ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ ไม่พรุ่งนี้ก็มะรืน?


ใน บทกวีนิพนธ์ (เรา)ชนะแล้วแม่จ๋า โดย อัศนี พลจันทร (นายผี) ซึ่งรวบรวมไว้ในหนังสือ รวมบทกวีนายผี : อัศนี พลจันทร  หน้า 521 ที่ว่า


คิดแค้นความบีบคั้น   ที่อาธรรม์อนาทร
เคียดใจคือไฟฟอน    ขอฝากไว้แก่วันคืน
ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้          ไม่พรุ่งนี้ก็มะรืน
จะล้างให้โหดหืน        นั้นเหี้ยนหายทุกแห่งหน
หน้านิ่วคิ้วขมวด         ให้เจ็บปวดไปทั้งตน
ร้อนไล้ดั่งไฟลน         ทะลึ่งลุกด้วยฤทธา
ชี้นิ้วระริกริก               เพียงผลุนพลิก พสุนธรา
เหม่มึงนี่หนอมา          ประมาทกรแก่พวกกู
จะเอาให้พลิกคว่ำ        คะมำหงายแลจงดู
จะเอาให้เหล่าสู          ลงซบดินลงแดยัน
เสียงศาปเสทื้อนไป     ทั้งหล้าโลกระรัวรัน
เสียงโซร่ที่สอดพัน-     ธนาการก็กร่างดัง
ดังรับทุกแห่งหน          ทั้งสากลที่เกรอะกรัง
เลือดกรรมกร ทัง-         หมดบ่หมาดก็มีใจ (ทัง=ทั้ง กวีแผลงคำโดยลดเสียงวรรณยุกต์)
ปางนั้นแลน้องแก้ว-      กรรมกรผู้เกรียงไกร
เอ็นดูแก่น้องใน-          อ้อมอกแม่มาอาดูร
ทรุดนั่งลงเคียงน้อง      ตระกองกอดแก้วกำลูน
ร่ำร่ำพิลาปปูน-            จะปราศห้วงหัวใจจร (1)


คำว่า พรุ่งนี้ นั้น ศ.ดร. อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ (ราชบัณฑิต) ได้ อรรถาธิบายถึงหลัก "การกลมกลืนเสียงตามตัวหลัง (Regressive assimilation) ไว้ในหนังสือ ภาษาศาสตร์เหมาะสมัยเบื้องต้น หน้า 139-140 ความว่า การกลมกลืนเสียงตามตัวหลัง (Regressive assimilation) เกิดขึ้นในกรณีที่เสียงของหน่วยคำหลัง มีอิทธิพลทำให้เสียงในหน่วยคำข้างหน้าต้องคล้อยตาม เช่น

คำว่า พรุ่งนี้ มาจากคำว่า พรุ่กนี้
(ก) ถูกอิทธิพลของ (น) ซึ่งตามมาข้างหลังกลมกลืนให้เป็นเสียงนาสิกมีฐานเสียงที่เพดานอ่อน จึงกายเป็น (ง)

คำว่า  ถ่ายเดียว  มาจากคำว่า  ฝ่ายเดียว 
(ฝ) ซึ่งเป็นเสียงเสียดแทรก (ฟ) ถูกอิทธิพลของ (ด) เป็นเสียงหยุดมีฐานที่ปุ่มเหงอก ทำให้ (ฟ) กลายเป็น เสียงหยุดมีฐานที่ปุ่มเหงือกเช่นเดียวกัน และยังคงลักษณะธนิตและเสียงวรรณยุกต์เอกไว้เช่นเดิม" (2)

อนุสติ  ขนาดการออกเสียง ก็ยังสามารถเกิด ปรากฎการณ์ เออ-ออ-ห่อ-หมก  ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความวิปริตผิดเพี้ยนในการออกเสียง ปรากฎการณ์ เออ-ออ-ห่อ-หมก นี้จะเกิดขึ้นได้น้อยลง เมื่อมนุษย์เลือกที่จะ หมกมุ่น ศึกษาหาความรู้ในแขนงวิชา นิรุกติศาสตร์ เพิ่มเติม จะเห็นได้ว่าความ ผิด/เพี้ยน นั้นก็สืบเนื่องมาจากกลไกทางกาย ซึ่งหากปล่อยให้เกิดการ พูดที่ ผิด/เพี้ยน บ่อยครั้งขึ้น(โดยไม่พยายามแก้ไขปรับปรุง/นิ่งเฉย/ไม่สะทกสะท้าน) จนทำให้ การพูด ผิด/เพี้ยน  นั้นเกิดเป็น นิสัย สิ่งที่จะตามมาจากการพูด ผิด/เพี้ยน ก็คือ  คำพูดที่ ผิด/เพี้ยน

เมื่อเกิด คำพูดที่ ผิด/เพี้ยน ก็อาจจะเกิดความเข้าใจที่ เพี้ยน+ผิด ในท้ายที่สุด เมื่อสังคม ยอมรับในสิ่งที่ เพี้ยน+ผิด สังคมนั้นก็จะกลายเป็นสังคมที่ ผิดเพี้ยน


ถ้าเชื่อตาม ศ.ดร. อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ (ราชบัณฑิต) ที่ว่า คำว่า พรุ่งนี้ เพี้ยน มาจาก คำว่า พรุ่กนี้ ซึ่งท่านก็ไม่ได้อธิบายต่อว่า พรุ่ก แปลว่าอะไร?

คำว่า พรุ่กนี้ นั้นยังมีให้เห็นเค้าทางภาษา โดยยังปรากฎอยู่ในภาษาถิ่นภาคใต้ ในภาษาใต้คำว่า   ต่อโพล่ก/ต่อโพร่ก ก็น่าจะคือคำว่า ต่อพรุ่ก/ต่อพลุ่ก (สระอุ แผลงเป็น สระโอได้ เช่น บุราณ แผลงเป็น โบราณ ฉะนั้นคำว่า พรุ่ก/พลุ่ก ก็ควรแผลงเป็น โพร่ก/โพล่ก ได้ด้วยเช่นกัน)  เนื่องจากคำว่า พรุ่ก/พลุ่ก/โพล่ก/โพร่ก เป็นคำพ้นสมัย คนในยุคสมัยเราจึงไม่เข้าใจในความหมายเดิม คำว่า ต่อโพร่ก/ต่อโพล่ก จึงเลี่ยงเป็น ใช่คำว่า ต่อโพร่ง/ต่อโพล่ง  ("ต่อเมื่อสว่างโพล่ง")  ซึ่งย่อมเข้าใจได้มากกว่าที่จะพูดว่า  ต่อพรุ่ก/ต่อพลุ่ก

จากการที่ลองค้น หาความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (ออนไลน์) (3) พบความสัมพันธ์ของกลุ่มคำดังต่อไปนี้

พลุก 1 [พฺลุก] น. งาช้าง. (ข. ภฺลุก). 
พลุก 2 [พฺลุก] ว. พลุ่ง.

พลุ่ก [พฺลุ่ก] ว. พลุ่งขึ้นมา.

พลุ่ง [พฺลุ่ง] ก. อาการที่ไอน้ำหรือควันดันตัวพุ่งออกมาโดยแรง เช่น น้ำ  เดือดไอน้ำพลุ่งขึ้นมา ไฟไหม้ควันพลุ่งขึ้นมา, โดยปริยายหมายถึง  อาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น โทสะพลุ่งขึ้นมา อารมณ์เดือดพลุ่ง.

พุ่ง ก. ซัดไป เช่น พุ่งหอก พุ่งกระสวย, อาการที่ปล่อยออกไปโดยเร็ว เช่น พุ่งตัว พุ่งหมัด, มุ่งตรงไป เช่น พุ่งความสนใจ, อาการที่น้ำ หรือไฟพวยพุ่งออกไป เช่น น้ำพุ่ง แสงไฟฉายพุ่งเป็นลำออกไป;
 (ปาก) สุ่ม ๆ เช่น พูดพุ่งไป. 

พรุ่ง, พรุ่งนี้ น. วันถัดจากวันนี้ไปวันหนึ่ง. 

โพลง [โพฺลง] ว. สว่างแจ้ง, ลุกสว่าง, เช่น ไฟลุกโพลง สว่างโพลง; ใช้  ประกอบกับคํา ขาว เป็น ขาวโพลง หมายความว่า ขาวมาก,
 ขาวทั่วทั้งหมด, (ใช้แก่ผม) เช่น ผมหงอกขาวโพลงไปทั้งหัว,
 โพลน ก็ว่า; ลักษณะที่เบิกกว้าง เช่น ตาลุกโพลง ลืมตาโพลง.

โพล่ง [โพฺล่ง] ว. ใช้ประกอบกับคํา พูด เป็น พูดโพล่ง หมายความว่า  พูดอย่างไม่ยับยั้ง; เสียงดังอย่างเสียงกระโดดลงไปในนํ้า.
 
สรุป 

1. คำว่า พลุ่ก/ภฺลุก แปลว่า (การงอกของ)งาช้าง(อย่างช้าๆ) ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า พุ่ง (ซัดไปออก/ปล่อยออกไปโดยเร็ว) , พลุ่ง (ดันออกมาโดยแรง)

พลุ่ก/ภฺลุก/พุ่ง/พลุ่ง=กริยาการงออกออก ซัดออก ปล่อยออก เพิ่มออก ขยายออก

2. คำว่า พลุ่ก/พลุก เขียนปน กับ พรุ่ก/พรุก (ใช้ ร และ ล ปะปนกัน)

3. วันพลุ่ก/พลุก/วันภฺลุก/วันพรุ่ก/วันพรุก  แปลว่า วันที่งอกออกมาเรื่อยๆ ขยายออกมาเรื่อยๆ เพิ่มออกมาเรื่อยๆ (เหมือนงาช้างที่งอก/ขยาย/เพิ่ม ออกมาเรื่อยๆ) วันพรุ่กนี้ คือวันที่งอกออกมาใหม่จากวันนี้

4. ต่อมาคำว่า วันพลุ่ก/พลุก/วันภฺลุก/วันพรุ่ก/วันพรุก เกิด การกลมกลืนเสียงตามตัวหลัง (Regressive assimilation) กลายเป็น วันพรุ่ง/วันพลุ่ง/วันพุ่ง  

5. สันนิษฐาน ว่าไทยรับเอาคำว่า  ภฺลุก (คำนาม แปลว่างาช้าง คำกริยาควรแปลว่าการงอกออก) นี้มาจากเขมร (ในช่วงที่ไทยตกเป็นเมืองขึ้นของเขมรเมื่อ พ.ศ.....?) ถ้าจะให้ทราบแน่ชัด ก็ต้องตรวจกับ ศิลาจารึก ต่างๆ ว่าไทยมีการใช้คำว่า วันภฺลุก ตั้งแต่สมัยใด? เพี้ยนเสียงไปเมื่อใด?  แต่ในสมัยปัจจุบันการพูดว่า ต่อ(วัน)โพล่ง ย่อมทำให้เกิดการสื่อสารที่รู้เรื่อง มากกว่าการพูดว่า ต่อ(วัน)พรุ่ก อย่างแน่นอน :)

6.โคลงโลกนิติบทหนึ่งได้กล่าวเปรียบเทียบถึงการงอกของงาช้างและการกล่าววาจาสัตย์เอาไว้ว่า


งาสาร
ฤาห่อนเหี้ยน        หดคืน 
คำกล่าวสาธุชนยืน        อย่างนั้น 
ทุรชนกล่าวคำฝืน          คำเล่า
หัวเต่ายาวแล้วสั้น          เล่ห์ลิ้นทรชน๚ะ๛


งาช้าง(สาร) ยาม งอกออกมาจนยาวแล้ว มีหรือจะ(กลับสั้น) หดเหี้ยน ได้
สาธุชนผู้กล่าวยืนยันในคำสัตย์ คำสัตย์นั้นก็ย่อมที่จะยืนยงและยืนยาวต่อไปอย่างนั้น
ทุรชนผู้พยาม ฝืนกล่าวคำ อสัตย์ นั้นเล่า
คำ อสัตย์ ของผู้ทุรชน อุปมาดั่งหัวเต่า ที่ยืดยาวออกจากกระดอง แล้วกลับหดสั้นได้ (ลิ้นทรชน ยืดๆหดๆ เหมือนดังหัวเต่า) โปรดดู บทความ สัจ สัตย์ สัด ประกอบ

เนื่องจากโคลงโลกนิติ นี้ได้รับอิทธิพลมาจาก คัมภีร์โลกนิติ, คัมภีร์ธรรมนีติ, คัมภีร์ราชนีติ, หิโตปเทศ, ธรรมบท, พระไตรปิฎก  ซึ่งเป็นความเชื่อของอินเดีย ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง เขมรได้รับอิทพลมาจากอินเดีย ฉะนั้น คำว่า วันพรุ่ก (หรือวันที่งอกออกมา) นี้ก็อาจจะเป็นการอธิบายความตามพื้นฐานความเชื่อของอินเดียก็เป็นได้

 

อ้างอิง


(1) อัศนี พลจันทร (นายผี). รวมบทกวีนายผี : อัศนี พลจันทร.--พิมพ์ครั้งที่ 1.--กรุงเทพฯ : สามัญชน, 2541

(2) อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์. ภาษาศาสตร์เหมาะสมัยเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ต้นธรรม ; 2537.

(3) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ฉบับออนไลน์ [cited 2008 November 5].  Available from: URL; http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp

หมายเลขบันทึก: 221475เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2008 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณพี่โย่ง ครับ เก็บเอาไปสอนเด็ก ในวันพรุ่งนี้ ได้นะครับ

สวัสดีครับ ท่านกวีเทวดานามว่า กวิน

พรุ่กนี้ ชาวใต้ยังใช้อยู่ "แต่เป็นโพลก"

"เห็นมดขนไข* เป็นย่าน* โพลก * รือ* แล่น้ำท่วมใหญเล่า"

*มดขนไข =เป็นลางบอกว่าน้ำจะท่วม

*เป็นย่าน = เป็นแถว

*โพลก = พรุ่งนี้

*รือ = มะรืน

*แลท่าน้ำท่วมใหญ = เห็นทีว่าน้ำจะท่วมใหญ่

ผิดพลาดขอคำแนะนำนะครับท่านกวิน

สวัสดีคะ คุณกวิน

มาเรียนภาษาไทยใหม่

ได้ความรู้เพิ่มจากคูรกวินและท่านบังหีม

ขอบคุณคะ

ขอบคุณ บังหีม--ผู้เฒ่าnatachoei--  ครับ สำหรับตัวอย่างประโยค คำพูดในภาษาถ่นภาคใต้ เห็นมดขนไข* เป็นย่าน* โพลก * รือ* แล่น้ำท่วมใหญเล่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท