๒๗. การสื่อจากใจสู่ใจด้วยบริบทและสถานการณ์


"...ชาวบ้าน มักพยายามสื่อสารให้เห็นความเป็นทั้งหมดในชีวิต เพื่อได้ความบริสุทธิ์ใจ ความจริงใจ ความวางใจ และความรู้สึกร่วมทุกข์สุข ฉันท์เพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ ..."

              การวิจัย ทำงาน และเชื่อมโยงบทบาทการทำงานกับชาวบ้าน  ให้มีมิติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  จนถึงระดับสามารถรู้สึกทุกข์ร้อน เข้าใจ  เห็นใจ  นับถือจิตใจ และเห็นความเป็นมนุษย์ของปัจเจกและชุมชน  พ้นไปจากรูปแบบภายนอกที่ผิวเผิน เป็นการสร้างความเป็นซึ่งกันและกันของภาคีทางวิชาการกับภาคสังคม ซึ่งปัจจัยและองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง  ในการถักทอและสร้างสาสังคมให้เกิดโครงสร้างเชิงวัฒนธรรมอย่างนี้ได้ก็คือ การเข้าถึงภาษาระหว่างถ้อยคำ

             เห็นจิตใจและความเป็นมนุษย์จากสถานการณ์ทั้งหมด  ซึ่งอยู่เหนือสิ่งที่ผู้คนพยายามสื่อสารถึงกัน บางทีเราเรียกความสามารถดังกล่าวนี้ว่า  การได้คุณค่าและความหมายร่วมกับจุดเยือนและทรรศนะของชุมชน  / การเข้าถึงความหมายระหว่างบรรทัด  / การเข้าถึงบริบท / การเห็นมิติที่ถ้อยคำและการพูดเอื้อมไม่ถึง

            ในทางการสื่อสารและการเรียนรู้ทางสังคม อาจจัดมิตินี้ว่าเป็นการสื่อให้สัมผัสและหยั่งโดยรวมจากสถานการณ์และบริบท       ซึ่งเป็นหลักการสื่อสารเรียนรู้ ที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างประสบการณ์และการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้คนที่เกี่ยวข้อง  มีความเหมาะสมกับการทำงานในเรื่องที่ปัจเจก ภาคประชาชน และชุมชน ต้องเป็นพระเอก หรือเป็นผู้นำการคิดริเริ่ม

            การเข้าถึงการสื่อสารเรียนรู้ระดับนี้ ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจมิติทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความรอบด้านในสถานการณ์การพูดคุย สื่อสาร และสร้างสังคมกัน  ณ  เหตุการณ์นั้นๆ จึงจัดว่าเป็นชุดความหมายของการสื่อสารเรียนรู้ที่อิงอยู่กับบริบท ซึ่งบางครั้งมิได้ปรากฏอยู่ที่ถ้อยคำและสิ่งที่พูด  เรื่องนี้มีความสำคัญมากสำหรับนักวิจัยและงานบริการทางวิชาการ  ในเรื่องที่ถือเอาชุมชนและกลุ่มคนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง 

           ผมมีบทเรียนและตัวอย่าง ซึ่งมักเจออยู่เสมอในการทำงานกับภาคประชาชน และในรูปแบบการทำงานที่ถือเอาชุมชนเป็นฐาน (Community-Based Development Approach)

           ครั้งหนึ่ง  ผมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่น  เพื่อขับเคลื่อนประชาคมอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม  ซึ่งเป็นเวทีที่จัดขึ้นหลังจากเราทำงานกับกลุ่มชาวบ้านและปัจเจกจากสาขาอาชีพต่างๆมาแล้วกว่าหนึ่งปี  มีผู้คนมาร่วมเวทีกว่า 100 คน และหนึ่งในนั้น เป็นลุงชาวนาบัว และเป็นกลุ่มร่วมวิจัยสร้างความรู้ท้องถิ่นเรื่องนาบัวกับผมด้วย สมมุติว่าชื่อลุง ก

            ลุง ก อยู่ในชุดกางเกงขาก๊วย มาร่วมเวทีที่ผมจัดขึ้นในมหาวิทยาลัย  ผู้ร่วมเวทีของลุงมีทั้งชาวบ้านชายหญิง นักธุรกิจ  ครูอาจารย์จากสถานศึกษาในพื้นที่  ข้าราชการในท้องถิ่น นักศึกษามหาวิทยาลัย และอาจารย์มหาวิทยาลัย 

           ก่อนกิจกรรมเวทีจะเริ่มขึ้น ลุงก็เดินมาหาผม พูดคุยสารทุกข์สุขดิบกับ และเล่าเรื่องราววันนี้ (วันที่กำลังมาร่วมเวทีประชุม) ของแก  ซึ่งเป็นการสื่อให้เห็นความหมายของจิตใจ  ด้วยการนำเสนอสถานการณ์และบริบทของลุงเองในวันที่มาร่วมเวที.....ลุงแกพูด สรุปได้อย่างนี้ครับ

            "...วันนี้ว่าจะตื่นแต่เช้า ได้ออร์เดอร์จากเมืองนอก 2-3 พันดอก แต่ต้องช่วยกันเก็บ แล้วก็เอาไปแพ็คส่ง เลยไม่ไปแล้ว มาที่นี่ก่อน จะอยู่ทั้งวัน วันหลังก็ยังมีอย่างนี้อยู่อีก.." 

            นี้เป็นตัวอย่างที่ดีอย่างหนึ่งในการสื่อสารและเรียนรู้กันให้เห็นความหมายระดับบริบท และสัมผัสสถานการณ์  ให้เกิดการสื่อจากหัวใจ ถึงจิตใจของกันและกัน  เพราะ.......

            หากเราจะจัดค่าเบี้ยเลี้ยงตอบแทนชาวบ้านผู้ร่วมประชุม ในระยะยาวเราก็จะไม่มีกำลังทำ  อีกทั้งอัตราการจ่ายตอบแทนชาวบ้านตอนนั้น  อย่างมากก็ได้วันละ  70-150 บาท เท่านั้น

            ทว่า  กรณีของลุง ก ชาวนาบัวนี้  หากเป็นการทำบัวส่งออกนอก มักจะเป็นดอกบัวฉัตรแดง  ซึ่งจะส่งออกดอกละ 7-10 บาท การมีออร์เดอร์ 2-3 พันดอก  ก็จะทำให้แกได้เงินเกือบหนึ่งหมื่นบาทของเช้าวันนั้น จ่ายเบี้ยเลี้ยงลุงแกไป นอกจากจะทดแทนกันไม่ได้แล้ว ก็จะเป็นการหมิ่นน้ำใจแกเสียมากกว่า เงินเราขี้ปะติ๋วเหลือเกิน

           ในอีกด้านหนึ่ง การมาร่วมกิจกรรมที่เราจัดขึ้นนี้  ลุง ก  เสียรายได้ไปนับหมื่นบาท  และทุกๆวัน ชาวนาบัวหากไม่รับออร์เดอร์ส่งออกดอกบัวไปนอก เอาแค่ในประเทศ ใช้เวลาเก็บและกำดอกบัวในตอนเช้า 2-3 ชั่วโมง ก็จะมีรายได้อย่างต่ำทุกวัน 1,500-3,000 บาท เกษตรกรชาวนาบัวในพุทธมณฑลเลยไม่เป็นหนี้เหมือนเกษตรกรสาขาอื่น

           แกหมายความตามที่พูดเท่านั้นหรือ  ไม่ใช่แน่  ลุงแกเป็นผู้ใหญ่และรู้ความเป็นชีวิตมากกว่าผมมากมาย แกไม่พูดสื่งที่ขาดความเชื่อมโยง เหมือนคนไม่มีอะไรจะพูดในสถานการณ์นั้นหรอก มันผิวเผินไป

           แกบ่นเสียดายและขอให้เราจ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมรึ ยิ่งไม่ใช่แน่นอน หากเอาเงินและการได้ผลตอบแทนเป็นตัวตั้ง  เราจ่ายได้ไม่ถึงอัตราที่แกหาได้ในเวลาเท่ากันหรอกครับ  อีกทั้งการเดินเข้ามาร่วมเวทีของลุงแก  ก็ไม่มีอะไรเป็นตัวยึดโยงที่เป็นการตีกรอบให้ตัดสินใจเลย  ลุงแกไม่ได้เป็นลูกน้องใคร และในเวทีก็ไม่มีใครจะเป็นจ้าวนายบังคับชีวิตแกได้

           การประมวลทางความคิดอย่างนี้  เรียกว่าหาแก่นสาร และคิดวิเคราะห์เพื่อซาบซึ้งและเข้าใจไปตามบริบทของลุง ร่วมกับลุงครับ ภาษาการวิจัยเรียกว่า การวิเคราะห์หาประเด็นหลัก หรือ Thematic analysis และ สอบทานมิติเชิงเนื้อหาให้รอบด้าน  ซึ่งเรียกว่า Content analysis อย่างที่ชาวบ้านและชุมชนเป็น มิใช่อย่างทฤษฎีและความรู้ของเราต้องการให้เป็น ไม่อย่างนั้น  จะไม่สามารถจับประเด็น ที่เป็นประเด็นของชาวบ้าน และสื่อจากใจถึงใจกันได้

           กรณีนี้  หลังจากทำในใจให้แยบคายดีแล้ว  ผมเห็นความหมายว่า  "..ลุงอาจจะพูดไม่เก่ง  หรือไม่ได้พูด  แต่จะอยู่ร่วมเวทีทั้งวัน  เพราะลุงเห็นว่า ลุงและเวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน...." 

            "...ลุงให้ความจริงใจ...."  ทำนองนั้น

            ด้วยการเข้าถึงความหมายและคุณค่าของกันและกันอย่างนี้  ลุง ก และลูกชายของลุง  รวมไปจนถึงเมียของลุง ก็ชวนผมไปเที่ยวบ้านกลางสวนและนาบัว  นั่งกินข้าว  นอนเล่นและคุยกัน  โดยต่างคนต่างก็ไม่ต้องระมัดระวังตน และต่อมาผมได้ทราบว่า ลุง ก ซึ่งแต่เดิมเป็นชาวนาตัวเล็กๆ เปิ่นๆ  ก็กลายเป็นวิทยากรการเรียนรู้ให้กับชาวนาและชุมชนด้วยกันเอง  ในอำเภอและของจังหวัดนครปฐมครับ

            ให้บทเรียนได้ดีมากว่า พลังการวิจัยและวิธีการทางความรู้ที่แยบคาย เหมาะสม ก็สามารถช่วยให้ชาวบ้านและชุมชน เชื่อมั่นความเป็นมนุษย์และมีความสง่างามขึ้นบนวิถีชีวิตตนเองได้

            ชาวบ้านและในวิถีประชาชนนั้น  มักคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันและความเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันในระยะยาวของผู้คนในสังคม มากกว่าจะสื่อสาร แลกเปลี่ยรเรียนรู้ และสร้างสังคมร่วมกับผู้อื่นแบบฉาบฉวย การมีความจริงใจต่อกัน  มักพยายามสื่อสารให้เห็นความเป็นทั้งหมดในชีวิต  เพื่อได้ความบริสุทธิ์ใจ  ความจริงใจ ความวางใจ และความรู้สึกร่วมทุกข์สุข  ฉันท์เพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ 

            การเห็นบทบาทและความสำคัญ ของมิติทางสังคม  วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในความเป็นจริงแห่งชีวิตอย่างนี้ ทฤษฎีและองค์ความรู้แบบทั่วไป จะเข้าไม่ถึง นักวิจัยและคนทำงานชุมชนในสาขาต่างๆ ต้องเรียนรู้ที่จะอ่านเอาจากสังคม หรือไปเรียนรู้กับชาวบ้านและชุมชนด้วยวิถีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวราบ วางความติดยึดตัวตนและเคารพโลกความเป็นจริงที่แตกต่างหลากหลาย  ชุมชนและสังคมจะเข้มแข็งยิ่งๆขึ้นครับ.

 

        

 

             

หมายเลขบันทึก: 218395เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2008 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • บางครั้งภูมิปัญญาและความจริงใจของชาวบ้านเป็นอะไรที่คาดไม่ถึงนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ

สังคมชนบท กรุ่นไปด้วยมิตรภาพครับ

ติดตามอ่านบล็อกนี้มาหลายบันทึกแล้วค่ะ

ชื่นชมความคิดที่ลุ่มลึก มุมมองที่รื่นรมย์ เห็นถึงนัยยะที่ซ่อนอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่พบเจอ

จะติดตามอ่านเพื่อเรียนรู้จากอาจารย์นะคะ ได้ทั้งความรู้และมุมมองที่ลึกซึ้ง เห็นความงามของชีวิตในวิถีการงาน

คุณคนไม่มีรากได้คัดลอกข้อความจาก หนังสือ เรื่อง แห่งการงานอันเบิกบาน ของ ตาร์ถัง ตุลกู แปลโดย อ.โสรีช์ โพธิแก้ว มาให้ใบไม้ย้อนแสงอ่าน ขอส่งต่อให้อาจารย์วิรัตน์นะคะ

"โดยแท้จริงแล้ว งานเป็นวิถีทางอันมีค่าสำหรับการแสวงหาความสุขอย่างลึกซึ้งในการมีชีวิต งานเป็นแหล่งนำให้เกิดความงอกงาม งานเป็นโอกาสให้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับตนเองมากขึ้น ทั้งยังช่วยเอื้ออำนวยให้เกิดความสัมพันธ์อันมีค่าในการอยู่ร่วมกันอีกด้วย หากเรามองงานด้วยสายตาเช่นนี้ เราจะพบว่าการทำงานและการมีชีวิตก็เป็นสิ่งเดียวกัน"

  • ขอบคุณครับ pa deang  / ขอบคุณ คุณ suksom ด้วยครับ
  • ขอบคุณ  ทั้งคุณ ใบไม้ย้อนแสง และผ่านไปยัง คุณคนไม่มีรากพร้อมไปด้วยเลย  รวมทั้งขอกราบคารวะท่านอาจารย์โสรีย์ โพธิ์แก้วด้วยครับ
  • นามแฝงว่า ใบไม้ย้อนแสง และ คนไม่มีราก นี่ เป็นภาษากวีมากเลย ทำให้มีพลังการคิด ใบไม้ย้อนแสง มักเป็นใบไม้ที่มีพลังการเติบโต ขวนขวายไปสู่แสงตะวัน ต้นไม้ด้านที่โดนแดด เลยมักงามสะพรั่งมากกว่าด้านที่ไม่ย้อนแสง เลยเป็นชื่อที่ให้ความอลังการ สั้นๆแต่สื่อสะท้อนโลกกว้างใหญ่จริงๆ
  • ส่วน คนไม่มีราก ก็เหมือนกันครับ  ผมได้ทั้งภาษากวีและภาษาธรรมเลย  ภาษากวีนี่ เวลามีคนพูดว่าคนไม่มีราก คนไร้ราก  ทำนองนี้ ก็ชวนให้คิดถึงความเป็นคนแสวงหา  ไร้กรอบการติดยึด มีเสรีภาพในชีวิต ส่วนภาษาธรรม ก็ให้ความคิด ถึงการมุ่งความเป็นเหตุปัจจัย เป็นฐานคิดแบบอิทัปปัจจยตา
  • คุยยืดยาว จริงๆแล้วอยากบอกว่า ทั้งสองท่านคุยเหมือนเป็นคนเขียนหนังสือน่ะครับ ขอบคุณนะครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยน และนำสิ่งดีๆมาฝาก

ได้รับการติดต่อกลับจากคุณ ใบไม้ย้อนแสง เลยได้ทราบว่า คุณใบไม้ย้อนแสงเป็นนักเขียนจริงๆ เป็นนักเขียนงานเชิงสารคดี และงานเชิงวิชาการ ผมเคยอ่านงานของคุณใบไม้ย้อนแสงหลายครั้งครับ ทั้งเป็นเล่ม และเป็นสกู๊ปในหนังสือพิมพ์

ตอนเรียนศิลปะ จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่พวกเรียนศิลปะถึงจุดอิ่มตัวทางเทคนิคและฝีมือ ลักษณะงานก่อนจะผ่านไปค้นหาแนวทางจำเพาะตน มักจะเป็นงานเชิงทดลอง ซึ่งการเขียนภาพแบบย้อนแสง จะเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับทดลองหาความลงตัวของตัวเอง มันเป็นอารมณ์เดียวกันกับพลังกวีในการเขียน 

นี่แสดงว่าคุณใบ้ไม้ย้อนแสงยังปล่อยตนเองออกมาไม่หมดครับ  สะท้อนแบบคนวิจารณ์งานศิลปะนะครับ งานของคุณที่มักเห็นนั้น คิดว่าอยู่ในกลุ่ม Realistic ครับ แต่พลังกวีเป็นขั้น Analogy ครับ  แต่ก็ทำให้งานเชิงสารคดีมีความลุ่มลึกแยบคายดี ภาษาสวย

ดีใจนะครับที่ได้มาเจอกันในนี้  เหมือนเจอกันโดยงาน  ผมเคยคุยกับพี่ๆเพื่อนๆ ที่เป็นนักเขียน คนทำหนังสือ คนเขียนรูป และคนทำเพลง  ที่ผมชอบงานเขามากๆว่า ขออย่าได้หยุดทำงาน ผมจะเป็นคนอ่านและมิตรรักแฟนเพลงที่ดี หาวัตถุดิบมาป้อนให้  

ผมจะลงทำงานในพื้นที่ ทำงานในชุมชน เจออะไรที่สื่อสะท้อนความเป็นจริง งดงาม หรือสะเทือนใจ จะนำมาเล่าให้เป็นวัตถุดิบ ผมก็จะได้อ่านงานเขียนเพื่อหล่อเลี้ยงแรงบันดาลใจ  และเพื่อนๆพี่ๆผมกลุ่มที่ว่า ก็จะมีวัตถุดิบทำงานไม่ให้แห้งแล้งจากความมีชีวิตของสังคม

พอเจอกัน  ผมก็มีหน้าที่อย่างหนึ่งนอกเหนือจากความเป็นอะไรก็ได้อย่างคนกันเองว่า ผมต้องเล่าถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆที่ได้พานพบ  และพี่ๆเพื่อนๆ ที่ว่าของผม  ก็มีหน้าที่ต้องเอางานชิ้นใหม่มาฝากผม  หากไม่มี ผมก็รอดูเขาย่อยและคุยออกมา ความสนใจในชีวิตหลายเรื่องของเรา เลยได้จากการสะท้อนความบันดาลใจให้กันอย่างนี้แหละรู้สึกดีครับ

มีความสุขครับ

มาคารวะจากใจค่ะ อ.วิรัตน์

ขออนุญาตเรียกตัวเองสั้น ๆ ว่า "ใบไม้" นะคะ สำหรับการสื่อสารใน G2K แห่งนี้

ขอบคุณอย่างยิ่งค่ะสำหรับความคิดเห็นต่องานเขียนของใบไม้ จริง ๆ แล้วตัวเองเขียนบทความหรือหนังสือไม่มากเลย หนักไปทางบทวีดีโอเสียมากกว่า

ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเหมาะกับคำว่า "นักเขียน" เลย และยิ่งห่างไกลเข้าไปอีกกับคำว่า "กวี" เพียงแค่ "รับจ้างเขียน"เท่านั้นเองค่ะ ดูจะเป็นคนเล่าเรื่องราวของคนอื่นผ่านมุมมองของตัวเองมากกว่า

อยากสื่อสารเรื่องราวที่มีประโยชน์ค่ะ  ทุกงานที่รับมาจึงเป็นสิ่งตัวเองมีความรู้สึกร่วมเสมอ ถ้าตัวเองไม่รู้สึกว่าดี แล้วบอกว่าดี ก็รู้สึกเหมือนกับโกหกคนอ่านค่ะ 

ใบไม้เติบโตมาจากคนทำละครเวที และทำกิจกรรมแบบจับแพะชนแกะสารพัดชนิด แล้วหันเหมาสนใจงานสายสารคดี เพราะอยากเรียนรู้ชีวิตจากความจริงค่ะ ไม่มีความคิดอยากสร้างงานชิ้นโบว์แดง เพียงแค่เรียนรู้ระหว่างทางที่พบเจอไปเรื่อย ๆ ค่ะ

น่าสนใจที่อาจารย์บอกว่าใบไม้ยังปล่อยตัวเองออกมาไม่หมด เลยสงสัยว่าตัวเองยังมีอะไรต้องปล่อยออกมาอีกนะ เป็นเสียงสะท้อนที่น่าคิด เพราะตอนนี้ยึดถือวิธีที่รุ่นพี่นักเขียนคนหนึ่งบอกว่า "เขียนอย่างที่มันเป็น" ตัวเองตีความว่าเขียนไปโดยธรรมชาติ ไม่ต้องไปพยายามปรุงมันมาก ถ้าพยายามปรุงมาก อ่านแล้วรู้สึกได้ค่ะว่าเป็นความพยายาม ไม่ใช่ธรรมชาติ

จะบอกอาจารย์ว่า การได้อ่านบันทึกของอาจารย์ที่นี่ทำให้ได้รับแรงบันดาลใจในการทำงานเล่าเรื่องที่มีประโยชน์ต่อไปค่ะ

ขอชื่นชมอาจารย์ในฐานะที่เป็นนักวิชาการที่มองเห็นความงามของชีวิต ซึ่งหาได้ยาก ส่วนใหญ่ใบไม้มักพบนักวิชาการที่มองแบบแยกส่วนเสียมาก

เป็นกำลังใจให้อาจารย์เดินหน้าในแนวทางของตัวเองต่อไปอย่างเบิกบานนะคะ ..^__^..

สวัสดีค่ะ

ตามคุณใบไม้มาบ้างค่ะ

ชอบความหมายตามความคิดของอาจารย์ในเรื่องชื่อค่ะ...

อาจารย์อธิบายความรู้สึกของการตั้งชื่อของ คนไม่มีราก ได้เกือบหมดจด ครบถ้วนเลยค่ะ...

คนแสวงหา  ไร้กรอบการติดยึด มีเสรีภาพในชีวิต ส่วนภาษาธรรม ก็ให้ความคิด ถึงการมุ่งความเป็นเหตุปัจจัย เป็นฐานคิดแบบอิทัปปัจจยตา

(^__^)

คุณใบไม้ทำละครเวทีมาก่อนหรอกหรือ สุดยอดเลย ชอบครับ ชอบมากๆ ผมว่ามันเป็นสุดยอดงานศิลปะของมนุษย์ที่ต้องทำด้วยกันของคนหลายคนอย่างลงตัว แต่ก่อนนี้ชอบไปดูละครของ DASS ENTERTAINMENT ที่จุฬาฯ เป็นสมาชิกตามงานเขาอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ละครของคณะสองแปด กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว

แต่ตอนนี้แก่แล้วครับ เลยไม่ค่อยได้ตามไปดู งานเขียนบทเล่าเรื่องด้วยศิลปะของหนังวิดีโอ ก็สุดยอดครับ งั้นเลิกคุยเลย นั่นแหละมันพลังกวีและพลังศิลปะหล่ะ ผมไม่ได้หมายถึงการเขียนกลอนและแต่งบทกวีนะครับ อันนี้อาจจะใช่ แต่มันเป็นเรื่องทักษะของการประพันธ์ทางภาษามากกว่า

ครั้งหนึ่ง ผมเคยได้ยินชาวนาหญิงสูงวัยคุยกับหลาน หากหลานออกจากกรุงเเทพไปอยู่ชนบท เขาจะยกที่ดินให้หลาน หลานสนทนาเชิงสัพยอกว่า "เอาที่ดินมาทำนาอีกทำไม ยิ่งทำยิ่งจนและเหน็ดเหนื่อยจะตาย" หญิงชาวนาสูงวัยท่านนั้นพูดด้วยสายตาเป็นประกายของคนอิ่มเต็มในชีวิตว่า "ทำนา มันจนและเหน็ดเหนื่อยมากก็จริง แต่พอถึงเวลาเก็บเกี่ยว ได้ข้าว มันชื่นใจนะ"

นี่เป็นโวหารและจิตวิญญาณกวีครับ บอกสั้นๆ ว่าชาวนาอดทนต่อชีวิตอันเหนื่อยยากด้วยพลังชีวิตสูงส่งชนิดไหนสั้นๆ แต่เขาไม่รู้หรอกเรื่องการเขียนกวีหรือการรู้หนังสือ เขาเป็นกวีน่ะ

ขอเข้าไปรู้จักคุณคนไร้รากแล้ว เป็นนักวิชาการสำหรับอนาคตจริงๆ  เป็นศิษย์เก่าของมหิดลอีกด้วย ยิ่งผสมผสานทางด้านสุขภาพ  การศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยแล้ว ยิ่งจะทำอะไรให้สังคมได้เยอะครับ รักษาเนื้อรักษาตัวและสะสมพละกำลังในแนวทางการทำงานอย่างนี้จะทำอะไรได้เยอะเลยนะครับ

 

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

ชอบจังที่อาจารย์ยกคำพูดของหญิงชาวนาที่ว่า "ทำนา มันจนและเหน็ดเหนื่อยมากก็จริง แต่พอถึงเวลาเก็บเกี่ยว ได้ข้าว มันชื่นใจนะ" เป็นตัวอย่างของคำพูดที่ออกมาจากจิตวิญญาณชาวนา ชาวบ้านเขาอาจไม่ถนัดการพูดด้วยคำพูดสวยหรู แต่เขาเป็นกวีด้วยเนื้อด้วยตัวเขา ด้วยการกระทำทั้งหมดของชีวิต..

สำหรับ คุณคนไม่มีราก นั้น ใบไม้ก็ไม่เคยพบเจอตัวกันหรอกค่ะ เพียงแต่คุยกันที่ G2K แห่งนี้ คุยกันถูกคอ คุยแล้วสบายใจ เราต่างนับกันและกันเป็นเพื่อนทางจิตวิญญาณค่ะ เป็นมิตรภาพที่ไร้ซึ่งความคาดหวัง หากเต็มเปี่ยมความปรารถนาดีต่อกันค่ะ

ดีใจค่ะหากแวดวงมิตรสหายที่เป็นกัลยาณมิตรได้รู้จักกันเป็นวงกว้างออกไป คุณคนไม่มีรากเป็นคนที่มีคนอยากคุยด้วยหลายคนค่ะ บางทีเธออาจไม่ค่อยมีเวลานะคะ

ต้องขออภัยที่ผมเรียก คุณคนไม่มีราก เป็น คุณคนไร้ราก กลอนพาไปไปหน่อยครับ ชื่อ คนไร้ราก นั้น คลับคล้ายคลับคราว่าเป็นชื่อชุดเพลงของ มงคล อุทก ไป หรืออย่างไรนี่แหละ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท