ความรู้เกี่ยวกับการบูชา


การบูชา คืออะไร

   ตัวอย่าง การจัดโต๊ะหมู่บูชา หมู่ ๙  แบบไม่เต็มชุด ลดเชิงเทียน ๑ คู่ และแจกันดอกไม้ ๑ คู่  (ชั้นบนสุด)

ความรู้เกี่ยวกับการบูชา

         การบูชา  หมายถึง การแสดงความยกย่อง เคารพ  สักการะแก่ผู้ที่เคารพนับถือ มี ๒ ประเภท
             ๑.  อามิสบูชา  การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ เช่น  ดอกไม้  ธูป เทียน หรือสิ่งที่เหมาะสมอื่น ๆ
             ๒.  ปฏิบัติบูชา  การบูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติตน ในคุณความดี  ตามธรรมคำสอนทางศาสนา
         พระพุทธเจ้าทรงยกย่องการปฏิบัติบูชาว่าเป็นการบูชาที่ประเสริฐสุด
         การจัดเครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัย  เดิมจัดกันตามความเหมาะสมแก่สถานที่และเครื่องสักการบูชาเท่าที่หาได้  ต่อมามีการจัดโต๊ะหมู่บูชาขึ้นเป็นจุดต่าง ๆ เช่น หมู่ ๕  หมู่ ๗  หมู่ ๙  จนถึงหมู่ ๑๕  และคิดเครื่องบูชาชนิดต่าง ๆ สำหรับประดับโต๊ะหมู่ให้ดูสวยงาม  ตลอดถึงจัดให้มีการประกวดขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนารูปแบบการจัดโต๊ะหมู่บูชาให้หลากหลายยิ่งขึ้น

        ความหมายของเครื่องบูชาสักการะ
        เครื่องบูชาหลักที่ใช้ประกอบการจัดโต๊ะหมู่บูชา  ได้แก่  ธูป เทียน และดอกไม้  เหมือนการจัดเครื่องสักการบูชาทั่วไป  แต่สำหรับโต๊ะหมู่บูชา  มีการกำหนดแบบมาตรฐานสำหรับโต๊ะหมู่บูชาแต่ละประเภทไว้โดยเฉพาะ
        ธูป  เป็นของหอม  เป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า  ปกติใช้จำนวน ๓ ดอก  หมายถึง บูชาพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า ๓ ประการ คือ
              ๑. พระปัญญาคุณ  ทรงมีพระปัญญาสูงสุด  ประเสริฐสุดหาผู้เสมอมิได้
              ๒. พระกรุณาคุณ  ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสมอกันในมวลสัตว์โลกทุกหมู่เหล่า  แม้แต่บุคคลที่มุ่งร้ายต่อพระองค์   ทรงหวังให้เกิดประโยชน์โดยสถานเดียว
              ๓. พระปริสุทธิคุณ  ทรงมีพระทัยผ่องใสบริสุทธิ์จากอาสวกิเลสทั้งมวล
        เทียน  เป็นสิ่งให้แสงสว่าง ใช้บูชาพระธรรม ซึ่งให้แสงสว่าง คือ ปัญญาแก่ผู้นำไปปฏิบัติ โดยปกติใช้เทียน ๑ คู่ เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แบ่งเป็น ๒  ประเภท คือ พระธรรม และพระวินัย  แต่ในการจัดโต๊ะหมู่บูชากำหนดให้ตั้งเทียนประดับตามที่กำหนดในแต่ละประเภทของโต๊ะหมู่ เช่น  หมู่ ๕  ใช้เทียน ๔ คู่  หมู่ ๗  ใช้เทียน ๕ คู่  หมู่ ๙ ใช้เทียน ๖ คู่  แต่เมื่อบูชานิยมจุดเพียง ๑ คู่ ทึ่ตั้งอยู่ใกล้กับกระถางธูป
        ดอกไม้  เป็นเครื่องหมายในการบูชาพระสงฆ์ ดอกไม้นานาพันธุ์ หากสีต่างชนิด เมื่อช่างดอกไม้ผู้เชี่ยวชาญการจัดดอกไม้นำมาร้อยเป็นพวงมาลัย  ประดับในแจกันหรือภาชนะที่เหมาะสมย่อมดูสวยงาม  เป็นที่ชื่นชมของผู้พบเห็น
        พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาออกบวชจากตระกูลต่าง ๆ สูงบ้าง ต่ำบ้าง รวยบ้าง จนบ้าง ปะปนกันไป  แต่เมื่อมารวมอยู่ในระเบียบ คือพระธรรมวินัยด้วยกันแล้ว  ย่อมงดงามด้วยจริยาวัตรเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาเลื่อมใสของสาธุชนทั่วไปเช่นเดี่ยวกัน

        การตั้งเครื่องบูชาประดับโต๊ะหมู่  
        โต๊ะหมู่บูชา  หมู่ ๕  ประกอบด้วยเครื่องบูชา คือ 
                - กระถางธูป   ๑  กระถาง
                - เชิงเทียน ๔  คู่
                - พานพุ่มดอกไม้   ๕  พาน
                - แจกันดอกไม้ ๒ คู่
        โต๊ะหมู่บูชา หมู่ ๗  ระกอบด้วยเครื่องบูชา คือ 
                - กระถางธูป   ๑  กระถาง
                - เชิงเทียน ๕  คู่
                - พานพุ่มดอกไม้   ๕  พาน
                - แจกันดอกไม้ ๒ คู่
        โต๊ะหมู่บูชา หมู่ ๙  ระกอบด้วยเครื่องบูชา คือ 
                - กระถางธูป   ๑  กระถาง
                - เชิงเทียน ๖  คู่
                - พานพุ่มดอกไม้  ๗  พาน
                - แจกันดอกไม้ ๓ คู่
                (โต๊ะหมู่ ๙ นิยมใช้จัดตั้งในสถานที่กว้างขวางโอ่โถง เช่น  ในอุโบสถ)
         หมายเหตุ  ในการจัดโต๊ะหมู่บูชาทั้ง หมู่ ๕  หมู่ ๗  และหมู่ ๙  ถ้าจัดไม่เต็มที่สามารถลดเชิงเทียนและแจกันดอกไม้ที่โต๊ะประดิษฐานพระพุทธรูปได้อย่างละ ๑ คู่ เพื่อให้พระพุทธรูปดูเด่นชัด โดยให้การจัดเข้าลักษณะ ๓ ประการ คือ สะอาด  สว่าง  สงบ
         พระพุทธรูปที่อัญเชิญมาประดิษฐานที่โต๊ะหมู่บูชาไม่จำกัดว่าเป็นปางใด  แต่ต้องมีขนาดพอเหมาะกับโต๊ะหมู่บูชา ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป
         การจัดโต๊ะหมู่บูชาดังกล่าว  เป็นการจัดตามแบบโบราณ  เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีการจัดโต๊ะหมู่บูชาให้คงอยู่สืบไป

 

หมายเลขบันทึก: 216666เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2008 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท