สานเสวนา แก้ปัญหาวิกฤติการเมืองและสังคมได้จริงหรือ?


สานเสวนา

สานเสวนา แก้ปัญหาวิกฤติการเมืองและสังคมได้จริงหรือ?*

 

ปัจจุบัน คำว่า สานเสวนา กำลังเป็นประเด็นทางเลือกที่หลายฝ่ายออกมาให้ความคิดเห็นโดยเฉพาะสถาบันพระปกเกล้า และสภาพัฒนาการเมือง ได้เสนอ ประโยคที่ว่า ยุติความรุนแรง แสวงสันติด้วยการเสวนา ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่หลายฝ่ายเห็นว่าได้นำไปสู่การแตกแยกทางความคิด และการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมไทย อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำว่า สานเสวนา ว่าหมายถึงอะไร และจะปฏิบัติอย่างไร

คำว่า สานเสวนา หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุนทรียสนทนา” (dialogue) เป็นการสนทนาเพื่อการคิดร่วมกัน ซึ่งคำว่า dialogue มีรากศัพท์มาจาก dia + logos ตัวคำว่า logos นั้นมาจากคำภาษากรีกที่แปลว่า ถ้อยคำหรือ ความหมายของคำส่วนคำว่า dia นั้นแปลว่า สองดังนั้นในความหมายปกติของ dialogue แล้วคือ การสนทนาของคนสองคน 

หากลองคิดใหม่แบบเดวิด โบห์ม ว่า dia แทนที่จะแปลว่า สองก็เปลี่ยนเป็นแปลว่า ทะลุดังนี้แล้วความหมายอันสุนทรียะของวงสนทนาก็จะปรากฏขึ้น ความหมายใหม่คือ การสนทนาเพื่อทะลุความหมายของคำอันจะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ ตามแนวทางของเดวิด โจเซฟ โบห์ม (ค.ศ. 1917 – 1992) นักฟิสิกส์สายควอนตัมผู้มีชื่อเสียงจากฝั่งอเมริกา ผลงานอันโดดเด่นของเขาอยู่ในพื้นที่ของฟิสิกส์ทฤษฎี ปรัชญา จิตวิทยาสมอง เขาเห็นว่าการสื่อสารคือการสร้างโลกแห่งความหมายร่วมกัน นั่นคือผู้สื่อสารมีความเข้าใจร่วมกัน แต่นั่นคือสภาวะทางอุดมคติ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว มนุษย์แต่ละคน ต่างก็สร้างเกราะปราการขึ้นปกป้องความคิดความเห็นของตนเอง และบอกปัดปฏิเสธความคิดความเห็นของผู้อื่น แทนที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกัน

 เดวิด โบห์ม เห็นว่า สุนทรียสนทนาสามารถสลายปัญหานี้ได้ ด้วยกระบวนการกลุ่มร่วมกัน โดยให้แต่ละคนส่องสะท้อนความคิด และความรู้สึกของตนเองผ่านคนอื่นในกลุ่ม ให้การสนทนาเป็นไปอย่างลื่นไหล โดยไร้การตั้งญัตติล่วงหน้าไว้แล้ว เน้นให้ผู้เข้าร่วมสุนทรียสนทนาทุกท่านได้พูด โดยพยายามไม่ให้ใครนำวงสนทนา และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ให้ผู้เข้าร่วมทุกท่านทิ้งสมมติฐานใดๆที่อยู่ในใจ ไปเสียก่อน คือ อย่าเพิ่งรีบตัดสินผู้เข้าร่วมคนอื่น หรือความเห็นของผู้เข้าร่วมคนอื่น โดยฉับพลัน แต่ให้รับฟังอย่างตั้งใจและพิเคราะห์ จนทั้งวงสุนทรียสนทนาเกิดความหมายใหม่ร่วมกันที่ไม่อาจจะคาดเดาล่วงหน้าได้

นอกจากนี้ ยังเหมาะสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการระดมความคิดเพื่อค้นหาวิธีการและความรู้ใหม่ๆในการทำงาน รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระดับบุคคลได้ดีอีกด้วย การสนทนามีเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งอาจอนุโลมเป็นกฎกติกา 3 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1) ฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ประการที่ 2) มีความรู้สึกเป็นอิสระ ผ่อนคลาย ประการที่ 3) เคารพในความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์

การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) โดยพยายามไม่ใส่ใจว่า เสียงที่ได้ยินเป็นเสียงของใคร เพียงแค่กำหนดใจให้รู้ได้ว่า เสียงที่ได้ยิน คือเสียงของกัลยาณมิตรของเราคนหนึ่ง ที่ปรารถนาจะให้เราได้ยินได้ฟังแต่สิ่งดีๆเท่านั้น ถ้าหากฟังอย่างตั้งใจ อาจจะมีความคิดบางอย่างวาบขึ้นมาในใจ และความคิดนั้น อาจจะถูกนำไปใช้ในการเริ่มต้นของการทำอะไรบางอย่างที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคมได้ในอนาคต

การยอมรับในหลักการของสุนทรียสนทนา คือความพยายามเบื้องต้นในการถอดถอนอิทธิพลของอำนาจ อุปาทาน ซึ่งทำงานอยู่ในรูปของระบบสัญญลักษณ์ พิธีการต่างๆที่ห่อหุ้มตัวตนไว้ในโลกอันคับแคบ หดหู่ ซึมเศร้า และเป็นสถานบ่มเพาะเชื้อแห่งความรุนแรงไว้อย่างล้ำลึก เชื่อกันว่า หากคนสามารถก้าวข้ามสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไปได้ จิตใจก็จะถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ (deliberation) สามารถเรียนรู้จากการฟังได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

David Bohm ทิ้งท้ายไว้อย่างถ่อมตัวว่า เขาไม่เชื่อหรอกว่าสิ่งที่เขาเรียกว่า dialogue หรือ สุนทรียสนทนานั้น จะเป็นคำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาอันสลับซับซ้อนบนโลกใบนี้ได้ทุกเรื่อง แต่เขาคิดว่าสุนทรียสนทนาเป็นเพียงการเริ่มต้นของการแก้ปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้นนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น Dialogue จึงเป็นเครื่องมือเชิงปฏิบัติเพื่อให้กลุ่มเกิดการคิดและการเรียนรู้ร่วมกัน โดยเน้นที่การฝึกฝนทักษะส่วนบุคคล ซึ่งแม้ว่า Dialogue จะแปลว่า การสนทนา แต่หัวใจสำคัญคือการฟังอย่างลุ่มลึกและพัฒนาพลังของการคิดร่วมกันให้ความสำคัญกับการไตร่ตรองความคิดเป็นการคิดที่ลุ่มลึกลงไปในระดับของจิตใจ อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนากระบวนการคิดเพื่อความเข้าใจในระดับที่หยั่งลึกได้

ซึ่งประเด็นวิกฤติทางการเมืองและสังคมในปัจจุบันนั้น ได้มาถึงจุดหนึ่งที่ต้องหาทางออกร่วมกัน ดังนั้น การสานเสวนา จึงเป็นเครื่องมือในการให้ทุกฝ่ายมาร่วมสนทนาและรับฟังความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายอย่างลึกซึ้ง โดยมีการจัดให้มีการสานเสวนากันโดยปฏิบัติตามแนวทางของกระบวนการสานเสวนา หรือ สุนทรียสนทนาอย่างถูกต้อง จะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากการสานเสวนา

ส่วนการแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเมืองและสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะแก้ปัญหาด้วยการสานเสวนาได้หรือไม่นั้น จะต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะว่ากระบวนการสานเสวนาต้องใช้เวลาในการคิดและกระบวนการใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง จนกว่าจะปรากฏออกมา และควรจัดให้มีการสานเสวนาจากทุกฝ่ายให้บ่อย เพื่อให้เกิดพลังแห่งการคิดร่วมกันจนสามารถแก้ปัญหาและหาทางออกให้กับสังคมการเมืองไทยต่อไป

 



* บุญยิ่ง ประทุม ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 218962เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2008 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สุนทรียสนทนา” หรือ dialogue เป็นการสนทนาโดยการวางตัวเองเป็นกลาง  รับรู้ รับฟัง อย่างมีสติและฟังคนอื่นอย่างมีวิจารณญาณ  การสะท้อนความคิดผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนา เท่าที่ผ่านการสัมผัสด้วยตัวเอง จะเกิดมิตรและปติในความคิด อีกทั้งยังสามารถขมวดเกลียวของทางตันให้บรรลุได้
  • ก็ได้แต่หวังว่า จะมีการจัดให้มี สุนทรียสนทนา ให้แก่ทั้งสองฝ่าย เผื่อว่าจะเกิดอะไรดี ๆ ขึ้นในสังคม
  • การแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเมืองและสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะแก้ปัญหาด้วยการสานเสวนาได้จริงหรือ
  • ถ้าทุกคนไม่เข้าใจหรือทำเป็นไม่รู้ว่า ที่มาจริงๆของปัญหาคืออะไร
  • ทุกอย่างมันชัดเจนอยู่แล้ว
  • แม้กระบวนการยุติธรรมยังถูกหยามเหยียด  ว่าไม่น่าเชื่อถือ
  • การสานเสวนานี้
  • จะช่วยได้จริงหรือคะ  ในเมื่อคนบางกลุ่มไม่ยอมเปิดใจ
  • ไม่ยอมรับผลจากการกระทำของคัวเอง

สวัสดีค่ะ

  • ครูอ้อยไม่สันทัดเรื่อง การเมือง  จะขออนุญาตกล่าวเท่าที่รู้  ไม่ใช่รู้สึก..ว่า
  • ระบบ ระเบียบ  กฏ..ยังมี บทเฉพาะกาล  ข้อยกเว้น
  • เพราะคน  ไม่มีระบบ  ไม่มีระเบียบ  ไม่มีกฎ..จึงเพิ่ม บทเฉพาะกาล และมีข้อยกเว้น... อยู่ร่ำไป
  • แต่หากคนยังเหมือนเดิม กับ คืบไม่พอเอาศอก ศอกไม่พอเอาวา  วาไม่พอเอา กิโล..สานเสวนา  จะจบลงได้หรือ
  • เมื่อมันเกินเลยมาถึงเวลานี้...สานเสวนา  จะสำเร็จหรือไม่  ต้องลองดูแล้วกัน..ดีกว่า  ไม่คิดทำอะไรเลย  ประชาชนตาดำๆ  ไม่ได้โง่นะ  เขาพากันมองดู  ฟังดู  อ่านดู อยู่เสมอ..
  • ฟันธง..เดินหน้า  อย่าไปดึงเอาเรื่องเก่าๆๆ มากล่าว  แต่ก็อย่าลืมสะสางเรื่องเก่าด้วยแล้วกัน

จงยืนอยู่อย่างมั่นคงในที่เหมาะสมแห่งตน

หากตัด การจาบจ้วงดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายสถาบัน ที่ทำกัน โดยกลุ่มเสื้อแดงที่สนามหลวงออกไปแล้ว ผมคิดว่า การเสวนา พอมีทางออกครับ แต่การทำกับสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของคนไทยนี่สิครับ มันเจ็บลึก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท