ท่าทีพุทธปรัชญาต่อสังสารวัฏ


ท่าทีพุทธปรัชญาต่อสังสารวัฏ

ถึงสังสารวัฏและการเวียนว่ายตายเกิดในแง่ของพระพุทธศาสนา   เป็นเรื่องที่คนทั่วไปมีความสนใจกันมาก   ตายแล้วเกิดหรือไม่  ถ้าหากว่าเกิดจะไปเกิดเป็นอะไร  เมื่อตายแล้วจะไปไหน  ตกนรกหรือไปสวรรค์  เป็นต้น  เป็นที่น่าสังเกตว่า  เรื่อง สังสารวัฎนั้นปรากฏในพระไตรปิฎกเป็นจำนวนมาก  พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องนี้ว่า บุคคลที่มองเห็นได้   ต้องอาศัยปัญญาซึ่งเกิดจากการตรัสรู้อริยสัจ  ๔  พระองค์เองนั้น  ได้วิชชา  ๓  จึงสามารถเห็นการเวียนว่ายเกิด และสัตว์กำลังเกิดกำลังตายเป็นจำนวนมาก  แต่เรื่องสังสารวัฎนี้   พระองค์ตรัสไว้ว่าเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายแม้อดีตชาติของพระองค์  บางชาติเกิดเป็นสัตว์  บางชาติเกิดเป็นมนุษย์  สลับกันไปตามผลแห่งกรรมนั้น  ดังพระพุทธพจน์ว่า

เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในสงสารได้ไปสู่นรกบ้าง  ไปสู่เปรตโลกบ้าง  ไปสู่กำเนิดสัตว์เดียรัจฉานอันเป็นทุกข์บ้าง  เราได้เสวยทุกข์หลายอย่าง  ตลอดกาลนาน  เราได้อัตภาพเป็นมนุษย์บ้าง   ได้ไปสู่สวรรค์บ้าง  เป็นครั้งคราวเราเกิดในรูปภพบ้าง  ในอรูปภพบ้าง  ในเนวสัญญีนาสัญญีภพบ้าง   ภพทั้งหลายเรารู้แจ้งแล้วว่า  ไม่มีแก่นสาร  อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น   เป็นของแปรปรวนกลับกลอกถึงความแตกหักทำลายไปทุกเมื่อ  ครั้นเรารู้แจ้งภพนั้นอันเป็นของเกิดในตนทั้งสิ้นแล้ว  เป็นผู้มีสติได้บรรลุสันติธรรม

(ขุ. เถร. ๒๖/๓๒๐/๓๐๘-๓๐๙. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฏกํ ๒๕๒๕.)

สังสารวัฏมีความสำคัญน้อยมากในแง่พระพุทธศาสนา  เพราะว่ามิใช่เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา  อย่างไรก็ตาม   พระพุทธเจ้าตรัสในเรื่องนี้เพื่อที่จะพยายามแสดงให้เห็นว่า  สังสารวัฎนั้นมีความสัมพันธ์กันในหลักธรรมอื่น ๆ  ด้วยและต้องมองหลายแง่หลายประเด็นดังนี้

1. มองในแง่ไตรลักษณ์


การเวียนว่ายตายเกิดนั้น  ที่สรรพสัตว์ต้องท่องเที่ยวไปใน  31  ภูมินี้ด้วยอำนาจของกรรม  กรรมดีทำให้สัตว์ไปสู่สถานที่ดี  ถ้าเป็นกรรมชั่วนำไปสู่สถานที่ไม่ดี  ชีวิตนั้นหมุนขึ้น  หมุนลง  แสดงให้เห็นว่า  หลักสังสารวัฏนั้นมิใช่กฎตายตัวของสรรพสัตว์ที่จะไปเกิดในสถานที่เดียวไม่  แต่เนื่องจากกรรมเป็นตัวแปรที่จะผลักดันให้ไปเกิดเป็นอะไรก็ได้
ชีวิตของเราเดินทางไปในสังสารวัฏ  มีหมุนขึ้น  หมุนลง  ตกนรกแล้วต่อไปถ้าเรามีกรรมดีก็กลับไปขึ้นสวรรค์แล้วมาเกิดเป็นมนุษย์   คนที่เกิดเป็นพระพรหมด้วยกรรมดีบำเพ็ญฌานสมาบัติ   ต่อไปเมื่อสิ้นบุญแล้วกลับไปตกนรก  เพราะมีกรรมชั่วในหนหลังก็ได้  มันก็หมุนเวียนไปมา

(พระเทพเวที,ประยุทธ์  ปยุตฺโต,กรรมและนรกสวรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่,หน้า ๙๕-๙๖.)

มีพุทธพจน์ตรัสว่า  เรือนในอัตตภาพที่เกิดในภพนั้น ๆ  บ่อย  ๆ  เป็นของไม่เที่ยง  เราแสวงหานายช่าง คือ  ตัณหาผู้สร้างเรือน  เมื่อไม่พบ  ได้ท่องเที่ยวไปสู่สงสารสิ้นชาติมิใช่น้อยการเกิดบ่อย ๆ  เป็นทุกข์ร่ำไป

(ขุ.เถร. ๒๖/๒๘๙/๒๙๗. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฏกํ ๒๕๒๕.)

จากข้อความนี้  การที่ทำกรรมชั่วนั้น  เราก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้  โดยการกระทำกรรมดี   เรื่องสังสารวัฏนั้นหมุนขึ้นหมุนลงตามอำนาจแห่งกรรมเท่านั้น  ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  เป็นทายาทแห่งกรรม   มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย   กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้

(ม.อุ. ๑๔/๕๘๑/๓๗๖. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฏกํ ๒๕๒๕.)

2. มองในแง่ระดับสติปัญญา

เมื่อเรายังเป็นปุถุชนมืดมนอยู่  ไม่เห็นอริยสัจ  จึงได้ท่องเที่ยวเวียนไปมาอยู่ในคติทั้งหลาย  ตลอดกาลนาน บัดนี้เราเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว กำจัดสงสารได้แล้ว   คติทั้งปวงเราตัดขาดแล้ว  บัดนี้  ภพใหม่มิได้มี  

(ขุ.เถร. ๒๖/๓๐๕/๓๐๓. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฏกํ ๒๕๒๕.)

“  บุคลตัดวัฏฏะได้แล้ว  บรรลุนิพพานอันเป็น สถานที่ไม่มีตัณหา  ตัณหาที่บุคคลให้เหือดแห้งแล้วย่อมไม่ไหลไป  วัฏฏะที่บุคคลตัดได้แล้ว   ย่อมไม่เป็นไป  นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์

(ขุ.อุ. ๒๕/๑๔๘/๑๔๙. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฏกํ ๒๕๒๕.)
จากพระพุทธพจน์นี้  เป็นที่น่าสังเกตว่า  การที่จะเห็นอะไรสักอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นการระลึกชาติ  การเห็นสรรพสัตว์กำลังตาย  กำลังเกิด   เป็นระดับชั้นปัญญาของพระอรหันต์  และที่สำคัญก็คือ   เมื่อสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์แล้วจึงไม่มีความสงสัยในเรื่องสังสารวัฏนี้เลย   ด้วยเหตุนี้เอง  เมื่อบุคคลไม่เห็นแจ้งในอริยสัจ  ๔  แล้ว ก็ย่อมมีความสงสัยเป็นธรรมดา  ดังนั้น  พระองค์จึงทรงชี้แนะการใช้ปัญญาพิจารณาในเรื่องนี้ไว้ว่า...

ยา   กาจิ  กงฺขา   อิธ   วา  บุรํ  วา
สกเวทิยา  วา  ปรเวทิยา  วา
ฌายิโน  ตา  ปชหนฺติ   สพฺพา
อาตาปิโน  พฺรหฺมจริยํ   จรนฺตา

ความสงสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง   ในอัตภาพนี้หรือในอัตภาพ
อื่น  ในความรู้ของตนหรือในความรู้ของผู้อื่น  บุคคลผู้
เพ่งพินิจมีความเพียร  ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ย่อมละ
ความสงสัยเหล่านั้นได้ทั้งหมด


(ขุ.อุ. ๒๕/๑๒๓/๑๖๖. ฉบับ สยามรฏฐสฺส  เตปิฏกํ ๒๕๒๕.)

3. สังสารวัฏกับอพยากตปัญหา

ปัญหาเรื่องสังสารวัฏเป็นปัญหาส่วนหนึ่งในทิฏฐิ  10  ข้อ  ในทรรศนะของพระพุทธเจ้า  พระองค์จะไม่ทรงตอบในเรื่องนี้  คือ

1. โลกเที่ยง

2. โลกไม่เที่ยง

3. โลกมีที่สุดหรือ

4. โลกไม่มีที่สุดหรือ

5. ชีวะกับสรีระ  เป็นอันเดียวกันหรือ

6. ชีวะกับสรีระ  เป็นคนละอันหรือ

7. สัตว์ตายแล้วเกิดหรือ

8. สัตว์ตายแล้วไม่เกิดหรือ

9. สัตว์ตายแล้วทั้งเกิดทั้งไม่เกิดหรือ

10. สัตว์ตายแล้วก็ไม่ใช่   ไม่เกิดก็ไม่ใช่

(ม.ม. ๑๓/๑๔๗/๑๔๓. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฏกํ ๒๕๒๕.)

เหตุผลที่พระองค์ไม่ทรงตอบปัญหาเหล่านี้  หาใช่ว่าพระองค์จะไม่ทรงทราบ  แต่ที่พระองค์ไม่ทรงตอบก็เพราะว่าเป็นปัญหาที่ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์  และไม่เป็นประโยชน์อะไรในชีวิตประจำวัน   คำสอนของพระองค์ให้เน้นมองสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว  ดังนั้น  พระองค์จึงทรงเปรียบเทียบเหมือนคนถูกยิงด้วยลูกศรที่อาบยาพิษ  ต้องหาหมอมาผ่าตัดเอาลูกศรออกก่อน   ถ้าไม่ยอมให้หมอผ่าเอาศรออก จนกว่าจะทราบว่า  ผู้ที่ยิงลูกศรนั้นเป็นใคร  มาจากไหน  เป็นคนสูงหรือต่ำ   ดำหรือขาว   ลูกศรทำด้วยอะไร  ก็จะให้ตายเปล่า  

ดังนั้น  พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า  สังสารวัฏนั้นมิใช่เป้าหมายสูงสุดของศาสนาเลย  พระองค์จะทรงตอบในเรื่องอริยสัจ  4  คือทุกข์  เหตุให้เกิดทุกข์  ความดับทุกข์  และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  เพราะว่าทุกข์   เหตุให้เกิดทุกข์  ความดับทุกข์  และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  เพราะว่าอริยสัจ  4  เป็นไปเพื่อประโยชน์  เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์  เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย  เพื่อความคลายกำหนัด  เพื่อความดับ  เพื่อความสงบ   เพื่อความรู้ยิ่ง  เพื่อความตรัสรู้  เพื่อนิพพาน

 

4. ความสัมพันธ์ระหว่างกรรมและสังสารวัฏ

สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงต้องตาย  เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด  สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม  เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป   คือ ผู้มีกรรมเป็นบาปจักไปสู่นรก  ส่วนผู้มีกรรมเป็นบุญจักไปสู่สุคติ  เพราะฉะนั้น  พึงทำกรรมงามอันจะนำไปสู่สัมปรายภพ  สั่งสมไว้  บุญทั้งหลาย  ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก

(สํ.ส. ๑๕/๓๙๙/๑๔๑. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฏกํ ๒๕๒๕.)

ดูก่อนมหาสี  โลภะเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม  แห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม  ดูก่อนมหาสี    โทสะแล...........โมหะแล.............อโยนิโสมนสิการ...............ดูก่อนมหาสี  จิตอันบุคคลตั้งไว้ผิดแล   เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรมแห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม ดูก่อนมหาสี  กิเลสมีโลภะ  เป็นต้นนี้แล   เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม  แห่งความเป็นแห่งบาปกรรม.........

(องฺ.ทสก. ๒๔/๔๗/๙๐-๙๑. ฉบับ สยามรฏฐสฺส เตปิฏกํ ๒๕๒๕.)

บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้  เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน    ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี  ผู้ทำกรรมชั่ว  ย่อมได้รับผลชั่ว  บุคคลหว่านพืชเช่นใด   ย่อมได้ผล เช่นนั้น  

(ขุ.ชา. ๒๗/๗๑๓/๑๖๖. ฉบับ สยามรฏฐสฺส  เตปิฏกํ ๒๕๒๕.)

จากข้อความนี้  แสดงให้เห็นว่า   เรื่องกรรม    ผลแห่งกรรม  และสังสารวัฏ  การกระทำทุกอย่างหาไร้ผลไม่  ผลของกรรมย่อมตอบสนองในโลกนี้และโลกหน้า  กรรมจึงเป็นฐานะมรรคาของสรรพสัตว์ที่จะนำไปสุคติหรือทุคติ  ตามหลักพระพุทธศาสนาว่า  ตราบใดที่ยังมีกิเลส  ตัณหาอยู่  ย่อมวนเวียนหรือท่องเที่ยวไปสังสารวัฏในภพภูมิน้อยใหญ่ต่อไป   การหลุดพ้นสังสารวัฏได้นับว่าเป็นการดับกรรมดีและกรรมชั่ว  เรื่องกรรมผลแห่งกรรมและสังสารวัฏจึงมีความสัมพันธ์กัน  เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกัน  ดังนั้น  ชีวิตของมนุษย์ในวัฏฏะล้วนมีความผูกพันอยู่กับกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  พระพุทธเจ้ายืนยันมตินี้ในฐานสูตรว่า  โดยที่แท้สัตว์ทั้งปวงบรรดาที่มีการมา  การไป  การจุติ  การอุบัติ  ล้วนมีกรรมเป็นของตน  เป็นทายาทแห่งกรรม  มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่ง  จักทำกรรมใด  ดีก็ตาม  ชั่วก็ตาม  จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

(องฺ. ปญจก. ๒๒/๕๗/๘๕. ฉบับ สยามรฏฐส์ส เตปิฏกํ ๒๕๒๕.)

 

หมายเลขบันทึก: 216108เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท