ความคาดหวังที่มีต่อจริยธรรมนักการเมืองไทย


จริยธรรมนักการเมือง

บาว นาคร*

ประเด็นปัญหาทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมืองไทยเป็นสิ่งที่หลายคนได้หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงประเด็นนี้กันอย่างมากมาย และบางท่านได้เสนอแนวทางปฏิบัติไว้หลากหลายแนวทางซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยมีความคาดหวังต่อนักการเมืองไทยในปัจจุบันเรื่องจริยธรรมของนักการเมือง

คำว่า จริยธรรมนั้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติไว้ว่า จริยธรรมหมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ,ศีลธรรม,กฎศีลธรรม และคำว่า คุณธรรมหมายถึงสภาพคุณงามความดี ส่วนคำว่า นักการเมืองนั้น หมายถึง ผู้ฝักใฝ่ในทางการเมือง,ผู้ที่ทำหน้าที่ทางการเมือง เช่น รัฐมนตรี  สมาชิกรัฐสภาเป็นต้น เมื่อสรุปความโดยรวมแล้วจริยธรรมของนักการเมืองนั้น หมายถึง หลักเกณฑ์หรือข้อปฏิบัติที่ดี หรือการประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามของผู้ทำหน้าที่ทางการเมือง

การนำจริยธรรมมาเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับข้าราชการการเมืองหรือนักการเมืองไทยนั้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติไว้ในหมวด 13 ว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐในมาตรา 279 และมาตรา 280 เนื้อหาโดยสรุปคือ การจัดให้มีประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าหากข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐฝ่าฝืนมีความผิดทางวินัย ผู้ดำรงตำแหน่งฝ่าฝืนและเป็นความผิดร้ายแรงให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และถือเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยมติวุฒิสภาได้

ดังนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551ซึ่งระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2551 เป็นต้นไปและให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2543

ระเบียบนี้ ได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการการเมืองไว้ในหมวด 2 ซึ่งมีทั้งหมด 23 ข้อ ได้แก่ ข้อที่ 7 ถึงข้อ 29 โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

ข้อ 7 ข้าราชการการเมืองต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพและรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อ 8 ข้าราชการการเมืองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

ข้อ 9 ข้าราชการการเมืองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการเป็นพลเมืองดีการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ข้อ 10 ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจริยธรรม คุณธรรมและศีลธรรมทั้งโดยส่วนตัวและโดยหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสาธารณชน ทั้งต้องวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน

ข้อ 11 ข้าราชการการเมืองต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่นไม่แสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ อาฆาตมาดร้าย หรือใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลใด

ข้อ 12 ข้าราชการการเมืองต้องมีอุดมการณ์ในการทำงานเพื่อประเทศชาติ และต้องถือเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งสูงสุด

ข้อ 13 ข้าราชการการเมืองต้องรับใช้ประชาชนอย่างเต็มความสามารถด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและปราศจากอคติ

ข้อ 14 ข้าราชการการเมืองต้องไม่ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นข้าราชการการเมืองไปแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือไม่ก็ตาม

ข้อ 15 ข้าราชการการเมืองต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นข้าราชการการเมืองเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการบรรจุ แต่งตั้ง ย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

ข้อ 16 ข้าราชการการเมืองต้องไม่ยินยอมให้คู่สมรส ญาติสนิท บุคคลในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของตนหรือของผู้อื่น และต้องไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยมิชอบ

ข้อ 17 ข้าราชการการเมืองต้องระมัดระวังมิให้การประกอบวิชาชีพ อาชีพหรือการงานอื่นใดของคู่สมรส ญาติสนิท หรือบุคคลในครอบครัวของตนมีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

ข้อ 18 ข้าราชการการเมืองต้องรักษาความลับของราชการ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

ข้อ 19 ข้าราชการการเมืองต้องยึดมั่นในกฎหมายและคำนึงถึงระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งผู้สมควรดำรงตำแหน่งต่างๆ

ข้อ 20 ข้าราชการการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งแล้ว ต้องไม่นำข้อมูลข่าวสารอันเป็นความลับของราชการซึ่งตนได้มาในระหว่างอยู่ในตำแหน่งไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรเอกชน ทั้งนี้ ภายในกำหนดระยะเวลาสองปีนับจากวันที่พ้นจากตำแหน่ง

ข้อ 21 ข้าราชการการเมืองต้องเปิดเผยข้อมูลการทุจริต การใช้อำนาจในทางที่ผิด การฉ้อฉล หลอกลวง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้ราชการเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ

ข้อ 22 ข้าราชการการเมืองต้องไม่เรียกร้องของขวัญ ของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ต่างๆ อันอาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน และจะต้องดูแลให้คู่สมรส ญาติสนิท หรือบุคคลในครอบครัวของตนปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย

ข้อ 23 ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติต่อองค์กรธุรกิจที่ติดต่อทำธุรกิจกับหน่วยงานของรัฐตามระเบียบและขั้นตอนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ

ข้อ 24 ข้าราชการการเมืองพึงพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนอย่างสม่ำเสมอ เอาใจใส่ทุกข์สุขและรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนและรีบหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ข้อ 25 ข้าราชการการเมืองต้องไม่ใช้หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น

ข้อ 26 ข้าราชการการเมืองต้องรักษาทรัพย์สินของราชการและใช้ทรัพย์สินของราชการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้นๆ เท่านั้น

ข้อ 27 ข้าราชการการเมืองต้องไม่ประพฤติตนอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของชาติ

ข้อ 28 ข้าราชการการเมืองต้องไม่คบหาหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมายหรือผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย เช่น ผู้เปิดบ่อนการพนันหรือผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

ข้อ 29 ข้าราชการการเมืองต้องแสดงความรับผิดชอบตามควรแก่กรณีเมื่อปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง

ส่วนตอนท้ายได้บัญญัติเกี่ยวกับหมวดว่าด้วยการกำกับดูแลไว้ในหมวด 3 โดยให้นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติตนของรัฐมนตรีและข้าราชการการเมืองอื่นที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นไปตามระเบียบนี้

ดังนั้น มาตรฐานจริยธรรมของนักการเมือง ที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกมาบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2551 นั้นถือว่าเป็นหลักที่ข้าราชการการเมืองและนักการเมืองต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ได้บัญญัติไว้ ถ้าหากนักการเมืองปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์ที่ได้วางไว้นี้ย่อมส่งผลต่อการบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี และสามารถยกระดับมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองให้ดีขึ้นและเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชนทั้งประเทศ



* บุญยิ่ง ประทุม, [email protected]

หมายเลขบันทึก: 222053เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2008 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท