แนวคิดยุทธศาสตร์เมืองไทยแข็งแรง (ของแท้)


...แข็งแรง” คืออะไร อย่างไร และต้องช่วยกันทำเช่นไร หาใช่เพียงแต่การใช้ตัวเลขเชิงปริมาณบอกกล่าวว่า ...แข็งแรงแล้วเท่านั้นพอ

     เมื่อหลายวันที่แล้ว ผมได้รับ สมุดบันทึก “บันทึกสุขภาพเพื่ดเมืองไทยแข็งแรง” ประจำปี 2549 ที่ส่งตามหลังมาทางไปรษณีย์ จาก ศอม. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารยุทธศาสตร์เมืองไทยแข็งแรง (The Healthy Thailand Strategic Management Center: HTSMC) ในขณะนี้มีนายแพทย์ลือชา วนรัตน์ เป็นผู้อำนวยการอยู่ อันเนื่องมาจากผมเข้ารับการอบรมวิทยากรกลาง “ยุทธศาสตร์เมืองไทยแข็งแรง” ซึ่งก็มีอยู่ 5 คน ในแต่ละจังหวัด ในสมุดบันทึกนี้มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนในลักษณะเครือข่ายที่จะช่วยกันผลักดันให้เกิดผลได้สำเร็จหลายอย่าง และที่จะนำมาบันทึกไว้ในวันนี้คือในส่วนของแนวคิด เรื่องยุทธศาสตร์เมืองไทยแข็งแรง ซึ่งได้สาระและมีประเด็นที่น่าจะได้ร่วมรับรู้กันครับ ดังนี้

          เมื่อเอ่ยถึงคือ “คนไทยแข็งแรง เมืองไทยแข็งแรง” หรือแม้คำ “เมืองไทยแข็งแรง” หลายคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องการออกกำลังกายหรือเป็นเรื่องสุขภาพ
          นั่นไม่ใช่เรื่องเข้าใจผิด...แต่ไม่ถูกทั้งหมด...เพียงถูกอย่างผิวเผิน...โดยเฉพาะหากเข้าใจคำว่าสุขภาพแค่เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วย และการรักษาพยาบาล (ILL HEALTH + TREATMENT)
          เพราะคำ “สุขภาพ” นั้นยังมีอีกด้านหนึ่ง คือ สุขภาพในด้านที่ไม่เจ็บป่วยแต่เป็นภาวะแห่งสุขจริงๆ สุขเฉยๆ ทั้งกายใจ (GOOD HEALTH หรือ WELLNESS/WELL BEING)
          รวมทั้งอาจยกระดับเหนือขึ้นไปจากภาวะแห่งการสุขกายสุขใจที่เป็นโลกียสุขขึ้นไปถึงขั้นโลกุตตรสุขก็ได้...ขึ้นอยู่กับเหตุ ปัจจัย...รวมถึงวาสนา

          เพียงแค่เหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดการสุขกายสุขใจก็มีมากมายหลายหลาก และเป็นปัจจัยกำหนดที่มีผลมากน้อยต่างๆ กัน โดยเฉพาะผลต่อคนต่างคน
          บางคนขอเพียงมีข้าวสารกรอกหม้อให้ครบมื้อ มีกับข้าวคาวหวานตามสมควร ก็เป็นสุขที่ได้กินอิ่ม โดยไม่คำนึงว่าสิ่งที่บริโภคเข้าไปนั้นจะมีคุณค่าทางโภชนาการหรือไม่เพียงใด กินเกินอิ่มเพียงใด มีความปลอดภัยจากเชื้อโรคนานาชนิดหรือสารเคมีนานาประการแค่ไหน
          บางคนขอเพียงได้อยู่ในบ้านของตนเอง มีเพื่อนบ้านที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปราศจากฝุ่นละออง ควันพิษ เสียงดัง กลิ่นเหม็น ไม่มีคนดมกาว แหล่งเสพแหล่งค้ายาเสพติด เหล้า บุหรี่ หรือ อบายมุขอยู่ใกล้ มีความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินจากโจรผู้ร้ายหรือภัยธรรมชาติใดๆ แถมด้วยความสะดวกสบายในการเดินทางตามสมควร เข้าถึงและใช้บริการสาธารณะต่างๆ ได้สะดวก มั่นใจ ก็เป็นชีวิตวิเศษแล้ว

          บางคนขอเพียงได้มีโอกาสได้ส้องเสพเสวนากับผู้รู้ แหล่งความรู้ แหล่งประเทืองปัญญา หรือ ญาติธรรมที่ช่วยเสริมสร้างปัญญาบารมีซึ่งกันและกัน หรือเพียงแค่ได้สัมผัสสุนทรียรส ทางผัสสะใดๆ หรือหลายๆ ด้านก็เป็นสุข
          แต่บางคนคิดกว้างคิดไกล หวังสูง และคิดหวังในด้านดีต่อคนทั้งสังคมต่อประเทศชาติหรือต่อทั้งโลก ให้สังคมเป็นสุขให้ประเทศชาติเป็นสุข และโลกเป็นสุข
          แต่ถึงจะคิดจะหวังเพียงระดับปัจเจกหรือระดับชาติ ระดับโลกก็ตาม เหตุปัจจัยแห่งภาวะที่เป็นสุขไม่ว่าระดับใดก็ตาม ก็ไม่พ้นเหตุปัจจัยที่มาจากวิธีคิด ความเชื่อ วิถีชีวิตหรือพฤติกรรมที่ประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นประจำเป็นส่วนใหญ่ และเป็นเหตุปัจจัยจากภายนอกตนหรือจะเรียกว่าสิ่งแวดล้อมหรือบริบทแห่งตน บริบทแห่งสังคมอยู่บ้างตามสมควร
          ที่จะบรรลุห้วงสุขโดยมีคนจัดให้ รัฐบาลจัดให้ หรือเทศบาลจัดให้ ซึ่งปัจจัยให้เกิดสุขเป็นสุขก็พอ มีไม่ถึงกับไม่มี...แต่ก็น้อย...ไม่เชื่อก็ลองนับนิ้วดูเถอะ

          ฉะนั้นการจะบรรลุซึ่งภาวะเป็นสุข เป็นคนไทยที่ “แข็งแรง” อยู่ในเมืองไทยที่ “แข็งแรง” จึงเป็นเรื่องการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนและของคนในสังคมเป็นหลักร่วมกับการปรับพฤติกรรมหรือวัฒนธรรมขององค์กรด้วย
                    - ต้องกินให้ถูก กินให้พอเพียง พอดีไม่มากไม่น้อยเกินไป กินให้สะอาด ปลอดภัยทั้งจากเชื้อโรคและเคมีอันตรายที่ปนเปื้อน
                    - ต้องพักผ่อนกาย ใจ ให้พอดี พอเพียง และถูกวิธี ใช้กายและจิตทำงานอย่างพอเพียงและมีดุลยภาพ หรือออกกำลังกาย กำลังจิตที่เป็นสายกลาง ไม่หักโหม บุ่มบ่าม
                    - ต้องจัดการกับบ้านช่อง ถนนหนทาง ขยะ น้ำเสีย ฝุ่นละออง ให้ถูกต้องพอเพียงและมีวินัย

                    - ต้องทำมาหากิน แสวงหาทรัพย์โดยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรมถูกต้องตามประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม ข้อสำคัญต้องไม่หากินอย่างละโมบ มูมมาม หากินหาทรัพย์อย่างพอเพียงและเพียงพอ ไม่เกินพอจนล้ำเข้าไปในการหากินกับอบายมุข หากินโดยฉ้อราษฎร์บังหลวง และฉ้อหลวงบังราษฎร์ โดยสร้างคิดนิยมผิดๆ ให้สังคมกลายเป็นสังคมแห่งการบริโภคอย่างตะกรามเพียงเพื่อหวังขายสินค้าหรือบริการ
                    - ต้องมีพฤติกรรมทางเพศอย่างถูกต้องเหมาะสม แห่งเพศ วัย และวัฒนธรรมแห่งตน ไม่ทำให้ครอบครัวและสังคมเกิดวิปริต เต็มไปด้วยโรคภัยที่ติดต่อแพร่หลายทางเพศสัมผัส และทำให้ครอบครัวหรือสังคมป่วยด้วยโรคครอบครัวแตกแยกล่มสลายหรือโรคสังคมพิการ

                    - ต้องมีพฤติกรรมในการใช้รถ ถนนหนทางและบริการสาธารณะต่างๆ อย่างถูกต้องเหมาะสมตามกฎหมายวัฒนธรรมและวินัยแห่งสังคม ช่วยรักษาอนุรักษ์ทะนุบำรุงสาธารณสมบัติสาธารณะสถานต่างๆ ด้วยมโนสำนึกที่เคารพและเห็นคุณค่าของสิ่งที่ธรรมชาติ บรรพบุรุษ หรือสังคมปัจจุบันช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อส่วนรวม
                              • ต้อง....ต้อง....ต้อง................อีกมากอย่าง
                              • ไม่.... ไม่.... ไม่...............อีกมากมาย
                    - การทำให้คนไทยแข็งแรง เมืองไทยแข็งแรง จึงต้องการพลังมหาศาล ทั้งจากรัฐบาล หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันวิชาการทั้งในและนอกภาคราชการ นักปราชญ์ ผู้รู้ องค์กรประชาชน พ่อค้า เกษตรกร แรงงาน นักบวช ผู้นำศาสนา ผู้นำสังคม และประชาชนคนไทยทุกคนนั่นเอง ไม่เพียงแต่ข้าราชการในส่วนต่างๆ เท่านั้น

                    - โดยทุกคนต่างต้องทำหน้าที่แห่งตนให้ดีที่สุด มีสติกำกับอยู่ตลอดถึงความเชื่อมโยงแห่งภารกิจที่ตนรับผิดชอบกับสิ่งที่ผู้อื่นกำลังทำหน้าที่ของเขาอยู่ มีความรักปรารถนาดีและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันในการงานและในวิถีชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกันในครอบครัวและสังคม
                    - ต่างต้องมีส่วนร่วมคิด ร่วมผลักดัน ร่วมปฏิบัติ ร่วมติดตาม ร่วมแก้ปัญหา ร่วมทุกข์...เพื่อจะได้ร่วมสุขกันถ้วนหน้าในที่สุด

     ผมว่าเป็นการสรุปย่อที่พอจะเข้าใจได้โดยง่ายว่าที่แท้จริงแล้ว “เมืองไทยแข็งแรง” “จังหวัดแข็งแรง” “เมืองแข็งแรง” “ชุมชนแข็งแรง”  “อำเภอแข็งแรง” “ตำบลแข็งแรง” หรือแม้แต่ในระดับ “หมู่บ้านแข็งแรง”คืออะไร อย่างไร และต้องช่วยกันทำเช่นไร หาใช่เพียงแต่การใช้ตัวเลขเชิงปริมาณบอกกล่าวว่า ...แข็งแรงแล้วเท่านั้นพอ

หมายเลขบันทึก: 22235เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2006 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น
แนวคิด เมืองไทยแข็งแรง น่าสนใจมากครับ แต่มาถึงการปฏิบัติในระดับปฏิบัติการแล้ว กลับเป็นคนละอย่างเลย อย่างงไรก็ตามนะครับ ผมมองไปที่การทำงานแบบมีส่วนร่วม คิดให้มากขึ้นในเรื่องการมีส่วนร่วม ก็เหมือนกับชื่อชุมชนของคุณชายขอบหละครับ "ไตรภาคี" นักปฏิบัติการของสาธารณสุขก็มัวสาละวนกับรายงานที่ให้ความสำคัญเชิงปริมาณ จนไม่มีเวลากับเนื้องานจริง ที่เขียนแบบนี้ เห็นใจ คนของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยครับ เพราะ เขาต้องการกันแบบนี้ กลุ่มปฏิบัติการเลยต้องสนองตอบ แต่ยังไงก็ตาม ผมก็เห็นความงดงามของการทำงานอยู่ หากมีการเชื่อมประสานที่ดี การพัฒนาเชิงประเด็นที่เราทำงานอยู่ ก็สำเร็จได้ไม่ยากครับ จะเเข็งแรงกันอย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ลืม การพัฒนาสมอง (BBL.)ครับ พื้นฐานของการคิด และอนาคตของชาติเรา ครับ สัญญาจะมา ลปรร.กับพี่ชายขอบ สม่ำเสมอครับ ผมได้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มาก จตุพร " ระบบประชาธิปไตย ไหง...ไม่แข็งแรง" ๒ เมษ ๔๙

คุณจตุพร (mhsresearch)

     ยินดีมากที่ได้พบ "คนคอเดียวกัน" ครับการยอมรับในกระบวนการทางปัญญาของกันและกัน อย่างจริงใจ ไม่ว่าเขาคือใคร น่าจะเป็นหนทางแรก ๆ ที่ต้องหยิบขึ้นมาดำเนินการเพื่อ...แข็งแรง เชื่ออย่างนั้น จึงได้ทำ แม้จะยากในการสร้างความเข้าใจจากระบบราชการ แต่ก็ยอม "ทนทำ" จนกว่าเขาจะได้เห็นกัน แล้วทุกอย่างจะดีเอง ระบบราชการก็จะแข็งแรงได้ด้วย ยิ้ม ๆ

คุณจตุพร (mhsresearch) คุณชายขอบ

ดีใจมากเลยคะที่มาเจอการแลกเปลี่ยนกัน..ในมุมนี้..คือ "เจตนาที่ดีงาม" ในการที่ทำเพื่อ.."คน ครอบครัว ชุมชน สังคม และก่อเกิดไปสู่..ประเทศชาติ"..ค่อยๆ ทำไป..อย่างที่เชื่อและศรัทธาในสิ่งที่ตนเองทำโดยไม่ต้องไปฟาดฟันหรือป่าวประกาศ "ว่าจะทำ" หากแต่ลงมือทำไปเลย...ติดตามการทำงานของคุณชายขอบมาตลอด..และเลือกที่จะกระโดดลงมาร่วมด้วย เพราะ "เรา" เชื่อในฐาน "คิด" เดียวกัน คือ "ความมีคุณค่าของคน...โดยปราศจากเงื่อนไขใดใด"...และเริ่มมีแนวร่วมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ...แนวร่วมที่มีฐานเชื่อ..และอุทิศตนในการทำงานเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามมากกว่าการหวังการตอบแทนใดใด..หรือความก้าวหน้า..เชิงเศรษฐศาสตร์...

เป็นกำลังใจ "ผู้ให้..คนทำงาน" ทั้งสองท่านเลยนะคะหากผนึกกำลังที่เข้มแข็งประเทศไทยเราผ่านวิกฤติได้แน่คะ (ยิ้มๆๆ)

พี่ ๆ ครับ ในเมื่อเขาใช้ปริมาณตัดสินกัน ผมจะทำยังไง

น้อง DN เอ

     จริง ๆ แล้ว ในปัจจุบันเราจะใช้การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ซึ่งในประเด็นนี้เราก็สนใจตัวชี้วัดการประเมินเชิงคุณภาพด้วย แต่ก็เข้าใจครับ เรื่องนี้จะพิจารณายากกว่าเชิงปริมาณ แต่นั่นก็เป็นเพราะเรามักจะใช้วิธีนำมาเปรียบเทียบกันไงครับ น่าจะลองพิจารณาโดยการหาข้อสรุปร่วม หรือข้อตกลงร่วมดูบ้างนะครับ บางทีความขัดแย้งที่ว่าเคยมี จะหายไป แล้วเกิดเป็นวัฒนธรรมในการทำงานแบบใหม่ขึ้น...ไม่แน่ใจว่าตรงประเด็นตามที่ถามไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท