เรียนรู้ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชน..ของขวัญของชีวิต


        เกือบ 5 ปีแล้วสินะ ที่เรื่องราวแห่งความประทับใจเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นกับฉัน มันยังคงอยู่ไม่เคยจางหายไปจากความทรงจำจวบจนทุกวันนี้ เรื่องราวนี้มันอาจเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับใครหลายๆคน แต่สำหรับฉัน ฉันว่ามันเป็นช่วงเวลาที่แสนวิเศษที่สุดในชีวิต

         เรื่องมันมีอยู่ว่าในขณะที่ฉันกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในภาคเหนือ (ใครที่จบจากที่นี่เค้าก็ให้สมยานามว่าลูกพระองค์ดำ) ฉันมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ภายใต้ชื่อว่าโครงการเรียนรู้ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชน โดยหลักใหญ่ใจความของโครงการนี้ ภาณุรังษี เดือนโฮ้ง (2547 : 1) กล่าวไว้ว่าเพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาและอาจารย์ได้ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาชุมชน และส่งเสริมให้เยาวชนของชาติได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ ฝึกฝนประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคมร่วมกับผู้อื่น อันจะเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในเรื่องค่าใช้จ่ายช่วงปิดภาคเรียนได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้นิสิตที่เข้าร่วมโครงการยังได้มีโอกาสฝึกทักษะและพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของตนเอง ได้เรียนรู้ทักษะการทำงาน ได้ศึกษาขนบธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่นจากประสบการณ์และสภาพความเป็นจริงของสังคมโดยตรง มีงานทำและมีรายได้ในระยะสั้น ได้ใช้ภูมิปัญญาของนักศึกษาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถเชื่อมโยงและใช้งานได้จริงในชุมชน รวมทั้งภาครัฐได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวนโยบายพัฒนาท้องถิ่น

         ดังนั้นสถานศึกษาทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการต้องทำการคัดสรรนิสิตนักศึกษาของตนเองจำนวน 20 คน นักศึกษาจากสถานศึกษาอื่นๆอีก 20 คน และอาจารย์ที่ปรึกษาอีก 2 คน รวม 42 คน (โควตาในการเลือกนักศึกษาอาจเป็นไปตามแต่ละสถาบันกำหนด) โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องทำการศึกษาในพื้นที่เป็นเวลา 1 เดือน และกลับมาทำรายงานการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยต้นสังกัด อีก 1 เดือน จึงจะเสร็จสิ้นกระบวนการทำงาน

          ความประทับใจแรกของฉันเกิดขึ้นในขณะที่ได้ไปใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆอีก 39 คน ที่ตำบลคีรีมาศ อำเภอศรีคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย แต่ละคนก็มาจากแต่ละที่ ต่างคณะ ต่างสาขา อาทิแพทย์ สาธารณะสุข เทคนิคการแพทย์ จิตวิทยา ครู โปรแกรมเมอร์ วิศวฯโยธา เกษตร บัญชี พัฒนาสังคม และอีกหลากหลายสาขาอาชีพที่ฉันไม่ได้กล่าวถึงอาจมีหลงลืมกันไปบ้าง ก็ต้องขออภัยเพื่อนๆไว้ ณ ที่นี่ด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันรู้คือทุกคนมาด้วยหัวใจแห่งการเรียนรู้และการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ เราได้รับประสบการณ์ต่างๆมากมาย ที่อาจหาไม่ได้จากในตำราหรือห้องเรียน ทุกอย่างที่เราเจอมันสอนให้เรารู้ว่าเราควรต้องทำอย่างไร จัดการอย่างไร ให้มันเสร็จสมบูรณ์ไปได้อย่างราบรื่นมากที่สุด บางครั้งการไม่เข้าใจกันระหว่างเพื่อนก็ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้เช่นกัน เพราะแต่ละคนก็มากจากการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน ทำให้เพื่อนบางคนมีอีโก้สูงไปบ้าง ก็ต้องมานั่งคุยกันเพื่อนปรับความเข้าใจและให้เดินไปในทิศทางเดียวกันให้ได้ วิธีการจัดการกับปัญหาของพวกเราในค่ายนั้นคือเมื่อใครมีปัญหาต้องพูดต้องระบายออกมา ซึ่งในการประชุมของเราในแต่ละครั้ง ท้ายที่สุดเราจะทำการปิดไฟ และให้ทุกคนพูดถึงสิ่งที่มีอยู่ในใจออกมา ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม วิธีการนี้ทำให้คนที่เล่าเค้าก็จะเล่าได้อย่างไม่ปิดบัง และปัญหาก็จะได้รับการแก้ไขจากเพื่อนๆและอาจารย์ที่ค่อยรับฟังเค้าอยู่       

          อีกสิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดความประทับใจนั่นคือ วิถีชีวิตและขนมธรรมเนียบประเพณีของคนในพื้นที่ ที่ได้ถูกถ่ายทอดมาสู่สายตาคนต่างถิ่นอย่างพวกเรา ภาพความประทับใจนี้มันเคยเกิดขึ้นกับฉันเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนที่หมู่บ้านของฉันยังมีสภาพไม่แตกต่างจากที่นี่มากนัก (เพราะอยู่ต่างจังหวัดเช่นกัน) ผู้คนที่นี่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน บ้านใครมีงานบุญเค้าก็ไปช่วยกันทำกับข้าว ทำขนม เตรียมของต่างๆ ทุกคนช่วยกันอย่างขมีขมัน ทำให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ขอบอกว่าที่นี่เค้าทำลอดช่องอร่อยมาก เริ่มต้นแต่การตำข้าวให้เป็นแป้ง การปั่น การขูดมะพร้าวทำน้ำขนม คือทุกกระบวนการมันทำให้เห็นถึงวิธีชีวิตที่พอเพียงของคนในพื้นที่ ทุกอย่างถูกใช้สอยจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะสวนหลังบ้าน ซึ่งทุกบ้านจะทำการปลูกพืชผัก หรือไม่ก็ไม้ยืนต้น จำพวกไม้ผลไว้เป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าอยู่กันได้โดยไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียวได้ในแต่ล่ะวัน (ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ)

           ที่นี่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมแต่ดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดี เช่น ประเพณีรดน้ำดำหัว(ที่ฉันว่าไม่เหมือนที่ไหนแน่) ประเพณีแห่นางแมวขอฝน ละคอนลิง  ลิเก บวชนาค รวมถึงการละเล่นผีนางด้ง ที่น่ากัวสุดๆในความคิดของฉัน ที่สำคัญทุกเช้าตี 5 เราจะได้ยินพระเปิดบทสวดหรือไม่ก็เทศธรรมะโปรดชาวบ้าน(อันนี้ก็แล้วแต่วันสำคัญนั้นๆด้วย) ซึ่งท่านเปิดในทุกเช้า ลืมบอกไปเลยว่าเราพักกันที่โรงเรียน และใกล้กับวัด ดังนั้นเมื่อมีประเพณี หรือพิธีกรรมอะไรก็จะได้เห็นก่อนใครเพื่อน ฉันว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นเหมือนการหล่อหลอมให้คนในท้องถิ่นสมัครสมานสามัคคีกัน โดยมีศาสนาเป็นดังเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของทุกคนไว้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

          หลากหลายความประทับใจที่ฉันมีอาจจะไม่สามารถเล่าได้จบภายในวันเดียว เพราะทุกนาทีที่ๆได้ผ่านพ้นไปล้วนแล้วแต่แฝงไปด้วยความรู้สึกมากมายที่หน้าบล็อกนี้ไม่อาจบันทึกได้หมด ฉันว่าการที่เรามีสิ่งที่เราประทับใจมันก็เป็นเหมือนแรงผลักดันให้เราทำสิ่งต่างๆได้ง่ายขึ้น เป็นเหมือนของขวัญที่เราเองหายเหนื่อยทุกครั้งที่คิดถึงสิ่งเหล่านั้น แล้วคุณล่ะมีของขวัญแบบฉันกี่ชิ้นในชีวิต...

หมายเลขบันทึก: 218728เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2008 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คว่มภาคภูมิใจ  ความประทับใจ เป็นสิ่งที่เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต จะเป็นพลังให้กับเราได้ก้าวเดินต่อไปด้วยความมั่นคง ขอชื่นชมเขียนดีมากครับ

มาร่วมภูมิใจ และให้กำลังใจจ้า

ภาณุรังษี เดือนโฮ้ง

ขอบคุณนะครับที่เก็บความทรงจำดีดีไว้ในใจ รักษาความดีงาม นำชาติพัฒนาด้วยกันนะครับ ผมเองก็ดีใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือสังคมครับ

ความประทับใจที่เก็บไว้ในความทรงจำ

นั่นคือความงดงามของชีวิต

ให้กำลังใจจร้าๆๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท