การเสนอนโยบายบริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร ต่อกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร


วันนี้ (1 พ.ย. 51) ผมได้มีโอกาสนำเสนอวิสัยทัศน์และแผนการบริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร (พ.ศ. 2552-2556) ต่อคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีทั้ง 5 ท่าน  ประกอบด้วย

                1.  ร้อยตรี ดร.ประพาส  ลิมปะพันธุ์                                 เป็น        ประธานกรรมการ

                2.  ดร.สมนึก  พิมลเสถียร                                                   เป็น        กรรมการ

                3.  นายนคร  ศิลปอาชา                                                       เป็น        กรรมการ

                4.  รองศาสตราจารย์ธิติ  เฮงรัศมี                                      เป็น        กรรมการ

                5.  รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์  แทนธานี           เป็น        กรรมการ

                การดำเนินการครั้งนี้  เนื่องจาก รศ.ดร.มณฑล  สงวนเสริมศรี  อธิการบดีคนปัจจุบัน จะครบวาระในวันที่ 19 มกราคม 2552  หลังจากเป็นอธิการบดีมา 2 สมัย  รวม 8 ปี  โดยมีผู้ตอบรับการทาบทาม  และได้เข้าแสดงวิสัยทัศน์ตามลำดับดังนี้

                1.  ศ.ดร.สุจินต์      จินายน

                2.  นายนคร  ณ  ลำปาง 

                3.  รศ.ดร.สมบัติ  นพรัก 

                4.  ศ.ดร.เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์

                5.  ศ.ดร.วัลลภ  สุระกำพลธร 

                6.  รศ.ดร.สุพักตร์  พ่วงบางโพ 

                7.  ผศ.ดร.คนึงนิจ  ภู่พัฒน์วิบูลย์

                8.  ศ.ดร.ศุภสิทธิ์  พรรณนารุโณทัย 

                ก่อนอื่น  ผมต้องขอขอบคุณชาวมหาวิทยาลัยนเรศวรทุกท่าน  ที่เสนอชื่อผมเป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี  โดยที่ตัวผมเองมิได้หาเสียง  ล้อบบี้  หรือกระทำการใดๆ ให้ได้มาซึ่งการได้รับการเสนอชื่อโดยไม่สมัครใจ

                ผมมีแนวคิดการบริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรของเราอย่างไร  ขอสกัดประเด็นสำคัญที่นำเสนอมาเล่าให้ฟัง 

                วิสัยทัศน์  ของผมคือ  “มหาวิทยาลัยนเรศวร  เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ  และเป็นหนึ่งในสิบของมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศ”  ส่วนแผนยุทธศาสตร์  มีดังนี้

                1.  ยึดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยนเรศวร  ระยะยาว 15 ปี  เป็นหลัก  โดยแยกเป็น 6 ด้าน  คือ  ด้านการสอน  ด้านการวิจัย  ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม  ด้านการส่งเสริมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  ด้านการบริหารมหาวิทยาลัย  และเสริมด้วยด้านคุณภาพชีวิต  สิ่งที่ผมเน้นเป็นพิเศษคือ  ประเด็น  การเป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการโดยหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง  ที่บุคลากรผู้เข้าระดมสมอง  ประกอบด้วย  คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย  คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย  ผู้บริหารระดับคณะ  ตัวแทนอาจารย์  และบุคลากรสายสนับสนุน  จำนวน 178 คน  เห็นว่าเป็นความสำคัญเร่งด่วน อันดับ 2  แต่มีโอกาสสำเร็จอันดับ 7  และแผนกำหนดให้สำเร็จ  ปี 2556

                ผมสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมนเรศวร  ที่ คนทุกระดับเรียกร้องให้บริหารจัดการโดยหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง  ผมจึงตั้งเป้าหมายว่า  ถ้าได้เป็นอธิการบดี  จะทำให้สำเร็จในปี 2554  โดยอาศัยประสบการณ์  และเจตนามุ่งมั่นเพื่อมหาวิทยาลัย  ด้วยหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง  คือ  การใช้หลัก 6 ด้านร่วมกัน  ได้แก่  หลักนิติธรรม  หลักคุณธรรม  หลักความโปร่งใส  หลักความมีส่วนร่วม  หลักความสำนึกรับผิดชอบ  และหลักความคุ้มค่า  เพราะหลักธรรมาภิบาลและคุณธรรม  จะสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยนเรศวร

                2.  หลักเศรษฐกิจพอเพียง  ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  ที่ใช้เงื่อนไข  ความรู้และคุณธรรม  เป็นปัจจัยนำเข้า (Input)  ใช้หลักมีเหตุผล  พอประมาณ  และมีภูมิคุ้มกันที่ดีเป็นกระบวนการการบริหาร (Administrative Process)  ซึ่งหลักเศรษฐกิจพอเพียง     จะสร้างความเข้มแข็งให้องค์กร  คือ  มหาวิทยาลัยนเรศวร

                3.  เน้นคุณภาพชีวิตและกิจกรรม  เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาองค์กร  เนื่องจากผลการประเมินมหาวิทยาลัยภายนอก (สมศ.) ระบุว่า  การเจริญอย่างก้าวกระโดดของมหาวิทยาลัย  ทำให้วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรลดลง

                4.  แน่นอนว่า  ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย  คือ  การสอน  การวิจัย  การบริการวิชาการแก่สังคม  และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม  ต้องธำรงไว้และสร้างความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น

                โดยสรุป  วิสัยทัศน์  กรอบแนวคิดและแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรของผม  จะเน้นการบริหารจัดการโดยหลักธรรมาภิบาล  และหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐาน  ด้วยการตระหนักถึงคุณภาพ 3 ด้าน  คือ  คุณภาพบัณฑิต  คุณภาพชีวิต  และคุณภาพมหาวิทยาลัย 

(ผู้สนใจแนวคิดที่ผมนำเสนอคณะกรรมการสรรหาฯ เป็น Power Point  และเอกสาร ผมได้แนบไว้ด้วยแล้ว)

                ขั้นตอนต่อจากการเสนอนโยบายคือ  คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี  ดำเนินการตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยนเรศวร  ว่าด้วย  หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2546  ข้อ 9.4  ดังนี้

                “9.4  กลั่นกรองผู้ตอบรับการทาบทาม  โดยพิจารณาจากคุณสมบัติ  และความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งอธิการบดี  โดยไม่นับความถี่ของการได้รับการเสนอชื่อ  จำนวนไม่เกินสามคน  และทำบันทึกความเห็นประกอบการกลั่นกรองของผู้ตอบรับการทาบทามทุกคนเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย

                ถ้าผมมีโอกาสผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการสรรหาฯ  จะเขียนเล่าให้ฟังต่อครับ

                ขอขอบคุณชาวมหาวิทยาลัยนเรศวรทุกท่าน

หมายเลขบันทึก: 220157เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2008 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 11:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท