ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

            ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 นั้นได้บัญญัติว่า หมายถึง การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในตำแหน่งหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทั้งนี้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

สำหรับรูปแบบของการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยนั้น สังศิต พิริยะรังสรรค์ (2549,น.41) ได้นำเสนอไว้ว่ามี 15 ลักษณะ ดังนี้ คือ  1) การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เช่น การผูกขาด การให้สัมปทาน และการเรียกเก็บส่วนแบ่งอย่างผิดกฎหมาย โดยการสร้างความขาดแคลนเทียม เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาล  2) เครพโตเครซี (kleptocracy) เป็นการฉกฉวยทรัพยากรของรัฐมาเป็นของครอบครัวและอาจกระทำโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 3) การมีผลประโยชน์ทับซ้อน สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีผลได้รับผลเสียส่วนตัว และผลดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ หรือการกระทำหน้าที่โดยขาดความเที่ยงธรรม  4) การใช้อิทธิพลทางการเมืองหาผลประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ (ปั่นราคาหุ้นของตัวเอง)       5) ปกปิดการบริหารงานที่ไม่ถูกต้อง การปิดบังและให้การเท็จ  6) การใช้นโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ อย่างมีอคติและลำเอียง  7) การใช้อิทธิพลทางการค้า แสดงบทบาทเป็นนายหน้าหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน จากการค้าต่างตอบแทน การแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้า  8) การใช้ทรัพยากรของรัฐไปในทางมิชอบ การปลอมแปลงเอกสาร การฉ้อฉล การใช้กองทุนของรัฐ เพื่อไปหาผลประโยชน์ทางการเมือง  9) ไม่กระทำการตามหน้าที่ แต่ใช้ลัทธิพรรคพวกแทน เช่น การฮั้วประมูล 10) การให้และการรับสินบน การขู่เข็ญบังคับและการให้สิ่งล่อใจ 11) การยอมรับของขวัญที่ไม่ถูกต้อง เช่น เช็คของขวัญมูลค่าสูงและสินบนมูลค่าสูง 12) ผู้บริหารประเทศทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของประเทศ โดยการใช้นโยบายประชานิยม  13) ใช้อำนาจของตำรวจ ทหาร และข้าราชการในทางที่ผิด 14) ทุจริตการเลือกตั้ง ทั้งการซื้อเสียง และการทุจริตด้วยวิธีต่างๆ 15) การบริจาคเพื่อช่วยเหลือการณรงค์ที่ผิดกฎหมาย เช่น การบริจาคให้แก่นักการเมืองและพรรคการเมืองรัฐบาล เพื่อที่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาล

ส่วนองค์ประกอบที่ทำให้ระบบทุจริตคอร์รัปชั่นมีโครงสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งและดำรงอยู่ในปัจจุบันนั้น เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ (2547,น. 22-26) ได้กล่าวไว้ว่ามีสาเหตุมาจากองค์ประกอบต่างๆ คือ1) ระบบการเมืองและระบบราชการมีเกราะกำบังที่แน่นหนา 2) ภาคประชาชนขาดความเข้มแข็งและขาดผู้นำในการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่แข็งแกร่ง 3) ค่านิยมที่เป็นอุปสรรคฝังรากลึกในสังคม ค่านิยมของคนในสังคมที่เป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมคอร์รัปชั่น เช่น ค่านิยมในสังคมอุปถัมภ์ 4) การขาดจิตสำนักเพื่อส่วนรวม ซึ่งปัจจุบันคนในสังคมยังขาดอุดมการณ์ และขาดจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม

สำหรับแนวทางและวิธีการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่นต่างประเทศ เช่น ประเทศฟินแลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ นั้น  วิทยากร เชียงกูล (2549,น.71) ได้นำเสนอไว้พอสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ คือ 1)  การออกกฎหมาย การออกพระราชบัญญัติ การมีระบบนิติบัญญัติ  ศาล  และการบริหารจัดการที่ดี พร้อมทั้งยุทธศาสตร์ มีมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างใกล้ชิด 2) การสร้างค่านิยมของประชาชน  และการเป็นสังคมที่เสมอภาค ไม่มีความความแตกต่างทางชนชั้น 3) การให้มีองค์กรอิสระเป็นองค์กรที่มีอำนาจและมีบทบาทสูงในการปราบปรามคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส  พร้อมทั้งผู้พิทักษ์ความยุติธรรม  4) การทำให้รัฐมีความโปร่งใสและความเปิดเผย  โดยการที่ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการเข้าไปมีส่วนร่วม  5) ความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น 6) การกระจายอำนาจ คือการให้หลายองค์กรทำงานร่วมกันมากกว่าจะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่องค์กรเดียว  7) การให้ผู้หญิงมีบทบาทการตัดสินใจทางการเมืองสูง

ส่วนแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในประเทศไทยได้นักวิชาการของประเทศไทยหลายท่านได้ให้ข้อเสนอแนะไว้อย่างน่าสนใจ เช่น ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ  วะสี อ้างถึงใน วิทยากร เชียงกูล (2549,น.163) ได้ให้ข้อเสนอไว้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นสรุปได้ ดังนี้ คือ 1) การตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบ  แต่ควรมีวิธีการคัดเลือกคนที่มีความสามารถ มีคุณธรรมที่เป็นกลางไม่อิงพรรคการเมืองเข้ามาทำงาน ให้งบประมาณและความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น 2) การส่งเสริมสื่อมวลชนให้มีอิสระในการตรวจสอบ เช่น มีการตั้งกองทุนวิจัยเพื่อสื่อมวลชน จะเกิดพลังสังคมในการตรวจสอบคอร์รัปชั่น เพราะเครื่องมือที่หยุดยั้งคอร์รัปชั่นได้ชะงักที่สุดคือสื่อมวลชนที่อิสระ กล้าและสามารถตรวจสอบได้ 3) การออกจากโครงสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะการแก้ไขปัญหาสังคมที่ยากและซับซ้อนได้จะต้องเปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวางแล้วจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆให้เป็นไปตามที่สังคมต้องการ 4) ปฏิวัติจิตสำนึก ปฏิวัติศีลธรรม จิตสำนึกใหม่และจิตสำนึกทางศีลธรรม จะพาให้ออกจากโครงสร้างที่ทำให้เกิดวิกฤติ คอร์รัปชั่นและวิกฤติศีลธรรมไปสู่สังคมที่เป็นธรรมและสันติ

ทางด้าน วิทยากร  เชียงกูล (2549,น.169) นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยไว้ 3  แนวทางคือ  1) การปฏิรูปการเมือง ให้เป็นประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมได้มากกว่าแค่การเลือกตั้ง ให้ประชาชนมีสิทธิและอำนาจในการจัดตั้งองค์กรอิสระที่เป็นกลางมาตรวจสอบและถอดถอนนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตคอร์รัปชั่นได้ 2) การปฏิรูปองค์กรด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นองค์กรอิสระ เลือกคนดี คนเก่งเข้ามาทำงานรวมทั้งตราพระราชบัญญัติตั้งองค์กรอิสระเพิ่มขึ้น และเร่งปฏิรูปกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมทุกระดับ ระบบราชการ  การศึกษา และการสื่อสารมวลชนเพื่อให้กลไกทางกฎหมาย การศึกษาและระบบข้อมูลข่าวสารทำงานได้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เน้นความถูกต้องชอบธรรม 3) ประชาชน นักวิชาการ สื่อมวลชนต้องร่วมกันศึกษาทำความเข้าใจและเผยแพร่ความรู้ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อน เพื่อให้รู้เท่าทันนักการเมืองมากที่สุด และสนับสนุนการรวมตัวของภาคธุรกิจ ภาคประชาชนทุกฝ่าย เป็นองค์กรผู้บริโภคและองค์กรเพื่อความโปร่งใสที่เข้มแข็ง ติดตามตรวจสอบการทำงานของทั้งภาครัฐและเอกชน

ดังนั้น แนวทางหรือมาตรการแก้ไขปัญหาการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย นอกจากการใช้มาตรการทางด้านกฎหมายในการปราบปรามแล้ว มาตรการในการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นโดยการให้ทุกภาคส่วนร่วมกันศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจและช่วยกันเผยแพร่ความรู้ทางด้านธุรกิจสมัยใหม่ที่มีความหลากหลายและสลับซับซ้อนเพื่อให้รู้เท่าทันนักการเมืองในปัจจุบันได้ โดยให้สื่อมวลชน องค์กรอิสระ และองค์กรตรวจสอบภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะป้องกันการคอร์รัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เอกสารอ้างอิง

เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ . กลเม็ดเด็ดปีกคอร์รัปชั่น. กรุงเทพมหานคร ชัคเซสมีเดีย.2547.

วิทยากร เชียงกุล . แนวทางปราบคอร์รัปชั่นอย่างได้ผล: เปรียบเทียบไทยกับประเทศอื่น.

            กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สายธาร.2549.

สังศิต พิริยะรังสรรค์.ทฤษฎีการคอร์รัปชั่น. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน.2549.

อุษณี  ภัทรมนตรี . การตรวจสอบภายในสมัยใหม่. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,

            2548 .

http://www.transparency.org/policy_research/surveys_indices/cpi/2008



* บุญยิ่ง ประทุม. [email protected].

หมายเลขบันทึก: 222545เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2008 02:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท