ฉบับที่ ๑๓ ทฤษฎีสู่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


แบบอย่างแก่ประชากรทั่วทั้งโลก

ฉบับที่ ๑๓

 

กานต์วลี ที่ผมคิดถึง

            ท่ามกลางป่าเขาและผืนไร่ที่เงียบสงบ ผมกลับทบทวนถึงการทำงานในอดีตของผมที่ผ่านมา  การใช้ชีวิตในสภาวะที่เร่งรีบ  มีความคิดในการทำงานเพียงเพื่อจะช่วงชิงผลกำไรในทางธุรกิจ ลุ่มหลงทะนงตนและไร้ซึ่งความเอื้ออารี  ผมพยายามที่จะขยายธุรกิจของผม ถึงแม้ว่าเหตุผลข้ออ้างที่ผมมักจะเฝ้าบอกตัวเองว่าที่ผมทำทั้งหมดก็เพื่ออนาคตของสองเรา แต่บัดนี้ ในค่ำคืนอันแสนสงบนี้ ผมกลับสมเพชตัวเอง ผมไล่ล่าความวุ่นวายเข้ามาสู่ชีวิตโดยแท้

กานต์วลี  ผมเปลี่ยนไป  ตอนนี้ความคิดของผมก็คือ

ความเอื้ออารี  คือ ให้มากกว่าที่จะทำได้

และความทะนงคือ  รับน้อยกว่าที่จำเป็นต้องการ

Generosity  is  giving  more  than  you  can,

And  pride  is  taking  less  than  you  need.

            ที่ผ่านมา เรามุ่งแต่จะทำงาน เพื่อกอบโกยความมั่งคั่งสู่ตน  มีใครบ้างหรือกานต์ ที่จะอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน   มีสิ กานต์วลี  กานต์ยังจำถ้อยคำประโยคนี้ได้หรือไม่

“ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม ”

ใช่แล้วกานต์  เป็นพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ซึ่งพระองค์ได้ทรงปฎิบัติตนเช่นนั้นจริง ๆ   กานต์ลองบอกผมสิครับว่า ในโลกนี้มีใครบ้างที่ทรงงานได้มากมายเท่าพระองค์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงทำเพื่อประโยชน์สุขของพวกเราอย่างแท้จริง   นับเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ - ๒๕๔๘  มีจำนวน ๓,๗๙๙ โครงการ ซึ่งได้ก่อผลแก่ประชาชนของพระองค์ให้มีชีวิตอย่างมีความสุข และเป็นแนวทางแบบอย่างแก่ประชากรทั่วทั้งโลก

            เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากทรงศึกษาใน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใน พ.ศ.๒๔๙๔ มีพระราชดำริริเริ่มที่จะดำเนินกิจกรรม ต่างๆ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขพสกนิกรของพระองค์ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง พระองค์จึงมีพระราชปรารถนาที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรง เยี่ยมราษฎรให้ทั่วทุกแห่ง เพื่อสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกร อีกทั้งยังมี พระราชประสงค์ ที่จะทราบความเดือดร้อน และความต้องการของราษฎรอีกด้วย  อันได้แก่ ปัญหาความยากจน การขาดแคลนที่ดินทำกิน  การประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติ เป็นต้น แนวพระราชดำริเพื่อการแก้ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น มีทั้งแนวทางการผ่อนปรนแก้ไขความเดือดร้อนเฉพาะหน้าและการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โครงการที่พระองค์ท่าน ได้ทรงริเริ่มและดำเนินการนั้น อาจจะประมวลได้เป็น ๔ ประเภท

๑.     โครงการตามพระราชประสงค์ เป็นโครงการศึกษาส่วนพระองค์ พร้อมปฏิบัติควบคู่ไปกับการพัฒนาส่งเสริม แก้ไขหรือวิธีการไปด้วย ผมคงจะต้องยกตัวอย่างให้กานต์เห็น เช่นการทำนาและการศึกษาเรื่องข้าวในบริเวณสวนจิตรลดา  เป็นต้น

๒.   โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นโครงการที่พระราชทานแนะนำและแนวทางให้เอกชนไปดำเนินการด้วยกำลังเงิน กำลังปัญญาและกำลังแรงงานของภาคเอกชนเอง

๓.    โครงการหลวง เป็นโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยภูเขาในบริเวณดอยต่าง ๆ เป็นโครงการตามพระราชดำริ     ที่ทำร่วมกับ หน่วยงานวิชาการในการส่งเสริมอาชีพในคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ 

๔.    โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนาและโปรดเกล้า ให้รัฐบาล ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ร่วมดำเนินการตามแนวพระราชดำริ โดยรัฐบาลได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. ๒๕๒๔ เพื่อกำหนดระบบองค์กร ผู้รับผิดชอบตลอดจนวิธีดำเนินงานไว้โดยตรง

ผมคงจะสิ้นหวังที่จะได้พบกานต์เสียแล้ว  เพราะข่าวคราวของกานต์ดูเงียบหายและห่างไกล

...กับหนึ่งดวงใจในทรวงเปลี่ยว          วันคืนขับเคี่ยวให้ขับขาน

ขับขานชีวิตและวิญญาณ        จนกว่าถึงกาลที่พังภิณฑ์..

กานต์วลีที่คิดถึง ความหวังอย่างเดียวที่ผมมี อยู่ในความสิ้นหวังนั่นเอง

            ผมใช้การทำงานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่ผมศรัทธา เป็นแรงผลักดันให้ผมทำงานต่อไป ผมยังทำงานเป็นเพียงแค่ธุลี เมื่อเทียบกับภาระการทรงงานของในหลวงของเรา  กานต์คงได้ยินมาบ้างแล้วถึงโครงการสำคัญ ๆต่าง ๆ ผมจะยกมาให้กานต์ร่วมกันซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่มีต่อพสกนิกร อาทิ เช่น

โครงการโปรยน้ำฟ้ามาสู่ดิน(ฝนหลวง)  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยม พสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปีพ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงสังเกตเห็นว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้าแต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทำให้ประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม ทรงคิดคำนึงว่าน่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้  โครงการพระราชดำริฝนหลวงจึงก่อกำเนิดขึ้น 

"ไทยทำไทยใช้กังหันน้ำชัยพัฒนา" เนื่องจากปัญหามลพิษทางน้ำไทยสูงขึ้น พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริเรื่องการพัฒนาน้ำเสียวิธีกรองน้ำเสียวิธีต่าง ๆ แต่ไม่สามารถบรรเทา จึงให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศ เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย โดยทรงได้แนวจาก หลุก อุปกรณ์วิดน้ำเข้านา  กังหันน้ำชัยพัฒนา มีใบพัดขับเคลื่อนน้ำและซองวิดน้ำไปสาดกระจายเพื่อให้สัมผัสอากาศทั่วถึง ให้ออกซิเจนในอากาศละลายในน้ำอย่างรวดเร็ว น้ำเสียถูกยกขึ้นมาตกลงน้ำเกิดฟองถ่ายเทออกซิเจน จึงสามารถนำไปใช้บำบัดน้ำเสียจากแหล่งชุมชน แหล่งอุตสาหกรรมและแหล่งเกษตรกรรม ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้

        ดีขึ้นรวมทั้งการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในบ่อเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำต่างๆซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอีกทางหนึ่ง  

ยังมีกักน้ำไว้ก่อนระบายด้วย โครงการ แก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชอรรถาธิบายว่า
“ ...ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้กิน ลิงจะรีบ ปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อนลิงจะทำอย่างนี้จน กล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลังเปรียบเทียบกับเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ขุดคลองต่าง ๆ เพื่อชักน้ำมารวมกันแล้วนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำอันเปรียบได้กับแก้มลิงแล้วจึงระบายน้ำลงทะเล เมื่อน้ำทะเลลดลง 

 

ดินเปรี้ยวเกินไป แก้ไขได้ดั่งใจด้วย ทฤษฎี "แกล้งดิน"
ที่นี่น้ำท่วม หาประโยชน์ไม่ได้ ถ้าเราจะทำให้มันโผล่พ้นน้ำขึ้นมา มีการระบายน้ำออกไปก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนในเรื่องการทำมาหากินอย่างมหาศาล 

หญ้าแฝกเพื่อนรู้ใจ จับมือกันไว้...ป้องกันดินพัง

 
              หญ้าแฝกหรือ กำแพงที่มีชีวิต มีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินและอนุรักษ์ความชุ่มชื้นใต้ดิน ด้วยระบบรากลึกแผ่กระจายลงไปในดินตรง ๆ เป็นแผงเหมือนกำแพงช่วยชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลผ่านหน้าดินและช่วยเก็บความชุ่มชื้นของดินไว้ 

   

กานต์วลี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ทรงงานอย่างหนัก ด้วยทรงเป็นห่วงราษฎร ทรงทุ่มเทการพัฒนามนุษย์รอบด้านและทรงช่วยแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระดับขั้นตอน  จากการทรงงานเพื่อพสกนิกรของพระองค์และส่งผลไปยังมนุษย์ทั้งโลก องค์การสหประชาชาติ จึงทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์

( Lifetime  Achievement  in  Human  Development  Award)

 

...เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม  ๒๕๔๙ พร้อมทั้งได้ประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติว่าทรงเป็น “ พระมหากษัตริย์นักพัฒนา ”

ผมยังคงรอคุณอยู่ที่นี่ กานต์วลี  อ้อมกอดของแผ่นดินและความสงบสุขของการมีชีวิตอย่างพอเพียง ร่วมเฝ้ารอคอยกานต์พร้อมกับผมด้วย

 

ว่าจะลุยรอยไถในท้องทุ่ง      ว่าจะมุ่งปลูกไทในนาข้าว

ว่าจะเกี่ยวรวงทองอันผ่องพราว      ว่าจะร่วมรวดร้าวกับผองชน

วันนี้เธออยู่ไหน....

หรือหลงทางร้างไกลไร้แห่งหน

 ยังหมายมาดปรารถนาฝ่าทุกข์ทน

     หรือหมดไฟไหม้หม่นเยี่ยงคนแพ้ !

 

                                                                        รอคอยกานต์เสมอ

                                                                                     อภิษฐา

หมายเลขบันทึก: 220241เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2008 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท