กฎหมายใหม่: กระบวนการเรียนรู้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


กระบวนการเรียนรู้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

กฎหมายใหม่: กระบวนการเรียนรู้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

บาว นาคร*

 

          การเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายที่ออกมาเพื่อบังคับใช้ในปัจจุบัน ย่อมจะส่งผลกระทบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่สำคัญกฎหมายแต่ละฉบับที่ออกมานั้น เป็นส่วนหนึ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรได้มีการศึกษาและเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและสอดรับการกฎหมายที่ออกมาด้วย ซึ่งปัจจุบันได้มีกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาเพิ่มเติมซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่

1) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2550

2) พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551

3) ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ พ.ศ. 2551

            ซึ่งกฎหมายที่หยิบยกมาทั้ง 3 ฉบับนี้เป็นกฎหมายใหม่ที่มีส่วนสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับ การปกครองท้องที่ ต้องมีการศึกษาและเรียนรู้อย่างชัดเจนเพื่อนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับนั้น มีส่วนสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการปกครองท้องที่อย่างชัดเจน ได้แก่

            1) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2550 ได้มีสาระสำคัญพอสรุปได้ คือ

            กระทรวงมหาดไทยนำระเบียบฯว่าด้วย แผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 บังคับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งต้องดำเนินการจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ซึ่งนับว่าเป็นระเบียบที่ท้าทายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อย่างยิ่ง เพราะว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐวางหลักเกณฑ์กลางไว้เท่านั้น มิใช่ออกระเบียบเชิงบังคับหรือควบคุม ซึ่งผิดหลักการกำกับดูแลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร

เช่น ให้ อปท. มีการดำเนินการแผนที่ภาษี ซึ่งเป็นแผนที่ที่แสดงตำแหน่ง ลักษณะ ขนาด ของแปลงที่ดินอาคารโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง เส้นทางคมนาคม แหล่งน้ำในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมและใบอนุญาตต่าง ๆ และเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาท้องถิ่น

การจัดทำทะเบียนที่แสดงรายการทรัพย์สินและการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ประกอบด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน อาคาร โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง ป้าย และการประกอบการค้าของเจ้าของทรัพย์สินแต่ละคน

การจัดทำทะเบียนที่แสดงรายการชำระภาษีของเจ้าของทรัพย์สินผู้อยู่ในข่ายต้องชำระภาษีอากร ค่าธรรมเนียมและใบอนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

และการจัดทำแผนที่แม่บท แผนที่เบื้องต้นของแต่ละเขตย่อยหนึ่ง ๆ ที่จัดทำขึ้นจากระวางที่ดิน ซึ่งอยู่ในเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้ประโยชน์ในการนำเดินสำรวจข้อมูลภาคสนามและการจัดทำแผนที่ภาษี

โดยมีคณะกรรมการระดับจังหวัด ได้แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการดำเนินการในระดับท้องถิ่น มีรองนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายให้มีดำเนินการจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน ของ อปท.

และตามระเบียบนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้บังคับใช้ หรือภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่มีพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกาหรือประกาศกระทรวงมหาดไทยจัดตั้ง หรือเปลี่ยนแปลงเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีผลบังคับใช้ โดยให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือจ่ายขาดเงินสะสมตามความจำเป็น

2) พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 มีสาระสำคัญ คือ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ลงพระปรมาภิโธยในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 เรียบร้อยแล้ว โดยมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจาฯ 5 กุมภาพันธ์ 2551) มีผลทำให้ผู้ใหญ่บ้านและกำนันดำรงตำแหน่งจนครบ 60 ปี กำนันคัดเลือกกันเองระหว่างผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก โดยส่งรายชื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านลงคะแนนเลือก ผู้อยู่ในตำแหน่งปัจจุบันยังคงอยู่ได้จนกระทั่งครบวาระ

ในมาตรา 7 ผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นหัวหน้าราษฎรในหมู่บ้านของตน และมีอำนาจหน้าที่ ที่ต้องประสานกับ อปท. ดังต่อไปนี้

 (3) ประสานหรืออำนวยความสะดวกแก่ราษฎรในหมู่บ้านในการติดต่อหรือรับบริการกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (4) รับฟังปัญหาและนำความเดือดร้อน ทุกข์สุขและความต้องการที่จำเป็นของราษฎรในหมู่บ้าน แจ้งต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขหรือช่วยเหลือ (5) ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้บริการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ในหมู่บ้านหนึ่งให้มีคณะกรรมการหมู่บ้านประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภูมิลำเนาในหมู่บ้านผู้นำหรือผู้แทนกลุ่มหรือองค์กรในหมู่บ้าน เป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง และกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งจากผู้ซึ่งราษฎรในหมู่บ้านเลือกเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสิบคน

กำนันต้องร่วมมือและช่วยเหลือนายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่นอันอยู่ในตำบลนั้น

นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่นอันอยู่ในเขตอำเภอ

3) ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

การจัดให้มีเครือข่ายชุมชนลักษณะปฏิบัติการ คือ การเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการตำรวจของประชาชนในลักษณะของการเปิดเผยแสดงตัว มีการกำหนดให้แต่งเครื่องแบบชัดเจน มีบัตรประจำตัวสมาชิกและรหัสสมาชิกและเครือข่ายชุมชนลักษณะแนวร่วม คือ การเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการตำรวจของประชาชน ทั้งในลักษณะของการเปิดเผยแสดงตัว หรือในลักษณะที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวโดยที่ไม่ต้องกำหนดให้แต่งเครื่องแบบ อาจมีหรือไม่มีบัตรประจำตัวสมาชิกและรหัสสมาชิก  อาสาสมัครตำรวจบ้าน คือ แนวร่วมประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการตำรวจลักษณะปฏิบัติการ เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และอาสาจราจร คือ แนวร่วมประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการตำรวจลักษณะปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนการจัดการจราจร

สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศใช้ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ พ.ศ.2551 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2551 (นับแต่วันประกาศ) และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2551ซึ่งระเบียบนี้ เป็นการรองรับสถานะของ อาสาสมัครตำรวจบ้าน และอาสาจราจร ซึ่งได้มีการจัดตั้งมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอบต.หลายแห่งมาโดยตลอด โดยเฉพาะในเรื่องการสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าจัดซื้อเครื่องแต่งกายและค่าเบี้ยเลี้ยง ทั้งนี้ ระเบียบนี้ ระบุให้สถานีตำรวจอาจขอรับเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานที่กำหนดขึ้นตามระเบียบนี้ด้วย จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า จะมีปัญหากับหน่วยงานในบังคับบัญชาโดยตรงของท้องถิ่น คือ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน หรือ อปพร. หรือไม่

ดังนั้น กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ที่กล่าวมานี้ ย่อมมีผลกระทบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรงและที่สำคัญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีการศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับกฎหมายที่ออกมาได้อย่างถูกต้องและสามารถปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับองค์กรต่างๆ ภายในท้องถิ่น เป็นการสร้างความร่วมมือและการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อ้างอิง

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วน

ท้องถิ่น พ.ศ. 2550

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วน

ร่วมในกิจการตำรวจ พ.ศ. 2551

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551

รวมระเบียบกฎหมายใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปี2550-2551.

[Online].Available. URL : http://www.thailocalgov.com/file_html2008/LawsNew.html

 

 

 

 



* บุญยิ่ง ประทุม ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 217335เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2008 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท