ทรรศนะสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิในอินเดีย ที่แตกต่างจากทรรศนะเรื่องกรรมและสังสารวัฏในพุทธปรัชญาเถรวาท


ทรรศนะสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิในอินเดีย
ที่แตกต่างจากทรรศนะเรื่องกรรมและสังสารวัฏในพุทธปรัชญาเถรวาท

ทรรศนะสัสสตทิฏฐิ

               แนวความคิดแบบสัสสตทิฏฐิที่เชื่อว่า  สิ่งทั้งปวงมีอยู่  (อัตถิกทิฏฐิ)   เป็นความเชื่อว่า  ภายในตัวมนุษย์มีแก่นสารที่เป็นอมตะไม่รู้จักการเปลี่ยนแปลงเสื่อมสลาย  แก่นสารที่ว่านี้จะดำรงอยู่ตลอดเวลา   แม้ว่ามนุษย์นั้นจะตายไปก็ตาม  ทรรศนะแบบสัสสตทิฏฐิเชื่อว่า  มนุษย์มีส่วนประกอบ  2  ส่วนคือ   ส่วนแรกคือร่างกายเป็นสสาร  และส่วนที่สองคือแก่นสารที่เป็นอมตะ   ร่างกายที่เป็นสสารเปลี่ยนแปลงได้ไปตามกาลเวลา  แต่แก่นสารที่เป็นอมตะนั้นหาได้ตายไปพร้อมกับร่างกายไม่  แก่นสารที่ว่านี้จะเป็นตัวไปสร้างภพใหม่ต่อไป  การตายไม่ใช่จุดสุดท้ายของชีวิต

               สัสสตทิฏฐิมักมองมนุษย์ในแง่ที่เป็นแก่นสารที่เป็นอมตะ  ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นตัวนำไปสู่การอธิบายว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างมีอยู่  แก่นสารที่เป็นอมตะนี้เรียกชื่อแตกต่างกันไป  ศาสนาพราหมณ์เรียกว่า   อาตมัน  ศาสนาเชนเรียกว่า   ชีวะ   นักปรัชญาตะวันตกเรียกว่า  วิญาณ  (soul)   อย่างไรก็ตาม  ซึ่งอาจจะเรียกต่างกัน  แต่ความหมายอันเดียวกันคือ   เป็นแก่นสารที่เป็นอมตะไม่รู้จักตาย  ในสมัยพุทธกาลศาสนาที่มีแนวความคิดแบบสัสสตทิฏฐิที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดได้แก่  ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาเชน

               ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า  มนุษย์ประกอบด้วย  2  ส่วนคือ   ร่างกายและอาตมัน  ร่างกายนั้นเป็นสสาร  ส่วนอาตมันเป็นอสสาร ทั้ง  2  ส่วนนี้มีความแตกต่างกัน  ร่างกายเป็นสสารที่รู้จักการเปลี่ยนแปลงเสื่อมสลาย  แต่อาตมันนั้นเป็นอมตะไม่รู้จักการเปลี่ยนแปลงถึงแม้ว่ามนุษย์จะตายไปก็ตาม  ร่างกายเท่านั้นตาย  แต่อาตมันตัวนี้จะดำเนินการสร้างภพใหม่ชาติใหม่เหมือนคนถอดเสื้อชุดเก่าแล้วสวมเสื้อชุดใหม่

               ศาสนาเชนเชื่อว่า  มนุษย์ประกอบด้วย  2  ส่วนคือ   ส่วนแรกคือร่างกายส่วนที่สองคือชีวะ  ร่างกายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง  แต่ชีวะเป็นอมตะไม่รู้จักการเปลี่ยนแปลงเสื่อมสลาย  ชีวะตัวนี้เป็นแก่นสารเป็นตัวถาวร  และมีอยู่เองตามธรรมชาติไม่มีผู้สร้าง  ชีวะของเชนจึงแตกต่างจากอาตมันของพราหมณ์  อาตมันของพราหมณ์นั้นมีผู้สร้าง  ดังนั้น  เชนจึงไม่นับถือพระเจ้า  แต่แนวความคิดของ  เชน  ชีวะเป็นตัวเดียวกันที่ไปสร้างภพใหม่ชาติใหม่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  จึงทำให้แนวความคิดของเชนกลายเป็นทรรศนะสัสสตทิฏฐิด้วย
ทรรศนะศาสนาพราหมณ์

1. ทรรศนะเรื่องกรรมในศาสนาพราหมณ์

       ความเชื่อเรื่องกรรมมนทรรศนะศาสนาพราหมณ์  เริ่มปรากฏในคัมภีร์พระเวท  การแสดงออกของมนุษย์ในยุคพระเวทนั้นขึ้นอยู่กับความเชื่อเรื่องกรรม  ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า  การทำความดีนำไปสู่อมฤตภาพ  ความทุกข์ยากลำบากในชาตินี้เป็นผลของกรรมชั่วในชาติก่อน   ในยุคพระเวท  ศาสนาพราหมณ์ยอมรับคัมภีร์พระเวทว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และคัมภีร์พระเวทมีอยู่  4  คือ  ฤคเวท  ยุชรเวท  สามเวท  และอถรรพเวท  ในเนื้อหาของพระเวทนี้ได้ระบุถึงเทพเจ้าประจำธรรมชาติต่าง ๆ  

       ได้แก่ พระอัคนี  (ไฟ)  พระวายุ  (ลม)   พระวรุณ  (ฝน)   การที่มนุษย์ทำให้เทพเจ้ามีความพึงพอใจจะได้รับตอบสนอง  ดังนั้น   ในคัมภีร์ภควัทคีตา  ได้กล่าวถึงการบูชายัญหรือบวงสรวงเทพเจ้า  ไว้ดังนี้

                       อิษฏสนฺโภคานฺทิ   โว  เทวา
                       ทาสฺยนฺเต   ยชฺญฺภาวิตาะ
                       ไตรฺทตฺตานปฺราทาไยภฺย
                       โยภฺงฺเก  สฺเตน  เอว  สะ
                       ยชฺญคิษฺฏาคิหนะ  สนฺโต
                       มุจฺยนฺแต  สรฺวกิลฺพิไษ
                       ภุญชเต  เต  ตามิ  ปาปา
                       เย  ชจนฺตยาคฺมการญาตฺ

                       เพราะเทพเจ้าทั้งหลายถูก
                       ท่านบำรุงด้วยยัญพิธี  จะสนอง
                       ท่านด้วยโภคะที่น่าปรารถนา  ผู้
                       ที่บริโภคโภคะอันเทพเจ้านั้น
                       ให้แล้ว  แต่ไม่สนองตอบแด่
                       เทวดา  เหล่านั้นมันคือขโมยแท้ ๆ
                       สาธุชนผู้บริโภคโภคะ  อัน
                       เหลือจากยัญพิธี  ย่อมปลด
                       เปลื้องจากบาปทั้งมวล  ส่วน
                       ผู้ลามกบริโภค  เพราะเห็นแก่
                       ตัวเอง  ย่อมบริโภคเอาบาปเข้า
                       ไปด้วย

(กฤษณะไทวปายนวฺยาส, ศรีมัทภควัทคีตา, แปลโดย  ศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง  มนวิฑูร, พิมพ์ครั้งที่ ๓ , หน้า ๔๙.)

               ในคัมภีร์ภควัทตีตา  กล่าวถึงบุคคลจะบรรลุโมกษะได้ด้วยการกระทำดีกล่าวคือ  การกระทำตามหน้าที่ของตนและความไม่เห็นแก่ตัว   คนที่เห็นแก่ตัว  เป็นการกระทำที่สร้างพันธะในตนเองต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ต่อไปในโลก   คนที่บรรจุโมกษะได้ก็คือ  ไม่มีความเห็นแก่ตัวนั่นเอง  คำว่าโมกษะหมายถึงสถานที่มีความสุขนิรันดรหรือในสวรรค์  ตามขบวนการที่หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด   ในคัมภีร์ภตวัทคีตาได้กล่าวไว้ว่า  จงถืออุปนิษัทเป็นคันธนู   วางลูกธนูบนคันธนูนี้   ทำลูกธนูให้แหลมด้วยการเสียสละแล้วใช้ความคิดถึงลูกธนูและสายธนูให้ตึง   เล็งแล้วยิงตรงไปยังเป้า  คือพรหม  โอมคือคันธนูอาตมันคือลูกธนู

(ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุเมธ  เมธาวิทยากูร, ศาสนาเปรียบเทียบ, หน้า ๒๐๐.)

               สาเหตุที่ทำให้เกิดกรรมหรือการกระทำนั้นมี  3  อย่างคือ  ความรู้  วัตถุที่เรารู้และตัวเราผู้รู้  และมีอีก  3  อย่างเป็นตัวประกอบได้แก่  ตัวผู้กระทำ  การกระทำและอวัยวะที่ใช้กระทำ  ในคัมภีร์ภควัทคีตา  ได้กล่าวถึงสาเหตุแห่งกรรมไว้ดังนี

                               ชฺญานิ                    เขยยิ                       ปริชฺญาตา
                               ตฺริวิธา                    กรฺมโจทนา
                               กรณํ                       กรฺม        กรฺเตติ
                               คฺริวิธะ                   กรุมสิคฺรทะ

                               ความรู้  ข้อรู้  ผู้รู้   สามอย่าง
                               นี้สะกิดให้เกิดกรรม  เครื่องทำ
                               (เครื่องมือ)  การทำ  ผู้ทำ   สาม
                               อย่างนี้สงเคราะห์ให้เกิดกรรม

               อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดกรรมได้แก่  อวิทยา  (อวิชชา)  คือความไม่รู้แจ้งอวิทยาปิดบังปัญญาทำให้อาตมันต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ

               ในยุคอุปนิษัท  ได้พัฒนาเรื่องหลักกรรมในยุคพระเวทเพื่อเป้าหมายคือการเข้าสู่ปรมาตมันโดยอาศัยวิธีการ  3  ประการ คือ  กรรมโยคะ  ภักติโยคะ   และชญาณ  โยคะ   คำว่า  กรรมโยคะ  (กรรม+โยคะ)  หมายถึงการกระทำอะไรก็ตามที่จะนำไปสู่ความดีความชอบและมีผลตามความต้องการ คำว่า  ภักติโยคะ  (ภักติ+โยคะ) หมายความถึงความศรัทธา  ความจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า  คำว่า  ชญาณโยคะ  (ชญาณ+โยคะ)   หมายถึงตัวความรู้ชั้นบรมสัจจะ  มิใช่ความรู้อื่นที่นำไปสู่สภาวะดังกล่าว  สภาวะเช่นนี้จะเกิดได้จากการที่คนเราสามารถหยั่งรู้สภาวะอันแท้จริงของตนเองว่ามันมีสภาวะจริง  ๆ   เป็นเช่นไร

               ทรรศนะเรื่องกรรมในศาสนาพราหมณ์นี้  ชี้ให้เห็นว่ากรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งสัตว์ทั้งหลาย   กรรมเป็นเครื่องผูกพันให้มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิด    มนุษย์ทุกคนตกอยู่ในอำนาจของกฎแห่งกรรมที่เขาทำไว้จะหลีกหนีไม่พ้น   คือทำกรรมใดไว้ก็จะได้รับผลแห่งกรรมนั้น  ทำดีย่อมได้รับผลดี  ทำชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่ว
               
2.       สังสารวัฏในทรรศนะของศาสนาพราหมณ์

เรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมย่อมเกี่ยวกันกับการเกิดใหม่เสมอศาสนาพราหมณ์มีแนวคิดเดียวกัน  ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า  ร่างกายกับอาตมัน  (body  and   soul)    มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง   ร่างกายเป็นเพียงวัตถุ  (สสาร)  ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง   ชำรุด  และแตกดับได้  ส่วนอาตมันเป็นอมตะ  ไม่เปลี่ยนแปลง  อาตมันนี้เองเป็นตัวที่จะต้องสร้างภพใหม่ชาติใหม่ต่อไป   การที่ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่าอาตมันดวงเดิมนั้นไปเกิดใหม่เป็นการยืนยันว่า  ผลของกรรมที่ตอบสนองนั้นตรงกับแนวคิดของคนทั่วไป  ตัวอย่างเช่น  นายบี  ปัจจุบันอายุ  70  ปี  ร่างกายของเขาได้เปลี่ยนแปลงไปมาก  ร่างกายที่เคยแข็งแกร่งกลับอ่อนแอ ผมที่เคยดำสนิทเปลี่ยนเป็นสีขาว  เนื้อที่เคยเต่งตึงกลับเหี่ยวย่น  ร่างกายของเขาเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่นั้นเขาได้ประกอบความดีเสมอครั้นตายไป อาตมันของเขาจะไปเกิดใหม่  เป็นเด็กชายประเสริฐ   เด็กชายประเสริฐในปัจจุบันก็คือนายบีในชาติก่อนนั่นเอง   และกรรมที่นายบีได้กระทำมาในชาติก่อนนั้นก็ได้ตอบสนองเด็กชายประเสริฐ   เป็นการยุติธรรมและทรรศนะดังกล่าวนี้ก็ได้ตรงกับความนึกคิดของคนทั่วไปอีกด้วย


               แนวคิดของศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า  อาตมันเท่านั้นที่เป็นแก่นสารของชีวิตและเป็นสิ่งที่อมตะไม่ตายไปพร้อมกับร่างกาย  ในคัมภีร์ภควัทคีตาได้อุปมาไว้ว่าร่างกายเหมือนเสื้อผ้า  ส่วนอาตมันเหมือนคนที่สวมใส่เสื้อผ้า  เมื่อคนเราตายอาตมันจะออกจากร่างกายไปแสวงร่างใหม่

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 216101เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท