การ"ให้" ที่ยิ่งใหญ่


การให้เพราะความรัก ชอบ พอใจ หรือเสน่หา ไม่ยากเลย และเรายินดีกับการให้นี้ แต่การ "ให้อภัย" แก่คนที่ทำให้เราไม่พอใจ ไม่สบายใจ นี่ซิยากกว่า เราจึงพบว่า ผู้ที่จะ "ให้อภัย" ได้นั้นเป็นคนที่มีลักษณะพิเศษ

เพราะรัก จึง"ให้"

และเราทุกคนต่างซาบซึ้งกับการ "ให้" นี้เป็นอย่างดี

จากพ่อ แม่  และจากคนที่รักเรา

หรือแม้แต่เราเองที่พร้อมจะ "ให้" แก่คนที่เรารัก มิใช่หรือ

มีนวนิยายมากมาย และบทกวีนับพันที่เขียนถึงการ "ให้"นี้

แม้ว่า การให้นี้จะยิ่งใหญ่เพียงใด และน่าซาบซึ้งใจเพียงใหน แต่ เป็นการ "ให้" ที่สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในใจของเรา เป็นความรู้สึกที่ดี มีความสุข ซึ่งเรายินดีและเต็มใจ "ให้" เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรัก ให้สิ่งของ ให้เงินทอง ให้ความเป็นมิตร ให้ความนับถือ และสารพัดการให้ที่ดีๆ

เป็นการให้ที่สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึก

แต่ มีอีกการให้หนึ่งซึ่งยิ่งใหญ่กว่าที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด

เป็นการให้ที่ตรงข้ามจากที่กล่าวมาแล้ว

ที่ผมกล่าวว่า "ยิ่งใหญ่" กว่าก็เพราะการให้นี้ น้อยคนที่จะให้ได้

เพราะมันขัดแย้งกับอารมณ์ความรู้สึกที่เราเผชิญ

เป็นการให้ที่เป็นเช่นการทวนกระแส

เป็นการให้ที่แสดงถึงผู้ให้ "เป็นไทหรือเป็นอิสระ" อย่างแท้จริงจากภาวะแห่งอารมณ์ตน

ครับใช่แล้ว มันคือการ "ให้อภัย"

การให้เพราะความรัก ชอบ พอใจ หรือเสน่หา ไม่ยากเลย และเรายินดีกับการให้นี้

แต่การ "ให้อภัย" แก่คนที่ทำให้เราไม่พอใจ ไม่สบายใจ นี่ซิยากกว่า

เราจึงพบว่า ผู้ที่จะ "ให้อภัย" ได้นั้นเป็นคนที่มีลักษณะพิเศษ

ในอิสลามอัลลอฮฺผู้ทรงเป็นเจ้าทรงกล่าวถึงคุณลักษณะของพระองค์เองว่า "...แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษเสมอ" ซูเราะฮฺ อันนัศรฺ (110 : 3)

และในท้ายซูเราะฮฺ อัลมุซัมมิล อัลลอฮฺทรงตรัสความว่า " และอัลลอฮ์ทรงกำหนดเวลากลางคืนและกลางวัน พระองค์ทรงรู้ดีว่าพวกเจ้าไม่สามารถที่จะกำหนดเวลาได้ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงผ่อนผันให้แก่พวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงอ่านอัลกุรอานตามแต่สะดวกเถิด  พระองค์ทรงรู้ดีว่า อาจมีบางคนในหมู่พวกเจ้าเป็นคนป่วย และบางคนอื่น ๆ ต้องเดินทางไปดินแดนอื่น เพื่อแสวงหาจากความโปรดปรานของอัลลอฮ์ และบางคนอื่นต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ ดังนั้นพวกเจ้าจงอ่านตามสะดวกจากอัลกุรอานเถิด และจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจงบริจาคซะกาต  และจงให้อัลลอฮ์ยืมอย่างดีเยี่ยมเถิด และความดีอันใดที่พวกเจ้าได้กระทำไว้เพื่อตัวของพวกเจ้าเองพวกเจ้าก็จะพบมัน ณ ที่อัลลอฮ์ ซึ่งเป็นความดีและผลตอบแทนก็ยิ่งใหญ่กว่า  ดังนั้นพวกเจ้าจงขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ"   [73.20]

หากว่าผู้ทรงยิ่งใหญ่ที่สุด ผู้ทรงอำนาจที่สุดในจักรวาลนี้

ยังทรงเป็น "ผู้ทรงอภัยโทษเสมอ"

คงไม่ยากสำหรับเราในฐานะบ่าวที่ศรัทธาในพระองค์อย่างแท้จริงจะดำเนินตามบุคลิกภาพนี้ของพระองค์

"โอ้ พระผู้ทรงกรุณาปรานี ได้ทรงโปรดให้ง่ายแก่ข้าพระองค์ซึ่งการให้อภัยแก่ผู้อื่น ดังที่พระองค์ได้ทรงให้โอกาสและให้อภัยแก่ข้าพระองค์เสมอมา อามีน"

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ให้อภัย
หมายเลขบันทึก: 217885เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2008 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

หากการให้นั้น ไม่ทำให้คนๆนึงเค้าเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ยังคงพฤติกรรมเดิมๆ บางครั้ง เราอาจจะเปลี่ยนจาก "การให้อภัย" เป็น "การให้บทเรียน" บ้าง!

ไม่อย่างนั้น บทลงโทษ กฏเกณฑ์ทางสังคม จะมีไว้ทำไม?

มีคนขับรถ ชนคนตาย เพราะฝ่าไฟแดง เราควรให้อภัย

มีคนทิ้งขยะ สร้างความรำคาญให้คนอื่น เราควรให้อภัย

...บางครั้ง เราอาจจะต้องเลือก ระหว่าง ให้อภัย กับ ให้บทเรียน เพราะไม่ใช่ทุกคน ที่รู้จักสำนึกผิดด้วยตัวเอง ในทุกๆปัญหาที่ตนเองสร้างขึ้นมา

หวังว่าคงเข้าใจตามนี้นะคะ

คำสองคำ ที่คล้ายกัน แต่ความหมายต่างกัน นั่นก็คือ

Tolerance and Ignorance!!

ขอร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

  • อัลลอฮ์ทรงให้อภัยกับบ่าวของพระองค์ที่สำนึกผิดครับ ซึ่งบ่าวนั้นจะต้องมีความพยายามที่จะขออภัยของอัลลอฮ์ด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ อัลลอฮ์จะให้อภัยต่อบ่าวที่ไม่สำนึกผิดและไม่วิงวอนขอต่อพระองค์
  • ดังนั้นในฐานะที่เป็นบ่าวของผู้ที่ทรงรักการให้อภัย เราก็จะเป็นผู้ที่รักการให้อภัยด้วยเช่นกัน และก็ควรให้กับคนที่เหมาะสมเช่นกัน นั่นคือ ให้กับคนที่สำนึกผิดและพร้อมที่จะกลับตัว
  • นอกจากนี้ที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น เราจะพบว่า อิสลามสนับสนุนให้เราเป็นคนเริ่มต้นการต่อเชื่อมความสัมพันธ์ก่อน ดังนั้นถ้าถามว่า เมื่อเจอกันคนที่ให้สลามให้รอยยิ้มก่อน คือคนที่อัลลอฮ์รักกว่า
  • ครับคุณซันไชน์ เป็นข้อสังเกตที่น่าคิดทีเดียวครับ
  • ระหว่าง "การให้อภัย" กับ "การให้บทเรียน" เราคงไม่อาจกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวสำหรับทุกคนหรือกับทุกสถานการณ์ ซึ่งแต่ละคนคงต้องใช้ดุลยพินิจ ณ สถานการณ์นั้นๆเอง ว่า ควรจะให้อภัยดีหรือให้บทเรียนดี
  • และผมเคารพการตัดสินใจนั้นๆเสมอครับ
  • ขอขอบคุณคุณซันไชน์มากๆที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ
  • ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนด้วยความดี อามีน

ขอบคุณมากครับ อ.จารุวัจน์

การให้ ไม่ว่าให้อภัยหรือให้บทเรียนถือว่าเป็นที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ปัคเจคบุคลและสังคมส่วนรวม แต่การที่จะให้อภัยหรือให้บทเรียนจะต้องให้คำตักเตือนเสียก่อน ซึ่งบทเรียนเหล่านี้เราจะพบได้จากหลายๆซูเราะฮฺในอัลกุรอานที่ได้บันทึกว่าก่อนที่อัลลอฮฺจะทรงลงโทษหรือทำลายชนกลุ่มใดพระองค์จะส่งเราะซูลมาตักเตือนหากเขากลับตัวกลับใจก็ให้อภัย แต่หากเขาดื้อดึงก็ควรให้บทเรียน

วัลลอฮุอะลัม

        การ "ให้อภัย" นี่เป็นเรื่องยากจริงๆนะครับ

        สำหรับผมเองบางครั้งก็ต้องการที่จะให้อภัย แต่ใจมันไม่ไปด้วยครับ

       แต่อย่างน้อย ถึงแม้ผมจะไม่ให้อภัย  แต่ผมก็จะไม่ไปทำลายเขาครับ

                  ขอบคุณครับ

  • สวัสดีค่ะ
  • ตอนนี้ชีวิตให้และบริจาคเงินและของเยอะเหมือนกัน
  • แต่ตอนนี้กำลังจะให้อีกอย่างหนึ่ง คือ ให้อภัย รู้สึกว่าทำยากเหมือนกัน กำลังพยายามอยู่
  • ขอบคุณค่ะ
  • ครับคุณอบูตักวา อัลลอฮฺทรงเมตตามวลมนุษย์เสมอ พระองค์จึงส่ง สารแห่งการตักเตือน และผู้ตักเตือน มายังมนุษย์จากผู้ที่พระองค์ทรงเลือกจากพวกเขาเอง ด้วยหวังว่า มนุษย์จะพิจารณาคำตักเตือนนั้นของพระองค์ บางคนที่กลับใจ พระองค์ทรงให้อภัย และบางคนที่ดื้อดึง พระองค์ทรงให้บทเรียน เพื่อพวกเขาจะได้คิด มีบางคนที่คิดได้หลังจากผ่านบทเรียนนั้นๆ และพวกเขาก็ได้รับการอภัย แต่ก็ยังมีผู้ที่ดิ้อดึงถึงที่สุด แน่นอนครับบางคนได้รับบทเรียนในขณะที่เขายังมีชีวิต แต่ก็มีไม่น้อยที่พระองค์ทรงชะลอการให้บทเรียน จนถึงเวลาของเขา และพวกเขาจะได้พบกับบทเรียนที่ไม่จบสิ้น นานแสนนาน
  • และโดยความคิดเห็นส่วนตัว "การให้อภัย" คือบทเรียนที่ดีที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งมอบให้แด่พี่น้องร่วมโลก มันเปี่ยมด้วยโอกาสของเขาเองและโอกาสของผู้ที่เขาให้อภัย โอกาสของผู้ให้อภัยคือ การให้โอกาสแก่ตัวเองที่จะไม่รับเอาสิ่งไม่ดีจากฝ่ายตรงข้ามเข้ามาอยู่ในตัวเราการให้อภัยทำให้หัวใจของเราสะอาดไม่มีคราบสกปรกของความไม่พอใจ หรือความอคติฝั่งแน่นในซอกหลืบของหัวใจ และการให้โอกาสแก่ผู้ที่ทำให้เราไม่พอใจคือ การให้โอกาสเขาสำหรับสัมพันธภาพที่ดีๆที่เขาสามารถจะคว้าโอกาสนี้เพื่อปลูกดอกรักอันหวานชื่น แทนที่จะเป็นดอกชังผลเกลียด ซึงรสชาดย่อมไม่อร่อยหวานชื่นแน่นอน
  • แปลกดีนะครับที่เราอยากจดจำคนที่ทำให้เราไม่พอใจ แทนที่จะจดจำคนที่ทำให้เราพอใจ

สลามค่ะ

การให้ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย คือ การให้อภัย

  • เคยคิดเรื่องนี้ และคิดว่า ให้แก่ผู้ที่ไม่อยากให้ น่าจะยิ่งใหญ่กว่า และสุขกว่า จริงๆ
  • ขอบคุณข้อคิดดีๆครับ
  • ใช่ครับท่าน รองวิชชา การให้อภัยนี่ ไม่ง่ายเลย
  • แต่ถ้าได้ให้แล้ว ไม่เพียงแต่ผู้ถูกอภัยเท่านั้นจะปลอดภัย เราเองก็ปลอดภัยด้วยเช่นกันครับ
  • ปลอดภัยจาก การระลึกนึกถึงที่รบกวนความสงบสันติภายในตัวเรา กล่าวกันว่า ผู้ที่มีอิทธิพลจนทำให้เราไม่อาจให้อภัยได้จะเป็นที่ระลึกถึงของเรามากกวาผู้ที่เรารักเสียอีก ต่างกันตรงที่ นึกถึงผู้ที่เรารัก เราจะมีความสุข แต่ถ้าระลึกนึกถึงผู้ที่เราไม่อาจให้อภัย มันจะทำให้ความสุขของเราลดน้อยลง หรือไม่มีความสุขเลย
  • แม้ผมจะเขียนเช่นนี้ แต่ภาคปฏิบัติของ การให้อภัย ไม่ง่ายเลยจริงๆ อย่างที่ท่ารองวิชชาว่าไว้นะครับ ขอบคุณท่านมากครับ
  • สวัสดีครับคุณ<< lovefull >>
  • ใช่ครับ ให้อภัยนี่ ไม่ง่ายเลย แต่ดอกผลของมันนั้น "ล้ำค่า" เชียวครับ
  • สลามครับคุณRaiwan
  • ครับเห็นด้วยครับว่า "การให้ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย คือ การให้อภัย" แม้ทุนต่ำ หรือแทบไม่ต้องลงทุนเลย แต่กำไรงามกว่าที่คิดนะครับ

     

     

  • ใช่ครับคุณ ธนิตย์ ให้แก่ผู้ที่ไม่อยากให้ น่าจะยิ่งใหญ่กว่า และสุขกว่า
  • สิ่งที่มนุษย์เราครอบครองและมีค่ามากที่สุดเหนือสัตว์ร่วมโลกอื่นๆ คือ การรู้จักอภัยครับ และเราจะพบคำแนะนะในเรื่องนี้จากปากของคนที่ดีที่สุดในทุกยุคสมัย  เช่น ศาสดาต่างๆที่โลกรู้จัก หรือผู้ดำเนินตามรอยของท่านเหล่านั้น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท