EHM เครื่องมือสร้างพลังเครือข่ายคนพิการ ความเป็นมาฯ #2


เพื่อทำแผนที่คนพิการที่มีความรู้ ความสามารถ และมีศักยภาพ (Every Human Mapping-Deform: EHM-Deform) แล้วนำมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ยกย่อง เชิดชูเกียรติ เพื่อสร้างเป็นพลังในการยอมรับจากสังคม และเป็นตัวเสริมเพิ่มพลังให้แก่กลุ่มคนพิการ อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อการดำเนินชีวิตแบบพึ่งตนเองอย่างพอดี พอเพียง และสมดุล

    จากการถอดบทเรียนหลังการดำเนินงานของจังหวัดพัทลุง (After Action Review: AAR) ในปี 2548 ที่ผ่านมา สรุปเป็นประเด็นจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค พบว่าจุดแข็งสำคัญที่ทำให้คนพิการเข้าถึงสิทธิมากขึ้น โดยจะขอใช้ตัวชี้วัดการได้รับการขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นตัวชี้วัดเสมือน (Proxy Indicator) ซึ่งมีความครอบคลุมที่ร้อยละ 85.82 ของเป้าหมาย คือ...

     ด้านตัวคนพิการ (Demand Side) ประกอบด้วย การรับรู้สิทธิของคนพิการและญาติในวงกว้าง การสร้างความเข้าใจด้วยวิธีง่าย ๆ จากคนพิการ (แกนนำ) สื่อไปถึงคนพิการ (อื่น ๆ) เอง การได้รับค่าใช้จ่ายและการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อให้แพทย์ตรวจรับรองความพิการ ซึ่งเป็นการลดภาระ การรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง เนื่องจากมีกระแสของตัวแทนเครือข่ายคนพิการที่ทำงานและได้รับการยอมรับจากสังคม การที่สังคมเริ่มเชื่อว่าคนพิการก็มีศักยภาพและพูดถึงคนพิการในทางที่ดีขึ้น เป็นต้น

     และในด้านตัวผู้ให้บริการที่เป็นภาครัฐ (Supply Side) คือการมีนโยบายเชิงรุกจากหน่วยงานต่าง ๆ การได้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนพิการ ทำให้เข้าใจชีวิตและความต้องการคนพิการอย่างแท้จริง การมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจากส่วนราชการผู้ให้นโยบาย การรับรู้ว่าคนพิการมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น ความชัดเจนเป็นรูปธรรมของเนื้องานที่ต้องรับผิดชอบ เป็นต้น

     ในขณะเดียวกันจุดอ่อนคือ “ความต่อเนื่องและยั่งยืน” เนื่องจากการรวมตัวกันของคนพิการยังเป็นไปอย่างฉาบฉวยในหลาย ๆ พื้นที่ คนพิการเองก็ยังไม่ค่อยภูมิใจในตนเอง ไม่มั่นใจในศักยภาพของตนเองมากนัก ยังมีอีกมากที่มองตนเองเป็นภาระ ขาดแรงใจในการต่อสู้กับชีวิตทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วยังทำได้ หรือขาดการสนับสนุนในส่วนที่ตรงกับศักยภาพ หรืออาจจะยังไม่ทราบ/มองไม่เห็นโอกาสที่เป็นไปได้

     ทั้งนี้เพราะขาดกิจกรรมที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีผู้รับผิดชอบที่จะเติมต่อหรือสร้างสรรค์เวทีให้มีการพูดคุยกัน แม้สมาคมคนพิการจังหวัดพัทลุงที่มองว่าน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนได้ ก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเนื่องจากติดอยู่ที่วัตถุประสงค์ของการตั้งสมาคมในครั้งแรกไม่สนองต่อแนวทางนี้จนถึงปัจจุบัน และขาดปัจจัยนำเข้าอื่น ๆ อีกหลายประการ ในการเริ่มต้น

      สำหรับโอกาสที่พอจะสรุปได้ จะพบว่าแม้ในปัจจุบันที่ได้เข้าสู่ในปี 2549 แล้ว แต่แนวทางการดำเนินงานของภาครัฐในภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ในส่วนกลางถึงภูมิภาค ก็ยังให้การสนับสนุนเชิงนโยบายที่ต้องการเห็นภาพความเข้มแข็งของกลุ่มคนพิการ ความพยายามให้โอกาสในการเข้าถึงสิทธิ และเครือข่ายพันธมิตรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ/เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ได้ตระหนักในประเด็นนี้เช่นกัน ในขณะเดียวกันด้านอุปสรรคก็จะมีในส่วนที่เป็นนอกเหนือจากการควบคุมได้ เช่น ทัศนคติของผู้ให้บริการภาครัฐ หรือญาติของตนเอง แต่ก็ยังมองว่าหากใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เปิดโอกาสให้คนพิการได้แสดงศักยภาพได้แล้ว สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลงไปได้ในที่สุด

เมนูติดตามอ่านเรื่องทั้งหมดในแต่ละตอน

EHM เครื่องมือสร้างพลังเครือข่ายคนพิการ ความเป็นมาฯ #1#2 และ #3 

กรอบคิดหลัก #1 และ #2  แผนเดินเรื่อง และ ภาคีเครือข่าย

หมายเลขบันทึก: 22060เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2006 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท